"11 วันของการเปิด ศปภ. ที่ตามมาด้วยฉายาใหม่ๆ มีหลากหลายเหตุผลที่ ไม่ชอบชื่อเดิม "ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย"
แต่ที่เห็นตรงกันเป็นส่วนใหญ่ คือ ที่ผ่านมาการบริหารหนักไปทางล้มเหลว ซึ่งสะท้อนและพอสรุปได้ว่ามีช่องโหว่ในการบริหาร และหากยังปล่อยแบบนี้ไม่เฉพาะประเทศเท่านั้นที่น่าสงสาร ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็น่าจะร้องไห้ ทรมาน เช่นเดียวกัน"
8 ต.ค. 2554 เกิดองค์กรใหม่ขึ้นมา ศปภ. มาพร้อมกับความหวังว่าจะสามารถบูรณาการวิกฤติได้อย่างมีประสิทธิภาพ...แม้ว่าจะจัดตั้งช้ากว่าที่ควรจะเป็น แต่ก็ดีกว่าไม่ได้ทำ...
เพราะว่าการรวมศูนย์เพื่อบริหารวิกฤตินั้น เป็นสิ่งที่ทั่วโลกหรือสากลทำกัน!
ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ก็เดินตามนั้น หลังจากที่วนเวียนกับการวีดิโอคอนเฟอเรนซ์" ผู้ว่าฯ ทั่วประเทศ กับ นโยบาย 2P2R ( Preparation : Prevention : Response : Recovery) มาสักระยะหนึ่ง !
คำถามจึงอยู่ที่ว่าเมื่อหันมาเน้นบริหารแบบรวมศูนย์ผ่าน ศปภ. ทำไมจึงไม่เกิดประสิทธิภาพ อย่างที่ควรจะเป็น?
แน่นอนว่า อาจจะไม่ได้เกิดจากปัจจัยใด...ปัจจัยหนึ่ง หลากปัญหาเข้ามารุมเร้า ที่สำคัญมาจากต้นตอการประเมินผิดคาดตั้งแต่ต้น เพราะว่าหลายองค์กรและศปภ.ก็ยอมรับเองว่า ปริมาณน้ำฝนมากกว่าที่ประเมินไว้มาก ทำให้เกือบทุกเขื่อนไม่สามารถรองรับได้ตามที่ควรจะเป็น
เพราะปริมาณฝนที่ตกเกินกว่าปกติ 40% นั้น หากไม่เตรียมเขื่อนให้ว่างที่มากพอ ก็ไม่อาจรองรับได้ สุดท้ายก็ต้องระบายไปตามพื้นที่ต่างๆ เพราะตัวเลขมวลน้ำที่สูงถึง 1.6 หมื่นล้านลูกบาศก์เมตร ไม่น้อยเลย และเกือบ8 พันล้านลูกบาศก์เมตร เป็นน้ำค้างทุ่ง ซึ่งนั้นหมายความว่าไม่ได้ลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา
มวลน้ำเกือบ 8 พันล้านลูกบาศก์เมตร จึงกระจายอยู่ตามพื้นที่ต่างๆ...ตั้งแต่ ชัยนาท>ลพบุรี>นครสวรรค์>พระนครศรีอยุธยา>ปทุมธานี ลงเรื่อยมายัง กรุงเทพฯ ที่กำลังตระหนกอยู่ในวันนี้
ตัวแปรที่เหนือความคาดหมายเช่นนี้ ใครเข้ามาบริหารประเทศช่วงนี้ก็เหนื่อยทั้งนั้น เพียงแต่สำหรับ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แล้วน่าจะหนักหนากว่าคนอื่นๆ เพราะมีความพิเศษที่ นายกรัฐมนตรีในอดีตไม่มี
- ขาดทีมงานที่มีคุณภาพ...รัฐมนตรีหลายคนทำงานไม่เป็น แต่งตั้งเข้ามาตามโควต้าฐานคะแนนและกลุ่มเคลื่อนไหว...ยามวิกฤติเช่นนี้ หลายคนหายไปอย่างไร้ร่องรอย
- บารมี และความเป็นผู้นำ ของ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ไม่มีให้เห็น โอกาสที่ประชาชนมอบให้ถดถอยลงเรื่อยๆ ทำให้การตัดสินใจในยามวิกฤติ จึงไม่เกิดผล
- โครงสร้างข้าราชการ กองทัพ กับ รัฐบาล น่าจะมีราบเรียบนัก แม้ว่าระยะหลังดูจะทำงานร่วมกันมาก แต่ก็ไม่ได้แนบเนียน เมื่อเทียบกับรัฐบาลก่อนหน้า
- การเมืองท้องถิ่นกับรัฐบาลกลาง มีช่องโหว่ ช่องว่างในหลายจุดไม่เฉพาะ กทม.เท่านั้น เพราะตัวแทนท้องถิ่นที่มาจากการเลือกตั้ง ก็ต้องเน้นดูแลประชาชน ของตัวเองในท้องที่มากกว่าจะมองการแก้ปัญหาในภาพรวม หรือนำไปสู่บูรณาการอย่างที่มุ่งหวัง
เชื่อว่านายกรัฐมนตรี "คิดดีและตั้งใจดี"...แต่ด้วยโครงสร้างที่บิดเบือน ...สถานะ"เป็นแค่ตัวแทน" (อย่างซื่อสัตย์)...จึงเป็นเรื่องยากที่ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะทำหน้าที่"นายกรัฐมนตรี"ได้อย่างมีประสิทธิภาพ แม้จะพยายามเต็มกำลัง หรือคิดดี แค่ไหน
เพราะหัวใจอยู่ที่ปฏิบัติให้เกิดขึ้นจริง!
ศูนย์เปลืองภาษี...ศูนย์ปราศจากภูมิปัญญา หรือจะเรียกว่าอะไรก็ได้...แต่อย่างน้อย ศปภ. ได้สะท้อนแล้วว่ายามวิกฤติ "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร"...ไม่อาจบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ พรรคเพื่อไทยควรคิดล่วงหน้าได้แล้ว (หรือคิดไว้แล้ว) ว่า บุคคลที่เหมาะสมคนต่อไปควรเป็นใคร?
สงสารเถอะ! อย่าทรมานเธออีกเลย!