กห.เตรียมแผน4ขั้นอพยพปชช.

กห.เตรียมแผน4ขั้นอพยพปชช.


กระทรวงกลาโหม จัดเตรียมแผน 4 ขั้นตอน พร้อมเคลื่อนย้ายประชาชน รองรับสถานการณ์อุทกภัย

         
พ.อ.ธนาธิป สว่างแสง โฆษกกระทรวงกลาโหม เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงกลาโหม โดยศูนย์บรรเทาสาธารณะภัยกระทรวงกลาโหมและเหล่าทัพ ได้จัดทำแผนในการช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบอุทกภัย และดูแลป้องกันอาคารสถานที่สำคัญในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลนั้น ขณะนี้กระทรวงกลาโหมและเหล่าทัพ ได้ดำเนินการตามแผนที่จัดทำ เพื่อให้การปฏิบัติภารกิจของกองทัพในการป้องกันพื้นที่และช่วยเหลือประชาชนเป็นไปอย่างมีเอกภาพและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด

ทั้งนี้ มีแผน 4 ขั้นตอน ดังนี้

คือขั้นตอนที่ 1 การป้องกันโดยใช้กำลังพลกว่า 50,000 นาย รถยนต์บรรทุก 1,000 คัน เรือกว่า 1,000 ลำ เร่งเข้าพื้นที่ประสบอุทกภัยที่เข้าถึงยาก ให้ความช่วยเหลือดูแลพี่น้องประชาชน รวมทั้งพยายามทำทุกวิถีทาง เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำเข้ามาในพื้นที่ โดยประสานงานร่วมกับ กทม.และกระทรวงมหาดไทย


ขั้นตอนที่ 2 การดำรงสภาพ หากน้ำเข้าพื้นที่ ก็จะต้องสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ และพยายามดำรงสภาพให้ประชาชนสามารถใช้ชีวิตได้ตามสภาพการณ์  โดยจะมุ่งเน้นในเรื่อง ระบบประปา, ไฟฟ้า, การสัญจร และการติดต่อสื่อสาร ซึ่งกองทัพมีเจ้าหน้าที่ประสานงานกับ กทม. และเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่


 ขั้นตอนที่ 3 อพยพประชาชน โดยกองบัญชาการกองทัพไทย ได้วางแผนเคลื่อนย้ายผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่กรุงเทพ และปริมณฑลรองรับต่อสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้น เนื่องจากสถานการณ์ปัจจุบันยังคงมีพื้นที่จุดเสี่ยง


ได้แก่ บริเวณแนวคันกั้นน้ำที่มีปริมาณน้ำมาก รวมทั้งพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่ จ.ปทุมธานี - จ.สมุทรปราการ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อพี่น้องประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่นั้น ๆ เพื่อไม่ให้เกิดความโกลาหลและความสับสน เมื่อเกิดเหตุ


ทั้งนี้โดยแบ่งการปฏิบัติออกเป็น 3 ขั้น คือ
 ขั้นที่ 3.1 เตรียมการ (ดำเนินการตั้งแต่ปัจจุบัน) โดยในพื้นที่กทม.กำหนดให้ผู้อำนวยการเขต/หัวหน้าแขวงเป็นผู้รับผิดชอบและในพื้นที่ปริมณฑลกำหนดให้หัวหน้าเขตหรือนายอำเภอเป็นผู้รับผิดชอบ โดยดูแลในการวางระบบ


การแจ้งเตือนการเคลื่อนย้ายผู้ประสบอุทกภัย รวมทั้งกำหนดจุดนัดพบขั้นต้น กองทัพประสานกับเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบ เพื่อสนับสนุนกำลังพล ยานพาหนะ ยุทโธปกรณ์ พร้อมเครื่องมือจำเป็น นำผู้ประสบอุทกภัยเคลื่อนย้ายออกมาจากพื้นที่ประสบภัยไปยังตำบลรวบรวม


จากนั้นกระทรวงคมนาคมจะรับผิดชอบนำผู้อพยพไปยังศูนย์พักพิงใน 9 จังหวัด ประกอบด้วย ประกอบด้วย จ.กาญจนบุรี, ราชบุรี, เพชรบุรี, สมุทรสาคร, ชลบุรี, ฉะเชิงเทรา,  นครราชสีมา, นครนายก และสมุทรปราการ ที่รัฐบาลได้เตรียมความพร้อมเอาไว้แล้ว โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจจะดูแลในเรื่องการจราจร รวมทั้งดูแลบ้านเรือนทรัพย์สินของผู้อพยพ 


ขั้นที่ 3.2 ปฏิบัติการ (ดำเนินการเมื่อได้รับการแจ้งเตือนให้เคลื่อนย้ายประชาชนออกจากพื้นที่) ดำเนินการเคลื่อนย้ายประชาชนจากพื้นที่ประสบภัย ไปยังพื้นที่รวบรวมผู้ประสบอุทกภัย คัดกรองผู้ประสบภัยที่ต้องการเดินทางไปพักอาศัยในที่แห่งอื่น ๆ


รวมทั้งเคลื่อนย้ายผู้ประสบอุทกภัยที่สมัครใจไปยังศูนย์พักพิงที่กำหนดได้ ดำเนินการตามแนวทางที่กำหนดในคู่มือการบริหารจัดการศูนย์พักพิง ซึ่งจัดทำโดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย ที่กำหนดให้มีสิ่งอุปโภคบริโภค และของใช้จำเป็นสำหรับชีวิตประจำวันให้ทั่วถึงและพอเพียง รวมทั้งจัดชุดปฏิบัติการจิตวิทยาดูแลสุขภาพจิตผู้ประสบอุทกเพื่อผ่อนคลายความตึงเครียด


ขั้นที่ 3.3 การส่งกลับ (ดำเนินการเมื่อสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลคลี่คลาย) โดยจะดำเนินการเคลื่อนย้ายผู้ประสบอุทกภัยกลับเข้าสู่พื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล เพื่อดำเนินชีวิตตามปกติต่อไป


ขั้นตอนที่ 4  การฟื้นฟู หากสถานการณ์กลับเข้าสู่สภาวะปกติ ก็จะมีการขนย้ายประชาชนกลับเข้าที่ตั้งปกติ  โดยมอบหมายให้กองบัญชาการกองทัพไทย เป็นหน่วยงานหลัก ในการดำเนินการร่วมกับ กทม.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง


ทั้งนี้ พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นห่วงความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนอย่างมาก โดยได้ลงพื้นที่ประสบอุทกภัยร่วมกับ ผู้บัญชาการเหล่าทัพในหลายพื้นที่ เพื่อปรับแผนการดำเนินการ รวมทั้งติดตาม และกำกับการปฏิบัติงานอย่างใกล้ชิด เพื่อเร่งช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยให้ได้อย่างครอบคลุมมากที่สุด


อย่างไรก็ตาม กระทรวงกลาโหม และเหล่าทัพ ขอให้พี่น้องประชาชนอย่าตื่นตระหนก โดยให้รับฟังข่าวสารและการแจ้งเตือนจากภาครัฐอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ถึงสถานการณ์  และขอยืนยันว่า กองทัพจะดูแล ช่วยเหลือ บรรเทาทุกข์ และพร้อมเคียงข้างพี่น้องประชาชนคนไทยในการร่วมฝ่าวิกฤติของชาติครั้งนี้ไปด้วยกันอย่างมั่นคง


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์คมชัดลึก

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์