ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 27 กันยายน ที่ผ่านมา ศาลแพ่งออกนั่งบัลลังก์อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาพิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
ให้ยึดทรัพย์นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรครักประเทศไทย โดยให้เงินในบัญชีธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาถนนพระราม 9 และธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขา ถนนรัชดาภิเษก ห้วยขวาง ที่มีเงินเหลืออยู่จำนวน 127,725.06 บาท และ 17,128.40 บาท รวมทั้งหุ้นบริษัทเดวิส ไดมอนด์ สตาร์ จำกัด หุ้นบริษัทเดวิส โคปาคาบาน่า จำกัด หุ้นบริษัทเดวิส โกลเด้นสตาร์ จำกัด และหุ้นบริษัทเดวิส ซิลเวอร์สตาร์ จำกัด รวม 33,446 หุ้น มูลค่า 3,344,600 บาท พร้อมด้วยดอกผลของทรัพย์สินดังกล่าวตกเป็นของแผ่นดิน
คดีนี้พนักงานอัยการสำนักงานอัยการสูงสุด เป็นโจทก์ฟ้องนายชูวิทย์ และบริษัทโฮ แปซิฟิค เป็นผู้คัดค้านที่ 1 และ 2
กระทำผิด พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 3 สรุปว่า สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ได้รับรายงานว่าผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้ต้องหาในความผิดเป็นธุระจัดหา ล่อไป หรือชักพาไปซึ่งบุคคลใด เพื่อให้บุคคลนั้นทำการค้าประเวณี เป็นการกระทำแก่บุคคลอายุกว่า 15 ปี แต่ไม่เกิน 18 ปี เป็นเจ้าของกิจการค้าประเวณี ซึ่งมีบุคคลอายุกว่า 15 ปี แต่ไม่เกิน 18 ปีทำการค้าประเวณีอยู่ด้วย อันเป็นความผิดมูลฐานตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 คณะกรรมการธุรกรรมตรวจสอบรายงาน และข้อมูลเกี่ยวกับการทำธุรกรรมของผู้คัดค้านที่ 1 แล้วมีเหตุอันควรเชื่อว่า ผู้คัดค้านที่ 1 เกี่ยวข้องกับการจำหน่ายและย้าย ซ่อนเร้นทรัพย์จากการกระทำผิดดังกล่าว จึงมีคำสั่งยึดและอายัดทรัพย์ของผู้คัดค้านที่ 1 ไว้เป็นการชั่วคราว
ทั้งนี้ ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมศึกษาแล้วเห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าผู้คัดค้านที่ 1 เป็นกรรมการผู้จัดการของบริษัทผู้คัดค้านที่ 2
ซึ่งเป็นเจ้าของสถานการค้าประเวณีดังกล่าว จึงรับฟังได้ว่าผู้คัดค้านทั้ง 2 มีส่วนเกี่ยวข้องหรือเคยเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับการกระทำที่เป็นความผิดมูลฐานตามมาตรา 3 วรรคหนึ่ง (2) พ.ร.บ.ฟอกเงินฯ โดยไม่ต้องคำนึงว่าผู้คัดค้านที่ 1 จะถูกจับกุมตัวหรือจะต้องคำพิพากษาของศาลว่าเป็นผู้กระทำผิดและถูกลงโทษในคดีอาญาหรือไม่ ซึ่งตามบทบัญญัติกฎหมายการฟอกเงินให้สันนิฐานไว้ก่อนว่าบรรดาทรัพย์สินทั้ง 6 รายการตามร้องเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด ซึ่งภาระพิสูจน์จะตกอยู่ที่ผู้คัดค้านทั้ง 2 ซึ่งผู้คัดค้านที่ 2ไม่ได้นำสืบให้เห็นว่าได้ทรัพย์สินทั้ง 6 รายการมาโดยสุจริต กรณีจึงไม่มีเหตุให้ศาลคืนทรัพย์สินดังกล่าวกับผู้คัดค้าน ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์วินิจฉัยยกคำร้องของอัยการผู้ร้อง ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย จึงพิพากษาให้ทรัพย์สินดังกล่าวตกเป็นของแผ่นดิน