ประเทศเสียหายกว่า 3 แสนล้านบาทเท่ากับยอดการท่องเที่ยวทั้งปี จี้ตรึงราคา กก.ละ 120 บาท
เมื่อเวลา 11.30 น. วันนี้ (17 พ.ย.) ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม มีการพิจารณากระทู้ถามสดของนายสมบูรณ์ อุทัยเวียนกุล ส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ เรื่อง ราคายางพาราตกต่ำอย่างรุนแรง ถามนายกรัฐมนตรีว่า รัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ราคายากตกต่ำที่สุด มีมาตรการมาช่วยเหลืออย่างไร เพราะปัจจุบันมีเกษตรกร ปลูกยางพาราทั่วประเทศ 65 จังหวัด ครอบคลุมพื้นที่ 18,095,000 ไร่ มีผลผลิตเฉลี่ยปีละ 3,313,000 ตัน ถือว่าประเทศไทยผลิตยางพาราได้สูงสุดในโลก
“ราคายางพาราของรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เมื่อวันเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี วันที่ 30 ธ.ค.2551 อยู่ที่กิโลกรัมละ33 บาท ทำสถิติสูงสุดก.ก.ละ 190 บาท แต่วันที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ แถลงนโยบายวันที่ 23ส.ค. ราคายางดิ่งลงต่ำสุดที่ก.ก.ละ 59 บาท แตกต่างกันถึง140-150 บาท ราคายางที่ตกลงกก.ละ 1 บาท ทำให้ประเทศไทยเสียหายประมาณ 3,000 ล้านบาท วันนี้แตกต่างกันถึง100 บาท ทำให้เกิดความเสียหาย 3 แสนกว่าล้านบาทเท่ากับรายได้ของการท่องเที่ยวทั้งปี อยากถามว่า รัฐบาลมีมาตรการอะไรบ้าง”
นายสมบูรณ์ กล่าวและถามว่าจนถึงวันนี้รัฐบาลก็ยังไม่ตั้งประธานคณะกรรมการนโยบายยางแห่งชาติขึ้นมาแก้ไขปัญหาราคายาง วันนี้เกษตรกรต้องการให้ตรึงราคายางอยู่ที่ ก.ก.ละ 120 บาท อยากถามว่ารัฐบาลยิ่งลักษณ์จะทำให้ราคายางไปอยู่ที่ก.ก.ละ 120 บาท ได้อย่างไร และเมื่อไหร่ขอกำหนดวันที่ชัดเจน
นายธีระ วงศ์สมุทร รมว.เกษตรและสหกรณ์ ชี้แจงแทนนายกฯ ว่า ราคายางพาราที่ตลาดกลางยางพาราอ.หาดใหญ่ ณวันที่ 16 พ.ย. กก.ละ 90 บาท ลดลงจากวันที่ 1 พ.ย. ก.ก.ละ 103 บาทสาเหตุมาจากความต้องการใช้ยางพาราในประเทศและต่างประเทศลดลง มาจากหลายปัจจัย
1.อุตสาหกรรมที่ผลิตลดลง โดยเฉพาะการผลิตอะไหล่รถยนต์ ที่ต้องซื้อยางพาราไปทำล้อรถยนต์ได้ชะลอการรับซื้อออกไปเนื่องจากน้ำท่วม
2. เศรษฐกิจจีนชะลอตัวจากการกดดันเพิ่มค่าเงินเหยวน
3. นักลงทุนตลาดโตเกียว ยังไม่มีความชัดเจน ตรงนี้ก็ส่งผลกระทบ
ซึ่งปัญหาการชะลอตัวต่างๆ คาดว่าจะเป็นระยะสั้นๆ โดยกระทรวงเกษตรฯมี มาตรการในการแก้ไขเหมือนปี 2552 โดยเฉพาะการแปรรูปยางให้เพิ่มมูลค่ามากขึ้น และสนับสนุนให้ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์(ธ.ก.ส.) สนับสนุนดอกเบี้ยให้สถาบันเกษตรกรที่ร่วมโครงการ ในการรับซื้อน้ำยางสดและยางแผ่นดิบ โดยจะมีการนำเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายยางพาราแห่งชาติ เพื่อยกระดับราคายางพาราโดยเร็วที่สุด
รมว.เกษตรฯ กล่าวว่า นอกจากนี้จะมีการหารือกับประเทศที่เกี่ยวข้องกับยางพาราไม่ว่าจะเป็น มาเลเซีย อินโดนีเซียซึ่งจะประชุมในปลายสัปดาห์นี้และรมช.เกษตรฯที่รับผิดชอบเรื่องยางพาราก็อยู่ที่ประเทศจีนเพื่อไปแก้ไขปัญหายางพารา ยืนยันว่ากระทรวงเกษตรฯไม่ได้นิ่งเฉยกับปัญหานี้เราจะเร่งรัดดำเนินการแก้ไขในคณะกรรมการนโยบายยาง และส่งเรื่องให้ครม.ไปดำเนินการ รวมถึงให้ ธ.ก.ส.ให้ความช่วยเหลือในเรื่องเงินกู้เกษตรกร นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยหลายอย่างแต่กลไกที่สำคัญคือเรื่องตลาดการซื้อ ทั้ง จีน ญี่ปุ่น สหรัฐ ยุโรป ซึ่งกระทรวงเกษตรฯจะรีบประสานงานให้มีการซื้อขายต่อไป
“ผมคงบอกไม่ได้ว่าจะให้ราคายางไปอยู่ที่กก.ละ 120 บาท ได้เมื่อไหร่แต่รัฐบาลจริงใจในการแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องเกษตรกร วันนี้ ทิศทางของยางพาราก็อยู่ในตัวเลขที่กำลังเพิ่มขึ้นตามกลไกตลาดและมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ” รมว.เกษตรฯ กล่าว