'ยิ่งลักษณ์'ชี้'ทักษิณ'ช่วยเจรจาธุรกิจกับพม่า ไม่กระทบภาพลักษณ์รัฐบาล ชี้แก้รธน.ต้องฟังเสียงส่วนใหญ่-ปัดตอบแก้ม.112 ลงนาม ตั้ง 'โกวิท' นั่งปธ.บริหารสถานการณ์ฉุกเฉินแก้ไฟใต้
21 ธ.ค.54 น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ออกมาให้สัมภาษณ์ว่าที่สามารถเข้าพบนางอองซานซูจี อดีตผู้นำพรรคสันนิบาตเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี) ได้เพราะ พ.ต.ท.ทักษิณ ปูทางไว้ให้ว่า
“ไม่หรอกค่ะ จริงๆก็เป็นเรื่องที่ท่านจะเดินทางของท่าน เราไม่ได้พูดคุยกันในเรื่องนี้ แต่ทุกอย่างที่ดิฉันดำเนินการไปผ่านภายใต้ของรัฐบาลเองและกระทรวงต่างประเทศ ซึ่งการทำงานทุกอย่างอยู่ในขั้นตอนของรัฐบาล
เมื่อถามว่า มีคำถามเกิดขึ้นว่าก่อนที่นายกฯจะเดินทางไปประเทศไหนพ.ต.ท.ทักษิณจะเดินทางนำไปก่อน เมื่อกับการเจรจาอะไรไว้ล่วงหน้าหรือไม่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า “ไม่หรอกค่ะ ไม่มีๆ แล้วไม่มีประเด็นอะไรที่เกี่ยวกันเลย”
เมื่อถามว่า การที่ฝ่ายค้านออกมาวิพากษ์วิจารณ์ครั้งนี้จะส่งผลกระทบต่อรัฐบาลหรือไม่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า จริงๆข้อเท็จจริงทุกท่านก็เห็น เราดำเนินการเจรจาต่างๆภายใต้กรอบโครงการ ซึ่งรัฐบาลเองการเจรจาต่างก็มีขั้นตอนในการทำงานกับกระทรวงที่เกี่ยวข้อง แล้วต้องได้รับความเห็นชอบจากครม.ก่อนที่จะเข้าไปเจรจา ดังนั้นไม่มีค่ะ ทุกอย่างต้องทำอยู่ภายใต้บ้านเมืองไทยและภายใต้รัฐบาล
เมื่อถามว่า การออกมาให้สัมภาษณ์ดังกล่าวของพ.ต.ท.ทักษิณจะส่งผลกระทบอะไรกับรัฐบาลและตัวนายกฯบ้าง น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า ต้องบอกว่าอะไรที่เป็นสิ่งที่ดีเราไม่ควรจะปิดกั้น แต่การตัดสินใจการทำงานทุกอย่างภายใต้ขั้นตอนต่างๆ เป็นขั้นตอนที่รัฐบาลที่ต้องดำเนินการเองทั้งหมด
เมื่อถามว่า ยืนยันว่าไม่มีเรื่องผลประโยชน์ด้านพลังงานให้กับพวกพ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า “ไม่มีค่ะยืนยันค่ะ แล้วดิฉันไปในนามรัฐบาล ไม่เคยไปเจรจาเรื่องส่วนตัวเลย”
เมื่อถามว่า ในแง่ของบทบาทพ.ต.ท.ทักษิณกับรัฐบาลจะบอกได้หรือไม่ว่าบทบาทพ.ต.ท.ทักษิณขณะนี้เป็นยังไง น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า “ไม่มีหรอกค่ะ ท่านก็เป็นเรื่องของท่านไม่เกี่ยวกันค่ะ รัฐบาลก็ทำงานของรัฐบาลไป”
ส่วนการเจรด้านพลังงานพม่า นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ถือว่ามีความคืบหน้ามาก ซึ่งในรายละเอียดนายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน จะตั้งคณะทำงานมาศึกษารายละเอียด ซึ่งเบื้องต้นจะเป็นการศึกษาความร่วมมือพลังงานด้านก๊าซธรรมชาติ
ส่วนการหารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเรื่องประชาธิปไตยกับนางอองซาน ซูจี นายกฯ กล่าวว่า ในส่วนของการพบกับนางอองซาน ซูจี ถือว่านางอองซานเป็นผู้ที่มีอุดมการณ์ และต่อสู้ด้านประชาธิปไตย ซึ่งเราได้พูดคุยแลกเปลี่ยนกัน ซึ่งโดยหลักของนางอองซานที่ตัดสินใจในการลงเลือกตั้งครั้งนี้ เพื่อให้เกิดความปรองดอง ซึ่งนโยบายและอุดมการณ์ของพรรคเอ็นแอลดีก็เห็นประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง ก็อยากเห็นความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับสหภาพพม่ามีความสัมพันธ์ที่ดีทั้งระดับรัฐบาลและประชาชน ถือเป็นการแลกเปลี่ยนก็เห็นแนวทางเดียวกัน ความเป็นประชาธิปไตยนั่นคือการที่ความดูแลและห่วงใยความทุกข์สุขของพี่น้องประชาชนเป็นเรื่องใหญ่
ผู้สื่อข่าวถามว่า การที่รัฐบาลสภาพพม่าเปิดกว้างให้พบกับ นางอองซาน เพื่อวัตถุประสงค์ใด น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า สหภาพพม่ามีการพัฒนาไปค่อนข้างเยอะในการเปิดประตูสู่ความเป็นประชาธิปไตย และจะมีการเปิดให้มีการเลือกตั้งในเร็วๆนี้ ซึ่งถือเป็นสิ่งที่ดีสำหรับกลุ่มประเทศอาเซียนที่มาพูดคุยกันในเรื่องประชาธิปไตย และพูดถึงผลประโยชน์ความทุกข์สุขของประชาชน
เมื่อถามว่า ไทยยังยืนยันในหลักการเดิมเพื่อให้เกิดความปรองดองของสภาพพม่าใช่หรือไม่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า ใช่ค่ะ ซึ่งนางอองซานคงอยากจะเห็นอย่างนั้น และในส่วนของรัฐบาลเองก็เช่นกัน วันนี้ถือว่าการที่ระบบประชาธิปไตยที่ยอมรับเสียงของประชาชนเป็นสิ่งที่นานาประเทศให้การยอมรับในหลักสากลตรงนี้ ตนเชื่อว่าทุกประเทศในเอเซียหันเดินหน้าในรูปแบบนี้
เมื่อถามว่า รัฐบาลสหภาพหม่าจะเปิดกว้างมากขึ้นหรือไม่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า เป็นเรื่องของรัฐบาลสหภาพพม่า แต่โดยเจตนารมณ์ก็เห็นเจตนารมณ์ที่ดี เราก็คงต้องดูกันต่อไป
ชี้แก้รธน.ต้องฟังเสียงส่วนใหญ่-ปัดตอบแก้ม.112
น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการแก้ไขรัญธรรมนูญว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ต้องขอศึกษารายละเอียดว่า จะแก้ตรงไหนบ้าง ทุกอย่างจะต้องได้รับการยอมรับจากเสียงส่วนใหญ่ แต่วันนี้ยังไม่ได้คุยกัน
เมื่อถามถึงจุดยืนในการแก้ไขมาตรา 112 นายกรัฐมนตรี ไม่ตอบคำถาม และเดินฝ่าวงล้อมผู้สื่อข่าวไปทันที
'นายกฯ'ลงนามตั้ง'โกวิท'นั่งปธ.บริหารสถานการณ์ฉุกเฉินแก้ไฟใต้
คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 289/2554 เรื่องมอบหมายรองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉิน (ในกรณีต่อพอายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้อีก 3 เดือน) โดยที่สมควรมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีทำหน้าที่ประธานกรรมการในคณะกรรมการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉิน อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 6 และมาตรา 8 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 นายกรัฐมนตรีจึงแต่งตั้งให้ พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉิน ทั้งนี้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป สั่ง ณ วันที่ 9 ธันวาคม 2554 ลงชื่อน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี