(ที่มา : มติชนรายวัน ฉบับวันที่ 29 กันยายน 2554 หน้า3)
"ขยายความ" ที่อาจเป็น "จุดเริ่มต้น" ของความขัดแย้งครั้งใหม่
เพราะข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์ ต้องการให้ทุกเหตุการณ์ที่เป็น "ผลพวง" มาจากการทำรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เป็น "โมฆะ" เพื่อนำไปสู่การปรองดอง
ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ โดย "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" มองว่าข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์ มีวาระซ่อนเร้นเพื่อเปิดทางนิรโทษกรรมให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
หากการปะทะ "ทางความคิด" ของคนสองกลุ่ม ไม่มีวาระซ่อนเร้น เป็นการขายความคิดด้วยความบริสุทธิ์ใจต่อบ้านเมือง
ก็น่าจะเป็นแนวทางหนึ่ง ที่ทำให้คนในสังคมมีความหวัง
ดีกว่านั่งอมทุกข์ในมุมมืด
ไม่เห็นถึงแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์
แต่การปะทะกันทางความคิดของคนสองกลุ่มก็มีช่องโหว่
เป้าหมายหลักของ คณะนิติราษฎร์ เนื้อแท้จริงๆ อาจอยู่ที่ลบล้าง "ผลกระทบ" ทุกอย่างที่เกิดขึ้นจากการรัฐประหาร
แต่ที่กลายเป็น "ช่องโหว่" มากที่สุดคือ การเข้าไปแตะมาตรา 112 ว่าด้วยการให้แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา ที่เกี่ยวข้องกับการหมิ่นสถาบัน
เช่นกัน พรรคประชาธิปัตย์ เนื้อแท้จริงๆ เป็นพรรคที่ต่อต้านการทำรัฐประหารมาโดยตลอด การไปแตะแค่ "ประเด็นรอง" คือการช่วยเหลือ พ.ต.ท.ทักษิณ ให้พ้นผิด มากกว่า "ประเด็นหลัก" เรื่องการต่อต้านรัฐประหาร
อีกทั้งพรรคประชาธิปัตย์เองก็ถูกสังคมตั้งข้อสงสัยมาโดยตลอดเกี่ยวกับการตั้งรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ในค่ายทหาร
ทำให้สังคมมองพรรคประชาธิปัตย์ และ "อภิสิทธิ์" ด้วยความแปลกแปร่ง
ด้วยช่องโหว่ดังกล่าว ทำให้การปะทะกันทางความคิดระหว่างคณะนิติราษฎร์ กับพรรคประชาธิปัตย์ ถูกจุดให้กลายเป็น "ความขัดแย้ง"
ที่มี พ.ต.ท.ทักษิณ เป็น "หัวเชื้อ"