ประยุทธ์ไม่เห็นด้วยใช้พรก.ฉุกเฉิน

ประยุทธ์ไม่เห็นด้วยใช้พรก.ฉุกเฉิน

 วันที่ 2 พ.ย.54 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ให้สัมภาษณ์ถึงการกู้สนามบินดอนเมือง ว่า เป็นไปตามที่นายกรัฐมนตรีได้พูดไว้
 
ซึ่งกองทัพพร้อมที่จะสนับสนุนทุกเรื่อง โดยทหารเข้าไปทำคันดินทางด้านทิศเหนือ แต่ปริมาณน้ำไหลเข้ามาจำนวนมาก ถ้าน้ำลดลงก็มีโอกาสทำคันกั้นน้ำ และสูบน้ำออกทำให้ดอนเมืองดีขึ้นในอนาคต โดยเป็นถุงทรายขนาด 2.5 ตัน มาทำคันกั้นน้ำ ซึ่งรัฐบาลพยายามเตรียมการอยู่ เราพร้อมสนับสนุนทางด้านกำลังพล และทำแนวสกัดกั้นเพิ่มเติม ส่วนใช้เวลา 3 วันในการกู้ดอนเมืองนั้น เป็นเรื่องของทางเทคนิคและหลักการที่ประเมินเอาไว้ แต่จะทำได้หรือไม่ขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำที่ไหลเข้ามาว่ามีมากน้อยแค่ไหน 
 
ผู้สื่อข่าวถามว่า บางหน่วยงานที่ใส่เกียร์ว่างไม่ได้แก้ไขปัญหา พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ไม่ใช่เกียร์ที่ที่พูดกันอยู่คงจะเป็นหน่วยราชการอื่น ๆ
 
ก็อยากจะทำหน้าที่ให้เต็มที่แต่ขีดความสามารถในการทำมีไม่พอเพียง เช่น ขาดยานพาหนะ เรือ ที่จะเข้าไปช่วยเหลือประชาชนได้ ที่ผ่านมาบ้านเมืองเราพบแต่ปัญหาที่แก้ไขได้ง่าย น้ำปริมาณไม่มากนัก แต่ครั้งนี้น้ำท่วมยาวนาน และเป็นทุกพื้นที่ที่ผ่านมาข้าราชการทุกฝ่ายพยายามแก้ไขปัญหาแต่มาครั้งนี้น้ำท่วมนาน เหลือเฉพาะยุทโธปกรณ์ของทหารยานพาหนะที่มีความสูงสามารถวิ่งเข้าไปในพื้นที่ได้ ซึ่งกองทัพได้ให้นโยบายไปแล้ว เราไม่สามารถทำงานทุกงานต่อไปในอนาคตเพราะสถานการณ์มันมากขึ้น จึงให้ทหารทุกหน่วยเข้าไปบูรณาการกับทุกส่วนราชการไม่ว่าจะเป็นการเมือง สก. สข. หรือ กทม. ที่ทำงานในพื้นที่ ช่วยแบ่งเป็นชุดย่อย ๆ ในการเข้าไปช่วยเหลือประชาชนที่ไม่ได้อพยพ มิฉะนั้นจะทำให้การช่วยเหลือไม่ทั่วถึง วันนี้ได้ทดลองทำในเขตวัฒนา และ เขตสายไหม ส่วนจะสำเร็จแค่ไหนอย่างไรประเด็นสำคัญคือจะต้องสร้างความเข้มแข็งกับทุกส่วนราชการ โดยให้ชุมนุมเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องด้วย ถ้าไม่ให้ชุมชนเข้ามาเกี่ยวข้องก็จะมีปัญหาตลอด เหมือนกับเขามองว่าส่วนหนึ่งเขาเสียส่วนหนึ่งเขาได้ แต่ถ้าจับทุกส่วนมาแก้ไขปัญหาในภาพรวมจะทำให้ลดภาระการกระทบกระทั่งได้มากขึ้นจะได้ไม่ต้องใช้กฎหมายอะไรมากมาย แต่ถ้าแก้ไขได้ก็น่าจะดี
 
ผู้สื่อข่าวถามว่า การบูรณาการสามารถแก้ไขปัญหาได้ดีขึ้นหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า การบูรณาการก็เหมือนกัน 

ปัญหาสำคัญคือทุกคนจะต้องรับผิดชอบร่วมกัน และอดทนในการแก้ไขปัญหาส่วนราชการ ต้องเห็นใจเจ้าหน้าที่ทหารเองก็อดทน เมื่อเข้าไปในพื้นที่ประชาชนก็เครียดพูดจาไม่ค่อยดี เราก็เห็นใจเพราะเขาเครียดแต่ขอให้เข้าใจว่าทหารพยายามเข้าไปช่วยเต็มที่แล้ว ซึ่งจริง ๆ ไม่ใช่งานของเราในบางเรื่อง แต่เราก็พยายามทำให้ทุกเรื่อง ซึ่งมันจะมากบ้างน้อยบ้างจะทั่วถึงบ้างไม่ทั่วถึงบ้าง แต่ก็จะพยายามแก้ไขให้ไปทั่วถึง เพราะเกรงว่าหากยาวนานไปกว่านี้ชุมชนที่ไม่สามารถไปไหนมาไหนได้จะเกิดความเครียด สิ่งที่ตนพยายามแก้ไขคือการสัญจรไปมา โดยให้กรมการขนส่งทหารบกทำหน้าที่ในการวางแผนในการจัดยานพาหนะตามจุดต่าง ๆ ที่รถปกติวิ่งไม่ได้ในพื้นที่ที่น้ำท่วมถึง โดยตั้งเป็นศูนย์ขนส่งของทัพบก และระดมรถของทุกส่วนราชการที่สามารถเข้ามาสนับสนุน โดยขอทางศปภ. ประสานงานกับขส.มก.จัดรถมาร่วมในพื้นที่ที่เขาสามารถวิ่งได้ โดยรถทหารจะไปส่งขึ้นรถที่ขสมก.โดยจะใช้เส้นหลัก ๆ ที่มีปัญหาน้ำท่วม
 
ต่อข้อถามที่ว่า มองว่าสถานการณ์จะยืดเยื้ออีกนานหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า จากที่ฟัง ศปภ.ประเมินคงจะประมาณเดือน พ.ย.ทุกอย่างน่าจะดีขึ้น
 
ซึ่งจะทยอยเป็นบางส่วน เพราะตอนนี้หลายอำเภอ หลายจังหวัดดีขึ้น แต่จะให้สถานการณ์ดีขึ้นทีเดียวคงไม่ได้ อย่างในพื้นที่ จ.พระนครศรีอยุธยา ดีขึ้นถนนบางเส้นใช้งานได้แล้ว ส่วนจะให้ปกติทั้งหมดคงจะประมาณเดือน ธ.ค. ถ้าระหว่างนี้บริเวณไหนระบายน้ำได้มากก็จะลดลงได้เรื่อย ๆ คงจะต้องใช้ระยะเวลาเพราะน้ำไม่ได้ไหลเร็ว ปัญหาอยู่ที่ว่าจะทำให้การระบายเป็นไปตามที่วางแผนเอาไว้ แต่ถ้ายังมีการพังทลายคันกั้นน้ำอยู่ หรือไม่ยอมให้น้ำผ่านก็จะเป็นปัญหาจะทำให้น้ำเอ่อขังนานขึ้น และสร้างความเดือดร้อน ตนเห็นใจพี่น้องชาวกทม. แต่จะต้องนึกถึง จ.พระนครศรีอยูธยา และ จ.ลพบุรี ที่น้ำท่วมประมาณ 1-2 เดือน แต่ในพื้นที่ กทม. แค่ 2 อาทิตย์ ก็จะต้องนึกถึงคนอื่น  เพราะเขาก็อดทนเหมือนกับเรา ฉะนั้นถ้าเราอดทนอีกนิดหนึ่งน้ำจำนวนนี้ก็จะผ่านเราไป ส่วนจะผ่านไปอย่างไร และไม่ให้เสียหายเลยคงเป็นไปไม่ได้เพราะน้ำมันเยอะ แม้ขนาดทหารเองยังนึกถึงคนอื่นมากกว่าตนเอง  เพราะบ้านทหารเองก็น้ำท่วม พลทหารบ้านอยู่ต่างจังหวัดก็ยังถูกน้ำท่วมในพื้นที่กองทัพภาคที่ 2 จ.ศรีสะเกษ 20 กว่าอำเภอก็น้ำท่วม ทางกองทัพภาคที่ 2 ก็ไปช่วยเหลือ และกำลังพลส่วนหนึ่งของกองทัพภาคที่ 2 ส่วนหนึ่งก็มาช่วยในพื้นที่ กทม. ดังนั้นเราจะต้องมองในภาพรวม และ ค่อยมาแก้ไขหลังจากน้ำลดแล้วว่าจะดูแลกันอย่างไร จะต้องไปทีละขั้น แต่ถ้ามาต่อต้านกัน ไม่ยอมกัน และจะไปสู่จุดสุดท้ายคงเป็นไปไม่ได้ ตรงนี้อย่ามาโทษใคร  
 
เมื่อถามว่า ปัญหาคลองสามวาที่มีประชาชนพังทลายคันกั้นน้ำ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ที่คลองสามวาตนไม่ได้ไปตำหนิใคร
 
ซึ่งเขาเข้าใจว่าถ้ากั้นน้ำตรงนี้ได้ และระดับน้ำจะลดลง  น้ำจะท่วมน้อยลง แต่ถ้าถามว่าเบี่ยงน้ำไปแล้วจะลดลงได้ 100 เปอร์เซ็นต์หรือไม่ ซึ่งก็ไม่ได้ 100 เปอร์เซ็นต์  มันก็ยังท่วมอยู่เหมือนเดิม แต่ความคุ้มค่าของการที่น้ำเข้ามาในพื้นที่กทม. มาก ๆ ทำให้น้ำท่วมทั้ง 50 เขต หรือเข้าไปในนิคมบางชันก็อาจจะทำให้หนักกว่าเดิม  ดังนั้นจะต้องดูว่าจะดูแลกันอย่างไร คิดว่าฝ่ายการเมืองคงจะดำเนินการ ซึ่งตนไม่อยากไปก้าวก่าย
 
ผู้สื่อข่าวถามว่า พรก.ฉุกเฉิน จะใช้ให้เกิดประโยชน์ได้หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ กล่าวว่า
 
การใช้กฎหมายมีอย่างเดียวมีการบังคับใช้ว่าทำอย่างไรไม่ให้คนทำลายพนังกั้นน้ำก็คือการเอากำลังไปต่อสู้กับประชาชน ยกตัวอย่างเมื่อเดือน เม.ย. พ.ค.ที่ผ่านมา ไม่ให้ประชาชนออกมาชุมนุมในพื้นที่ที่กำหนดก็จำเป็นจะต้องใช้ พรก.ฉุกเฉิน ก็เช่นเดียวกันต้องใช้ พรก.ฉุกเฉิน ในการห้ามประชาชนข้ามารื้อคันกั้นน้ำ ซึ่งกำลังเกิดเผชิญหน้ากันก็จะต้องสู้ก้นอย่างเมื่อวันก่อนเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ดันกับประชาชน สรุปว่าชาวบ้านก็ดันแนวทะลุ เจ้าหน้าที่ตำรวจทำรุนแรงไม่ได้ ทั้งนี้เป็นเรื่องของการบังคับใช้กฎหมายเท่านั้น ถ้าจะแก้ปัญหาด้วย พรก.ฉุกเฉิน เพราะกฎหมายปกติกับ พรก.ฉุกเฉิน ไม่ต่างกัน ผิดหรือไม่ที่ออกมาขัดขวางการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ผิดกฎหมายอยู่แล้ว แล้วถามว่าทำอะไรได้หรือไม่ก็ทำอะไรไม่ได้ ถ้าจะต้องรับผิดชอบก็จะต้องเอากฎหมายปกติ ถ้าใช้คนไม่ได้ก็จะต้องมีกระบี่กระบองไปสู้กัน หรือใช้มาตรการป้องกันหรือมาตรการการปราบจลาจลในทำนองนั้น โดยตั้งแนวเจ้าหน้าที่ไม่ให้ชาวบ้านเข้ามา แล้วท้ายที่สุดก็จะตีกัน ก็จะกลับไปเหมือนวงรอบเก่า เพราะตัวอย่างมีมาตลอด 2 ปีที่ผ่านมา นั่นคือการใช้ พรก.ฉุกเฉิน
 
เมื่อถามว่า แสดงว่า พรก.ฉุกเฉิน ไม่มีประโยชน์ใช่หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ไม่ใช่ไม่มีประโยชน์ แต่ถ้าใช้กันก็จะทำให้เกิดการทะเลาะเบาะแวงไปเรื่อย ๆ
 
ปัญหาก็คือแล้วเราจะอยู่กันแบบนี้หรือ อยู่กันด้วยการใช้กฎหมายให้มันแรงขึ้นไปเรื่อย ๆ จนหาทางออกไม่ได้ เจ้าหน้าที่ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะถูกสั่งมาก็จะต้องทำประชาชนก็ไม่ยอม และท้ายที่สุดประชาชนก็ทะเลาะ ประเทศไทยจะอยู่กันแบบนี้หรือเปล่าตนไม่เข้าใจ ฉะนั้นสิ่งที่สำคัญคือจะต้องให้ความรู้กับประชาชนให้เข้ารู้จักเสียสละ รู้จักให้ รู้จักรับ และรู้จักหน้าที่ความรับผิดชอบประเทศไทยจะต้องอยู่กันแบบนี้ ถ้าอยู่กันด้วยกันกฎหมายคงอยู่ด้วยกันไม่ได้ จากน้ำท่วมเมื่อจบแล้วก็คงตีกันเรื่องอื่นก็จะต้องมาบังคับใช้กฎหมาย อยากถามว่าวันนี้ประชาชนยอมรับกฎหมายเท่าไหร่ ตนอยากถามว่ามันผิดกฎหมายหรือไม่ มันก็ผิดกันทั้งหมดจะเอาไหมจับติดคุกให้หมดโดยเอากฎหมายขณะนี้ที่ทำลายพนังคันกั้นน้ำซึ่งมีรูปอยู่แล้วไปจับมาดำเนินคดีสิ่งนี้ทำได้หรือไม่ ก็ทำไม่ได้ เพราะฉะนั้นถ้าใช้ พรก.ฉุกเฉิน เจ้าหน้าที่ก็ถูกบังคับให้ต้องทำท้ายที่สุดก็จะต้องตีกับประชาชน และจะได้อะไรมาแต่ตนว่าไม่ได้ เมื่อติดคุกก็จะต้องมีการประกันตัวสถานการณ์ก็จะกลับไปวงรอบเก่า

เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์คมชัดลึก

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์