เผยเบื้องหลัง ประกาศใช้ พรบ.บรรเทาสาธารณภัย หวังใช้งบ กทม. แก้น้ำท่วม ชี้กรมชลฯบริหารน้ำ กทม.ไม่เป็น
สั่งเปิดประตูระบายน้ำช่วงเย็น ส่งผลน้ำทะลัก อ้าง ผู้ว่าฯกทม. เตือนแล้วแต่ไม่ฟัง
แหล่งข่าวที่เป็นหนึ่งในคณะทำงานของ ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) เปิดเผยว่า การใช้อำนาจตามพรบ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย มาตรา 31 ที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศใช้นั้น สามารถใช้ในสถานการณ์ภัยที่ไม่ร้ายแรง ไม่ใช่ภัยพิบัติสาธารณะ เพราะผู้ว่าราชการจังหวัดหรือนายกฯอบต. นายกเทศมนตรี ถือว่า เป็นผู้ประสบภัยไปแล้ว จึงไม่สามารถใช้เครื่องมือทางด้านกฎหมายนี้แก้ไขหรือบรรเทาสาธารณภัยได้แล้ว แต่ต้องใช้พรก.การบริหารในสถานการณ์ฉุกเฉิน
แหล่งข่าว ระบุว่า การที่รัฐบาลประกาศ มาตรา 31 ตามพรบ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และตั้ง ศปภ .ส่วนหน้า โดยให้ปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้รับประสานงานสั่งการ ของนายกฯ ร่วมกับผู้ว่าฯ กทม. โดยศปภ.จะเป็นผู้สนับสนุน และเสนอแนะการทำงานของกทม.นั้น การประสานสั่งการใด ๆ ต่อปลัดกระทรวงมหาดไทย จะมีเฉพาะคำสั่งจากศปภ.เท่านั้น และตามมติครม.ระบุว่า หากจังหวัดใดมีการประกาศจังหวัดที่ประสบภัยพิบัติ อำนาจตรงจุดนี้ เมื่อเป็นจังหวัดที่ประสบภัยพิบัติ ผู้ว่าราชการจังหวัดสามารถเบิกจ่ายงบประมาณฉุกเฉินได้ 50 ล้านบาท ยกเว้นบางจังหวัดได้ถึง 100 ล้านบาทต่อเดือน โดยไม่ต้องมีการตรวจสอบ
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ครั้งนี้ เมื่อน้ำมาปะทะที่หัวเมืองกรุงเทพฯ ปรากฎว่า รัฐบาลมาใช้อำนาจเพิ่มเติม โดยการใช้อำนาจตามมาตรา 31 เพื่อที่จะควบคุมส่วนราชการทุกส่วนได้ รวมทั้งกองทัพและท้องถิ่น ซึ่งการใช้อำนาจตามมาตรา 31 นายกฯ จะต้องประกาศว่า “อุทกภัยครั้งนี้เป็นสาธารณภัย ร้ายแรงอย่างยิ่ง” ก่อน นายกฯ จึงจะมีอำนาจตามมาตรา 31 ได้ แต่ปรากฎว่า นายกฯ กลับใช้อำนาจตามมาตรานี้เลย จึงทำให้ 1.ความเสียหายที่เกิดขึ้นกลายเป็นว่า รัฐบาลต้องรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียวโดยที่กทม.ไม่เกี่ยว 2.การที่รัฐบาลใช้อำนาจตามมาตรา 31 นั้น เป้าหมายก็คือต้องการเอางบประมาณของท้องถิ่นของกทม. มาแก้ไขปัญหาน้ำท่วม
แหล่งข่าว ระบุว่า การเปิด-ปิดประตูระบายน้ำนั้น นักการเมืองไม่มีประสบการณ์ และกรมชลประทานก็ไม่มีประสบการณ์ในพื้นที่กทม.ด้วย เช่น เมื่อวันที่ 21 ต.ค.ที่ผ่านมา กทม.ได้เปิดประตูระบายน้ำรังสิต ประตูน้ำพระอินทร์ บริเวณคลองหกในเวลา 05.00 น. ทำให้น้ำไหลเข้ากรุงเทพฯ ผ่านลงลงทะเล และเมื่อถึงเวลา 12.00 น. ก็ปิดประตูระบายน้ำ จึงทำให้น้ำไม่ท่วม แต่ในช่วงบ่ายวันเดียวกัน รัฐบาลต้องการใช้อำนาจอย่างเต็มที่ จึงสั่งใหเปิดประตูระบายน้ำ จึงทำให้น้ำท่วมทะลักในทันที ซึ่งแท้จริงแล้วไม่สามารถเปิดประตูระบายน้ำในตอนเย็นได้ เนื่องจากน้ำทะเลหนุน
"ตรงจุดนี้ ทางสำนักการระบายน้ำ กทม.และผู้ว่าฯ กทม.มีประสบการณ์ จึงใช้วิธีการโรยน้ำตามกระแสน้ำทะเล เนื่องจากในช่วงเช้าน้ำทะเลลด ก็จะเปิดประตูระบายน้ำที่รังสิต น้ำก็จะไหลผ่านคลองเปรมประชากรไปยังคลองสามเสนและคลองประปา ทำให้ระบายน้ำลงสู่ทะเลได้เร็ว แต่ไม่ถูกใจรัฐบาลและนักการเมืองซึ่งไม่มีประสบการณ์ รัฐบาลต้องการให้เปิดตลอดเวลา แต่พอรัฐบาลใช้อำนาจสั่งการให้เปิดประตูระบายน้ำก็ทำให้น้ำเอ่อล้นเพราะเปิดผิดจังหวะ ทั้งที่ผู้ว่าฯ กทม.ได้ท้วงติงแล้ว แต่รัฐบาลไม่ยอมฟังกลับมองว่าผู้ว่าฯ กทม.ไม่ให้ความร่วมมือ"
แหล่งข่าวระบุว่า ถ้ารัฐบาลกลัวว่า ใช้พรก.ฉุกเฉินฯ แล้ว ทหารจะปฏิวัติ รัฐบาลก็ไม่ต้องให้ทหารช่วยก็ได้ รัฐบาลก็ทำเอง แต่รัฐบาลกลับใช้อำนาจตามกฎหมาย ที่ไม่ได้ผลให้รุนแรงขึ้น ทั้ง ๆ ที่รัฐบาลรู้ว่า กฎหมายนี้แก้ปัญหาไม่ได้ แต่ที่จำเป็นต้องใช้เพราะเป็นประเด็นทางการเมือง โดยจะบีบบังคับให้กทม. นำงบประมาณออกมาช่วยเหลือตรงจุดนี้ และถ้าไม่ช่วยก็จะด่าพรรคประชาธิปัตย์ เพราะผู้ว่าฯ กทม.เป็นคนประชาธิปัตย์
ทั้งนี้ การที่รัฐบาลต้องการงบประมาณของกทม. เพราะแผนในการที่จะหาเงินเข้าพรรคเพื่อไทย เสียหายไปแล้ว เดิมคิดว่า ทำโครงการรับจำนำข้าวแล้วเอาข้าวเปลือกสวมสิทธิจากเขมร มันผิดพลาด วันนี้ ก็เลยต้องมาหากินกับน้ำ ซึ่งปรากฏว่า หากินกับต่างจังหวัด มันไม่ได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย เพราะเงินก้อนใหญ่อยู่ที่กทม. ทำให้รัฐบาลต้องใช้อำนาจตามมาตรานี้
แหล่งข่าวระบุด้วยว่า ผู้ว่าฯ กทม.ได้ขอให้นายปราโมทย์ ไม้กลัด อดีตอธิบกรมชลประทาน ออกมาชี้แจง แต่รัฐบาลก็ไม่ฟัง เนื่องจากนายปราโมทย์ เป็นผู้ที่ทำงานใต้เบื้องพระยุคลบาท และรัฐบาลก็คิดว่า ดำเนินการเองได้
อย่างไรก็ตาม การที่น้ำทะลักออกมายังประตูระบายน้ำทั้งหมดนี้ ส่งผลให้ กทม.ฝั่งธนบุรี มีแนวโน้มที่น้ำจะท่วมด้วย