พล.ต.อ. ประชา พรหมนอก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม
กล่าวปฏิเสธกระแสข่าวเรื่องการปรับปรุงพื้นเรือนจำชั่วคราวหลักสี่ (โรงเรียนพลตำรวจบางเขน)ว่าการกระทำดังกล่าวไม่ได้มีแนวคิดหรือมาจากนโยบายการจัดสถานที่คุมขังพิเศษเพื่อรองรับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี แต่ที่ต้องปรับปรุงก็เนื่องจากต้องการรองรับผู้ต้องขังคดีความมั่นคง โดยที่ผ่านมาได้เกิดปัญหาการก่อจลาจลในเรือนจำ ที่ จ.นราธิวาสและ จ.ยะลา
นอกจากนี้ขณะนี้เรือนจำทั่วประเทศ 143 แห่ง สามารถจุนักโทษได้ 140,00 คน แต่ปัจจุบันกลับมีผู้ต้องขังเพิ่มสูงขึ้นถึง 240,000 คน
ทำให้ทุกเรือนจำมีสภาพแออัด ตนจึงมีความคิดที่จะแยกการคุมขังนักโทษคดีความมั่นคง หรือนักค้ายาเสพติดรายสำคัญออกไปควบคุมเป็นกรณีพิเศษเพื่อไม่ให้ เกิดปัญหาการคุมขังปะปนกับนักโทษทั่วไปและนำไปสู่การขยายผลการกระทำผิดอื่นๆในเรือนจำ
ขณะที่ นายชาติชาย สุทธิกลม อธิบดีกรมราชทัณฑ์
กล่าวถึงกรณีเดียวกันว่า การกำหนดประเภทเรือนจำหรือชั้นเรือนจำเป็นอำนาจที่ทำได้ ตาม พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ มาตรา 4 และ 6 ซึ่งให้อำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมกำหนดชั้นหรือประเภทของเรือนจำได้ โดยต้องประกาศในราชกิจจานุเบกษา ทั้งนี้เรือนจำชั่วคราวหลักสี่ได้เคยใช้มาตั้งแต่ปี 2506 นอกจากนี้ที่ผ่านมาก็เคยมีการขอใช้ ใช้เรือนจำทหารเป็นสถานที่สำคัญแล้วแต่กรณี ดังนั้น รื่องการปรับพื้นที่ครั้งนี้จึงไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่
นายชาติชายกล่าวว่า พื้นที่เรือนจำชั่วคราวหลักสี่นั้นเมื่อปี 2553 กองบัญชาการตำรวจสันติบาล มีนโยบายจะขยายพื้นที่สำนักงาน จึงขอพื้นที่ดังกล่าว แต่เกิดปัญหาติดขัดเรื่องงบประมาณในการก่อสร้าง ต่อมาเมื่อกรมราชทัณฑ์มีปัญหา รมว.ยุติธรรม จึงมีนโยบายขอคืนพื้นที่ จาก กองบัญชาการตำรวจสันติบาล
แหล่งข่าว อดีตอธิบดีกรมราชทัณฑ์ รายหนึ่งเปิดเผยกับสำนักข่าวเนชั่น ว่า
การจัดเตรียมเรือนจำที่จะคุมขังนักโทษหรือจำเลยคดีการเมืองมีมาตั้งแต่ประวัติศาตร์แล้ว เช่นที่เกาะตะรุเตา โดยแบ่งแยกนักโทษที่มีความผิด เนื่องจากมีความเห็นทางการเมืองแยกออกจกานักโทษที่เป็นอาชญากร ที่ทำผิดคดีอาญาทั่วไปไว้ ซึ่งการจัดเรือนจำคุมขังเฉพาะก็เป็น แนวทางที่ดีที่จะไม่จับเอาผู้ที่เรียกว่าเป็นอาชญากรที่เกิดจากความเห็นแตกต่างไปอยุ่กับอาชญากรที่เรียกว่าเป็นโจร แต่ทั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นเรือนจำที่คุมขังประเภทใดก็ไม่มีความสะดวกสบาย เพราะเรือนจำคือที่คุมขังผู้ที่มีความผิด
แหล่งข่าวระบุอีกว่า การปรับพื้นที่นี้ไม่น่าจะเป็นการจัดเตรียมเพื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ เพียงฝ่ายเดียว แต่อาจจะเป็นคดีการเมืองที่ปัจจุบันมีเป็นจำนวนมากเพราะมีความคิดหรือความเห็นที่ต่างกัน อย่างไรก็ตามต้องรอดูข้อเท้จจริงว่าการรื้อฟื้นปรับพื้นที่จะทำเพื่อประโยชน์อะไร
"การจัดให้จำเลยหรือผู้ต้องโทษอยู่ในเรือนจำใดๆก็จะมีระเบียบและกฎหมายกำกับให้ ขรก.ประจำต้องดำเนินการอยู่แล้ว ไม่สามารถที่จะนำไปไว้ตามเรือนจำตามใจได้ ส่วนกรณีของ พ.ต.ท.ทักษิณ ที่ถูกตัดสินให้จำคุกเป็นเวลา 2 ปี จะจัดให้เป็นนักโทษการเมือง แยกเรือนจำเฉพาะได้หรือไม่ เรื่องนี้ผมตอบไม่ได้ ต้องให้อธิบดีกรมราชทัณฑ์ชี้แจงเอง และกรมราชทัณฑ์ต้องจัดเรือนจำคุมขังผู้ต้องโทษตามคำพิพากษา" แหล่งข่าวกล่าว
รายงานข่าวแจ้งด้วยว่าตามขั้นตอนการจัดนักโทษไปอยู่ตามเรือนจำต่างๆนั้น เป็นหน้าที่ของกรมราชทัณฑ์
โดยเมื่อศาลตัดสินเป็นคดีเด็ดขาดแล้ว ก็จะนำไปจำคุกที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ จากนั้นจึงจะแยกไปตามเรือนจำต่างๆ เช่นหากเป็นนักโทษเด็ดขาดที่มีโทษหนักก็จะถูกส่งไปที่เรือนจำบางขวาง หรือหากโทษไม่หนักมากก็อาจจะย้ายไปอยู่ตามเรือนจำต่างๆทั่วประเทศตามระเบียบของกรมราชทัณฑ์ เช่นกรณีของ นายรักเกียรติ สุขธนะ ซึ่งเมื่อถูกจับกุมได้หลังจากถูกหลบหนีก็ถูกนำส่งที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ และต่อมาก็ได้ทำเรืองขอย้ายไปอยู่เรือนจำใกล้บ้าน