ไม่เก่งอังกฤษ

โดย วรศักดิ์ ประยูรศุข

(ที่มา คอลัมน์สถานีคิดเลขที่ 12 หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับประจำวันที่ 23 พฤศจิกายน 2554)

ไม่ว่าจะชอบหรือไม่ แต่น้ำก็ลดลงแล้ว จุดเลวร้ายสุดได้ผ่านไป

ปัญหาพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษในวาระมหามงคล 5 ธันวาคม ก็ยุติไป หลังจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร แสดงท่าทีชัดเจน

นายกรัฐมนตรี ยังคงเป็น ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ว่ากันว่า พูดภาษาอังกฤษไม่เก่ง เมื่อวันเปิดทำเนียบรับ ฮิลลารี คลินตัน รมต.ต่างประเทศ สหรัฐ ฝรั่งถอดเทปฟังไม่เข้าใจ หรือ inaudible ถึง 12 จุด

แก้รัฐธรรมนูญรอบนี้ นายกฯนอกจากต้องผ่านการเลือกตั้ง อาจต้องสอบภาษาอังกฤษด้วย

หรือจะให้เลือกสอบภาษาจีน ญี่ปุ่น เกาหลี สเปน เยอรมัน ละติน หรือ บาลี ก็ว่ากันไป

นายกฯยิ่งลักษณ์ จะเก่งภาษาหรือไม่ ถือเป็น "น้ำจิ้ม" ปล่อยให้ดอกเตอร์ทั้งหลายวัดผลไป แต่ในทางการเมือง น้ำท่วมไทยครั้งนี้ มิตรต่างประเทศโอบอุ้มอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง

โดยเฉพาะการมาเยือนไทยของฮิลลารี คลินตัน กระทรวงต่างประเทศสหรัฐ ออกข่าวล่วงหน้าว่า "สาร" หรือ message ที่ฮิลลารีตั้งใจนำเสนอถึงคนไทยและรัฐบาลไทยคือ ความมั่นคงและประโยชน์ทางการเมืองของสหรัฐ คือการให้รัฐบาลนี้ประสบความสำเร็จ

สหรัฐจะทำทุกอย่างที่ทำได้ เพื่อสนับสนุนความก้าวหน้า ถึงจะมีความตึงเครียดมากมายในประเทศไทย ซึ่งความตึงเครียดเหล่านั้นไม่สามารถแก้ไขได้หลังจากการเลือกตั้งเพียงครั้งเดียวหรือสองสามครั้ง


ไม่เก่งอังกฤษ

ส่วนการแถลงข่าวร่วมกัน ฮิลลารีได้ขยายความชัดขึ้น ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ นักวิชาการที่ให้สัมภาษณ์มติชนออนไลน์ สรุปไว้ 5 ประเด็น 5 เรื่อง

เรื่องแรก คือ รัฐบาลสหรัฐยืนอย่างเข้มแข็งอยู่เบื้องหลัง "รัฐบาลพลเรือนของไทย"

สอง สนับสนุนความพยายามของรัฐบาลไทยในการสร้างความเข้มแข็งให้กับสถาบันประชาธิปไตย

สาม สนับสนุนให้ไทยเคารพในหลักของกฎหมายและหลักการปกครองที่ดี หรือ Good Governance

สี่ สนับสนุนเรื่องสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน

ห้า เป็นเรื่องเกี่ยวกับการสมานฉันท์ด้านการเมือง

อาจารย์ปวินชี้ว่า การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองไทยที่ผ่านมา ทำให้สหรัฐต้องเปลี่ยนจุดยืน แม้จะปรับตัวช้าเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ เช่น จีน

จุดเปลี่ยนสำคัญ ได้แก่ การเปลี่ยนตัวของเอกอัครราชทูตสหรัฐประจำกรุงเทพฯ เป็นทูตหญิง คริสตี้ เคนนีย์ ซึ่งแสดงบทบาทค่อนข้างมาก มีการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างสถานทูตกับรัฐบาลยิ่งลักษณ์

ยังมีตัวแปรหลายอย่างเช่น ความเปลี่ยนแปลงในภูมิภาคที่มีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ทั้งในอินโดนีเซีย พม่า ทำให้สหรัฐต้องกลับมาเน้นบทบาทนี้เหมือนเดิม คือ สนับสนุนประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน..!

เพื่อนนักข่าวสายต่างประเทศ ที่ติดตามข่าวนี้ บอกว่า "คีย์เวิร์ด" ของฮิลลารี อยู่ที่คำว่า
"รัฐบาลพลเรือน"

ซึ่งมีนัยยะยาวไกล เป็นที่เข้าใจได้

"ประชาธิปไตย" เป็นภาษาสากล ใช้สื่อสารกันได้ แต่อีกหลายคนก็สอบตกภาษานี้


เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์