อสส.สั่งไม่ฟ้องอีก”นพดล ปัทมะ”คดีเขาพระวิหาร-ป.ป.ช.เล็งยื่นศาลฎีกาฯเอง
นายกล้านรงค์ จันทิก โฆษกและกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)เปิดเผย”ประสงค์ดอทคอม”เมื่อวันที่ 26 กันยายนว่า ในการประชุมคณะทำงานร่วมระหว่าง ป.ป.ช.กับสำนักงานอัยการสูงสุดเพื่อพิจารณาสำนวนในคดีที่ คณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้ชี้มูลความผิดทางอาญานายสมัคร สุนทรเวช อดีตนายกรัฐมนตรี(ถึงแก่อนิจกรรมแล้ว) และนายนพดล ปัทมะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 กรณีออกมติคณะรัฐมนตรีสนับสนุนการลงนามในแถลงการณ์ร่วมสนับสนุนการขึ้นทะเบียนเขาพระวิหารเป็นมรดกโลกของกัมพูชา ซึ่งภายหลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าผิดรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 ว่า อัยการสูงสุดได้แจ้งต่อที่ประชุมคณะทำงานร่วมมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องนายนพดลเพราะเห็นว่า การกระทำของนายนพดลไม่เข้าองค์ประกอบความผิดตามกฎหมาย
“หลังจากที่ ป.ป.ช.มีมติเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2552 ได้ส่งเรื่องให้อัยการยื่นฟ้องนายนพดลต่อศาลฏีกาแผนกผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง แต่อัยการแจ้งกลับมาว่าควรจะมีการสอบสวนเพิ่มเติม ในกรณีของ นางฟรองซัวร์ ริวิริแยร์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายวัฒนธรรมขององค์กรยูเนสโก ซึ่งทาง ป.ป.ช.ได้ส่งเรื่องให้อัยการได้ดำเนินการสอบสวน เนื่องจาก ป.ป.ช.ไม่มีอำนาจในการสอบสวนระหว่างประเทศ เพราะตามกฎหมายเป็นหน้าที่ของอัยการ โดยได้ส่งเรื่องไปตั้งแต่ปลายปี 2553 แต่ทางอัยการเพิ่งจะนำคำให้การเป็นลายลักษณ์อักษรของนางฟรองซัวร์ มาแจ้งต่อที่ประชุมวันนี้”
อย่างไรก็ตามนายกล้านรงค์ กล่าวว่า จะรายงานเรื่องดังกล่าวต่อที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.ในวันที่ 27 กันยายน และจะเสนอให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ฟ้องเอง เพราะเห็นว่าการกระทำของ นายนพดล เข้าข่ายกระทำผิดกฎหมายสมบูรณ์แล้ว รวมถึงในที่ประชุมคงได้พิจารณากรณีอัยการสูงสุด มีความเห็นไม่ยื่นฎีกา คดีเลี่ยงภาษีโอนหุ้น 738 ล้านบาทระหว่างคุณหญิง พจมาน ณ ป้อมเพชร และนายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ ด้วย เพราะก่อนหน้านี้ คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติส่งถึงอัยการสูงสุดแล้วว่า ควรจะยื่นฎีกาทุกประเด็น ทั้งนี้จะแถลงข่าวผลการพิจารณาทั้งสองเรื่อง
สำหรับคดีการออกมติคณะรัฐมนตรีสนับสนุนการลงนามในแถลงการณ์ร่วมสนับสนุนการขึ้นทะเบียนเขาพระวิหารเป็นมรดกโลกนํ้น
คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติ 6 ต่อ 3 เก็นว่า นายสมัครและนายนพดลมีความผิด ขณะที่รัฐมนตรีคนอื่นๆ คณะกรรมการป.ป.ช.มีมติให้ยกคำร้องเช่นเดียวกับข้าราชการด้วยคะแนนเสียงเท่ากัน 8 ต่อ 1 เนื่องจากเห็นว่า การดำเนินการของนายสมัครและนายนพดลเป็นลักษณะงานวิชาการและทางเทคนิค การรับรู้ข้อเท็จจริงที่ได้รับแจ้งในที่ประชุมครม.ในเวลาอันสั้น จึงไม่น่าจะรู้เท็จจริง ส่วน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯซึ่งตกเป็นผู้ถูกกล่าวหาด้วยนั้น ที่ประชุมเห็นว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีจึงให้คำร้องตกไป
สำหรับสาเหตุที่กรรมการป.ป.ช.เสียงข้างมากชี้มูลความผิดนายนพดลฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
เนื่องจากเห็นว่านายนพดลมีเจตนากระทำความเสียหายต่ออาณาเขตและความมั่นคงของประเทศไทย หลังศาลรัฐธรรมนูญตีความข้อความมาตรา 190 เพิ่มเติม แล้วเห็นว่า แถลงการณ์ร่วมสุ่มเสี่ยงต่อผลกระทบอาณาเขตของประเทศไทย ที่สำคัญการดำเนินการยังมีลักษณะปิดบังอำพราง และยังมีมูลเหตุจูงใจอื่นแอบแฝงอยู่ ที่จะให้ฝ่ายบริหารดำเนินการโดยปราศจากการตรวจสอบจากสมาชิกรัฐสภา ทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้าน