2.ประกาศให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2549 มาตรา 36 และมาตรา 37 เสียเปล่า ถือว่าไม่เคยเกิดขึ้น และไม่เคยมีผลในทางกฎหมาย
- ฝ่ายค้าน : รัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2549 ได้ยกเลิกโดยอัตโนมัติไปแล้ว เมื่อมีรัฐธรรมนูญปี 2550 ออกมาบังคับ
ใช้ ถามว่าจะยกเลิกผลตรงส่วนไหน
- รัฐบาล : อย่างที่ผมบอกไปว่าเรื่องทั้งหมดอยู่ที่ศาลยุติธรรม ถ้าต้นน้ำไม่ชอบ ปลายน้ำก็ไม่ชอบ กระบวนการของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวที่มีการยกเว้นโทษ หรือการกระทำใดๆ ถ้าไปยอมรับ หรือนิรโทษให้ ก็เป็นเหมือนไปรับรองการกระทำนั้นๆ
- นักวิชาการ : ถ้าสังคมเห็นร่วมกันในกรณีนี้ จะต้องมีการเขียนบทบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญให้สอดคล้องกับประชาธิปไตย แต่อาจมีปัญหากรณีที่นักการเมืองซึ่งได้ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งจากกฎหมายที่เกิดขึ้นจากคณะรัฐประหารนั้น จะทำได้เพียงใด ซึ่งเป็นไปได้ในแง่อาจจะมีการเยียวยาผู้ที่ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ซึ่งเป็นผลพวงจากประกาศ คปค.ฉบับที่ 27
3.ประกาศให้คำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่อาศัยอำนาจตามประกาศ คปค. โดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรดาคำวินิจฉัยและคำพิพากษาที่เกิดจากการเริ่มกระบวนการโดยคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ซึ่งได้รับการแต่งตั้งโดย คปค.เสียเปล่า ถือว่าไม่เคยเกิดขึ้น และไม่เคยมีผลในทางกฎหมาย
- ฝ่ายค้าน : ข้อเสนอทั้งหมดเป็นไปเพื่อเป้าหมายเดียวคือ ต้องการให้ พ.ต.ท.ทักษิณไม่ต้องรับโทษ ได้กลับมามีอำนาจใหม่ ได้รับเงินที่ยึดไปคืน ไม่มีเรื่องอื่น แต่ต้องเข้าใจก่อนว่าคนที่ตัดสินว่า พ.ต.ท.ทักษิณผิดคือ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งเกิดมาตั้งแต่รัฐธรรมนูญปี 2540 พิพากษามาไม่รู้กี่ร้อยกี่พันคดี ไม่มีปัญหาสักคดี มามีปัญหาคดีเดียว มันเป็นเรื่องขัดกันของผลประโยชน์ส่วนตนกับผลประโยชน์รัฐ เช่น ศาลฎีกาพิพากษาประหารนาย ก. ต่อมาล้มเลิกคำพิพากษาว่าพิพากษามิชอบ จะเอาชีวิตนาย ก. กลับมาได้หรือไม่ ถ้าทำอย่างนั้น เท่ากับว่าผู้พิพากษาสั่งฆ่าคนไปแล้ว และต้องติดคุกด้วย อีกทั้งหากทำได้จริง ผู้ที่พ้นจากผลพวงรัฐประหารที่ถูกคำพิพากษาต่างๆ ทั้ง พ.ต.ท.ทักษิณ บ้านเลขที่ 111, 109 ก็ต้องฟ้องรัฐ เพียงเรียกค่าเสียหายคนละ 1 พันล้านบาท บ้านเมืองจะอยู่ตรงไหน ในวันนั้นมีแต่ลุกเป็นไฟ ระบบนิติรัฐจบทันที
- รัฐบาล : ต้องยอมรับว่าโดยวิธีการของประชาธิปไตยคือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งถือเป็นกฎหมายหลักของประเทศว่าจะแก้ไขแบบใด หรือออกกฎหมายใดเพื่อให้เกิดผลตามที่อาจารย์กลุ่มนิติราษฎร์เสนอ แต่ยอมรับว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เป็นแนวทางที่ทุกฝ่ายควรฉุกคิด โดยนึกถึงชาติและบ้านเมืองเป็นตัวตั้ง
- นักวิชาการ : หากให้คำวินิจฉัยของตุลาการรัฐธรรมนูญ คำพิพากษาของศาลฎีกาไม่มีผลทางกฎหมาย ผมเห็นว่าจะต้องกำหนดไว้เป็นบทบัญญัติในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เท่านั้น
4.ประกาศให้เรื่องที่อยู่ในกระบวนพิจารณาในชั้นเจ้าหน้าที่ และเรื่องที่อยู่ในกระบวนพิจารณาในชั้นศาล ที่เกิดจากการเริ่มเรื่องโดย คตส.เป็นอันยุติลง
- ฝ่ายค้าน : ถ้าจะทำต้องเขียนรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพื่อล้มอำนาจรัฐประหาร ซึ่งก็เขียนได้ และผลพวงจากประกาศ คปค. ล้มไปได้จริง แต่คดีที่ยังเหลืออยู่ในชั้นการพิจารณาของศาลอาจมีผล ถ้าทำอย่างนั้นกับคดีร้ายแรง เช่น คดีทุจริต คดีเผาบ้านเผาเมือง บ้านเมืองจะลุกเป็นไฟ
- รัฐบาล : เรื่องนี้ขออย่าเอากรณีของ พ.ต.ท.ทักษิณเป็นตัวตั้ง แต่ขอเอาประเทศมาเป็นตัวตั้ง เราอยากให้ทุกฝ่ายเคารพในหลักนิติรัฐและนิติธรรม ทั้งนี้ สำหรับคดีที่ผ่านการตัดสินของ คตส.มีหลายเรื่อง อาทิ คดีที่ดินรัชดาฯ คดีกล้ายาง คดีหวยบนดิน และคดีเอ็กซ์ซิมแบงก์ (ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า) ปล่อยกู้พม่า ซึ่งทั้งหมดเป็นกระบวนการสอบสวนช่วงหลังจากที่มีการปฏิวัติ การสอบสวนจึงไม่เป็นธรรมเมื่อเทียบเคียงกับอารยประเทศ ยกตัวอย่างคดีที่ดินรัชดาฯ ที่ศาลฎีกามีคำพิพากษา แต่กลับไม่มีรายชื่อของ พ.ต.ท.ทักษิณอยู่ในอินเตอร์โพล (ตำรวจสากล) ตรงนี้แสดงให้เห็นว่านานาประเทศไม่ยอมรับในส่วนนี้
- นักวิชาการ : ข้อเสนอนี้อาจไม่มีผลในแง่ที่ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาแล้ว หากจะออกเป็นพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เพื่อขอให้บรรดาการใดๆ ของ คตส.ที่กระทำหลังการรัฐประหารต้องยุติลง หรือไม่มีผลทางคดี เว้นแต่จะจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่รองรับไว้
5.ให้ยกเลิกรัฐธรรมนูญปี 2550 และจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
- ฝ่ายค้าน : หากมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 เพื่อเพิ่มเติมบทบัญญัติให้มีผลต่อการยกเลิกผลพวงรัฐประหาร ต้องเข้าใจก่อนว่าหลักการร่างกฎหมายต้องเดินหน้า ไม่มีผลย้อนหลัง อะไรที่ศาลพิพากษาถึงที่สุดแล้ว ถือว่าจบไปแล้ว และยิ่งเป็นคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ถือว่ายิ่งกว่าคำพิพากษา เพราะกฎหมายเขียนให้ผูกพันทุกองค์กรคือคนไทยทั้งประเทศ ขณะที่คำพิพากษา ผูกพันแค่โจทก์กับจำเลย
- รัฐบาล : การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นไปตามแผนการหาเสียงของพรรคเพื่อไทยอยู่แล้ว ซึ่งสมัยเรายังเป็นฝ่ายค้าน ก็มีการนำเสนอแนวคิดให้เอารัฐธรรมนูญปี 2540 มาเป็นตัวตั้ง ดังนั้น คงจะต้องมีการดำเนินการต่อ
- นักวิชาการ : การยกเลิกรัฐธรรมนูญปี 2550 ทำได้ด้วยการเปิดทางให้มีการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) มายกร่างรัฐธรรมนูญ ดังนั้น ทำได้อยู่แล้วในแง่หลักการ เพราะในอดีตก็เคยมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มาจากคณะรัฐประหารแล้ว อย่างรัฐธรรมนูญปี 2534 (ต่อมาคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ยึดอำนาจ) ที่ต่อมาจนนำไปสู่การยกร่างรัฐธรรมนูญปี 2540 ดังนั้น อย่าไปคิดเพียงว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แล้วจะเป็นการนิรโทษกรรมให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณเท่านั้น แต่จะต้องมีส่วนร่วมเพื่อให้ประเทศเดินหน้าไปได้