ดูเหมือนว่าการเดินทางไปร่วมประชุมสุดยอดอาเซียนของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ครั้งนี้ น่าจะเป็นการเปิดตัวที่วุ่นวายและเต็มไปด้วยภารกิจมากมายรออยู่ เพราะนอกจากการประชุมอย่างต่อเนื่องในเวทีหลักที่ต้องเข้าร่วมแล้ว ผู้นำไทยยังมีกำหนดหารือทวิภาคีกับผู้นำแทบจะทุกประเทศไม่ว่าญี่ปุ่น จีน รวมถึงประธานาธิบดีโอบามา ซึ่งข่าวแว่วว่ามีกำหนดจะหารือทวิภาคีกันเป็นเวลา 35 นาที
นาทีนี้จึงขึ้นกับว่านายกรัฐมนตรีไทยจะใช้โอกาสในการพบปะกับผู้นำประเทศต่างๆ ให้เป็นประโยชน์กับประเทศไทยได้มากน้อยเพียงใด เพราะแม้จะถูกวิจารณ์หนักจากคนในชาติว่ารัฐบาลขาดประสิทธิภาพในการบริหารจัดการกับปัญหา แต่เชื่อเถิดว่าด้วยสภาพวิกฤตอุทกภัยที่หนักหนาสาหัสเช่นนี้ เป็นธรรมดาที่ผู้นำไทยย่อมจะได้รับความเห็นอกเห็นใจจากผู้นำโลกพร้อมกับภาพที่ใครต่อใครยินดีที่ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ เพราะคงไม่มีรัฐบาลประเทศไหนจะมาถล่มล้มทับรัฐบาลไทยภายใต้สถานการณ์วิกฤตเช่นนี้อย่างแน่นอน
เป้าหมายหลักสำหรับไทยในการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งนี้คือการสร้างความเชื่อมั่นในการฟื้นฟูประเทศของไทยหลังน้ำลด ซึ่งกลายมาเป็นเรื่องที่มีความสำคัญสูงสุดสำหรับไทยโดยปริยาย นอกจากนี้ยังจะพยายามผลักดันให้มีการพูดถึงแนวทางการให้ความช่วยเหลือเพื่อการฟื้นฟูประเทศหลังประสบภัยพิบัติในกรอบอาเซียนอีกด้วย
อันที่จริงอาเซียนมีความร่วมมือระหว่างกันในเรื่องความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนประสบการณ์เกี่ยวกับการบริหารจัดการเมื่อเกิดภัยพิบัติอยู่แล้ว เพราะในระยะหลังภัยธรรมชาติเป็นปัญหาที่รุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ตัวอย่างที่เกิดขึ้นเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมาก็คือพายุไซโคลนนาร์กีสในพม่าที่คาดว่ามีผู้เสียชีวิตนับแสนคน ทุกประเทศต่างตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะเผชิญกับความไม่แน่นอนของภัยพิบัติที่ไม่อาจคาดเดาได้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่และร้ายแรงแค่ไหน
อย่างไรก็ดี นายอิทธิ ดิษฐบรรจง อธิบดีกรมอาเซียน ระบุว่า ความร่วมมือที่มีอยู่ส่วนใหญ่จะเป็นรูปแบบของการเตรียมความพร้อม (Preparedness) และการบรรเทาทุกข์ (Relief) ซึ่งไทยเห็นว่าที่ผ่านมาไม่มีการพูดถึงการฟื้นฟูให้กลับสู่สภาพปกติ (Recovery) ขณะที่อุทกภัยครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นในไทยซึ่งเป็นแหล่งผลิตและผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ของโลก ย่อมต้องส่งผลกระทบต่อความมั่นคงด้านอาหารของโลกโดยรวมเช่นกัน
หนึ่งในประเด็นสำคัญที่ไทยเห็นว่าน่าจะสามารถแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับประเทศสมาชิกและประเทศคู่เจรจาต่างๆ ได้ คือการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ซึ่งสมาชิกอาเซียนก็มีความร่วมมือกับประเทศคู่เจรจาอย่างญี่ปุ่นและสหรัฐในเรื่องนี้อยู่ อีกทั้งระหว่างวันที่ 5-6 กุมภาพันธ์ 2555 ไทยยังรับเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม "ผู้นำน้ำ" ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ครั้งที่ 2 ซึ่งจะมีการพูดคุยเกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำตั้งแต่การพัฒนาแหล่งทรัพยากรน้ำ การบริหารจัดการเพื่อความมั่นคงด้านน้ำ และการป้องกันการเกิดอุทกภัยอีกด้วย
ปฏิเสธไม่ได้ว่าน้ำท่วมในไทยไม่ได้ส่งผลกระทบและทำให้เกิดปัญหาแค่ในประเทศ แต่คงต้องรอดูว่าเป้าหมายหลักของไทยในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับอุทกภัยใหญ่จะมีปฏิกิริยาตอบรับจากเวทีประชุมครั้งนี้เพียงใด
ยังมีประเด็นอื่นๆ ที่น่าสนใจอีกมากในการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งนี้ ทั้งเรื่องการผลักดันการสร้างความเชื่อมโยงทั้งในและนอกอาเซียน การส่งเสริมบทบาทของอาเซียนในเวทีโลก และการสร้างประชาคมอาเซียนที่สามารถรับมือกับประเด็นปัญหาท้าทายต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นงานที่ต้องแข่งกับเวลาเพราะเหลืออีกไม่กี่ปีก็จะถึงกำหนดที่อาเซียนจะต้องรวมตัวกันเป็นประชาคมอาเซียนแล้ว
แต่หนึ่งในเรื่องที่คงถูกตั้งคำถามอย่างหนักคือการที่พม่าประกาศความพร้อมที่จะเป็นเจ้าภาพอาเซียนในปี 2557 หรืออีก 3 ปีข้างหน้า ดูเหมือนปฏิกิริยาจากประเทศต่างๆ นับตั้งแต่พม่าเสนอตัวเป็นเจ้าภาพอาเซียนเมื่อช่วงกลางปีจนถึงขณะนี้จะมีพัฒนาการในทางบวกมากขึ้นเป็นระยะ เห็นได้จากที่แม้แต่นายดีเรก มิเชล ผู้แทนพิเศษของสหรัฐเรื่องพม่า ก็ยังเดินทางเข้าไปดูพัฒนาการด้านต่างๆ ในพม่ามาแล้วถึง 2 รอบ และยอมรับว่าพม่ามีพัฒนาการทางบวกในหลายๆ ด้าน เช่นเดียวกับที่นายเดวิด ลิปแมน หัวหน้าคณะผู้แทนสหภาพยุโรป (อียู) ประจำไทย กัมพูชา ลาว และพม่า ก็เพิ่งจะเข้าไปจัดเวิร์กช็อปในพม่าว่าด้วยการปฏิรูปการเงินโดยมีนางออง ซาน ซูจี เข้าร่วมด้วย ซึ่งลิปแมนก็ยังกล่าวชื่นชมถึงการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในพม่าเช่นกัน
กระนั้นก็ดีไม่ชัดเจนว่าอาเซียนจะตัดสินใจใดๆ เกี่ยวกับการขอเป็นประธานอาเซียนของพม่าในการประชุมครั้งนี้เลยหรือไม่ เพราะแม้รัฐบาลใหม่ของพม่าจะดำเนินการในหลายๆ เรื่องที่มีแนวโน้มเป็นบวก แต่การที่จะให้ผู้นำประเทศที่ประกาศตนเป็นอริกับรัฐบาลพม่ามายาวนานอย่างสหรัฐหรือแม้แต่อียู ยินยอมไปร่วมประชุมในพม่าก็ไม่ใช่งานง่าย และยังมีเวลาอีกหลายปีให้ผู้นำอาเซียนได้เฝ้าพิจารณาก่อนที่จะตัดสินใจ
ขณะที่กลางสัปดาห์นี้ที่ประเทศไทย นายบัน คี มุน เลขาธิการสหประชาชาติ และนางฮิลลารี คลินตัน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ ยังจะเดินทางมาเยือนไทยพร้อมๆ กัน ซึ่งเป็นการแวะเยือนสั้นๆ ก่อนที่ทั้งคู่จะเดินทางไปร่วมประชุมสุดยอดอาเซียนที่บาหลี โดยนายบันจะพบกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ และเดินทางไปดูสถานการณ์น้ำท่วมในไทย เช่นเดียวกับนางฮิลลารีที่จะมาเยือนภายใต้เหตุผลที่ระบุว่า เพื่อกระชับความสัมพันธ์และเสนอความช่วยเหลือในการฟื้นฟูประเทศหลังสถานการณ์น้ำท่วมคลี่คลาย
ความช่วยเหลือจากนานาประเทศกำลังหลั่งไหลเข้ามาอย่างต่อเนื่อง รัฐบาลยิ่งลักษณ์ต้องแสดงให้คนเห็นเสียทีว่ามีศักยภาพพอที่จะบริหารจัดการให้ดีและทำหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ อย่าปล่อยให้เกิดภาพวุ่นวายจนคนรู้สึกว่าพึ่งไม่ได้เช่นที่เคยเกิดมาแล้วซ้ำอีก เพราะ "โอกาส" สำหรับการพิสูจน์ตนไม่ได้มีให้บ่อยนัก
Love Attack เทศกาลความรักแบบนี้ บอกอ้อมๆให้เขารู้กัน
Chocolate Dreams สาวชั่งฝันและช็อคโกแลต กับหนุ่มหล่อ ไม่แน่คุณอาจจะได้เจอแบบนี้ก็ได้
Love You Like Crazy เพลงเพราะๆ ที่ถ้าส่งให้คนที่เรารัก โลกนี้ก็สีชมพูกันทีเดียว