“ยิ่งลักษณ์”ร่ายยาวงบฯ55 กู้ประเทศ

“ยิ่งลักษณ์”ร่ายยาวงบฯ55 กู้ประเทศ

“ยิ่งลักษณ์”ร่ายยาวงบฯ55 วาง 8 ยุทธศาสตร์ฟุ้งพาประเทศพ้นวิกฤติ น้อมนำเศรษฐกิจพอเพียงมั่นใจเศรษฐกิจโต ร้อยละ 4.5-5.5 
               

เมื่อเวลา 09.45 น. วันนี้ (9 พ.ย.) ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณา ร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2555 นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธาน  น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้อ่านร่างคำแถลงประกอบงบประมาณรายจ่ายฯว่า รัฐบาลตั้งงบฯ 2,380,000,000,000 บาท ขณะนี้ปัญหาอุทกภัยได้ขยายความรุนแรงในวงกว้าง กระทบต่อสภาวะเศรษฐกิจ สังคม ทั้งในระดับมหภาคและครัวเรือน รัฐบาลพยายามทุกวิถีทางเพื่อเร่งรัดแก้ไขปัญหาให้บังเกิดผล ชัดเจนและเป็นรูปธรรม แต่ปัญหาภัยธรรมชาติ และความล่าช้าในการนำงบฯมาใช้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และเศรษฐกิจโลกที่ยังคงมีปัจจัยลบ อาจส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจไทยในปี 2554 ขยายตัวต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ แต่รัฐบาลจะพัฒนาสังคมด้านต่างๆ อย่างเป็นรูปธรรม ประกอบกับทุนสำรองระหว่างประเทศที่อยู่ในระดับสูง หนี้ต่างประเทศอยู่ในระดับต่ำ และดุลบัญชีเดินสะพัดยังอยู่ในภาวะเกินดุล จะช่วยพยุงเศรษฐกิจประเทศ และผลักดันให้ระบบเศรษฐกิจขับเคลื่อนต่อไปได้ ไม่เกิดชะงักงัน

น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวต่อว่า แนวโน้มเศรษฐกิจในปี 2555 ยังคงได้รับผลกระทบต่อเนื่องจากปัญหาอุทกภัย
 
เมื่อปัญหาบรรเทาเบาบางลง การปรับปรุงฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพและการผลิต การดำเนินมาตรการเยียวยาอย่างเร่งด่วน เป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยฟื้นตัวการลงทุนและการจ้างแรงงาน ขณะเดียวกันยังมีแรงสนับสนุนจากปัจจัยอื่น ได้แก่ การเคลื่อนย้ายเงินลงทุนเข้าสู่ภูมิภาคเอเชีย ความชัดเจนของมาตรการแก้ไขวิกฤตการณ์หนี้สาธารณะในสหภาพยุโรป การเข้าไปมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของภาครัฐ ตามมาตรการเร่งด่วนที่มุ่งเน้นการเพิ่มรายได้ของประชาชน และศักยภาพการแข่งขันของประเทศ ประกอบกับเสถียรภาพทางเศรษฐกิจภายในและภายนอกประเทศที่อยู่ในเกณฑ์ดี ทำให้คาดว่าเศรษฐกิจไทยปี 2555 ยังขยายตัวได้ประมาณร้อยละ 4.5–5.5 ขณะที่อัตราเงินเฟ้อประมาณร้อยละ 3.0–4.0
    
น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวอีกว่า สำหรับฐานะและนโยบายการคลัง รัฐบาลประมาณการจัดเก็บรายได้สุทธิ 2,066,900 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.1 จากปีก่อน

เมื่อหักการจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตาม พ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) 86,900 ล้านบาทแล้ว คงเหลือเป็นรายได้สุทธินำมาจัดสรรเป็นรายจ่ายรัฐบาล 1,980,000 ล้านบาท หรือร้อยละ 16.8 ของจีดีพี ขณะที่รัฐบาลให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการรายจ่าย การฟื้นฟูสภาพเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตประชาชน ที่ได้รับผลกระทบต่อเนื่องจากปัญหาอุทกภัยร้ายแรงช่วงปลายปี 2554 ควบคู่กับการเร่งรัดสร้างรายได้ประชาชน รวมทั้งให้ความสำคัญกับการเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของประเทศ และการสร้างภูมิคุ้มกันจากภาวะผันผวนของเศรษฐกิจโลก โดยน้อมนำแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นหลัก อีกทั้งรัฐบาลได้กำหนดแนวทางบริหารไว้ 8 ยุทธศาสตร์
 
ดังนี้ 1. สร้างรากฐานการพัฒนาที่สมดุลสู่สังคม อาทิ การสร้างความปรองดองสมานฉันท์ของคนในชาติ ฟื้นฟูประชาธิปไตยและปฏิรูปการเมือง การแก้ไขและป้องกันปัญหายาเสพติด

การป้องกันและปราบปรามการทุจริต การแก้ไขปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ การฟื้นฟูความสัมพันธ์และพัฒนาความร่วมมือกับประเทศในภูมิภาค การแก้ไขความเดือนร้อนและยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน การยกระดับราคาสินค้าเกษตร ส่งเสริมให้ประชาชนเข้าถึงแหล่งทุน การเพิ่มรายได้จากการท่องเที่ยว การสนับสนุนสินค้าโอท็อป การพัฒนาระบบประกันสุขภาพ การสนับสนุนเครื่องคอมพิวเตอร์พกพาเพื่อการศึกษา การส่งเสริมการบริหารจัดการน้ำอย่างบูรณาการ 4.52 หมื่นล้านบาท เพื่อบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ การเยียวยา ฟื้นฟูและป้องกันความเสียหายจากอุทกภัยอย่างบูรณาการ รวม 1.2 แสนล้านบาท เพื่อบรรเทาความเสียหายอันเกิดจากอุทกภัยในลักษณะบูรณาการทุกภาคส่วน รวมทั้งปรับปรุง ซ่อมแซม ก่อสร้าง ฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐาน เมื่อรวมกับเงินอุดหนุนให้แก่ อปท. อีก 1 หมื่นล้านบาท จะมีวงเงินรวมทั้งสิ้น 1.3 แสนล้านบาท
    
น.ส.ยิ่งลักษณ์  กล่าวว่า 2. ความมั่นคงแห่งรัฐ ได้แก่ การเทิดทูน พิทักษ์ และรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ การเสริมสร้างระบบป้องกันประเทศ การรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ 3. การสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างมีเสถียรภาพและยั่งยืน 4. การศึกษา คุณธรรม จริยธรรม คุณภาพชีวิต และความเท่าเทียมกันในสังคม 5. การอนุรักษ์ ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การจัดการทรัพยากรน้ำ การป้องกัน เตือนภัย แก้ไขและฟื้นฟูความเสียหายจากภัยพิบัติ การแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศ 6. การพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัยและนวัตกรรม 7. การต่างประเทศและเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ส่งเสริมให้ไทยได้รับการยอมรับจาก นานาประเทศ และ8. การบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี
    
นายกฯ กล่าวด้วยว่า ได้จัดงบฯดำเนินการภาครัฐไว้ 5.6 แสนล้านบาท เป็นงบฉุกเฉิน 6.87 หมื่นล้านบาท
 
เพื่อสำรองไว้เป็นค่าใช้จ่ายในการแก้ไขปัญหาในสภาวะฉุกเฉิน การบริหารบุคลากรภาครัฐ 2.16 แสนล้านบาท การบริหารจัดการหนี้ภาครัฐ 2.22 แสนล้านบาท รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง 5.39 หมื่นล้านบาท ตนและครม.เชื่อมั่นว่าร่างพ.ร.บ.งบประมาณปี 2555 แสดงให้เห็นถึงเจตนาอันแน่วแน่ของรัฐบาล ที่จะใช้งบประมาณเป็นเครื่องมือสำคัญเพื่อแก้ปัญหาเร่งด่วนสำคัญของชาติ ให้เกิดผลเป็นรูปธรรม และพัฒนาสังคมไทยให้เข้มแข็งยั่งยืน สามารถพึ่งตนเองและแข่งขันในเวทีโลกได้ โดยคำนึงถึงความอยู่ดีมีสุขและประโยชน์ที่จะตกสู่ประชาชนเป็นสำคัญ หวังว่าสภาฯจะให้การสนับสนุนและพิจารณารับหลักการร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้.


เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์