เชื่อใจ-ไม่เชื่อมือศปภ.แก้น้ำท่วม

 สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ต่างจังหวัดบางจังหวัดเริ่มคลี่คลาย แต่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นพื้นที่รองรับน้ำเหนือก่อนระบายลงสู่ทะเล

เริ่มเข้าสู่ภาวะตึงเครียดหลายจุด โดยเฉพาะสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา น้ำเอ่อเข้าท่วมหลายพื้นที่ เนื่องจากระดับน้ำเจ้าพระยาสูงขึ้นอย่างฉับพลันโดยไม่ทราบสาเหตุ ขณะเดียวกันสถานการณ์น้ำบริเวณริมคลองประปาก็ยังคงเอ่อล้นอย่างต่อเนื่องเช่นกัน

    
              แม้คนกรุงเทพฯ จะเตรียมรับมือสถานการณ์น้ำที่กำลังไหลมาสู่พื้นที่ในกรุงเทพฯ แต่มีหลายคนตื่นตระหนก ถึงขนาดซื้ออาหารกักตุนไว้ เห็นได้จากซูเปอร์มาร์เก็ตในกรุงเทพฯ และปริมณฑลหลายแห่ง แต่ละวันอาหารแห้งตามชั้นวางสินค้าหลายรายการขาดตลาดหาซื้อไม่ได้
    
              รวมทั้งวัสดุก่อสร้าง เช่น อิฐ หิน ปูน ทราย รวมทั้งอุปกรณ์ป้องกันน้ำ เช่น พลาสติก เสื่อน้ำมัน สกอตเทป เชือก รองเท้าบู๊ต ถุงดำ เชือก บางแห่งขาดตลาดหาซื้อไม่ได้
    
              แม้ "ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย" (ศปภ.) ท่าอากาศยานดอนเมือง จะประกาศเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์น้ำที่เริ่มไหลบ่ามา "จ่อ" รอบๆ กรุงเทพฯ แต่ก็ไม่ทำให้ประชาชนคลายความกังวล เนื่องจากไม่เชื่อมั่นในข้อมูลที่ได้รับจากรัฐบาล

เชื่อใจ-ไม่เชื่อมือศปภ.แก้น้ำท่วม


การที่ "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" นายกรัฐมนตรี ประกาศใช้พระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 หรือพ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เพื่อใช้สั่งการแก้ไขปัญหาอุทกภัยในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา มีหลายฝ่ายเชื่อว่า น่าจะมีส่วนช่วยให้ "คำสั่ง" ของนายกรัฐมนตรีต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปปฏิบัติอย่างเคร่งครัด
       
             
และพ.ร.บ.ดังกล่าวจะช่วยให้คำสั่งมีประสิทธิภาพและช่วยให้สถานการณ์น้ำท่วมคลี่คลาย
    
              ที่ผ่านมามีการตั้งข้อสังเกตว่า การออกประกาศดังกล่าวส่วนหนึ่งน่าจะมาจากคำสั่ง "นายกรัฐมนตรี" ไม่มีผลบังคับใช้จริงกับบางหน่วยงาน โดย "นายกฯยิ่งลักษณ์" มองว่ามีบางหน่วยงานไม่ปฏิบัติตาม
       
              "ที่ต้องทำอย่างนี้ เพราะว่าเมื่อสั่งการไปแล้ว พอกลับดูข้อมูลของแต่ละหน่วยไม่ตรงกัน จึงต้องขอใช้ลายลักษณ์อักษร เช่น การสั่งให้เปิดประตูน้ำอย่างเต็มที่ แต่บางคนบอกว่าเปิดประตูน้ำเต็มที่แล้ว แต่เมื่อไปดูก็ไม่ใช่ตามที่บอก ก็เลยต้องใช้ลายลักษณ์อักษรเพื่อให้เกิดความชัดเจน และคิดว่าการเปิดประตูน้ำในปริมาณเท่าใดจึงจะมีความสมดุล ฉะนั้นผู้ได้รับคำสั่งจะได้ปฏิบัติตามคำสั่งอย่างชัดเจน ทั้งนี้ เพื่อเป็นการป้องกันในทุกจุด ให้ประตูระบายน้ำทุกประตูทำงานสัมพันธ์กัน” น.ส.ยิ่งลักษณ์ให้สัมภาษณ์ในวันประกาศใช้ พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
       
             
สังคมจึงเพ่งมองไปที่ "กรุงเทพมหานคร" ที่มี "ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร" สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ เป็น "ผู้ว่าฯ กทม."
       
              พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.2550 มาตรา 31 ที่ระบุว่า "ในกรณีที่เกิดสาธารณภัยร้ายแรงอย่างยิ่ง นายกรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรี ซึ่งนายกรัฐมนตรีมอบหมายมีอำนาจสั่งการผู้บัญชาการ ผู้อำนวยการ หน่วยงานของรัฐ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น..."
       
              "หากเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ใดไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของนายกรัฐมนตรี หรือรองนายกรัฐมนตรี ตามวรรคหนึ่ง ให้ถือว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบหรือเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง แล้วแต่กรณี"
       
             
ดังนั้น การประกาศใช้พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ทำให้ "นายกฯยิ่งลักษณ์" มีอำนาจในการใช้ "คำสั่ง-ควบคุมและกำกับการทำงาน" ของ กทม.อย่างใกล้ชิดมากขึ้น
       
              ถือเป็นการใช้กฎหมายบังคับ ไม่ปล่อยให้ กทม.ตัดสินใจปฏิบัติหน้าที่โดยพลการ!
       
              แต่เมื่อน้ำเข้ามา "จ่อ" รอบกรุงเทพฯ และบางพื้นที่เริ่มมีน้ำล้นคันกั้นน้ำเข้าท่วมพื้นที่บางเขต "ประชาชน" ก็เริ่มตื่นตระหนก บางจุดถึงกับรื้อคันกั้นน้ำที่หน่วยงานราชการทำไว้ เนื่องจากกลัวพื้นที่ของตัวเองน้ำจะท่วมสูง
       
              ในบางพื้นที่ประชาชนถึงขั้นปะทะกันเรื่อง "คันกั้นน้ำ" โดยเฉพาะจังหวัดรอยต่อระหว่างนนทบุรี ปทุมธานี กับกรุงเทพมหานคร มีการใช้อาวุธปืนยิงขู่ขึ้นฟ้า สร้างความตื่นตระหนกให้แก่ประชาชนในพื้นที่อย่างมาก
       
              เหตุการณ์น้ำท่วมครั้งนี้ ทำให้ได้เรียนรู้นิสัยของคนไทย ที่เคยถูกมองว่าเป็นคนมีความโอบอ้อมอารี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มีน้ำจิตน้ำใจ โดยคนบางกลุ่มเริ่มเปลี่ยนไป ใจร้อน มองเฉพาะเรื่องรอบๆ ตัว!
        
              ความโกลาหลที่เกิดขึ้น เริ่มมีคำถามต่อรัฐบาลว่า การประกาศใช้แค่ "พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย" สถานการณ์วิกฤติเหนือวิกฤติในขณะนี้ การใช้แค่ พ.ร.บ.ดังกล่าวเพียงพอหรือไม่!
       
              และรัฐบาลมีแผนอย่างไรหากน้ำท่วมกรุงเทพฯ จะระดมคนจากส่วนไหนมาช่วยทำงาน, จะอพยพคนไปอยู่ที่ไหน จะให้ใครมาช่วยอพยพ, จะแก้ปัญหาราคาสินค้าแพง การกักตุนสินค้า หรือแก้ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในพื้นที่ต่างๆ อย่างไร และรัฐบาลมีแผนจะฟื้นฟูหลังน้ำท่วมอย่างไร ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างไรบ้าง
    
              คำถามเหล่านี้ "รัฐบาล" ควรบอกให้ประชาชนเกิดความมั่นใจในการรับมือของรัฐบาล
       
              การทำงานของ "ศปภ." ที่กระตือรือร้น นำผู้รู้และผู้เกี่ยวข้องมาแถลงข่าว เพื่อให้ประชาชนเกิดความ "อุ่นใจ" แสดงถึงความจริงใจในการพยายามทำหน้าที่อย่างเต็มความสามารถ
       
              เชื่อว่าสิ่งที่รัฐบาลทำอยู่ทำด้วยความจริงใจ แต่ถ้าถามว่า "มั่นใจ" ในประสิทธิผลของการทำงานเต็มร้อยหรือไม่ เชื่อว่าคำตอบที่ได้คือ เชื่อในความจริงใจ แต่ไม่มั่นใจว่ารัฐบาลจะรับมือภัยพิบัติที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้ได้เพียงแค่ใช้ พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเท่านั้น
       
              เพราะพ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยถือเป็นกฎหมายที่ใช้ในภาวะปกติ ที่เน้นให้องค์กรส่วนท้องถิ่นทำหน้าที่เหมือนเดิม เพียงแต่ส่วนกลางใช้อำนาจควบคุมทิศทางให้องค์กรท้องถิ่นทำตามนโยบายให้ได้เท่านั้น ดังนั้นภาวะวิกฤติใหญ่หลวงที่กำลังเกิดขึ้นกับประเทศไทยในขณะนี้ การใช้เพียงแค่พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยอาจไม่เพียงพอ
       
              จากนี้ไปจึงต้องดูว่า "รัฐบาล" จะตัดสินใจประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ในภาวะที่บ้านเมืองกำลังเผชิญกับภัยพิบัติน้ำท่วมครั้งประวัติศาสตร์นี้หรือไม่
       
              เพราะวิกฤติน้ำท่วมครั้งนี้ใหญ่หลวงซับซ้อนเกินกว่าจะใช้วิธีการบริหารบ้านเมืองแบบสถานการณ์ปกติทั่วไป!

เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์คมชัดลึก

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์