กิตติรัตน์สะอื้นแจงน้ำท่ามสูญอื้อ

"กิตติรัตน์" น้ำตาคลอเบ้าแจงกลางครม. รับน้ำท่วมครั้งนี้เสียหายมหาศาล จี้ครม.เคาะรับมือแผนรับมือระยะยาวและให้หลักประกันนักลงทุน แนะหากต้องกู้เงินเท่าก็ต้องทำ ระบุจีดีพีปท.ลดฮวบร้อยละ 1.7 ชัวร์ คาดทำให้ดีแค่ไหนก็ไม่เกินปีที่ผ่านมา ด้าน "ยิ่งลักษณ์" โยน"รมว.พาณิชย์ดูรับหน้าเสื่อฟื้นฟูโครงสร้างประเทศ

ที่ศปภ. ดอนเมือง วันที่ 18 ต.ค. 2554  มีรายงานข่าวจากที่ประชุมครม.แจ้งว่า การประชุมครม.

ซึ่งมีน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เริ่มต้นเวลา 09.40 - 14.00 น. ในช่วงต้นครม.มาประชุมกันน้อย จากนั้นก็ทยอยกันเข้าประชุมจนเต็มห้องประชุม  โดยวาระแรกที่หารือคือเรื่องสถานการณ์อุทกภัย ใช้เวลาสี่สิบห้านาที และเป็นวาระพิจารณาจรที่หนึ่งเรื่องผลการหารือระหว่างนายกฯและรัฐมนตรีเป็นรายกระทรวงเกี่ยวกับการช่วยเหลือดูแลฟื้นฟูผู้ประสบอุทกภัย  ซึ่งนายกฯสั่งงานครม.ในเรื่องเร่งด่วนจำนวนมากรวมทั้งแผนระยะยาวในการฟื้นฟูและบูรณาการทั้งระบบ โดยให้ส่งแผนการทำงานตามสี่กลุ่มงานที่แบ่งไว้ให้กลับคืนนายกฯในช่วงเที่ยงวันที่ 21 ต.ค.

จากนั้นนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง  รองนายกฯและรมว.พาณิชย์กล่าวกับที่ประชุมครม.แบบน้ำตาคลอว่า อุทกภัยส่งผลกระทบเสียหายมหาศาล  ต้องเตรียมการรับมือ
 
แต่เดือนต.ค.แล้วฝนยังไม่หยุดตกและน้ำเยอะ  หากถึงวันลอยกระทงน้ำก็ต้องเพิ่มขึ้นมากสุดในช่วงนั้น  หากแผนป้องกันระยะยาวไม่ดี อีกไม่ถึงหกเดือนปัญหานี้จะกลับมาใหม่อีกแน่นอน  และหากจะลงทุนหรือสร้างสิ่งใดเพื่อเรียกความเชื่อมั่นก็ต้องรีบทำ จะกู้เงินเท่าใดก็ต้องกู้  ตอนนี้ภาคอุตสาหกรรมเกิดผลกระทบ และจะกู้ความเชื่อมั่นกลับมาได้ยาก  หลายโรงงานที่เจอปัญหานี้ หากน้ำลดแล้วจะทำเช่นใด เช่นจะย้ายโรงงานหรือไม่ มันต้องมีแผนที่รัฐบาลต้องชี้แจงว่าจะแก้ปัญหาระยะยาวเช่นใดบ้าง  และเมื่อนายกิตติรัตน์พูดจบ นายชุมพล ศิลปอาชา รองนายกฯและรมว.ท่องเที่ยวและกีฬา ได้สนับสนุนแนวคิดนายกิตติรัตน์ทันทีว่าควรรีบดำเนินการ

           
เลขาธิการสำนักงานการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวเสริมว่า  แผนระยะสั้นและระยะยาวที่ต้องดำเนินการนั้นต้องระวังด้วย เพราะไตรมาสที่สี่ของปีนี้ต้องเตรียมการ ผลกระทบจากอุทกภัยนั้นส่งผลถึงจีดีพีของประเทศในปีนี้ที่ลดลงร้อยละ 1.7 แน่นอน  แม้จะบริหารจัดการให้ดีสุดเพียงใดจีดีพีของประเทศก็จะได้เทียบเท่าจีดีพีของปีที่แล้วเท่านั้น


กิตติรัตน์สะอื้นแจงน้ำท่ามสูญอื้อ


นายกฯ กล่าวว่า ไม่อยากให้คิดว่ากู้เงินเท่าใด

และจากที่ไหนแต่ขอให้คิดว่าจะทำอะไร และรัฐมนตรีจะสื่อสารกับหน่วยงานในสังกัดอย่างไรให้ดีว่า เราต้องฟื้นฟูไม่ใช่เพียงแค่โครงสร้างพื้นฐานของประเทศที่เสียหาย แต่ต้องกระตุ้นเศรษฐกิจด้วย และขอให้นายกิตติรัตน์รับเรื่องโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของประเทศไปดูแลและรายงานกลับมาด้วย วันนี้ต้องคิดว่าน้ำท่วมครั้งนี้ประชาชนตั้งคำถามว่ารัฐบาลจะทำอะไรบ้าง ไม่ใช่แค่นำน้ำ อาหารและจัดที่พักพิงให้เท่านั้น  วันนี้ต้องมีระบบฐานข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ เช่น ประชาชนอพยพเท่าใด ใครยังติดค้างอยู่ที่บ้าน  ใครต้องการเงินช่วยเหลือ ใครต้องการฝึกอาชีพ  ฐานข้อมูลเบื้องต้นของทุกภาคส่วนที่ทุกกระทรวงรับผิดชอบนั้นต้องเกิดขึ้นและตนเชื่อว่าราชการจะดำเนินการเรื่องนี้ได้ดี   ขอมอบเรื่องนี้ให้นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกฯและรมว.มหาดไทยรับผิดชอบ

           
ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกฯกล่าวเสริมว่า ภัยธรรมชาติในวันนี้ตนเห็นใจนายกฯ เพราะนายกฯย้ำในที่ประชุมครม.หลายครั้งแล้วว่า รัฐบาลแก้ปัญหานี้เต็มที่

 
และไม่ใช่ว่าไม่เตรียมการรับมือ แต่มันเป็นภัยธรรมชาติ การแก้ปัญหาบ้านเมืองนั้น หากไม่มีเรื่องน้ำท่วมเข้ามา พรรคประชาธิปัตย์จะด่ารัฐบาลมากกว่านี้แน่นอน เช่นตอนนี้ก็ดำเนินการบิดเบือนเรื่องนายโรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม ทนายความต่างประเทศของนปช.  พรรคประชาธิปัตย์ต้องการให้ประกาศใช้พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินเหมือนช่วงที่มีศอฉ.จะได้บีบนายโรเบิร์ตอออกไปและห้ามเข้าประเทศ ตอนนั้นก็ส่งเรื่องนี้ให้กรมสอบสวนคดีพิเศษจัดการแต่ก็ไม่มีการดำเนินการ

           
รายงานข่าวแจ้งกล่าวว่า รายละเอียดของวาระดังกล่าวนั้นมีสาระสำคัญดังนี้ 1 แนวทางในการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยและขั้นตอนการฟื้นฟูสี่ระยะ
 
คือ ระยะเฉพาะหน้าในการป้องกันกระแสน้ำ การอพยพประชาชน การหาปัจจัยดำรงชีพ โดยศปภ.ร่วมกับจังหวัดต่างๆไปแล้ว ระยะการช่วยเหลือในระหว่างที่ระดับน้ำในพื้นที่ขึ้นสูง คาดว่าจะใช้เวลา 4 - 6 สัปดาห์ ช่วงนี้ประชาชนจะประสบปัญหาด้านที่อยู่อาศัยและมาพักที่ศูนย์อพยพ จะมีความเครียดเพราะทรัพย์สินโดนทำลาย และกังวลเรื่องอาชีพ ตรงนี้จะต้องมีการบูรณาการในจุดอพยพ ระยะการฟื้นฟูหลังน้ำลดแล้ว ต้องเร่งฟื้นฟูด้านกายภาพเช่นซ่อมแซมเส้นทางคมนาคม  โรงพยาบาล โรงเรียน โบราณสถาน ที่อยู่อาศัย สถานที่ราชการ สถานที่ท่องเที่ยว โดยให้รมว.คมนาคมดูแลเรื่องฟื้นฟูงานโยธาและโครงสร้างพื้นฐาน นายกิตติรัตน์ดูแลด้านเศรษฐกิจ และพล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ รองนายกฯดูแลเรื่องสังคม ระยะปรับโครงสรางถาวร เพื่อปรับโครงสร้างพื้นฐานหลักของประเทศเป็นการถาวรทั้งด้านชลประทาน การป้องกันภัยธรรมชาติและอุทกภัย คมนาคม ผังเมือง ระบบนิเวศน์ และแต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการช่วยเหลือด้านภัยธรรมชาติดังกล่าวโดยมอบให้นายยงยุทธดูแล   

           
2. การจัดทำระบบฐานข้อมูลและการฟื้นฟู  โดยต้องเน้นให้มีการดำเนินการเกี่ยวกับการจัดระบบฐานข้อมูลทุกด้าน มอบให้กระทรวงมหาดไทยเป็นเจ้าภาพหลักและประสานกระทรวงที่เกี่ยวข้องทั้งระบบ 3.รูปแบบการบูรณาการกิจกรรมในศูนย์อพยพในช่วง 4 - 6 สัปดาห์ มอบให้พล.ต.อ.โกวิทเป็นเจ้าภาพ และประสานกระทรวงต่างๆจัดทำฐานข้อมูลรายบุคคลตามข้อ 2 ในการให้บริการสาธารณสุข การบริการขั้นพื้นฐาน การฟื้นฟูจิตใจ  การฝึกอาชีพเพื่อโอกาสจ้างงานหลังน้ำลดตามโครงการฟื้นฟูต่างๆ

           
4.การมอบหมายกิจกรรมด้านสังคมในการจัดทำแผนช่วยเหลือ ฟื้นฟูผู้ได้รับผลกระทบ มอบให้กระทรวงกลาโหมและกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯแก้ปัญหาน้ำเสียในพื้นที่จำเป็นเร่งด่วน มอบให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯร่วมกับกระทรวงมหาดไทยไปจัดทำ EM แก้ปัญหาน้ำเน่าเสียในพื้นที่ 2.2 ล้านไร่  และมอบให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯให้สำรวจพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซาก  มอบให้กระทรวงสาธารณสุขเฝ้าระวังโรคระบาด ฯลฯ

           
5.แนวทางในการช่วยเหลือในระยะการรอการฟื้นฟูในด้านเศรษฐกิจที่สำคัญ
มอบให้กระทรวงอุตสาหกรรมไปจัดทำแผนและการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการในช่วงสองเดือนก่อนน้ำลด โดยเสนอครม.ในหนึ่งสัปดาห์ มอบให้กระทรวงแรงงานให้ความช่วยเหลือผู้ใช้แรงงานสองเดือนก่อนน้ำลดให้ครอบคลุมผู้ที่อยู่ และไม่อยู่ในระบบประกันสังคม การฝึกอาชีพ  และเสนอครม.ในหนึ่งสัปดาห์ มอบให้กระทรวงคมนาคมบูรณะเส้นทางและโครงสร้างพื้นฐานให้กลับมาใช้งานได้ในช่วงสองเดือนก่อนน้ำลด และเส้นทางที่จำเป็นในการขนส่งสินค้าและบริการ  โดยเสนอครม.ในหนึ่งสัปดาห์ รวมทั้งประสานศปภ.เรื่องวัสดุในการสนับสนุนอุปกรณ์ในการฟื้นฟูเส้นทางคมนาคมตามความสำคัญเร่งด่วน  มอบให้กระทรวงเกษตรฯไปจัดทำแผนและแนวทางระบายน้ำออกจากพื้นที่ประสบอุทกภัยอย่างเป็นระบบในช่วงสองเดือนก่อนน้ำลด  โดยเสนอครม.ในหนึ่งสัปดาห์ และมอบให้กรมชลประทานประสานกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯจัดทำข้อมูลระดับน้ำสูงสุดในแต่ละพื้นที่ให้ประชาชนรับทราบโดยง่ายและทำพนังกั้นน้ำที่เหมาะสม 

           
ส่วนแนวทางการกำกับดูแลการกระจายสินค้าและการควบคุมราคาสินค้าและบริการ
 
มอบให้กระทรวงพาณิชย์ไปจัดทำแผนดังกล่าวและประสานกระทรวงคมนาคมเกี่ยวกับเส้นทางคมนาคมที่จำเป็นเพื่อให้การกระจายสินค้าและบริการมีความสะดวกรวดเร็ว  มาตรการด้านการเงินและการคลัง รวมทั้งการตั้งเป้าหมายด้านเศรษฐกิจมหภาค หลังจากสภาพัฒน์รายงานจีดีพีของประเทสในไตรมาสที่สี่ของปีนี้จะติดลบร้อยละ1.7นั้น  ขอให้กระทรวงการคลังรว่มกับธนาคารแห่งประเทศไทยหารือสมาคมธนาคารไทยออกมาตรการทางสังคมในการชำระหนี้และอัตราดอกเบี้ยผ่อนปรนให้เอสเอ็มอีและประชาชนให้เท่ากับธนาคารภาครัฐ  และมอบให้คณะกรรมการฟื้นฟูภาคเศรษฐกิจจัดทำมาตรการฟื้นฟูกิจการและผ่อนปรนด้านภาษี


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์คมชัดลึก

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์