เวลานี้หลายคน เอาภาพของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ในฐานะนายกรัฐมนตรี มาเปรียบเทียบกับ "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" นายกรัฐมนตรี
น้องสาวแท้ๆ ที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ปลุกปั้นมากับมือ
แน่นอน พ.ต.ท.ทักษิณเคยกล่าวเอาไว้ว่า น้องสาวคนนี้เหมือนเขาทุกอย่าง ต่างกันอย่างเดียวคือความเป็นหญิงกับชาย
จริงอยู่ พ.ต.ท.ทักษิณ ประสบความสำเร็จอย่างสูงตามกรอบคิดและทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ทุนนิยม
พิสูจน์ได้จากผลประกอบการและโครงสร้างของกำไรกิจการที่ริเริ่ม ก่อตั้ง และบริหาร ก่อนการเข้ารับตำแหน่งหรือแสดงบทบาททางการเมือง
กระทั่งสามารถใช้ความสำเร็จเหล่านั้น เป็นฐานเข้ายึดกุมอำนาจรัฐด้วยกลไกการเลือกตั้งสำเร็จในที่สุด
ในมุมหนึ่งทางการเมือง พ.ต.ท.ทักษิณ ถูกมองว่า เป็นกลุ่มนายทุนที่หวังเข้ามาแสวงหาผลกำไร
แน่นอน เมื่อลงทุนก็ต้องหวังกำไร
หากแต่ในทางการเมือง การหวังทำกำไร เปรียบได้กับ "หายนะ" ของตัวเอง
แต่สิ่งหนึ่งที่สังคมได้จาก พ.ต.ท.ทักษิณ คือ การคิดนอกกรอบ
เพราะหลายครั้งที่ พ.ต.ท.ทักษิณ มักพูดด้วยความภาคภูมิใจอยู่เสมอว่า
"..ผมเชื่อมั่นในตัวเอง เป็นคน "คิดนอกกรอบ" พร้อมที่จะหา "ลู่ทางใหม่ๆ" มาแก้ปัญหา
หลายครั้งที่ พ.ต.ท.ทักษิณ กล่าวกับสื่อมวลชน หรือกับผู้ฟังกลุ่มอื่นๆ ทำนองว่า "กฎหมายนั้นเป็นเพียงเครื่องมือ มีได้ก็แก้ได้ เพื่อเป้าหมายที่วางไว้"
หากนำคำพูดของ พ.ต.ท.ทักษิณ เมื่อ 6-7 ปีก่อนมาปรับใช้ในสถานการณ์ปัจจุบัน
สถานการณ์ที่น้ำนองทั่วประเทศ เชื่อว่าสิ่งที่หลายคนมองว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ลุแก่อำนาจ อาจจะเป็นประโยน์ในสถานการณ์ที่นายกฯยิ่งลักษณ์เผชิญอยู่
สิ่งหนึ่งที่ไม่เห็นในตัวของนายกฯยิ่งลักษณ์เลยก็คือ "ความเด็ดขาด" ในฐานะผู้มีอำนาจในฝ่ายบริหาร
ผู้นำกับอำนาจ พี่แม้ว-น้องปู ไม่ใช่ต่างแค่เพศ
"คำสั่ง" ของผู้นำไร้ความศักดิ์สิทธิ์
ไม่ว่าจะเป็นการเปิด-ปิดประตูระบายน้ำ รวมทั้งแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ชัดเจนในแต่ละวันถึง "ความหวัง" ที่ประชาชนคนไทยจะได้รับ
เพราะในแต่ละวันสิ่งที่คนตื่นตาแล้วประสบก็คือ การรุกคืบของน้ำจำนวนมหาศาลที่ไหลไปอย่างไร้ขอบเขต และการประกาศเขตพื้นที่อพยพ
"โอกาส" ที่ประชาชนมอบให้ "อำนาจ" บริหารที่อยู่ในมือ คือความได้เปรียบ
แต่ทั้งหมดคงอยู่ที่ "จะกล้าใช้" หรือ "ใช้เป็น" หรือไม่
เพราะฉะนั้น สิ่งที่ พ.ต.ท.ทักษิณพูดว่า นายกฯยิ่งลักษณ์เหมือนตัวเองทุกอย่าง คงไม่จริง
ความแตกต่างระหว่าง "เพศ" ไม่น่าจะเป็นอุปสรรค ปัญหา เพราะเวลานี้ผู้หญิงแถวหน้าเยอะแยะ
หากแต่ก่อนพูดหรือก่อน "ชง" น้องสาวขึ้นนั่งแท่นบริหารประเทศบนความเสี่ยง ต้องรู้นิสัย ใจคอ ความกล้า ความเด็ดขาด มีอยู่ในตัวน้องสาวคนนี้หรือไม่
อดีตคนใกล้ชิด พ.ต.ท.ทักษิณ หลายคน มองการบริหารน้ำของรัฐบาลมีปัญหาเพราะ "ผู้นำ" ไม่เป็น "ผู้นำ"
"ผู้นำ" กลายเป็น "ผู้ตาม"
"ผู้ตาม" ที่ทำอะไรก็ต้องว่าตามความเห็นของ ศปภ. ตามความเห็นของข้าราชการประจำ
แตกต่างจากสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ที่นั่งหัวโต๊ะสั่งการทุกอย่างที่จะสามารถทำให้สถานการณ์คลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น
ไม่ใช่เลวร้ายหนักเหมือนปัจจุบัน
มีการยกตัวอย่าง เมื่อรู้ว่าน้ำมาถึงนครสวรรค์ ทำไมไม่มองข้ามช็อตถึงแนวทางการป้องกันที่มากกว่าการกั้นกระสอบทราย
การขุดลอกคูคลองส่งน้ำให้กว้างขึ้นเพื่อให้เป็นคลองระบายน้ำ ให้ใหญ่และกว้างขึ้น การจัดเตรียมเครื่องสูบขนาดใหญ่ที่สั่งตรงมาจากต่างประเทศ
นั่นคือ "แผนแรก"
การเตรียมตัด เจาะ รื้อ ประตูระบายน้ำ หรือถนน ที่ขวางทางน้ำ เพื่อให้น้ำระบายลงสู่ทะเลโดยเร็ว
น่าจะเป็น "แผนสอง" ที่รัฐบาลจะต้องดำเนินการ ก่อนน้ำจะไหล่บ่าเข้าท่วมอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี และกรุงเทพมหานคร
หากไม่สามารถหยุดยั้งมวลน้ำก้อนใหญ่ได้ "แผนสาม" ก็น่าจะเป็นการอพยพประชาชนออกจากพื้นที่ ด้วยการประชาสัมพันธ์ล่วงหน้า เพื่อให้รับรู้ข่าวสารที่เป็นจริง
พร้อมจัดกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร อาสามัคร เข้าไปเป็น "ผู้พิทักษ์ทรัพย์สิน" ของประชาชน
นี่คือการบริการจัดการอย่างเป็นระบบ
ที่หลายคนเห็นเมื่อครั้งรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหา "สึนามิ" ที่มีระบบการจัดการที่มีรูปธรรม และเสร็จสิ้นโดยไว
ด้วยเพราะ พ.ต.ท.ทักษิณ ใช้ "อำนาจ" ในมืออย่างเต็มที่
"อำนาจ" มีไว้เพื่อให้ลงมือทำอย่างมีสติ เด็ดขาด และมีวิชั่น ในภาวะที่คนทั้งประเทศประสบเคราะห์กรรม
"อำนาจ" ไม่ได้มีไว้เพื่อประดับเกียรติและวงศ์ตระกูล หรือเชิดหน้าชูตาในสังคม
โดยเฉพาะ "อำนาจทางการเมือง"
เพราะที่สุดแล้วเมื่อใช้ "อำนาจ" ไม่เป็น "อำนาจ" ที่อยู่ในมือ ก็จะกลายเป็น "บูมเมอแรง" ที่ย้อนมาทำร้ายตัวเอง
หน้า 3,มติชนรายวัน ฉบับวันศุกร์ที่ 3 พฤศจิกายน 2554