ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการปรับลดราคาน้ำมัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องบางระกำ โมเดล ไม่ว่าจะเป็นความพยายามปรับบุคลากรภายในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
เป็นเรื่องของ "การบริหารจัดการ"
เรียกตามสำนวนของ ปีเตอร์ ดรักเกอร์ ก็ต้องสรุปอย่างรวบรัดว่า เป็นกระบวนการแห่งการแมนเนจ
ถามว่า สมบูรณ์ เรียบร้อย ราบรื่น หรือไม่
ตอบได้เลยว่า ไม่เรียบร้อย ไม่ราบรื่น ยังไม่สมบูรณ์ เพราะว่ามีความต่อเนื่อง มีผลสะเทือนจากปัจจัยอันอยู่นอกเหนือความคาดหมาย
ฟังจากเสียงวิพากษ์วิจารณ์ของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็จะรู้ในสภาวะที่ยังบกพร่องอยู่
ฟังจากเสียงท้วงติงด้วยความห่วงใยจากนักวิชาการและคนที่อยู่ในวงการ ก็จะสัมผัสได้ในความไม่สมบูรณ์ ครบถ้วน
กระนั้น ข้อดีก็ปรากฏขึ้นให้เกิดการเปรียบเทียบ
อย่างน้อยที่สุดการลงมือทำ "ทันที" ก็เป็นเงาสะท้อนแห่งความสำนึกตระหนักในคำมั่นที่ได้ให้ไว้กับประชาชนในระหว่างการหาเสียง
เพราะการลงมือ "ทำ" นั่นแหละที่ทำให้เห็น "ปัญหา" และนำไปสู่กระบวนการ "แก้ไข" ได้
มีความแตกต่างอย่างแน่นอนระหว่างกระบวนการบริหารจัดการของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กับของรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
นี่คือจุดดี จุดเด่นแห่งระบอบประชาธิปไตย
ทาง 1 มีคณะบุคคลอันอยู่ในฝ่ายบริหาร ทำหน้าที่ในการนำเอานโยบายซึ่งเคยประกาศไปลงมือปฏิบัติในทางเป็นจริง
ทาง 1 มีคณะบุคคลอันอยู่ในฝ่ายค้านคอยตรวจสอบและควบคุม
เพียง 1 วันหลังแถลงนโยบายในที่ประชุมรัฐสภาเป็นเวลา 3 วัน (23-24-25 สิงหาคม) การลงมือทำก็ปรากฏให้เป็นที่ประจักษ์
การขับเคลื่อนเช่นนี้อยู่ในสายตาของประชาชน
การขับเคลื่อนเช่นนี้อยู่ในสายตาฝ่ายค้าน ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายค้านในระบบรัฐสภา ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายค้านนอกระบบรัฐสภา
เมื่อออกมาเคลื่อนไหว วิพากษ์วิจารณ์ ย่อมอยู่ในการตรวจสอบของประชาชนเช่นกัน
จุดต่าง เชิงคุณภาพ ระหว่าง อภิสิทธิ์ ยิ่งลักษณ์ จุดต่าง เชิงบริหาร
แน่นอน ตาของประชาชนมิได้เป็นตาไม้ หูของประชาชนมิได้เป็นหูกระทะ การเปรียบเทียบตามความเป็นจริงระหว่างฝ่ายที่ลงมือทำกับฝ่ายวิพากษ์วิจารณ์ย่อมเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ
อย่าคิดว่าจะหลุดรอดไปจากวิจารณญาณของสังคมได้อย่างลอยตัว
ตัวอย่างง่ายๆ ก็คือ ขณะที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ออกมาวิจารณ์รัฐบาลในเรื่องน้ำท่วม ชาวบ้านก็เกิดนัยประหวัดไปภาพของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เมื่อเดินทางไปยังนครราชสีมา
หรือเมื่อเดินทางไปยืนโบกไม้โบกมือคนละฟากสะพานกับชาวบ้านที่สุราษฎร์ธานี
ยิ่งเมื่อมีการขยับเพื่อปรับเปลี่ยนตัว พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ออกจากตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
ยิ่งนึกถึงกรณีการจัดการกับ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ
ยิ่งนึกถึงความพยายามที่จะผลักดันให้ พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ เข้ามาแทนที่แล้วไม่ประสบผลสำเร็จ
ทั้งๆ ที่เปลี่ยนตัวคณะกรรมการตำรวจแห่งชาติ(กตช.) คนแล้วคนเล่า
ในที่สุดไม่เพียงแต่ไม่สำเร็จ หากมีผลสะเทือนรุนแรงกระทั่งพวกกันเองคือ นายนิพนธ์ พร้อมพันธุ์ ก็ต้องอำลาตำแหน่งเลขาธิการนายกรัฐมนตรีไปด้วยความปวดร้าว
นายนิพนธ์ พร้อมพันธุ์ เป็นเลขาธิการนายกรัฐมนตรีที่ชื่อ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
มีภาพเปรียบเทียบอย่างแน่นอนระหว่างกระบวนการบริหารจัดการในแบบของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กับในแบบของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รวมถึงในแบบของ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ กับ ในแบบของ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง
ที่สำคัญ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จะรู้ตัวหรือไม่ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ จะรู้ตัวหรือไม่
หากนับจากวันที่ 25 สิงหาคม ก็เป็นเวลาเพียง 1 สัปดาห์เท่านั้นของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ ชินวัตร
เพียง 1 สัปดาห์ รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นำนโยบายระหว่างหาเสียงมาลงมือทำได้คึกคักมากกว่า 2 ปีเศษของรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นอย่างมาก
เท่ากับยืนยันการลงมือทำ เท่ากับยืนยันกระบวนการบริหารจัดการ
(มติชนรายวัน ฉบับวันที่2กันยายน2554 หน้า3)