วรวัจน์ค้านพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ชี้ให้อำนาจทหารก็แก้น้ำท่วมไม่ได้
"วรวัจน์"ค้านใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินตามข้อเสนอของส.อ.ท. ชี้ให้อำนาจทหารก็แก้น้ำท่วมไม่ได้ หวั่นไปกระทบคนในพื้นที่
ทำเนียบ - นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รมว.กระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังการเข้าร่วมประชุมกับคณะกรรมการเพื่อให้ความช่วยเหลือฟื้นฟู เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัย (ด้านสังคม) ที่มีพล.ต.อ.โกวิท วัฒนา รองนายกฯ เป็นประธานการประชุมร่วมกับกระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงพัฒนาสังคม และความมั่นคงของมนุษย์ (พม.),กระทรวงวัฒนธรรม, กระทรวงแรงงาน,กระทรวงการต่างประเทศ (กต.),กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ว่า ที่ประชุมได้ตั้ง 4 คณะทำงานเพื่อดูแล ได้แก่ 1.คณะกรรมการกลั่นกรองโครงการ มีปลัดพม.เป็นประธาน 2.คณะกรรมการติดตามกำกับการทำงาน มี ปลัดสำนักนายกฯ เป็นประธาน 3.คณะกรรมการประชาสัมพันธุ์ มีกรมประชาสัมพันธ์ เป็นคณะทำงาน
และ 4.คณะกรรมการประสานความช่วยเหลือน้ำท่วมจากในและต่างประเทศ มีกต.และศธ.เป็นคณะทำงาน
ซึ่งในส่วนของหน้าที่ที่ตนดูแลนั้น ล่าสุดได้รับการประสานมาจากสถานทูตไทยในต่างประเทศว่า ชาวต่างชาติได้แจ้งความประสงค์ที่จะเข้ามาช่วยเหลือและฟื้นฟูในพื้นที่ประสบภัย ในช่วงวันหยุดยาว วันคริสมาสต์ ที่จะถึงนี้เป็นจำนวนมาก ส่วนการตั้งศูนย์พักพิงส่วนกลางของรัฐบาลนั้น ยังไม่มีเพิ่มเติมจากเดิมที่ใช้ศูนย์พักพิงของโรงเรียนในสังกัด ศธ. จำนวน 338 แห่ง
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังมีผู้เข้ามาพักจำนวนไม่มากนัก ซึ่งหากประชาชนต้องการสอบถามหรือตรวจสอบพื้นที่พักพิง สามารถโทรศัพท์สอบถามได้ที่หมายเลข 1579 หรือประสานไปที่วิทยุเสมารักษ์
ผู้สื่อข่าวถามว่าในการประชุมดังกล่าวได้หยิบยกข้อเสนอของสภาอุตสาหกรรมและภาคเอกชนที่เสนอให้รัฐบาลประกาศใช้ พระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) หรือไม่
นายวรวัจน์ กล่าวว่า ไม่มี แต่ตนมองว่าไม่มีความจำเป็นต้องประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพื่อให้อำนาจทหารเข้ามาจัดการวิกฤตน้ำท่วม เพราะเชื่อว่าคงไม่สามารถแก้ไขวิกฤตดังกล่าวได้ อีกทั้งลักษณะการทำงานของทหารที่มีลักษณะเฉพาะตัว ยึดติดการทำงานแบบทหาร อาจทำให้เกิดการกระทบกระทั่งกับประชาชนในพื้นที่ประสบภัยได้ อีกทั้งหากเจ้าหน้าที่ทหารลงไปทำงานจำนวนมากอาจสร้างความเครียดให้กับประชาชนได้ อย่างไรก็ตามตนเชื่อว่าสถานการณ์น้ำขณะนี้รัฐบาลยังรับมือไหว
นายเผดิมชัย สะสมทรัยพ์ รมว.แรงงาน กล่าวว่า ขณะนี้ผู้ใช้แรงงานในพื้นที่ประสบภัยอยู่ในภาวะว่างงานเป็นจำนวนมาก
ดังนั้นกระทรวงแรงงานเตรียมมาตรการฝึกอาชีพระยะสั้นให้ผู้ใช้แรงงานกลุ่มดังกล่าวใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ อย่างไรก็ตามเชื่อว่ากลุ่มผู้ใช้แรงงานกว่า 6.2 แสนคนที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมจะไม่ตกงานหรือถูกเลิกจ้าง แต่หากผู้ใช้แรงงานถูกเลิกจ้างจริง จะมีตำแหน่งงานว่างไว้รองรับ และส่วนกองทุนประกันสังคมจะเข้าไปช่วยเหลือตามหลักเกณฑ์ คือ จ่ายเงินชดเชยให้ร้อยละ 50 ของเงินเดือนในภาวะที่ถูกเลิกจ้าง