พลังน้ำเหนือการเมือง ปชช.อ่อนล้านารีอ่อนแรง

พลังน้ำเหนือการเมือง ปชช.อ่อนล้านารีอ่อนแรง

สถานการณ์น้ำท่วมประเทศไทยนับวันจะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ กระทั่งอาจต้องกู้เงินหลายแสนล้านมาเยียวยาหลังน้ำลด

ทั้งๆ ที่รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ยืนยันว่า จะรักษานิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ทั้ง 5 แห่ง ให้รอดพ้นจากการแปรสภาพเป็นเมืองบาดาลเอาไว้ได้อย่างเต็มความสามารถ

ระยะเวลาร่วมเดือนที่รัฐบาลพยายามออกประกาศ ออกแถลงการณ์ หรือแม้แต่การแจ้งถึงมาตรการรับมืออย่างนั้นอย่างนี้เพื่อจะบอกประชาชนคนไทยตามแนวทางเดินของน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำสาขาให้เกิดความมั่นใจว่าปลอดภัยแน่

แต่สุดท้ายเมื่อวันที่ 17 ตุลาคมที่ผ่านมา "นวนคร" นิคมอุตสาหกรรมแห่งที่ 5 ก็ถูกกระแสน้ำกลืนกิน โดยที่ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) ออกแถลงการณ์ตอกย้ำหลายครั้งว่า "เอาอยู่"

ทำให้ขณะนี้ มวลน้ำก้อนมหึมากำลังพุ่งเข้าหาชุมชนตามแนวคลองรังสิต จ่อเข้าสู่พื้นที่รอบนอกกรุงเทพมหานครแล้ว


กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น หลายเสียงเซ็งแซ่แสดงความไม่พอใจและชี้นิ้วไปให้รัฐบาลเป็นผู้รับผิดชอบ

"ต้องขอแสดงความเสียใจในเรื่องดังกล่าว ความจริงเราได้ระดมเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจำนวนมากไปป้องกันนิคมอุตสาหกรรมนวนคร และได้เตรียมการไว้หลายวันแล้ว แต่ปัญหาคือกระแสน้ำที่เข้ามาแรงมาก ประกอบกับมีน้ำทะเลหนุนสูง รวมทั้งมีฝนตกลงมาทั้งคืน จึงทำให้น้ำเข้ามาแรงมากเกินกว่าแนวคันกั้นน้ำที่เราทำไว้จะรองรับไหว.." เป็นคำกล่าวของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ต่อความล้มเหลวของการปกป้องนิคมอุตสาหกรรมนวนคร

ข้ออ้างเรื่องน้ำทะเลหนุนสูง แม้จะมีส่วนจริง แต่ความเป็นจริงคือไม่มีใครรับฟัง นั่นคงเพราะมีการรับทราบโดยทั่วกันแล้วว่าจะเกิดขึ้นมาก่อนแล้ว ปัญหาจึงน่าจะอยู่ที่การบริหารจัดการของกลไกรัฐ และการใช้เครื่องไม้เครื่องมือที่มีอยู่ในการผันน้ำลงสู่ทะเลโดยเร็วที่ไม่สามารถฟังก์ชั่นทำหน้าที่ของมันได้เต็มที่มากกว่า

สุดท้ายผู้ที่ต้องรับผิดชอบก็คือรัฐบาล ?

ในวันที่นิคมอุตสาหกรรมโรจนะยังไม่จมน้ำ รัฐบาลให้ความมั่นใจกับผู้ประกอบการและแรงงานเรือนแสนที่พึ่งพาอาศัยนิคมฯเป็นอู่ข้าวอู่น้ำว่าจะปกป้องนิคมฯเอาไว้อย่างสุุดชีวิต เพราะเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญของชาติ

แต่สุดท้ายก็ล้มเหลว ด้วยเหตุผลซ้ำๆ กันคือน้ำทะเลหนุนสูง ข้ออ้างเดียวกันกับกรณีที่นิคมฯนวนครล่ม

ท่ามกลางการปะทะกันทางความรู้สึกของ "กระจายความทุกข์" ที่ไม่เท่าเทียมกัน กระทั่งเกิดการรื้อคันกั้นน้ำ การกีดกันไม่ให้เจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปเปิดประตูระบายน้ำ ฯลฯ จนมีการเรียกร้องให้ส่งกองกำลังทหารเข้าไปดำเนินการ เป็นข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในทุกจุดที่น้ำเดินทางผ่าน แต่รัฐบาลกลางกลับไร้การประสานทำความเข้าใจกับผู้บริหารท้องถิ่น

หรือว่าเป็นเพราะการเป็นพื้นที่ "ฐานเสียง" ของพรรคการเมืองต่างพรรคกัน จึงพลอยทำให้ประชาชนคนไทยถูกแบ่งแยก-กีดกันการได้รับความช่วยเหลือและเยียวยา ?

ปัญหาด้านสุขภาพของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม นอกเหนือจากโรคทางกายอย่าง น้ำกัดเท้า ปวดกล้ามเนื้อ ไข้หวัด ผิวหนัง และปวดศีรษะแล้ว ปัญหาสุขภาพจิตก็สำคัญไม่น้อย

กรมสุขภาพจิต สธ.รายงานว่าจากการสำรวจในพื้นที่น้ำท่วม 36 จังหวัด มีความเครียดสูง 3,706 ราย อยู่ในภาวะซึมเศร้า 5,313 ราย และมีความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายถึง 727 ราย ซึ่งยิ่งนานวันจะมียอดผู้อยู่ในภาวะเสี่ยงสูงขึ้นเรื่อยๆ ล่าสุดมีการตั้งศูนย์บริการให้คำปรึกษาสุขภาพจิตที่ ศปภ.ดอนเมืองด้วย พร้อมกับเปิดสายด่วนเพื่อให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิตตลอด 24 ชั่วโมง

ถือเป็นบทพิสูจน์ในตัวเองว่าเมื่อปล่อยให้ "คำพูด" ทำงานมากกว่า "การกระทำ" จึงทำให้วันนี้ของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ มีสภาพไม่ต่างกับการถูก "ปล่อยเกาะ" ลอยแพอยู่กลางน้ำ ไม่สามารถช่วยเหลือใครได้ หรือแม้แต่ตัวเอง

ถึงขนาดผู้นำรัฐบาลบอกว่า "เรายังยืนยันว่าเราจะทำหน้าที่นี้ในการปกป้องเมืองหลวงของประเทศไทยให้ดีที่สุด" ก็ยังไม่มีใครเชื่อ !!



หน้า 3,มติชนรายวัน ฉบับวันพุธที่ 19 ตุลาคม 2554


เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์