จู่ๆ กี้ร์-อริสมันต์ พงษ์เรืองรอง แกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ก็โผล่เข้ามอบตัวกับพนักงานสอบสวน กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ช่วงเช้าวันที่ 7 ธันวาคม หลังลี้ภัยไปกบดานต่างแดนเป็นปี
เป็นการกลับ "มาตุภูมิ" ทั้งที่ยังไม่ได้รับการติดต่อจาก "แกนนำแดง" ซึ่งรับหน้าที่ "มือประสาน" ระหว่าง "นักโทษจากแดนไกล" กับ "กระทรวงตาชั่ง"
เป็นการกลับ "บ้านเกิด" ทั้งที่ "ผู้เกี่ยวข้อง" ยังไม่ให้หลักประกันในเรื่อง "อิสรภาพ"
ทว่ามีข่าวอีกกระแสว่า "ทีมเจรจาลับ" ในซีกพรรคเพื่อไทย (พท.) การันตีความปลอดภัยใน 2 ส่วนคือ 1.ความปลอดภัยในชีวิต และ 2.ความปลอดภัยจากการนอนตะราง ทำให้ "กี้ร์" กล้ากลับเข้าประเทศไทย
ศาลอาญามีคำสั่งให้ยกคำร้องขอปล่อยชั่วคราว "อริสมันต์" จำเลยคดีก่อการร้าย และฝ่าฝืนพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 โดยให้เหตุผลว่า "คดีนี้มีข้อหาร้ายแรงและอัตราโทษสูง หลังเกิดเหตุจำเลยหลบหนีตลอดมา แม้จำเลยจะเข้ามอบตัวต่อพนักงานก็เป็นเวลานาน และยังเป็นบุคคลที่ศาลอาญาออกหมายจับในคดีอาญา ข้อหาหมิ่นประมาทผู้อื่น หมายเลขดำที่ อ.4177/2552, อ.1463/2553 ในชั้นนี้จึงยังไม่มีเหตุพอเพียงให้ศาลเชื่อได้ว่าหากอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวแล้ว จะไม่หลบหนีอีก จึงให้ยกคำร้อง"
"การค้านประกันตัว" ไม่ใช่เรื่อง "ผิดคาด" ของ "แกนนำแดงฮาร์ดคอร์" เพียงคนเดียวเท่านั้น หากแต่ยังทำให้ "หัวหน้าคนเสื้อแดง" ต้องคิดทบทวนยุทธศาสตร์กรุยทางกลับบ้านเกิดใหม่
อย่างน้อย "กี้ร์" ก็สามารถ "หยั่งกระแส" แทน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งหลบหนีคดีไปต่างประเทศเหมือนกันว่าหาก "นายใหญ่" จะกลับเข้าประเทศ มีโอกาสต้อง "หยั่งขา" เข้าเรือนจำมากน้อยแค่ไหน
เพราะเห็น "บรรทัดฐาน" จากกรณี"อริสมันต์"
อย่างน้อย "กี้ร์" ก็เป็นดัชนีชี้วัดได้ว่า "กระบวนการยุติธรรมเปลี่ยนผ่าน" ตามแผนปรองดองของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อความปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ที่เสนอให้ชะลอการพิจารณา "คดีการเมือง" ทุกขั้ว-ทุกสี เพื่อรอดู "ธงปรองดอง" มีความคืบหน้าไปกี่เปอร์เซ็นต์ และ "คู่ขัดแย้งตัวพ่อ" จะมีการปฏิบัติในมาตรฐานไหน?
ที่สำคัญคือการเข้ามอบตัวของ "กี้ร์" เกิดขึ้นในช่วงที่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี บี้ตำรวจเร่งสาง "คดี 91 ศพ" โดย "พนักงานอัยการ" ดึง อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และ สุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ในฐานะและผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ร่วมรับผิดชอบ
พร้อมเสนอสมมติฐานว่า "91 ศพ เป็นการตายโดยเจ้าหน้าที่รัฐ"
การเข้ามามอบตัวของ "กี้ร์" จึงมองในแง่หนึ่งได้ว่าเป็นการ "ขึ้นเกม" ข้าผิด เอ็งก็ผิดหรือไม่ ซึ่งหลังจากนี้ทุกคน-ทุกฝ่ายต้องเดินหน้าเข้าสู่ "การพิสูจน์ความผิด" อย่างเท่าเทียมกัน
โจทย์สำคัญคือ เมื่อเข้าสู่ชั้นศาลแล้ว การปลดปล่อย "ผู้ร้ายหนีคดี" ย่อมกลายเป็นเรื่องที่ควบคุมไม่ได้
ประกอบกับมีแรงเสียดทานจากการให้ปากคำต่อพนักงานสอบสวนในวันที่ 8 และ 9 ธันวาคมนี้ ของ "สุเทพ" และ "อภิสิทธิ์" ในฐานะพยานคดี 91 ศพ ที่ยกเรื่องพัฒนา การของการชุมนุมที่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ และพัฒนาการของกฎหมายที่นำมาบังคับใช้กับผู้ชุมนุม เพื่อสร้างความชอบธรรมในการรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองเป็นข้อต่อสู้
จากนี้ไปคงต้องติดตามอย่างใจจดใจจ่อว่าคำให้การของ "หัวหอกขั้วตรงข้าม" ทั้ง 2 คน จะมีน้ำหนักเพียงพอต่อการดิ้นออกจากเกม "ข้าผิด เอ็งก็ผิด" หรือไม่
ถ้าดิ้นหลุด "อริสมันต์" อาจต้องตายเดี่ยว หลังมีคำบัญชาจากทางไกลให้ขึ้นเกมตัวประกัน!!!
แม้วขึ้นเกมตัวประกัน เปิดเกมข้าผิดเอ็งก็ผิด ?
หน้าแรกTeeNee ที่นี่ข่าววันนี้, ข่าวหน้าหนึ่ง ข่าวการเมือง แม้วขึ้นเกมตัวประกัน เปิดเกมข้าผิดเอ็งก็ผิด ?