คนเดือนตุลาซีกรัฐย้ำยืนข้างแม้วอ้างทำเพื่อชาติได้มากกว่า
โดย ผู้จัดการออนไลน์ 22 กุมภาพันธ์ 2549 19:57 น.
คนเดือนตุลา จี้เพื่อนพ้องเดือนตุลาในรัฐบาลถอยห่าง "ทักษิณ"ลบภาพกลุ่มตุลาชิน แนะรวมตัวตั้งพรรคการเมืองของประชาชนแท้จริง พร้อมประกาศจุดยืนเข้าร่วมเคลื่อนไหว 26 ก.พ.นี้ ด้าน "สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี" ชี้ ต่างคนต่างมีบทบาท เชื่อทุกคนทำเพื่อส่วนรวม วอนให้ยอมรับสิทธิเสรีภาพของแต่คน ขณะที่ ประพัฒน์ เมินเสียงเรียกร้อง ย้ำยืนข้างรัฐบาล อ้างทำประโยชน์เพื่อประเทศชาติได้มากกว่า
วันนี้(22 ก.พ.)นายอมร อมรรัตนานนท์ อดีตเลขาธิการเครือข่ายเดือนตุลา ได้แถลงข่าว ยื่นจดหมายเปิดผนึกผ่านสื่อมวลชนถึงคนเดือนตุลา ที่ทำงานอยู่ในพรรคไทยรักไทย ว่าที่ผ่านมาตนได้ร่วมกับเพื่อนๆ พี่ ๆซึ่งเป็นคนเดือนตุลา ในการที่จะทำงานเปลี่ยนแปลงสังคม โดยร่วมกับพรรคไทยรักไทยในฐานะผู้สนับสนุน เพื่อหวังจะร่วมผลักดันการเปลี่ยนแปลงสังคมไปเป็นสู่สิ่งที่ดีงาม 2 ปีแรกเหมือนเป็นปีแห่งความรุ่งโรจน์ พรรคสามารถรวบรวมนโยบายจากประชาชนหลายภาคส่วน เพื่อการแก้ปัญหาอย่างรวดเร็ว จริงจัง แต่ขณะนี้สถานการณ์กลับไม่เหมือนที่ผ่านมา นายกฯกลับทำประโยชน์เพื่อตัวเอง บริวารผู้ใกล้ชิด มากกว่าทำประโยชน์เพื่อชาติ ประชาชน และด้วยองค์ประกอบขนาดใหญ่ของพรรคที่มีหลายกลุ่มก๊วนทางการเมือง นักเลือกตั้งหลายคนวิ่งเข้ามาแวดล้อมนายก ทำให้นโยบายที่กำหนดออกมาเป็นไปเพื่อตอบสนองผลประโยชน์ของกลุ่มบริวาร ก่อประโยชน์ทับซ้อนต่อแวดวงคณาญาติ หลายนโยบายออกมาฉาบฉวยหวังเพียงผลชนะการเลือกตั้ง และหลายอย่างสาดใส่ทำลายประชาชนทำให้คนเดือนตุลาฯที่ใกล้ชิดและมีส่วนกำหนดแนวทางของพรรค เริ่มมีระยะห่าง และดูถูกภาคประชาชน และบางคนมีข้อจำกัดจนไม่สามารถเสนอแนวคิดตัวเอง บางคนถูกการเมืองในพรรคกีดกั้น จนถูกสังคมตีตราว่า เป็นพวกกลุ่มตุลาชิน
ซึ่งการที่ผมออกมาแถลงวันนี้ เพื่อน ๆ พี่ ๆ เดือนตุลาอาจจะก่นด่าว่าทิ้งเพื่อนทิ้งพี่ สละเรือเมื่อเห็นว่าเรือรั่ว ซึ่งไม่ขอตอบโต้ ผมยังเคารพเพื่อน ๆ พี่ ๆ เดือนตุลาอยู่ แต่ขอให้เพื่อน ๆ พี่ ๆ ที่ถูกตีตราว่าเป็นตุลาชิน ถอยห่างออกมา ลาออกเสียเถอะ ประชาชนพร้อมที่จะเข้าใจและเยียวยาความผิดหวัง หากพวกเพื่อนๆ พี่ ๆยังศรัทธาในการเมืองระบบรัฐสภา ผมเชื่อว่าทุกคนมีศักยภาพพอที่เราจะทำพรรคการเมืองของเราได้ โดยผมพร้อมที่จะร่วมก่อร่างสร้างพรรคที่เป็นของประชาชนอย่างแท้จริง และขณะนี้ก็ได้มีการพูดคุยกับพี่ ๆ น้องๆ บ้างแล้ว นายอมรกล่าว
นายอมร ยังกล่าวต่อว่า ตนได้เสนอแนวทางการพัฒนาระบอบประชาธิปไตย 7 ข้อว่า 1. พ.ต.ท.ทักษิณ ต้องลาออกการเป็นนายกทันทีเพราะขาดความชอบธรรม จริยธรรมในการเป็นผู้นำของประเทศ 2. กก.บห.ต้องประกาศยุบพรรคไทยรักไทยทันทีเพราะพรรคไม่ได้เป็นพรรคการเมืองโดยประชาชน เพื่อประชาชนอย่างแท้จริง วันนี้พิสูจน์แล้วว่า พรรคคือนายก นายกคือพรรค ที่ผ่านเคยมีความพยายามพัฒนาองค์กรพรรคการเมืองให้เป็นสถาบัน เพื่อเป็นหลักประกันที่มั่นคงของประชาชน แต่สุดท้ายพรรคกลับให้หยุดการพัฒนา โดยให้รอทำในช่วงเลือกตั้ง ถือเป็นความพยายามให้การพัฒนาการเมืองเป็นกลยุทธทางการเมือง
3 . ให้ทุกพรรคการเมืองร่วมจัดตั้งรัฐบาลเฉพาะกิจ เพื่อปฏิรูปการเมืองโดยเร่งด่วน จัดตั้งสภาอาชีพ ที่ประกอบด้วยคนจากอาชีพต่างๆ ร่วมแก้รัฐธรรมนูญ 4. สมาชิกรัฐสภาทั้ง 700 คน ต้องรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 3 วาระรวด และคืนอำนาจให้ประชาชนทันที 5. รัฐบาลต้องไม่ใช้ความรุนแรง หยุดพฤติกรรมยั่วยุ เลิกปิดกั้นสิทธิเสรีภาพสื่อมวลชน เปิดพื้นที่ทางการเมืองให้ภาคประชาชนสามารถเคลื่อนไหวได้อย่างอิสระ 6.หากสถานการณ์พัฒนาไปสู่ความรุนแรง ประชาชนต้องบาดเจ็บ ผู้สั่งการถือว่าเป็นทรราช และอาชญากรทางการเมือง ที่ต้องขับไล่ให้ต้องออกจากผืนแผ่นดินไทย 7. ผู้รักชาติ รักประชาธิปไตยต้องสรุปบทเรียน เพื่อสร้างพรรคการเมืองให้เป็นของประชาชนอย่างแท้จริง
นายอมร กล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมาถือว่าไทยรักไทยเสียโอกาสในการแก้ไขปัญหาประเทศไปอย่างน่าเสียดาย ซึ่งจริงๆ แล้วมีนักคิด นักเคลื่อนไหวเข้าไปทำงานให้จำนวนมาก แต่ปัญหาคือพรรคไทยรักไทยไม่ใช้ระบบประชาธิปไตยในการแสดงและรับฟังความคิดเห็น ประชาธิปไตยจะมีก็เฉพาะกับกลุ่มคนที่แวดล้อมนายกฯเท่านั้น ซึ่งบางคน ก็เป็นคนเดือนตุลา แต่มีพฤติกรรมดูถูกประชาชน มองประชาชนเป็นศัตรู หรือเรียกว่าเป็น ศักดินาแดงไปแล้ว อย่างไรก็ตามฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้ต้องออกมาเรียกร้องเพราะเห็นแนวโน้มความรุนแรง ทักษิณถอยไม่เป็น เนื่องจากการที่มีมติพรรคไทยรักไทยให้ส.ส.ออกไปชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชนพื้นที่ แท้จริงเป็นการส่งสัญญาณให้เอามวลชน มาชน มวลชน ทำให้คิดถึงภาพสมัยตุลา 19 ที่ประชาชน และนักศึกษาในต่างจังหวัด มองภาพนักศึกษาที่ชุมนุมกันในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นผู้ก่อความไม่สงบในบ้านเมืองจนทำให้เกิดความเกลียดชังระหว่างคนไทยด้วยกัน แล้วยิ่งนายกฯจะจัดชุมนุมในวันที่ 3 มี.ค.ทำให้ไม่สบายใจ
นายอมร กล่าวต่อว่า ตนขอเรียกร้องให้สื่อคอยจับตาดูการเรียกประชุมกองทุนฟื้นฟูหนี้สินเกษตรกรที่จะมีขึ้นในเย็นวันนี้ ที่ทำเนียบรัฐบาลว่า ในสถานการณ์ที่เหมือนนายกฯกำลังจะจมน้ำ คงจะไม่ใช้เงินเป็นเครื่องต่อชะตาให้กับพรรคไทยรักไทย หากมีการกระทำดังกล่าวจริงก็ขอให้พี่น้องเกษตรกรได้พิจารณาว่า ทำไมก่อนหน้านี้รัฐบาลจึงไม่เคยให้ความสนใจกับหนี้สินเกษตรกรเลย แต่เมื่อกำลังจะเพลี้ยงพล้ำก็กลับใช้วิธีการดังกล่า ดังนั้นเงินที่นำมาแจกให้จึงไม่ใช่เกิดจากความจริงใจในการแก้ปัญหา
ที่ผมออกมาไม่ได้หารือ หรือแลกเปลี่ยนกับเพื่อนๆ พี่ ๆ 14 ตุลา เพราะไม่อยากทำให้เขารู้สึกว่าผมกดดัน ฝากจดหมายเปิดผนึกนี้ผ่านสื่อไปถึงเพื่อนๆ พี่ ๆ ที่อยู่ในรัฐบาล และเชื่อว่าคนเดือนตุลากว่า 90 % เห็นปัญหาของสังคมเหมือนกัน แต่เขาไม่ได้มีบทบาททางการเมืองในขณะนี้ ซึ่งการชุมนุมเมื่อวันที่ 4,11 ก.พ. ผมก็ไปร่วมและได้เจอเพื่อนๆ เดือนต.ค. ที่ไม่เจอกันมาหลายปีไปร่วมเหมือนกัน และในวันที่ 26 ก.พ.นี้ผมก็จะไปร่วมกับพันธมิตรซึ่งก็คาดว่าจะเจอเพื่อนตุลามากกว่านี้อดีตเลขาฯเครือข่ายเดือนตุลากล่าว
ทั้งนั้ นายอมร อมรรัตนานนท์ เป็นหนึ่งในคนเดือนตุลา โดยก่อนหน้านั้น เขาเป็นเลขาธิการศูนย์กลางนักเรียนในปี 19 และนำนักเรียนขาสั้นเข้าเข้าร่วมเหตุการณ์ช่วง 6 ต.ค. 19 ในช่วงเหตุการณ์พฤษภาทิมฬ ก็ร่วมกับคณะการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตยขับไล่พล.อ.สุจินดา คราประยูร และต่อมาเข้ารับตำแหน่งเลขาธิการเครือข่ายเดือนตุลาปี 40-42 ส่วนที่เข้ามาเกี่ยวกับพรรคไทยรักไทย ก็เมื่อ มีการจัดตั้ง ได้รับการชักชวนจากนายภูมิธรรม เวชชชัย ให้เข้าร่วมคิดร่วมสร้างพรรค หลังการเลือกตั้งปี 2544 ชื่อของอมรเข้าไปเป็นหนึ่งในคณะทำงานของนายสมศักดิ์ เทพสุทิน และได้รับแต่งตั้งจากนายสมศักดิ์ให้เข้ารับแต่งตั้งเป็นรองเลขาธิการกองทุนฟื้นฟูหนี้สินเกษตรกร แต่เกิดปัญหาความขัดแย้งภายในกองทุนฯ ทำให้ต้องลาออกในระยะเวลาต่อมา แต่ก็ยังคงทำงานเป็นที่ปรึกษาให้กับนายสมศักดิ์ จนถึงปัจจุบัน ก็เป็นที่ปรึกษารมว.แรงงาน
ด้านน.พ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี โฆษกประจำสักนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่มีคนเดือนตุลาฯออกมาเรียกร้องคนเดือนตุลาฯในรัฐบาลลาออก ว่าในส่วนของคนเดือนตุลาฯด้วยกัน ในบทบาทของคนที่เคยผ่านเหตุการณ์เดือนตุลาฯ มาถึงวันนี้แต่ละคนมีบทบาทที่แตกต่างกัน ซึ่งตนเชื่อว่าอุดมการณ์ของเดือนตุลาฯที่ทุกคนได้ตั้งมั่นกันมากว่า 30 ปี ก็ยังเป็นเข็มทิศในการใช้ชีวิต การหน้าที่ของแต่ละคน ตนเคารพในสถานภาพในการทำงานของทุกๆ คน ฉะนั้นไม่ว่าจะเป็นผู้ที่ทำงานในองค์กรพัฒนาเอกชน หน่วยราชการ หรือหน่วยงานใดๆก็ตาม ตนเชื่อว่าทุกคนตั้งใจทำงานเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม โดยส่วนตัวเชื่อว่าทุกคนตั้งใจทำงานให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม
ผมเองโดยหลักการแล้วเชื่อว่า เรายึดมั่นว่าทุกคนมีสิทธิ มีเสรีภาพ ในการแสดงความคิดเห็น ในการกำหนดทิศทางในงานที่ตัวเองจะทำ ผมเองยังไม่เคยไปเรียกร้องให้ใครถอนตัวจากการทำหน้าที่ในเรื่องไหน เพราะผมเชื่อว่าทุกๆ ที่เป็นคนเดือนตุลาฯ ต่างตั้งใจทำงานเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม อยากให้พี่น้องชาวเดือนตุลาคม ยอมรับและเข้าใจในแง่ของสิทธิเสรีภาพของคนเดือนตุลาฯด้วยกันเอง ผมมั่นใจว่าคนเดือนตุลาฯทุกคนที่อยู่ในซีกรัฐบาล ต่างก็ตั้งใจทำงานให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม นพ.สุรพงษ์ กล่าว
ส่วน นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานคณะกรรมการบริหารกองทุนฟื้นฟู และในฐานะคนเดือนตุลาฯ กล่าวถึงกรณีที่ นายอมร อมรรัตนานนท์ เครือข่ายพันธมิตรคนเดือนตุลาฯเรียกร้องให้คนเดือนตุลาที่อยู่ในรัฐบาลถอนตัวเพราะหมดความชอบธรรมแล้วว่า ตนเข้าใจ นายอมร เพราะก็เป็นน้องคนหนึ่ง จึงมีความเข้าใจในความรู้สึกของเพื่อนพ้องน้องพี่คนเดือนตุลาฯ แต่ในความเห็นของตนได้มีการประเมินตนเองอยู่ตลอดเวลา และคิดว่า ณ เวลานี้ตนยังสามารถทำประโยชน์ให้กับเกษตรกรได้ และผู้แทนเกษตรทั้ง 20 ท่านที่ยืนอยู่ข้างหลังผมนี้สามารถยืนยันได้ หากเกิดอุบัติเหตุทางการเมืองในระหว่างนี้ตนเชื่อมั่นว่าจะทำให้กองทุนฟื้นฟูถอยหลังไปอีกหลายปี ที่สำคัญก็คือหนี้สินเกษตรกรก็จะไม่ได้รับการแก้ไข สุดท้ายเกษตรกรก็จะถูกยึดที่ดินทำกิน ซึ่งไม่เป็นผลดีกับพี่น้องเกษตรกร ดังนั้นตนจึงได้ตัดสินใจแล้วว่าจะขอทำหน้าที่ให้เป็นที่พึ่งกับเกษตรกร
ผู้สื่อข่าวถามว่าที่นายประพัฒน์อ้างว่าหากตนถอยออกไปแล้วกองทุนจะล้มนั่นแสดงว่าไม่ยึดหลักการแต่ขึ้นกับตัวบุคคล นายประพัฒน์ กล่าวว่า กองทุนฟื้นฟูเป็นกฎหมายใหม่เพิ่งประกาศใช้เมื่อปี 2542 ใช้มาได้แค่ 6-7 ปี ยังอยู่ในลักษณะล้มลุกคลุกคลานมาตลอด เนื่องจากความเข้าใจในกฎหมายฉบับนี้ค่อนข้างยาก และมีข้อจำกัด แต่ระหว่าง6-7 เดือนที่ผ่านมานี้ งานคืบหน้าไปมากพอสมควร จึงยืนยันว่าไม่ได้เป็นปัญหาตัวบุคคล แต่เป็นปัญหาว่ากฎหมายใหม่จริงๆ ทำให้ความเข้าใจยังมีน้อย จึงอยากจะใช้เวลาให้กฎหมายมีผลบังคับใช้ เพื่อแก้ไขหนี้สินเกษตรกรให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ก่อน ตนเชื่อว่าเมื่อกฎหมายเริ่มทำงานได้สักระยะ ก็จะเข้มแข็งและทำงานได้ด้วยตนเองต่อไป ช่วงนี้ก็ยังเป็นช่วงของการฟูมฟัก สร้างความเข้าใจกับทุกภาคส่วน
ผู้สื่อข่าวถามอีกว่านายอมรฝากมาถามว่ารู้สึกอึดอัดใจกับการทำงานกับกองทุนฟื้นฟูหรือไม่ นายประพัฒน์ กล่าวว่า ไม่มีความอึดอัดใจอะไร เพียงแต่ว่ารู้สึกเหนื่อย เพราะกองทุนบริหารยากเนื่องจากว่าเป็นกฎหมายใหม่และมีปัญหาเรื้อรังมานาน จึงบริหารจัดการค่อนข้างยากพอสมควรในการแก้ไขปัญหา ซึ่งในส่วนนี้แต่เมื่อเห็นความเดือดร้อนของพี่น้องเกษตรกรแล้วทำให้เหนื่อยไม่ได้ จึงต้องเร่งแก้ไขปัญหาให้ เพราะเกษตรกรถูกฟ้องร้องดำเนินคดีทุกวันตามที่ตนได้รับรายงานเข้ามาจึงไม่อยากเห็นเกษตรกรต้องหลุดจากที่ดินทำกินของตัวเอง จะทำให้เกิดปัญหากับสังคมค่อนข้างใหญ่ ขอถามว่าหากเกษตรกร 5 หมื่นกว่าราย ไม่มีที่ดินทำกินแล้วจะเกิดอะไรขึ้นกับสังคม เพราะเขาต้องบ้านแตกสาแหรกขาด ซึ่งแน่นอนว่าคนเหล่านี้ต้องอพยพเข้าเมือง จะสร้างปัญหาให้กับสังคมเรื้อรังยาวนาน จึงคิดว่าการทำให้กฎหมายบังคับใช้ได้จะแก้ปัญหาและเป็นประโยชน์มาก
ผู้สื่อข่าวถามว่าลำบากใจหรือไม่ที่คนเดือนตุลาฯแยกเป็น 2 ฝ่าย ทั้งฝ่ายที่คัดค้านและฝ่ายรัฐบาล นายประพัฒน์ กล่าวว่า ยอมรับว่ามีเพื่อนฝูงโทรศัพท์มาหาค่อนข้างมาก และโดยส่วนตัวเรายังชอบพอรักใคร่กันอยู่ ตนได้ชี้แจงไปว่าได้มีการประเมินตัวเองแล้วว่า การอยู่ทำงานให้รัฐบาลจะเป็นประโยชน์กับประเทศชาติและพี่น้องเกษตรกรมากกว่า จึงขอเลือกแนวทางนี้ ผู้สื่อข่าวถามว่า คิดว่านายกฯยังมีความชอบธรรมในการบริหารประเทศต่อไปหรือไม่ นายประพัฒน์ กล่าวว่า ความเห็นตนเรื่องกองทุนฟื้นฟูจะต้องบริหารงานให้ต่อเนื่องไม่อยากให้สะดุด ในฐานะที่เป็นประธานคณะกรรมการบริหารกองทุนฯ ก็อยากเห็นการใช้กฎหมายฉบับนี้บังคับใช้อย่างเต็มที่ ให้เดินหน้าไปได้ ส่วนคำถามอื่นตนขอไม่ตอบ
มีสิ่งหนึ่งที่อยากจะเตือนสติสังคมว่าเรามีบทเรียนมากในเรื่องการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่รุนแรงมาแล้ว จึงอยากให้สังคมได้ตระหนัก จริงอยู่ที่สังคมจะต้องมีการปฏิรูป ต้องมีพลวัตร การเมืองต้องปฏิรูปตรงนี้ทุกคนยอมรับความจริง แต่อยากเห็นการปฏิรูปหรือการเปลี่ยนแปลงที่ไม่ต้องเสียเลือดเนื้อสักครั้ง อยากให้มานั่งลงคุยกันเพื่อหาทางออก เพราะการเผชิญหน้าและทำให้เกิดการเสียเลือดเนื้อน่าจะเพียงพอแล้วสำหรับสังคมไทย ที่เราได้รับบทเรียนเจ็บปวดอย่างนี้มาหลายครั้งแล้ว จึงคิดว่า ถ้าเป็นไปได้อยากให้มีการปฏิรูปอย่างมีสติ ขอความกรุณาเถอะครับ นายประพัฒน์ กล่าว
เมื่อถามว่าการที่รัฐบาลหาทางออกให้ด้วยการนำปัญหาความขัดแย้งเข้าหารือสภาจะช่วยคลี่คลายได้หรือไม่ นายประพัฒน์ กล่าวว่าตนไม่ได้อยู่ในส่วนที่รับผิดชอบเรื่องการเมืองขนาดนั้น เพราะตนก็ดูแต่เรื่องกองทุนฟื้นฟูอย่างเดีย ซึ่งพบว่าปัญหาเยอะมาก ส่วนเรื่องอื่นตนไม่รู้