ประชาแจงวีระ-ราตรียังไม่เข้าเกณฑ์โอนตัวนักโทษ


พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม พร้อมด้วยนายถิรชัย วุฒิธรรม เลขานุการรัฐมนตรี นายชาติชาย สุทธิกลม อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ร่วมกันแถลงข่าวกรณีพล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

เตรียมขอแลกเปลี่ยนนักโทษระหว่างประเทศไทยกับประเทศกัมพูชา เพื่อช่วยเหลือนายวีระ สมความคิด และน.ส.ราตรี พิพัฒนาไพบูลย์ ซึ่งต้องโทษจำคุกอยู่ในเรือนจำไปรซอ ประเทศกัมพูชา 


พล.ต.อ.ประชา กล่าวว่า ประเทศไทยและกัมพูชาไม่มีข้อตกลงเกี่ยวกับการแลกเปลี่ยนนักโทษ มีแต่สนธิสัญญาโอนนักโทษคดีอาญาซึ่งต้องโทษจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุด หรือคดีเด็ดขาดแล้ว ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 24 ส.ค. 2552 โดยสนธิสัญญามีข้อตกลงว่า นักโทษกัมพูชาที่ต้องโทษอยู่ในประเทศไทยสามารถร้องขอให้โอนตัวไปรับโทษต่อที่ประเทศกัมพูชา ในขณะที่นักโทษไทยที่ต้องโทษอยู่ในประเทศกัมพูชาสามารถร้องขอให้โอนตัวไปรับโทษที่ประเทศไทยได้เช่นกัน ทั้งนี้ สนธิสัญญากำหนดให้การดำเนินการต้องประกอบด้วยความเห็นชอบจาก 3 ฝ่าย คือ 1.ผู้ต้องโทษคดีถึงที่สุด ซึ่งต้องเป็นผู้แจ้งความประสงค์ผ่านทางช่องทางกระทรวงต่างประเทศ 2.ประเทศของผู้ที่รับขอโอนตัว และ 3.ประเทศผู้ให้ตัวผู้ต้องโทษ พร้อมกันนี้ตามระเบียบยังกำหนดให้ไทยและกัมพูชาต้องตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณาการโอนนักโทษ ซึ่งคณะกรรมการในส่วนของประเทศไทยจะมีปลัดกระทรวงยุติธรรมเป็นประธาน 


พล.ต.อ.ประชา กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาไทยยังไม่เคยขอใช้สิทธิโอนตัวนักโทษชาวไทย แต่กัมพูชาเคยขอโอนตัวนักโทษกลับไปรับโทษที่กัมพูชาแล้ว 4 ราย โดยผ่านการพิจารณาเพียง 2 ราย โดยทั้ง 4 ราย เป็นนักโทษคดียาเสพติด อย่างไรก็ตาม ขณะนี้กัมพูชาได้ขอโอนนักโทษอีก 5 คน จากการพิจารณาคุณสมบัติเบื้องต้นถือว่าเข้าเงื่อนไขการโอนตัว โดยเป็นนักโทษคดีอาญาทั่วไป ไม่ใช่สายลับชาวกัมพูชาที่ถูกดำเนินคดีข้อหาจารกรรมข้อมูลทหาร และคาดว่าภายในเดือน ต.ค.นี้น่าจะนำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการพิจารณาได้ สำหรับประเทศไทยมีนักโทษกัมพูชาถูกคุมขังอยู่กว่า 2,200คน และเป็นนักโทษที่เข้าเงื่อนไขโอนตัวจำนวน 590 คน แต่ทางกัมพูชาขอโอนตัวเพียง 5 ราย ส่วนในกัมพูชามีนักโทษไทยถูกคุมขังอยู่ทั้งสิ้น 39 คน 


พล.ต.อ.ประชา กล่าวอีกว่า สำหรับกรณีนายวีระและน.ส.ราตรีนั้น จากการพิจารณาเบื้องต้นยังไม่เข้าเงื่อนไขสนธิสัญญาการโอนตัว เพราะในสนธิสัญญาระบุเงื่อนไขการโอนว่าต้องนักโทษต้องจำคุกแล้ว 1 ใน 3 ของจำนวนโทษทั้งหมด และจะต้องเป็นนักโทษที่ไม่กระทำความผิดต่อความมั่นคงทั้งภายในและภายนอกแห่งรัฐ อย่างไรก็ตาม ตามขั้นตอนนักโทษต้องเป็นผู้แจ้งความประสงค์และยื่นเรื่องต่อสถานทูต เพื่อให้สถานทูตส่งเรื่องมาที่กระทรวงต่างประเทศ และส่งต่อมาให้กระทรวงยุติธรรม

ทั้งนี้ ในส่วนของนายวีระและน.ส.ราตรี ต้องสอบถามข้อหาที่ชัดเจนไปยังกระทรวงต่างประเทศ ในส่วนกระทรวงยุติธรรมยังไม่พบว่ามีการยื่นคำร้อง ซึ่งกระทรวงยุติธรรมมีหน้าที่แค่พิจารณาตามสนธิสัญญาเท่านั้น นอกเหนือจากนี้กระทรวงยุติธรรมไม่อาจเข้าไปก้าวล่วง แต่ยอมรับว่าเคยมีช่องทางพิเศษซึ่งถือเป็นพระราชอำนาจในการพระราชทานอภัยโทษ เช่นเมื่อปี 2552 กัมพูชาเคยพระราชทานอภัยโทษให้นักโทษไทย 2 ราย
 



เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์