โดย สุริวงค์ เอื้อปฏิภาน
พูดไทยก็ว่าไม่ไพเราะ พูดผิดพูดถูก ไม่มีถ้อยคำคมคาย น้ำเสียงก็บ้านๆ ภาษาอังกฤษก็พูดไม่ได้ใจความ
ความเป็นนายกฯในระบอบประชาธิปไตย ย่อมสามารถโดนแตะต้อง วิพากษ์วิจารณ์กันได้ เป็นเรื่องปกติธรรมดา
ถ้าสังคมส่วนใหญ่เห็นด้วย เรื่องนี้ก็คงจุดติดทันที
เหมือนกับกรณีอดีตนายกฯอภิสิทธิ์ พูดเก่ง พูดเพราะ หน้าตาหล่อเหลา
พอ จิตรา คชเดช ผู้นำแรงงานหญิงชูป้าย "ดีแต่พูด"
เปรี้ยงเดียวติดกระแสสังคม
เพราะผู้คนส่วนใหญ่รู้สึกเห็นด้วยอย่างยิ่ง
ทั้งที่ "ดีแต่พูด" เป็นคำที่ใช้กันอยู่ทั่วไป ไม่ได้แปลกใหม่อะไร
แต่เมื่องัดออกมาใช้ ถูกคน ถูกที่ ถูกเวลา กลายเป็นเกรียวกราว ขานรับกันไปทั้งบ้านทั้งเมือง
ขณะ ที่นายกฯหญิง ซึ่งโดนไล่บี้เรื่องการพูดนั้น อาจจะยังไม่ถูกที่ถูกเวลา เลยทำให้คนส่วนใหญ่ไม่ได้รู้สึกไปด้วยว่าจะเป็นเรื่องสลักสำคัญอะไร
แล้ว ความที่พูดไม่เก่งด้วยกระมัง เราจึงไม่เห็นนายกฯคนนี้ พูดจาให้สัมภาษณ์แบบตื่นเช้าขึ้นมาก็ต้องกวัดแกว่งปาก ตอบโต้ทุกคน ทุกคำพูด สวนกันทุกเม็ด
อันนี้แหละที่ข้อด้อยกลายเป็นข้อดี
ประชาชนคนไทยเลยรู้สึกชอบใจ ที่ผู้นำการเมือง ใช้เวลาไปกับการทำงาน มากกว่าการ จิก กัด แขวะ เหวี่ยง
พึงพอใจกันมาก ที่คนระดับนายกฯไม่ต้องมาเสียเวลากับการคอยเชือดเฉือนคารมใครต่อใครทุกวี่วัน
รวมทั้งอาจเป็นคำตอบด้วยว่า ทำไมข้อดีเด่นของอดีตนายกฯอภิสิทธิ์ จึงกลายเป็นข้อร้าย
คำว่าดีแต่พูด ได้สั่นคลอนภาพพจน์อันเลอเลิศจนกลายเป็นรุ่งริ่ง
จน กลายเป็นบทสรุปทางการเมืองในช่วงนั้นว่า จุดแข็งที่สุดของประชาธิปัตย์คือการพูดการอภิปราย แล้ววันนี้ได้กลายเป็นจุดทำลายประชาธิปัตย์จนยากจะเยียวยาได้
เรื่องการพูดจา ยังได้ช่วยให้ประชาชนได้ทบทวนสถานะของผู้นำการเมืองไทยไปพร้อมๆ กันด้วย
เราต้องการผู้นำพิเศษหรือผู้นำปกติธรรมดา
ขณะ ที่นายกฯหญิงนั้น มีความเป็นผู้คนปกติธรรมดา มีผิดมีพลาดมีเฟอะฟะ แต่ถ้ายังทำงานได้ ยังนำพารัฐบาลบริหารประเทศชาติต่อไปได้ก็ว่ากันไป ถ้าไม่ไหวเมื่อไร ต้องลาออก ต้องยุบสภา ให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจตามกรอบกติกาประชาธิปไตย
น่าจะดีกว่าการมีผู้นำดูดีฉลาดอัจฉริยะ พูดเก่งกาจ แล้วยกกันจนเกินความเป็นคนปกติ แถมมีอำนาจพิเศษอุ้มชูอยู่อีก ยิ่งไปกันใหญ่
สุดท้ายในความเลอเลิศอันแตะต้องไม่ได้นั้น
อาจ กำลังได้รับการเปิดความจริงอีกด้าน โดย "ไอ้โก้" ผู้นำทีมปฏิบัติการอันนำไปสู่การขุดคุ้ยทุจริตโครงการอภิมหาโปรเจ็กต์ของ รัฐบาลยุคหนึ่ง
ไปจนถึงได้รับการเปิดเผยความจริงหลังฉากเลือด ด้วยคำให้การต่อพนักงานสอบสวนของเจ้าหน้าที่ทหารผู้ปฏิบัติตามคำสั่ง
ในเหตุการณ์ปี 2553
(ที่มา : คอลัมน์สถานีคิดเลขที่ 12 หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับประจำวันที่ 2 ธันวาคม 2554)