รมว.กห. - ผบ.เหล่าทัพประชุม GBC เขมร
รมว.กลาโหม พร้อม ผบ.เหล่าทัพ เดินทางไปกัมพูชา ประชุม GBC หารือแนวทางปฏิบัติคำสั่งศาลโลก 5 ข้อ ระบุ กลับมาถึงไทยช่วงเย็น แถลงข่าวทันที
พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พร้อมด้วยผู้บัญชาการเหล่าทัพ เดินทางเพื่อเข้าร่วมประชุมคณะกรรมการชายแดนทั่วไป (GBC) ที่กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา โดยเป็นการหารือร่วมกันระหว่างไทยกับกัมพูชา เพื่อหาแนวทางปฏิบัติตามคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ หรือ ศาลโลก 5 ข้อ คือ การปรับกำลังทหารของทั้ง 2 ฝ่าย ที่ประจำการในพื้นที่เขตปลอดทหาร 17.3 ตารางกิโลเมตร รายละเอียดในการเข้าปฏิบัติงานของผู้สังเกตการณ์จากประเทศอินโดนีเซีย ไทย และกัมพูชา ฝ่ายละ 9 คน จุดตรวจร่วม 3 จุด ประกอบด้วย ประตูเหล็ก เขาช่องบันไดหัก และวัดแก้วสิกขาคีรีสวาระ การจัดระเบียบวัดแก้วสิกขาคีรีสวาระ ตลาด และชุมชนโดยรอบปราสาทพระวิหาร และการออกหลักเกณฑ์ในการเข้า - ออกพื้นที่ปราสาทพระวิหารของเจ้าหน้าที่องค์การยูเนสโก
ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จะมีการแถลงผลการหารือทันทีที่เดินทางกลับในเวลาประมาณ 16.00 น. พร้อมทั้งจะนำเรื่องเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง เพื่อรับการรับรองการเข้าปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ในบริเวณดังกล่าว
ปชป.เชื่อกห.ไม่ยอมให้ไทยเสียเปรียบถกGBC
นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะอดีตเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยผ่าน รายการ เปิดข่าวเด่นเจาะประเด็นดัง ทางคลื่น FM 102.75 MHz ว่า เดิมที กรอบการประชุมคณะกรรมการชายแดนทั่วไป (GBC) นั้น เป็นเรื่องของกระทรวงกลาโหม แต่การทำงานสัมพันธ์กับกระทรวงการต่างประเทศ ทำให้มีการประสานงานกันมาโดยตลอด ซึ่งเชื่อว่า การเจรจาน่าจะมีการคุยกันเรื่องของการปรับกำลังทหาร เพื่อให้สอดคล้องกับคำสั่งของศาลโลก ซึ่ง นายชวนนท์ ย้ำว่า จะต้องเป็นการปรับทั้ง 2 ฝ่าย
โดย นายชวนนท์ ยังได้แสดงความเห็นกรณีที่ประชาชน จ.ศรีสะเกษ เคลื่อนไหวคัดค้านการถอนทหาร ว่า รัฐบาลและกระทรวงกลาโหม ต้องคำนึงถึงเรื่องดังกล่าว ซึ่งประชาชนในพื้นที่ดังกล่าวจะเป็นผู้ได้รับผลกระทบ เพราะประชาชน
ของกัมพูชา จ้องที่จะฮุบพื้นที่อยู่ ซึ่งเชื่อว่ากระทรวงกลาโหมจะทำอย่างรอบคอบ จะไม่ยอมให้ไทยเสียเปรียบ แต่ก็จะไม่ยอมให้เสียกรอบการเจรจา รวมถึง เรื่องการส่งผู้สังเกตการณ์ ว่า น่าจะต้องมีการตกลงเรื่องการปรับกำลังทหารให้เรียบร้อยไปก่อน และการเข้ามาของผู้สังเกตการณ์ จะต้องไม่มีชี้ชัด หรือยืนยันสิทธิของประเทศใดประเทศหนึ่ง ซึ่งเป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่จะต้องระมัดระวังในการเจรจา