ความขัดแย้งในทางความคิดซึ่งเกิดขึ้น ดำรงอยู่และดำเนินไปภายในสังคมไทย ละเอียดอ่อน แหลมคมและรุนแรงอย่างยิ่ง
ตั้งแต่ปัญหาน้ำท่วมกระทั่งถึงปัญหาการจำนำข้าว
ตั้งแต่ปัญหาการยื่นฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษกระทั่งถึงปัญหาว่าด้วยคดีจัดซื้อที่ดินรัชดาภิเษกของกองทุนฟื้นฟูเพื่อพัฒนาระบบสถาบันการเงิน
ตั้งแต่ปัญหาการย้ายเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติถึงการย้าย ผบ.ตร.
ตั้งแต่ปัญหาการชุมนุมทางการเมืองเรียกร้องให้ยุบสภากระทั่งการกระชับและยึดคืนพื้นที่จนมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 90 ศพ บาดเจ็บและพิการร่วม 2,000 คน ถูกจับกุมและคุมขังมากกว่า 300 คน ตั้งแต่สถานการณ์เมื่อเดือนเมษายน พฤษภาคม 2553
เป็นความขัดแย้งในทางความคิด เป็นความแตกแยกในทางการเมือง และนำไปสู่การแยกตัวในทางการจัดตั้ง
ละเอียดอ่อน แหลมคม รุนแรงมากยิ่งขึ้นเป็นลำดับ
เหมือนกับเป็นความขัดแย้ง แตกแยก ระหว่าง 15.7 ล้านคนที่เลือกพรรคเพื่อไทย กับ 11 ล้านเศษที่เลือกพรรคประชาธิปัตย์
แท้จริงแล้วเป็นความขัดแย้ง แตกแยก ซึ่งลึกซึ้ง มากยิ่งกว่า
กระสวนของความขัดแย้ง แตกแยก เช่นนี้เองทำให้การมองต่อแต่ละปัญหาแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง หากประเมินผ่านท่าทีระหว่างพรรคเพื่อไทยกับพรรคประชาธิปัตย์
รูปธรรมอันเกี่ยวกับประเทศกัมพูชา คือ ตัวอย่างอันเด่นชัดยิ่งของมุมมองที่แตกต่างกัน
พลันที่พรรคเพื่อไทยกำชัยจากการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม อย่างถล่มทลาย มือแห่งไมตรีจากกัมพูชายื่นมาอย่างอบอุ่น
ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านั้นสัมพันธ์ระหว่างไทย-กัมพูชา ขมขื่นอย่างยิ่ง
รูปธรรมอื่นๆ อันเกี่ยวกับการบริหารประเทศระหว่างพรรคเพื่อไทยกับพรรคประชาธิปัตย์ก็แตกต่างจนแทบจะร่วมอยู่โลกเดียวกันไม่ได้
พรรคเพื่อไทยเสนอโครงการจำนำข้าว พรรคประชาธิปัตย์เสนอประกันราคาข้าว
พรรคเพื่อไทยเสนอแผนจัดตั้งเขตปกครองพิเศษปัตตานี พรรคประชาธิปัตย์เห็นว่าการจัดตั้ง ศอ.บต.ยอดเยี่ยมที่สุด
พรรคเพื่อไทยเห็นว่าควรจัดกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ พรรคประชาธิปัตย์เรียกร้องให้เพิ่มความระมัดระวังอย่างเป็นพิเศษ
เหมือนกับว่าเป็นการต่อสู้ตามปกติในทางการเมืองที่ 2 พรรคการเมืองนี้จะยืนอยู่คนละขั้วคนละฝ่าย
แต่ทั้งหมดนี้คือเงาสะท้อนแห่งความขัดแย้ง แตกแยกซึ่งดำรงอยู่ภายในสังคมโดยรวม
ถึงแม้ ณ วันนี้ พรรคเพื่อไทยจะอยู่ในสถานะอันเป็นแกนนำรัฐบาล เป็นผู้กุมอำนาจทางการเมือง แต่นั่นก็มิได้หมายความว่าอำนาจนี้ดำรงอยู่อย่างเป็นนิรันดร์
อย่างน้อยตามกฎกติกาวาระแห่งการเป็นรัฐบาลที่อยู่ในกำหนด 4 ปี
ขณะเดียวกัน หากประเมินจากท่าทีและการแสดงออกของพรรคประชาธิปัตย์ในขณะนี้ที่ไม่ยอมเปิดโอกาสให้มีห้วงแห่ง "น้ำผึ้งพระจันทร์" ทางการเมือง
น็อกได้ พรรคประชาธิปัตย์ก็พร้อมที่จะน็อก
ความขัดแย้งอันเกี่ยวกับการโยกย้ายในสภาความมั่นคงแห่งชาติ ในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ หากดำเนินไปตามปกติก็มิได้เป็นเรื่องใหญ่โตอะไร
แต่เมื่อมีพวกมีฝ่าย การหนุนให้ต่อสู้ก็ดำเนินไปอย่างเข้มข้น
มิใช่ว่ารัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ไม่เคยย้ายข้าราชการ ไม่ว่าตำแหน่ง ผบ.ตร. ไม่ว่าตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคง ไม่ว่าตำแหน่งปลัดกระทรวงมหาดไทย ล้วนเคยผ่านการโยกย้ายในยุครัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์มาแล้วทั้งสิ้น
แต่เมื่อถึงรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร การโยกย้ายก็กลายเป็นประเด็น เป็นปัญหา
พลังประสานระหว่างพรรคประชาธิปัตย์ องค์กรทางการเมือง และเส้นสายภายในระบบราชการ จึงก่อกระแสการเคลื่อนไหวอันคึกคัก ใหญ่โต มากยิ่งขึ้นเป็นลำดับ
รอเวลาดีเดย์ รอเวลาหักโค่นต่อรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
ถามว่าเหตุปัจจัยอันใดที่จะกลายเป็น "จุดตาย" ให้กับรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ต้องพังครืน
กรณี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อาจเป็นปัจจัย 1 กรณี นปช.แดงทั้งแผ่นดินอาจเป็นปัจจัย 1 แต่ปัจจัยชี้ขาดอย่างแท้จริงน่าจะมาจากปัจจัยในเรื่องการบริหาร ปัจจัยในเรื่องการทุจริตคอร์รัปชั่น
หากทุจริตคอร์รัปชั่นเมื่อใด รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็ยากจะมีเงาหัว
(มติชนรายวัน ฉบับวันที่ 12 กันยายน 2554 หน้า3)