หนึ่งใน "ข้อเสนอ" ที่ยังไม่ถูก "สนองตอบ" จาก "รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" เพื่อกู้วิกฤตอุทกภัยที่กินพื้นที่เกือบ "ครึ่งประเทศ" หนีไม่พ้น "การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน" โดยอาศัยอำนาจตามพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548
ข้อมูลที่ปรากฏต่อสาธารณชนคือ "พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.)" คือ "ตัวชงหลัก" ของเรื่องนี้ โดยมี "สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.)" และภาคเอกชนบางส่วนให้การสนับสนุน
ทว่า ข้อมูลที่รู้เฉพาะวง "ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.)" คือ "ทหาร" เป็นผู้เสนอเรื่องนี้ก่อนใคร ด้วยเพราะบรรดาแม่ทัพ-นายกองต้องขนกำลังพลกว่า 4 หมื่นนาย ใช้ยุทโธปกรณ์และเครื่องจักรต่างๆ เต็มกำลังตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อแข่งกับแรงดันน้ำที่พร้อมทะลักเข้า "ใจกลางกรุง" ทุกเมื่อ
แน่นอนว่าทุกอย่างมี "รายจ่าย" และทุกอย่างมี "ขั้นตอน"
ที่สำคัญต้องมี "ผู้รับผิดชอบ"
ทำให้ความพยายาม-ความตั้งใจหลายอย่างมาล่ากว่าที่ควรจะเป็น
อย่าได้แปลกใจหาก "พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา" รมว.กลาโหม จะส่งสัญญาณถึงรัฐบาลให้ประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ด้วยเหตุผลที่ว่า "ในเรื่องของสายการบังคับบัญชาก็อาจจะสั้นลง การปฏิบัติก็สั่งการได้ทันที"
เพราะการรับมือกับ "มหาอุทกภัย" ช้าไปเพียงวินาทีเดียว ก็หมายถึงสายเกินไปเสียแล้ว
หากไล่ดูเนื้อหาของ "กฎหมายพิเศษ" ฉบับนี้ สามารถนำมาใช้บังคับได้ในกรณีเกิดภัยพิบัติ ไม่ได้เป็นเครื่องมือรับมือกับภัยต่อความมั่นคงต่อรัฐ หรือภัยก่อการร้ายเพียงอย่างเดียว
โดยการประกาศ "นายกรัฐมนตรี" สามารถบังคับใช้กฎหมายทุกฉบับของทุกกระทรวงได้ และสามารถเรียก "เจ้าพนักงาน" มาปฏิบัติหน้าที่ได้ทันที หากใครละเว้นการปฏิบัติงาน ถือว่ามีความผิดทันที
ในสถานการณ์น้ำท่วม หาก "นายกรัฐมนตรี" ประกาศใช้ "พ.ร.ก.ฉุกเฉิน" จะต้องตั้ง "ศูนย์ปฏิบัติการ" และ "หัวหน้าผู้รับผิดชอบ" ขึ้นมา ซึ่งไม่จำเป็นต้องสถาปนา "นายพล" หน้าไหนขึ้นเป็นหัวหน้าศูนย์ หรือหัวหน้าผู้รับผิดชอบ เพราะสามารถยกโครงสร้าง ศปภ. มาใส่ได้เลย