กลุ่มผู้ชุมนุมพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ได้เคลื่อนขบวนจากท้องสนามหลวงเมื่อเช้าตรู่วันที่ 14 มี.ค. มาปักหลักชุมนุมที่หน้าทำเนียบรัฐบาลอย่างยืดเยื้อ โดยปิดถนนพิษณุโลกเปิดเวทีปราศรัย เรียกร้องให้ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ลาออกทำให้สถานการณ์ บ้านเมืองเข้าสู่ภาวะตึงเครียดอีกคำรบหนึ่ง แม้ว่าหลายฝ่ายพยายามดำเนินการหาทางรอมชอม และหาทางออกให้เหตุการณ์คลี่คลายโดยสันติวิธี เพื่อให้เกิดความสมานฉันท์ของคนในชาติ ไม่ว่าจะเป็นการนำพระราชดำรัสของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่พระราชทานเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2535 มาเผยแพร่ ออกอากาศทางโทรทัศน์ รวมการเฉพาะกิจ เมื่อคืนวันอาทิตย์ที่ 12 มี.ค. ให้ทุกฝ่าย น้อมรับใส่เกล้าใส่กระหม่อม แต่กลุ่มพันธมิตรฯ ก็ยังเคลื่อนพลมาชุมนุมที่หน้าทำเนียบฯ โดยยึดหลักสงบ สันติ อหิงสา อโหสิ แล้ว
จับตาชุมนุมรุนแรง ทักษิณ ลั่นใช้ภาวะฉุกเฉิน (จากไทยรัฐ)
สนามหลวงคึกคักตลอดทั้งคืน
ก่อนหน้าที่กลุ่มพันธมิตรฯ จะเคลื่อนขบวนจากสนามหลวง ได้เปิดเวทีปราศรัยตั้งแต่ช่วงเย็นวันที่ 13 มี.ค. มีผู้เข้าร่วมฟังการปราศรัยกันนับหมื่นคน การปราศรัยดำเนินไปจนถึงเวลา 01.00 น. ก็ยังมีผู้ทยอยมาเพิ่ม โดยบนเวทีมีการแสดงจากศิลปินนักแสดงและนักร้องเพลงเพื่อชีวิตชื่อดัง อาทิ ตั้ว-ศรัณยู วงษ์กระจ่าง สุรชัย จันทิมาธร หรือหงา คาราวาน ฮิวโก้-จุลจักร จักรพงษ์ สลับกับการปราศรัยของกลุ่มพันธมิตร นอกจากนี้ ตามเต็นท์ต่างๆ มีการจัดเตรียมธงอหิงสา อโหสิ รวมทั้งป้ายผ้าข้อความขับไล่นายกรัฐมนตรี รวมทั้งเตรียมเสบียงก่อนเคลื่อนทัพในช่วงรุ่งสาง ทำให้บรรยากาศที่สนามหลวงคึกคักตลอดทั้งคืน
สั่งยึดหลัก 4 ห้าม 3 ต้อง
เวลา 05.00 น. เหล่าแกนนำพันธมิตรเริ่มเดินทางมาประชุมสรุปแผนการเคลื่อนพล จากนั้นทยอยขึ้นเวทีซักซ้อมความเข้าใจ โดยนางรสนา โตสิตระกูล แกนนำเครือข่ายต้านคอรัปชัน ประกาศให้ผู้ชุมนุมยึดหลัก 4 ห้าม คือ 1. ห้ามเผาทำลายสถานที่ราชการ 2. ห้ามพูดคำหยาบกับเจ้าหน้าที่รัฐ 3. ห้ามพกอาวุธ 4. ห้ามดื่มแอลกอฮอล์ และ 3 ต้อง คือ 1. ต้องอยู่ในความสงบ นั่งลงเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน 2. อดทนกับการยั่วยุ 3. ดูแลคนข้างเคียง
ย้ำอย่าแตกแถวล้ำเข้าทำเนียบ
ขณะที่ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ขึ้นเวทีกล่าวย้ำด้วยว่า ห้ามไม่ให้กลุ่มผู้ชุมนุมเข้าไปภายใน บริเวณทำเนียบรัฐบาลอย่างเด็ดขาด หากทำจะถือว่าแพ้ทันที และห้ามเดินล้ำหน้ากลุ่มแกนนำที่จัดวางไว้ ขณะที่นายสนธิ ลิ้มทองกุล ได้ขอมติจากผู้ชุมนุมว่า จะปักหลักชุมนุมที่ทำเนียบฯ ต่อหรือไม่ ปรากฏว่ามีเสียงตะโกนตอบรับจากผู้ชุมนุมว่าจะอยู่ต่อ ซึ่งนายสนธิได้กล่าวต่อว่า จะได้ ชัยชนะโดยไม่เสียเลือดเนื้อ ประวัติศาสตร์ชาติไทยจะต้องจารึกวันที่ 14 มี.ค.ว่า เป็นจุดเปลี่ยนของสังคมไทย พร้อมกราบขอโทษคนกรุงเทพฯ ที่ต้องทำให้การจราจรติดขัด
อ้างฝ่ายรัฐบาลเจรจาขอสงบศึก
ต่อมานายสนธิให้สัมภาษณ์ว่า เมื่อคืนวันที่ 13 มี.ค. มีความพยายามจากบุคคลระดับสูงของรัฐบาล ที่บอกได้ เพียงแค่ว่าเป็นรัฐมนตรีคนหนึ่ง ติดต่อมายังทีมงานของตนขอเจรจา แต่ตนตอบปฏิเสธกลับไป และขอให้ผู้ที่ติดต่อมานั้น มาขึ้นเวทีเจรจาพร้อมกันต่อหน้าประชาชนที่หน้าทำเนียบฯ ที่ผ่านมารัฐบาลแสดงความวิตกกังวลหลายครั้ง ต่อแผนการเคลื่อนขบวนมาที่หน้าทำเนียบ มีแกนนำของพรรคไทยรักไทยหลายคนอาทิ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ รมว. เกษตรฯ และคุณหญิงพจมาน ชินวัตร ภริยานายกรัฐมนตรี ติดต่อมายัง พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ขอนัดเจรจา แต่ไม่ประสบความสำเร็จ ในส่วนของตนมีนายทนง พิทยะ รมว.คลัง ติดต่อมาบ่อย แต่ตนไม่เจรจาด้วย เพราะเชื่อถือไม่ได้ เหมือน พ.ต.ท.ทักษิณ
เริ่มตั้งขบวนหน้า สนง.สลากฯ
กระทั่งเวลา 06.00 น. กลุ่มพันธมิตรประชาชน เริ่มจัดขบวนผู้ชุมนุม ก่อนเคลื่อนไปยังทำเนียบรัฐบาล โดยแถวหน้าสุดตั้งขบวนที่หน้าสำนักงานสลากกินแบ่ง รัฐบาล ฝั่งถนนราชดำเนินกลางขาเข้า ประกอบไปด้วยเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยส่วนหน้า เป็นชายฉกรรจ์ จำนวน 500 คน โพกศีรษะด้วยผ้าสีเขียว ถัดมาเป็นรถกระจายเสียง ที่มีบรรดาแกนนำ อาทิ นายสุวิทย์ วัดหนู น.พ.เหวง โตจิรากร นายวีระ สมความคิด คอยบัญชาการอยู่บนรถ ด้านหลังเป็นรถหกล้อบรรทุกพระพุทธรูปปางไตรลักษณ์ หรือพระธรรมนิมิตร ต่อด้วยขบวนญาติธรรมราว 1 พันคน ที่เดินเท้าเปล่า โบกธงชาติ ธงเฉลิมพระเกียรติ พร้อมธงสีน้ำเงินสัญลักษณ์สันติ
ใช้การ์ด 3 ชั้นกันแกนนำ 06.45 น.ได้ฤกษ์เคลื่อนทัพ
ช่วงกลางของขบวนที่ถือเป็นหัวใจของผู้ชุมนุม คือขบวน 5 แกนนำพันธมิตร นำโดย พล.ต.จำลอง ศรีเมือง นายสนธิ ลิ้มทองกุล พร้อมใจกันเดินเรียงหน้ากระดาน ท่ามกลางการ์ดรักษาความปลอดภัยสวมชุดดำคล้องแขน เป็นโล่กำบังอย่างแน่นหนาถึง 3 ชั้น ประมาณ 100 คน นอกจากนี้ ยังมีชายฉกรรจ์สวมชุดเขียวคอยคุ้มกันด้านในจำนวนหนึ่ง ขณะที่พื้นที่ด้านนอกมีเจ้าหน้าที่ของทางการ ทั้งจากตำรวจนอกเครื่องแบบ สันติบาล หน่วยข่าวกรองแห่งชาติ สมช. ศรภ.หน่วยข่าวกรองกองทัพบก คอยตามประกบติดตามความเคลื่อนไหวอย่างใกล้ชิด ขบวนถัดมามีการนำรถกระจายเสียงนำหน้า ปิดท้ายขบวนด้วยเครือข่ายรัฐวิสาหกิจ ปกป้องไฟฟ้า ประปาเพื่อชาติและประชาชน กลุ่มเยาวชนลุ่มน้ำปากพนัง กลุ่มเกษตรกรภาคอีสานเพื่อประชาธิปไตย กลุ่มพันธมิตร ฮิปปี้กู้ชาติแห่งประเทศไทย สนนท. กลุ่มนักธุรกิจเพื่อประชาธิปไตย เครือข่ายศิลปินเพื่อประชาธิปไตย
06.45 น.ได้ฤกษ์เคลื่อนทัพ
กระทั่งเวลา 06.45 น. คลื่นชนจำนวนมากเริ่มเดินเท้าออกจากท้องสนามหลวงอย่างสงบ และเป็นระเบียบ มุ่งหน้าเข้าสู่ถนนราชดำเนินกลางฝั่งขาเข้า โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจคอยรักษาความปลอดภัย และอำนวยความสะดวกเรื่องการจราจรตลอดทาง รอบกลุ่มผู้ชุมนุมยังมีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของกลุ่มพันธมิตรประชาชน โพกผ้าสีเขียวคล้องแขนล้อมขบวน ไม่ให้เกิดการแตกแนวที่จัดวางไว้ ระหว่างทางผู้ชุมนุมบางคนนำดอกกุหลาบไปมอบให้เจ้าหน้าที่ นอกจากนี้ ยังเชิญชวนประชาชนที่ผ่านไปมาเข้าร่วมเดินขบวนด้วย เป็นที่น่าสังเกตด้วยว่า สถานที่ราชการสำคัญตลอดเส้นทาง จะมีตำรวจคอยรักษาการณ์อย่างเหนียวแน่น โดยเฉพาะสำนักงานสลากฯ และกองทัพบก
เจอรถตู้ประกบหวั่นอุ้มแกนนำ
สำหรับขบวนของ 5 กลุ่มแกนนำพันธมิตรประชาชน ที่มีการ์ดรักษาความปลอดภัยตั้งแนวป้องกันอย่างแน่นหนา ระหว่างเคลื่อนขบวนผ่านหน้าสำนักงานสลากฯ ได้เกิดความวุ่นวายขึ้น เมื่อมีรถตู้สีขาวติดฟิล์มทึบ ไม่ ติดแผ่นป้ายทะเบียน แต่มีสัญลักษณ์ประทับตรา บก.น.1 จำนวน 2 คัน ได้แล่นประกบขบวนของแกนนำ ทางเลนฝั่งซ้ายสุดถนนราชดำเนินอย่างมีพิรุธ ทำให้บรรดาการ์ดรักษาความปลอดภัยเข้ามาปิดกั้นรถและเจรจาให้ ออกนอกขบวนไป เนื่องจากเกรงว่าจะเป็นกลุ่มที่จะมาจับกุมหรืออุ้มบรรดาแกนนำ ส่งผลให้รถตู้ทั้งสองคันยินยอมหลบฉากไปโดยดี ก่อนที่กลุ่มผู้ชุมนุมจะเดินหน้าเคลื่อนขบวนต่อไป
หยุดร้องเพลงชาติหน้า UN
กระทั่งมาถึงบริเวณสะพานผ่านฟ้า หัวขบวนได้หยุดรอท้ายขบวน ซึ่งยังไม่ออกจากท้องสนามหลวง พักใหญ่ จึงออกเดินและมาหยุดอีกครั้งที่บริเวณหน้ากระทรวงคมนาคม ให้ประชาชนได้นั่งพัก รอท้ายขบวนที่เพิ่งเคลื่อนมาถึงหน้าสำนักงานสลากฯ ขณะเดียวกัน แกนนำที่อยู่บนรถกระจายเสียงได้ประกาศเชิญชวนรัฐมนตรีที่เป็นคนเดือนตุลา ให้ลาออกจากตำแหน่ง เมื่อขบวนเคลื่อนมาถึงหน้าองค์การสหประชาชาติในเวลา 08.00 น. ได้หยุดร้องเพลงชาติก่อนเคลื่อนผ่านสะพานมัฆวานรังสรรค์ เลี้ยวขวาเข้าถนนพิษณุโลก โดยภายในทำเนียบรัฐบาล มีเจ้าหน้าที่ ตำรวจยืนรักษาความปลอดภัยที่บริเวณรั้วนับร้อยคน
08.30 ถึงทำเนียบฯโดยสวัสดิภาพ
เวลา 08.30 น. กลุ่มผู้ชุมนุมเคลื่อนขบวนมาถึงหน้าทำเนียบฯอย่างสงบ ทั้งนี้แถวขบวนผู้ชุมนุมอันยาวเหยียด ทอดผ่านไปจนถึงถนนราชดำเนินนอก โดยท้ายขบวนอยู่บริเวณวัดปรินายก ทำให้แกนนำต้องหยุดขบวนทั้งหมดนั่งลงกับพื้นถนน เพื่อไม่ให้เข้ามาแออัดในจุดเดียวกัน ส่วนที่หน้าสำนักงานพัฒนาระบบข้าราชการพลเรือน กลุ่มผู้ชุมนุมบางส่วนได้เผาหุ่นนายกรัฐมนตรี จากนั้นผู้ชุมนุมเคลื่อนรถ 6 ล้อขยายเสียงมาจอดขวางถนนพิษณุโลกหน้าทำเนียบฯตั้งเป็นเวทีปราศรัยใหญ่ พร้อมทั้งเปิดเวทีปราศรัยย่อยกระจายบริเวณจุดต่างๆรวม 10 จุด เช่นที่ สี่แยกสวนมิสกวัน สะพานมัฆวานฯ เป็นต้น
จำลองเปิดเวทีปราศรัยทันที
ระหว่างนั้นบรรดาแกนนำพันธมิตรประชาชน ซึ่งอยู่ช่วงกลางขบวนบริเวณสะพานมัฆวาน ได้ตัดสินใจเดินนำหน้าฝ่าขบวนทั้งหมด มายังหน้าทำเนียบรัฐบาล ขึ้นเวทีปราศรัยบนรถ 6 ล้อที่จัดทำเป็นเวทีชั่วคราว บนถนนพิษณุโลกที่ถูกปิดการจราจรทั้งเส้น โดยทั้งหมดได้ผลัดกันขึ้นกล่าวโจมตีรัฐบาลอย่างดุเดือด พร้อมชมทหารตำรวจที่คอยอำนวยความสะดวกมาโดยตลอด จากนั้นนายสนธิได้ประกาศบนเวทีขอมติผู้ชุมนุมอีกครั้ง เพื่อยืนยันความแน่ใจในการปักหลักประท้วงยืดเยื้อต่อ ปรากฏว่ามีเสียงโห่ร้องจากผู้ชุมนุมยืนยันจะไม่ถอยกลับ จนกว่านายกรัฐมนตรีจะลาออก ขณะที่ พล.ต.จำลองได้ขึ้นเวทีประกาศถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจ ที่รักษาการณ์ อยู่ภายในทำเนียบรัฐบาลให้ทราบว่า กลุ่มผู้ชุมนุมยืนยันจะไม่ แตะต้องแม้แต่รั้วทำเนียบ แต่ถ้าจะให้ดีที่สุดไม่ต้องลำบากเจ้าหน้าที่คือนายกรัฐมนตรีต้องลาออก
กลัวกลุ่มผู้ชุมนุมบุกพังสั่งคล้องโซ่ประตู 4 ชั้น
ขณะเดียวกัน ภายในทำเนียบรัฐบาลซึ่งมีเจ้าหน้าที่ตำรวจประมาณ 1 พันนายตรึงกำลังรักษาความปลอดภัย เมื่อหัวขบวนของกลุ่มพันธมิตร เคลื่อนมาถึงเชิงสะพานมัฆวานฯ เจ้าหน้าที่ได้สั่งปิดประตู 5 ทันที มีการคล้องโซ่แน่นหนา 4 ชั้น พร้อมสั่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทุกฝ่าย กระจายกำลังกันยืนเข้าแถวหน้ากระดาน ตรึงกำลังตามแนวรั้วพร้อมโล่และกระบอง คอยอารักขาความปลอดภัยด้วยสีหน้าเคร่งเครียด โดยมี พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ ผบ.ตร. พล.ต.ต.อรรถกฤษ ธารีฉัตร ผบก.ส.3 หัวหน้าชุดเฉพาะกิจ กองบัญชาการส่วนหน้ารักษาความปลอดภัยทำเนียบรัฐบาล คอยบัญชาการสถานการณ์อยู่ในทำเนียบรัฐบาล
ส่งตำรวจ 500 นายกระจายหาข่าว
ขณะที่ภายนอกทำเนียบรัฐบาลมีการวางกำลังตำรวจนครบาลทั้งในและนอกเครื่องแบบ 500 นาย กระจายกำลังหาข่าวและรักษาความปลอดภัยอยู่รอบๆ มีการปิดถนนตั้งแต่เชิงสะพานชมัยมรุเชษฐ์ ถนนพิษณุโลกไปจนถึง ถนนราชดำเนินนอก หน้ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทั้งนี้ระหว่างที่แกนนำพันธมิตรฯขึ้นเวทีปราศรัยโจมตีรัฐบาล ที่หน้าทำเนียบฯนั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจได้บันทึกวีดิโอภาพบรรยากาศการชุมนุม และแกนนำปราศรัยเก็บไว้ ตลอดเวลา
ไอ้โบ้รัตนพลหวิดโดนยำ
และขณะที่ขบวนกลุ่มผู้ชุมนุมกำลังเคลื่อนตัวมาใกล้ถึงทำเนียบฯ ในเวลาประมาณ 08.00 น. อีกมุมหนึ่ง ที่เชิงสะพานชมัยมรุเชษฐ์ ถนนพิษณุโลก ได้เกิดเหตุชุลมุนขึ้นเล็กน้อย เมื่อนายปรีชา เจริญธารา หรือ ไอ้โบ้-รัตนพล ส.วรพิน อดีตแชมป์โลกขวัญใจชาวไทย ไปวิ่งออกกำลังกายแถวถนนราชดำเนินใกล้กับทำเนียบรัฐบาล และสวมหมวกกระดาษข้อความ รักนายกฯทักษิณ ได้ถูกกลุ่มกลุ่มผู้ชุมนุมไล่นายกรัฐมนตรี วิ่งไล่กวด เจ้าหน้าที่ตำรวจ ที่อยู่บริเวณดังกล่าว ต้องเข้าไปห้ามปรามไม่ให้เหตุการณ์ บานปลาย พร้อมแนะนำให้อดีตแชมป์โลกไปวิ่งออกกำลังกายที่อื่น เนื่องจากเกรงว่าจะเป็นการยั่วยุกลุ่มผู้ชุมนุมกลุ่มใหญ่ ที่กำลังจะไปถึง รัตนพลกล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า ปกติไปวิ่งออกกำลังกายตอนเช้ารอบสนามหลวงทุกวัน แต่วันนี้ พอรู้ว่ากลุ่มผู้ชุมนุมจะเคลื่อนขบวนออกมา กลัวว่าจะไปเกะกะจึงมาวิ่งอยู่แถวนี้ ไม่ได้ยั่วยุใคร ส่วนที่สวมหมวกข้อความว่ารักนายกฯทักษิณ เพราะรักนายกรัฐมนตรีคนนี้มาก อยากให้เป็นนายกฯต่อไปนานๆ
กทม.อำนวยความสะดวกผู้ชุมนุม
ส่วนที่บริเวณสี่แยกสวนมิสกวัน มีการตั้งเวทีใหญ่บนรถ 6 ล้อ พร้อมกับปิดถนนตั้งแต่สะพานมัฆวานรังสรรค์ จนถึงหน้ากองทัพภาคที่ 1 และจากสี่แยกสวนมิสกวันบริเวณถนนพิษณุโลก ตลอดแนวทำเนียบฯ ไปจนถึงสะพานชมัยมรุเชษฐ์ โดย กทม.ได้นำเต็นท์ผ้าใบมากางให้ผู้ชุมนุมตลอดสองฝั่งถนน รวมทั้งนำรถสุขาเคลื่อนที่มาจอดบริการ 3 จุดใหญ่ คือที่หน้าวัดเบญจมบพิตร หน้ากระทรวงศึกษาธิการ และสะพานมัฆวานรังสวรรค์ นอกจากนี้ กลุ่มลูกศิษย์หลวงตามหาบัว วัดป่าบ้านตาด จังหวัดอุดรธานี ยังได้มาตั้งโรงทานขนาดใหญ่ ที่สี่แยกสวนมิกสกวัน ฝังกระทรวงศึกษาฯ แจกจ่ายอาหารและน้ำให้แก่ผู้ชุมนุม ทั้งยังมีหน่วยพยาบาลจากสภากาชาดไทย และเครือข่ายพยาบาลประชาธิปไตย ตั้งเต็นท์คอยแจกแอมโมเนียและยาอม เนื่องจากมีผู้เข้าร่วมชุมนุม เกิดอาการอ่อนเพลียจนเป็นลมล้มพับไปหลายคน
หมอเหวงรับปากจะชุมนุมสงบ
ต่อมา น.พ.เหวง โตจิราการ กรรมการกลางกลุ่มพันธมิตร ได้มาเจรจากับ พล.ต.ต.ปราโมช ปทุมวงศ์ ผบก.น.1 บริเวณสี่แยกสวนมิสกวัน โดย น.พ.เหวงได้เข้าไปขอบคุณและกล่าวกับ พล.ต.ต.ปราโมช ว่า กลุ่มผู้ชุมนุมจะชุมนุมกันอย่างสงบ ตามกติกาที่เคยได้ตกลงไว้กับตำรวจ ก่อนหน้านั้น ขณะที่ พล.ต.ต.ปราโมชกล่าวว่า การชุมนุมเป็นสิทธิพึงกระทำได้ตามกฎหมาย แต่ขอให้กลุ่มผู้ชุมนุม ช่วยผ่อนปรนให้แก่ประชาชนที่สัญจรผ่านไปมาบริเวณดังกล่าว เนื่องจากกลุ่มผู้ชุมนุมมีการกระจายการตั้งเวที จำนวนมาก ทำให้การจราจรติดขัด ซึ่ง น.พ.เหวงรับปากว่าจะชุมนุมด้วยความสงบเรียบร้อย ไม่กีดขวางการจราจร
ท้าทายให้จับแกนนำทั้งหมด
เวลา 10.00 น. พล.ต.จำลองพร้อมการ์ดส่วนตัว 5 คน เดินตรวจเยี่ยมผู้ชุมนุมตั้งแต่ถนนพิษณุโลก ไปถึงสี่แยกสวนมิสกวัน ข้ามไปสะพานมัฆวานรังสรรค์ และเดินย้อนกลับมาเวทีใหญ่ บริเวณสี่แยกสวนมิสกวัน ท่ามกลางเสียงปรบมือจากกลุ่มผู้ชุมนุม จากนั้น พล.ต. จำลองได้ขึ้นเวทีใหญ่กล่าวว่า ตามที่สถานีโทรทัศน์ช่องหนึ่ง ระบุว่าตนเป็นลมระหว่างนำการชุมนุมนั้น ไม่เป็นความจริง เพราะสภาพร่างกายของทหารเก่าอย่างตนยังดีอยู่ สำหรับการชุมนุมวันที่ 14 มี.ค. ขอยืนยันว่าตนกับคนเป็นแสนคน จะกินนอนที่นี่จนกว่านายกรัฐมนตรีจะลาออกไป ถ้าหากนายกฯประกาศภาวะฉุกเฉิน แล้วมีการจับกุมแกนนำทุกคนพร้อมจะให้จับ แต่อย่าเลือกปฏิบัติจับแต่นายสนธิเพียงคนเดียว ตนในฐานะทหารเก่า เคยไปรบ และร่วมในเหตุการณ์การเมืองหลายครั้งพร้อมจะถูกจับ และขอให้จับแกนนำทั้งหมดด้วย เชื่อว่าเมื่อถึงเวลานั้น ผู้ชุมนุมที่นี่นับแสนคนจะยอมให้จับกันหมด แล้วจะดูว่าคุกคงไม่มีที่ขังอย่างแน่นอน
ครม.เข้าประชุมตามปกติ
อีกด้านหนึ่งในส่วนการประชุม ครม. ที่ตึกสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ภายในทำเนียบฯ ขณะที่กลุ่มผู้ชุมนุมมีการปิดล้อมทำเนียบฯอยู่นั้น บรรดา ครม. ต่างทยอยเดินทางเข้าร่วมประชุมกันตามปกติอย่างพร้อม เพรียงกัน ขาดแต่เพียงรัฐมนตรีบางส่วน ที่เดินทางร่วมคณะไปกับนายกรัฐมนตรี ในการเดินสายหาเสียงในพื้นที่จังหวัดภาคอีสานตอนล่าง อาทิ นายยงยุทธ ติยะไพรัช รมว.ทรัพยากรธรรมชาติฯ นายเนวิน ชิดชอบ รมต.ประจำสำนักนายกฯ นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รมช.มหาดไทย โดย พล.อ.ธรรมรักษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา รมว.กลาโหม เดินทางมาถึงห้องประชุม ครม.เป็นคนแรกเมื่อเวลา 08.00 น. ขณะที่ข้าราชการในทำเนียบฯจำนวนหนึ่ง ตัดสินใจลาราชการ เพราะเห็นว่าเดินทางเข้า-ออกทำเนียบฯไม่สะดวก เพราะมีการให้ใช้ทางเข้า-ออกเพียงจุดเดียว คือทางสะพานอรทัยมาที่ประตู 7 ส่วนผู้ที่มาทำงานส่วนหนึ่งไม่นำรถยนต์ส่วนตัวมาเพราะหวั่นรถติด และกลัวได้รับความเสียหายจากการที่กลุ่มผู้ชุมนุมปิดล้อมทำเนียบฯ
ทักษิณ สั่งตามกลุ่มผู้ชุมนุมละเอียดยิบ
ทางด้านความเคลื่อนไหวของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เช้าวันเดียวกัน ที่โรงแรมอุบลบุรีรีสอร์ต จ.อุบลราชธานี พ.ต.ท.ทักษิณให้สัมภาษณ์ถึงการชุมนุม ของกลุ่มพันธมิตรฯที่ปิดล้อมทำเนียบรัฐบาลว่า ไม่มีอะไร ส่วนที่มีการประกาศว่าจะปิดล้อมต่อเนื่องจนกว่านายกรัฐมนตรีจะลาออกนั้น เดี๋ยวค่อยว่ากัน แต่ ปัจจุบันยังไม่มีอะไร เดิมทีเดียวมีรายงานว่าจะมีคนสร้างสถานการณ์ หากมีผู้ชุมนุมมากพอ แต่ตอนนี้ผู้ชุมนุมยังไม่มากพอ เลยคิดว่าคงไม่มีใครกล้าและหากทำก็คงจะทำได้ยาก เพราะเราใช้เครื่องมือเทคโนโลยีติดตาม หมด จะต้องดูหมด ถ้าใครทำอะไรจะได้มีหลักฐาน ต้องมีการติดตามอย่างใกล้ชิด อย่างตอนนี้มีการเคลื่อนขบวนก็ติดตามว่ามีปัญหาอะไรหรือไม่ ต้องถ่ายภาพหมด
ขู่พร้อมประกาศฉุกเฉิน
เมื่อถามว่า มีกระแสข่าวว่าอาจจะต้องมีการประกาศภาวะฉุกเฉิน หากมีสถานการณ์รุนแรงเกิดขึ้น พ.ต.ท.ทักษิณตอบว่า แน่นอน เพราะการประกาศภาวะฉุกเฉินขึ้นอยู่กับตน ตนพร้อมเซ็น แต่ถ้าไม่จำเป็นก็ไม่เซ็น เมื่อถามว่า ความจำเป็นที่ว่าจะต้องอยู่ระดับไหนจึงจะประกาศใช้ พ.ต.ท.ทักษิณกล่าวว่า ต้องฝ่ายความมั่นคงเห็นว่ามีความจำเป็น หากเขาต้องการกฎหมายช่วย ก็ต้องทำ แต่ถ้าเขาไม่ต้องการสามารถดูแลกันได้โดยไม่มีอะไรก็ไม่ทำ เขาให้ก๊อบปี้ไว้เฉยๆ เมื่อถามว่า แสดงว่ามีการเตรียมประกาศภาวะฉุกเฉินไว้เรียบร้อยแล้ว พ.ต.ท.ทักษิณ กล่าวว่า เตรียมไว้ไม่เสียหาย เตรียมไว้เฉยๆ ถ้าไม่จำเป็นก็ไม่ใช้ เตรียมไว้เพราะเหตุการณ์ในอดีตมันเคยมี และผู้ที่เคยอยู่ในเหตุการณ์หนักๆในอดีตมันก็อยู่ในเหตุการณ์ นี้ด้วย ต้องระวังไว้
ให้แยกกลุ่มผู้ชุมนุมหนุนหวั่นชนกลุ่มผู้ชุมนุมไล่
เมื่อถามว่า มีความเป็นห่วงหากกลุ่มผู้ชุมนุมยั่วยุเจ้าหน้าที่ อาจจะเกิดการปะทะกัน พ.ต.ท.ทักษิณกล่าวว่า ไม่เป็นไร เหตุการณ์เหล่านี้ต้องดูวันต่อวัน จะไปบอกล่วงหน้าไม่ ได้ เมื่อถามว่า ผู้ชุมนุมที่สนับสนุนนายกรัฐมนตรีเคลื่อนขบวนใกล้กรุงเทพฯ จะป้องกันการปะทะกันอย่างไร พ.ต.ท.ทักษิณกล่าวว่า ต้องขอร้องว่าไม่ให้เขาไปอยู่ใกล้กัน อาจจะอยู่กรุงเทพฯด้วยกัน แต่จะอยู่คนละที่ ไม่อย่างนั้นจะเกิดการปะทะกัน เราระวังอยู่แล้ว เพราะตนขอร้องผู้ที่สนับสนุนและไม่เห็นด้วยกับการใช้ความรุนแรงหรือการปะทะกัน เพราะเราคนไทยด้วยกัน ยังไงก็ต้องหาทางปรองดองคุยกัน เมื่อถามถึงกรณีที่ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผบ.ทบ. เห็นว่าการเผยแพร่พระราชดำรัส ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬหลายๆครั้งจะเป็นสิ่งที่ดี มองว่าจะเป็นแนวทางที่ดีหรือไม่ พ.ต.ท.ทักษิณกล่าวว่า ไม่ทราบ ตรงนี้เป็นเรื่องของทีวีพูลตนไม่เกี่ยว
ย้ำถ้าจำเป็นต้องประกาศฉุกเฉิน
ภายหลังการประชุม ครม. ผ่านทางวีดิโอคอนเฟอร์เรนซ์เสร็จสิ้นลง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์อีกครั้งถึงสถานการณ์การชุมนุม ว่าได้กำชับเจ้าหน้าที่ใช้หลักเมตตาธรรม ใช้หลักรัฐศาสตร์มากกว่านิติศาสตร์ อยากให้ผู้ชุมนุมยึดหลักของประชาธิปไตย โดยไม่เกินเลย อย่าทำลายหรือสร้างสถานการณ์ความรุนแรง แต่การชุมนุมอย่างสงบ ถือว่าเป็นไปตามหลักประชาธิปไตย ระหว่างการประชุม ครม. ก็มีการรายงานสถานการณ์ให้ทราบตามปกติ ผู้ชุมนุมประกาศจะยืดเยื้อก็ไม่เป็นปัญหา ตนก็ทำงานไป ผู้สื่อข่าวถามว่า จำเป็นจะต้องประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินหรือไม่ พ.ต.ท.ทักษิณตอบว่า ยังไม่จำเป็น ถ้าเหตุการณ์จำเป็นก็ต้องจำเป็น
แจงใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินต้องผ่านมติ ครม.
ต่อมาเวลา 11.15 น. น.พ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ที่ทำเนียบรัฐบาล ถึงกรณีหากมีการประกาศใช้ พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พล.ต.อ.ชิดชัย วรรณสถิตย์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.ยุติธรรม จะมีสิทธิ์ขาดเต็มที่ ในการสั่งการเลยหรือไม่ว่า การประกาศต้องผ่านความเห็นชอบจาก ครม. ไม่ใช่อยู่เฉยๆใครจะประกาศก็ได้ แต่หากจำเป็นเร่งด่วนจริงๆที่ไม่สามารถเรียกประชุม ครม.ได้ นายกรัฐมนตรีก็สามารถประกาศไปก่อน โดยต้องขอความเห็นชอบจาก ครม.ภายใน 3 วัน ซึ่งที่ประชุม ครม.จะเห็นชอบหรือไม่ก็ได้ เมื่อถามว่าในช่วงเช้านายกรัฐมนตรีระบุว่า ได้เตรียมความพร้อมที่จะออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ในเรื่องการเตรียมพร้อม ก็ต้องเตรียมทุกอย่างไว้ให้พร้อม แต่ในแง่ของเหตุการณ์ ขณะนี้ยังไม่มีเหตุผลหรือเงื่อนไขใดๆที่จะต้องประกาศใช้
จัดระเบียบผู้ชุมนุมหวั่นกีดขวางจราจร
ขณะที่กลุ่มผู้ชุมนุมยังตรึงกำลังปิดหน้าทำเนียบฯนั้น พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ ผบ.ตร. ที่มาคอยดูแลการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจกล่าวว่า ตำรวจไม่รู้สึกกังวลอะไร ยังคงทำหน้าที่ต่อไปตามปกติ เชื่อว่าสถานการณ์การชุมนุมไม่มีอะไรน่าห่วง คงไม่เกิดความรุนแรง ถ้าผู้ชุมนุมอยากปักหลักยืดเยื้อต่อไปก็ไม่ว่ากัน เพราะคนไทยมีความเอื้ออาทร อะลุ้มอล่วยต่อกันอยู่แล้ว และจะพยายามให้กลุ่มผู้ชุมนุมมาอยู่รวมกันเป็นกลุ่มเดียวกันให้มากที่สุด ไม่ให้กระจัดกระจายออกไป เพราะจะกีดขวางทางจราจร หากผู้ชุมนุมจะมานอนค้างคืนก็เป็นเสรีภาพที่สามารถทำได้
ให้ตำรวจอดทนอดกลั้น
ด้าน พล.ต.ท.อชิรวิทย์ สุพรรณเภสัช โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวถึงมาตรการอำนวยการจราจรบริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาล กรณีมีการชุมนุมยืดเยื้อต่อเนื่อง ว่า ตำรวจนครบาลต้องปรับแผนจราจรใหม่เพื่อรองรับปัญหา ซึ่ง พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ ผบ.ตร. ได้กำชับเด็ดขาด ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทุกนายใช้ความอดทน อดกลั้นต่อสภาวะขณะนี้ ไม่ให้มีการตอบโต้กลุ่มผู้ชุมนุม พยายามผลัดเปลี่ยนกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ให้เกิดความเหนื่อยล้า ในช่วงหัวค่ำจะมีผู้ชุมนุมเข้ามาร่วมมากขึ้น เป็นงานหนักของเจ้าหน้าที่ ต้องช่วยกันแก้ไขปัญหาในแต่ละฝ่าย แต่ที่ลำบากในการควบคุมหากสถานการณ์รุนแรงคือ ขณะนี้การบังคับบัญชาดับเพลิงได้โอนไปอยู่ในสังกัด กทม. การสั่งอุปกรณ์ดับเพลิงออกมาควบคุมสถานการณ์ ต้องร้องขออนุญาตจาก กทม. พร้อมกันนี้ก็ขอให้ผู้ชุมนุมดูแลเรื่องความปลอดภัยของตัวเองด้วย ขณะที่ตำรวจก็จะตรึงกำลังดูแลให้อย่างมีประสิทธิภาพ
ชี้ 3 ฝ่ายต้องร่วมผ่าทางตัน
โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวอีกว่า ช่วงนี้เข้าด้ายเข้าเข็ม น่าจะมีการจัดเจรจา ระหว่างแกนนำผู้ชุมนุมฝ่ายค้าน และฝ่ายรัฐบาลโดยเร็ว เพื่อคลี่คลายสถานการณ์ ส่วนที่จะถ่ายทอดการเจรจา ไม่สำคัญ เป็น อีกเรื่อง ตนได้เสนอว่าทุกฝ่ายต้องหาทางเจรจาเพื่อ ยุติความขัดแย้ง ในการเจรจาต้องถ่ายวีดิโอเก็บไว้ จนได้ข้อยุติจึงนำภาพรายละเอียดออกมาเผยแพร่ เป็นการพบกันครึ่งทาง เพราะฝ่ายรัฐบาลต้องการปิดห้องเจรจา แต่ฝ่ายค้านต้องการเผยแพร่ภาพต่อสาธารณะ เชื่อมั่นว่าการเจรจาได้หรือไม่ได้อยู่ที่สามฝ่ายคือ กลุ่มผู้ชุมนุม รัฐบาล และฝ่ายค้าน ส่วนกรณีที่มีการแจ้งความดำเนินการทั้งของฝ่ายต่อต้านและสนับสนุนนายกฯ นั้น ตำรวจต้องรับแจ้งของทั้งสองฝ่าย ไม่มีเลือกปฏิบัติ ขอยืนยันว่าตำรวจเป็นกลาง
ปิดการจราจรจนกว่ากลุ่มผู้ชุมนุมยุติ
ส่วน พล.ต.ต.ภาณุ เกิดลาภผล ผบก.จร. กล่าวถึงการปิดการจราจร บริเวณหน้าทำเนียบฯว่า ยังไม่สามารถกำหนดได้ ต้องรอจนกว่าการชุมนุมจะสลายตัว โดยรวมการจราจรไม่ค่อยมีปัญหา เนื่องจากสถานศึกษาหลายแห่ง ทยอยปิดภาคเรียน บริษัทบางแห่งก็หยุดงาน ช่วยลดผลกระทบการจราจรได้ระดับหนึ่ง แต่จุดที่น่าเป็นห่วงก็คือ ยังมีกลุ่มผู้ชุมนุมบางส่วนปักหลักหลังสะพานมัฆวาน ทำให้การจราจรที่จะผ่านถนนกรุงเกษม เลียบคลองผดุงกรุงเกษมผ่านได้ลำบาก สำหรับกลุ่มผู้ชุมนุมรถอีแต๋นจากภาคเหนือและอีสาน คงจะมีการกันไว้ให้อยู่รอบนอก ไม่ให้เข้ามาด้านในเพื่อป้องกันการกระทบกระทั่ง
บช.น.ปรับแผนรับกลุ่มผู้ชุมนุมล้อมทำเนียบ
ทางด้าน บช.น.ก็ได้มีการเรียกประชุมเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร และหน่วยข่าวกรอง เมื่อเวลา 10.00 น. วันเดียวกัน วางแผนงานจัดกำลังดูแลความปลอดภัยให้ กับกลุ่มผู้ชุมนุม จากนั้น พ.ต.อ.พินิต มณีรัตน์ โฆษก บช.น. เปิดเผยว่า ตำรวจดูแลผู้ชุมนุมเคลื่อนกำลังจากท้องสนามหลวงไปยังทำเนียบรัฐบาล ด้วยความเรียบร้อยไม่มีเหตุรุนแรง และมีการปรับเปลี่ยนแผนการทำงาน นำ กำลังจากท้องสนามหลวงทั้งหมด ไปประจำอยู่บริเวณรอบ ทำเนียบรัฐบาล มีศูนย์ปฏิบัติการส่วนหน้าหรือ ศปก. อยู่ 4 แห่ง ส่วนแรกอยู่ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล ส่วนที่สองอยู่หน้ากระทรวงศึกษาธิการ ส่วนที่สามอยู่ที่วัดเบญจมบพิตร และส่วนที่สี่หน้าทำเนียบรัฐบาล ใช้กำลังตำรวจทั้งหมด 4,000 นาย
ชี้แจงการแพร่พระราชดำรัส
เที่ยงวันเดียวกัน สำนักราชเลขาธิการได้ออกเอกสารแถลงข่าว ความว่า ตามที่ปรากฏเป็นข่าวของสื่อมวลชน เกี่ยวกับการอัญเชิญพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัว ที่พระราชทานเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2535 ออกเผยแพร่นั้น สำนักราชเลขาธิการขอเรียนชี้แจงให้ ทราบว่า พระราชดำรัสดังกล่าวข้างต้น เป็นข้อมูลข่าวสารซึ่งได้รับการเผยแพร่ต่อสาธารณะทั่วไปอยู่แล้ว และประชาชนก็รับรู้มาโดยตลอดว่า มีเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2535 เพราะฉะนั้น การที่หน่วยงานหรือสื่อมวลชนใด จะนำออกเผยแพร่อีกครั้งหนึ่ง ภายใต้ความรับผิดชอบของตนเองนั้น ก็สามารถกระทำได้
ผบ.สูงสุดระบุเป็นเรื่องดีไม่เสียหาย
ในตอนบ่าย พล.อ.เรืองโรจน์ มหาศรานนท์ ผู้ บัญชาการทหารสูงสุด ได้กล่าวถึงกรณีที่โทรทัศน์รวมการ เฉพาะกิจแห่งประเทศไทย (ทีวีพูล) นำพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่พระราชทานเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2535 มาเผยแพร่เมื่อคืนวันที่ 12 มี.ค. ที่ผ่านมา ว่า ได้ให้นโยบายกับทหารตั้งแต่รับตำแหน่งแล้วว่า ต้องนำพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาให้ประชาชนรับทราบว่ามีอะไรบ้าง ซึ่งวันที่นำมาเผยแพร่ ก็เป็นเรื่องดีไม่มีอะไรเสียหาย ที่จริงแล้วกองบัญชาการทหารสูงสุด กำลังจะพิมพ์พระราชดำรัสเป็นเล่มเล็กๆ ไปแจกประชาชน เป็นการรวมพระราชดำรัสในพิธีต่างๆ เช่น พิธีสวนสนาม จุดประสงค์เพื่อให้คนไทยสามัคคีกัน คิดจะทำก่อนมีกลุ่มผู้ชุมนุมแล้ว การนำพระราชดำรัสมาเผยแพร่ เป็นเรื่องที่ดี แต่ผู้ชุมนุมไปตีความเข้าข้างตัวเอง แล้วแต่จะไปคิดกันเอง พระราชดำรัสที่รับสั่งออกมา เพื่อให้ประชาชนสามัคคีกัน ดังนั้น ทุกคนควรจะสามัคคีกัน คิดว่า ไม่เสียหายอะไร อยากถามว่าแล้วคิดว่าเสียหายตรงไหน
ใช้พระราชดำรัสเตือนสติทุกคน
เมื่อถามว่า เป็นการปรามให้สถานการณ์เบาลงหรือไม่ พล.อ.เรืองโรจน์กล่าวว่า ไม่ทราบเหมือนกันว่าเป็นการปรามหรือไม่ แต่เป็นสิ่งที่ดี ถือเป็นการเตือนสติคนไทยเพื่อไม่ให้เผชิญหน้ากัน เมื่อถามว่า ถ้าเกิดความวุ่นวายยืนยันได้หรือไม่ว่ากองทัพจะขึ้นอยู่กับประชาชน พล.อ.เรืองโรจน์กล่าวว่า ตนพูดเป็นครั้งที่ร้อยแล้วว่า กองทัพอยู่เป็นกองทัพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เราทำงานทุกอย่างเพื่อความผาสุกของประชาชน เมื่อถามว่า นักวิชาการเสนอว่าถึงเวลาที่จะให้ทหารออกมารักษาความสงบแล้ว พล.อ.เรืองโรจน์กล่าวว่า ก็ว่ากันไป ต่างคนต่างคิดอะไรก็ได้ทั้งนั้นเวลานี้ แต่ขอให้คิดทางที่ดีแล้วกัน ส่วนเรื่องการที่รัฐบาลจะประกาศภาวะฉุกเฉิน คงไม่มีการประกาศ นอกจากจะมีสถานการณ์รุนแรงจนถึง ขนาดไปเผากันวุ่นวาย ให้บ้านเมืองเกิดจลาจล
ย้ำทหารไม่ออกมาเคลื่อนไหวแน่นอน
ขณะที่ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผบ.ทบ.ให้ สัมภาษณ์ถึงสถานการณ์การเคลื่อนไหวชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ ว่าไม่มีอะไร ดูจากการชุมนุมแล้วน่าจะเงียบสงบ เมื่อถามว่าประเมินสถานการณ์ในขณะนี้คิดว่ารุนแรงหรือไม่ ผบ.ทบ.กล่าวว่า คงไม่มีอะไรต้องใช้เวลา ขณะนี้เดาอะไรไม่ถูก เมื่อถามว่าหากมีการชุมนุมยืดเยื้อออกไป เป็นไปได้หรือไม่ที่รัฐบาลจะประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินเพื่อสลายการชุมนุม พล.อ.สนธิกล่าวว่า ไม่มีประโยชน์ เพราะจะทำให้เสียภาพลักษณ์ของประเทศ เราพยายาม หลีกเลี่ยงตรงนี้ ขณะนี้ก็มีประเด็นปัญหาตรงนี้กระทบพอสมควรอยู่แล้ว เมื่อถามว่า มีนักวิชาการเรียกร้องให้ ทหารออกมาเคลื่อนไหว ผบ.ทบ.กล่าวว่า ทหารไม่ออกมาอยู่แล้ว เมื่อถามว่าการนำพระบรมราโชวาท พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2535 มาเผยแพร่ทางทีวีพูล ใครเป็นผู้สั่งดำเนินการ พล.อ.สนธิ ย้อนถามว่า แล้วดีไหม ถ้าดีก็ไม่ต้องถาม ส่วนคำสั่งออกมาจากใครตนบอกไม่ได้
ประเมินเหตุการณ์ไม่รุนแรง
เมื่อถามว่า ผบ.เหล่าทัพได้ประเมินสถานการณ์ ขณะนี้อย่างไร พล.อ.สนธิกล่าวว่า ขึ้นอยู่กับทางด้านรัฐบาล ทหารเป็นหน่วยปฏิบัติ หากรัฐบาลประกาศเมื่อใด ทหารเราพร้อมอยู่แล้วตลอด 24 ชั่วโมง เมื่อถามว่าหากเป็นเรื่องไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ สามารถตัดสินใจไม่ปฏิบัติได้หรือไม่ ผบ.ทบ.กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องทำอย่างที่เราควรจะทำ ถึงบอกว่าอยู่ที่เราจะตัดสินใจต่อสถานการณ์ ตรงนั้น ซึ่งต้องดูสถานการณ์เป็นหลัก เมื่อถามย้ำว่าประเมินสถานการณ์ในขณะนี้อย่างไร ผบ.ทบ.กล่าวว่า ไม่น่าจะมีอะไรรุนแรง
บุกด่าสนธิล้มละลายกู้ชาติได้ไง และหวั่นพวกสร้างสถานการณ์ก่อเหตุ
ส่วนบรรยากาศการชุมนุมที่หน้าทำเนียบฯ ในช่วงบ่าย ผู้มาร่วมชุมนุมส่วนใหญ่พากันนอนพักผ่อนเอาแรง และตลอดทั้งวันยังมีประชาชนมาชุมนุมอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางอากาศที่ร้อนจัด ในเวลา 13.30 น. ขณะที่นายสนธิ ลิ้มทองกุล กำลังแจกลายเซ็นให้ประชาชน อยู่ด้านหลังเวทีใหญ่บริเวณสี่แยกสวนมิสกวัน ได้มีชายสวมแว่นดำเข้ามาตะโกนด่านายสนธิว่า คนล้มละลายจะมากู้ชาติได้อย่างไร สร้างความไม่พอใจให้แก่กลุ่ม ผู้ชุมนุมจนหวิดวางมวยกัน แต่เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยได้เข้ามากันชายคนดังกล่าว ออกไปทางด้านลานพระบรมรูปทรงม้า ทราบภายหลังชื่อนายวิชัย สุวรรณรัตน์ อายุ 69 ปี บ้านอยู่ย่านบางพลัด กทม. นายวิชัยกล่าวว่า ที่มาเพื่อจะมาบอกว่า สถานที่แห่งนี้ไม่ใช่ของนายสนธิเพียงคนเดียว ตนไม่ใช่สมาชิกของพรรคไทยรักไทย แต่อยากจะแสดงความคิดเห็นว่า นายสนธิไม่ได้ออกมากู้ชาติที่แท้จริง ตนเชื่อว่าประเทศชาติเจริญได้เพราะนายกฯทักษิณ และไม่ต้องการให้นายสนธิด่าว่าแต่ฝ่ายเดียว
พล.ต.มนูญกฤตโผล่ร่วมแจม
เวลา 14.30 น. พล.ต.จำลอง ศรีเมือง แกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ ได้เดินทักทายประชาชนที่มาร่วมชุมนุมตั้งแต่หน้าทำเนียบฯ จนถึงเต็นท์กองอำนวยการกองทัพธรรม บริเวณสำนักงาน ก.พ. ระหว่างทางได้พบกับ พล.ต. มนูญกฤต รูปขจร อดีตประธานรัฐสภา เพื่อนร่วมรุ่น จปร.7 ทั้ง 2 ได้ตรงเข้ากอดและจับมือกัน โดย พล.ต.จำลองกล่าวทักทายว่า ไม่ได้พบกันนาน จะขึ้นเวทีปราศรัยเมื่อไหร่ พล.ต.มนูญกฤตตอบทีเล่นทีจริงว่า ต้องขออนุญาตจากเพื่อนจำลองก่อน จากนั้นทั้งคู่ได้จับมือแล้วหัวเราะอย่างอารมณ์ดี พล.ต.มนูญกฤตกล่าวว่า จะมาร่วมชุมนุมทุกวันจนกว่า พ.ต.ท.ทักษิณจะลาออก จากนั้น พล.ต.จำลองเดินไปทักทายประชาชนจนสุดขบวนกลุ่มผู้ชุมนุม ที่ยาวเหยียดด้านหน้ากองบัญชาการกองทัพบก
อ้างต้องทนร้อนเพื่อชาติ
ต่อมาในช่วงเย็น พล.ต.จำลอง ศรีเมือง แกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ ได้เดินตรวจเต็นท์กองทัพธรรมที่อยู่ด้านหน้า ก.พ. และสั่งให้รื้อเต็นท์ที่ตั้งอยู่ริมถนนพิษณุโลก ออกมาอยู่กลางถนนพิษณุโลก เพื่อให้ผู้มาชุมนุมได้ใช้ หลบแดด ก่อนเปิดเผยถึงเรื่องที่ถูกมองว่า กลุ่มผู้ชุมนุมปิดถนนสร้างความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนว่า การปิดถนนนั้นผิดกฎหมาย ขออภัยประชาชนด้วยที่ต้องทนร้อนอบอ้าวก็เพื่อประเทศชาติ ที่ปรารถนาจะเห็นนายกฯลาออก หวังว่าตำรวจคงเห็นใจ ส่วนกระแสข่าวที่ว่ารัฐบาลจะประกาศภาวะฉุกเฉินนั้น เป็นเรื่องของรัฐบาล ตนไม่ได้ท้าทาย ตนชุมนุมอย่างสงบ หากจะจับก็พร้อมที่จะให้จับ ที่พูดอย่างนี้ไม่ได้ท้าทาย แต่เชื่อว่าเมื่อนายกฯเห็นการชุมนุมที่มีคนนับแสนก็จะเห็นใจ ประกอบกับที่ผ่านมาผู้ใหญ่ในบ้านเมืองแนะนำว่านายกฯควรลาออก เชื่อว่านายกฯคงจะคิดได้ ส่วนเวทีที่ท้องสนามหลวงได้ รื้อถอนแล้วย้ายมาที่หน้าทำเนียบฯแทน หากกลุ่มผู้ชุมนุมรถอีแต๋นที่สนับสนุนรัฐบาลจะมาชุมนุม ก็เป็นเรื่องของเขา ส่วนกรณีที่มีการเลื่อน พล.ต.อ.ชิดชัย วรรณสถิตย์ ขึ้นมาเป็นรองนายกฯอันดับหนึ่งนั้น เป็นเรื่องของรัฐบาล ไม่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมหรือเป็นการส่งสัญญาณใดๆทั้งสิ้น
ตั้งหมู่บ้านบางระจันกู้ชาติ
เวลา 18.00 น. นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงาน กลุ่มพันธมิตรฯ เปิดเผยภายหลังการประชุมทีมงานว่า กรณีคนเดือนตุลาในคณะรัฐบาลชุดนี้ ที่ยังนิ่งเฉยดูดายต่อวิกฤตการณ์ของบ้านเมือง กลุ่มพันธมิตรฯเห็นว่าเป็นสิทธิโดยชอบธรรมของประชาชน ที่จะสร้างมาตรการไม่ร่วมสังฆกรรมใดๆกับคนเดือนตุลากลุ่มนี้ เหมือนที่เคยทำกับ พล.อ.สุจินดา คราประยูร ในปี 2535 ส่วนการเตรียมความพร้อมในการชุมนุมยืดเยื้อ บนถนนพิษณุโลกและถนนราชดำเนินนอกนั้น ขณะนี้มีการจัดตั้งเป็นหมู่บ้านบางระจันกู้ชาติเรียบร้อยแล้ว โดยรูปแบบคล้ายคลึงกับหมู่บ้านแม่มูลมั่นยืน ที่กลุ่มสมัชชาคนจนเคยจัดตั้งไว้ ส่วนจะมีการประกาศขึ้นป้ายหมู่บ้านอย่างเป็นทางการหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของ 5 แกนนำพันธมิตรอีกครั้ง
โพธิรักษ์ว่าคนเป็นกลางเป็นคนขี้กลัว
ทางด้านสมณะโพธิรักษ์ เจ้าสำนักสันติอโศก กล่าวว่า ที่กองทัพธรรมมาร่วมชุมนุมที่หน้าทำเนียบฯ ต้องการให้มีการชุมนุมด้วยความสงบเรียบร้อยไม่มีความรุนแรง ถือว่าเป็นครั้งที่ 18 ที่กระทำอย่างสันติ โดยไม่มีการทุบตีจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ จะเป็นแรงผลักดันให้ทั้งฝ่ายต่อต้านและสนับสนุนรัฐบาล ได้รีบตัดสินใจว่าวันนี้จะเข้าข้างฝ่ายไหนและรู้ว่าใครเป็นฝ่ายถูกหรือใครเป็นฝ่ายผิด ส่วนคนที่ไม่ยอมเลือกฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งนั้น ถือว่าเป็นคนขี้กลัวควรจะตัดสินใจเลือกข้างได้แล้ว เจตนาของตนมีอย่างเดียวคือนำพระธรรม มาช่วยในการชุมนุมจนเกิดผลให้นายกรัฐมนตรีลาออก ตั้งแต่วันที่ 15 มี.ค. จะเริ่มเทศนาเตือนสตินายกรัฐมนตรี เพื่อให้รู้สำนึกในช่วงที่ทำผิดพร้อมกับลาออก เพื่อยุติปัญหาความวุ่นวาย พร้อม กับแนะ พ.ต.ท.ทักษิณว่า ควรจะเอานายกรัฐมนตรีประเทศเกาหลีใต้ เป็นตัวอย่างที่มีความผิดเพียงนิดเดียวก็ลาจากตำแหน่งแล้ว
หวั่นพวกสร้างสถานการณ์ก่อเหตุ
ที่พรรคไทยรักไทย ในเวลา 17.00 น. วันเดียวกัน พล.ต.อ.ชิดชัย วรรณสถิตย์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว. ยุติธรรม กล่าวภายหลังประชุมแกนนำพรรคไทยรักไทยว่า ได้รายงานให้ที่ประชุมทราบถึงสถานการณ์ความมั่นคง ยืนยันว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจจะใช้หลักเมตตาธรรมและหลักรัฐศาสตร์ ตามที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีได้กำชับไว้ ที่ผ่านมาการปฏิบัติงานของตำรวจเป็นไปด้วยดี หลีกเลี่ยงการเผชิญหน้า และยึดหลักความอดทนต่อการยั่วยุ แต่สิ่งที่หวั่นมากที่สุด คือมีผู้อยากเห็นสถานการณ์เกิดความวุ่นวาย และหากเกิดความรุนแรงรัฐบาลก็จะเป็นฝ่ายเสีย ดังนั้น การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตร บริเวณหน้าทำเนียบฯ จึงได้สั่งการให้ตำรวจคุมเข้มการตรวจค้นอาวุธ รวมถึงจุดล่อแหลมต่างๆ ต่อการลอบทำร้าย ได้ทราบจากผู้อำนวยการสำนักงานข่าวกรองแห่งชาติ ว่า ให้คอยระวังการสร้างสถานการณ์ในกลุ่มผู้ชุมนุม จึงได้เฝ้าระวังเป็นพิเศษ ยืนยันว่าเราอยากเห็นความปรองดอง ขณะนี้สถานการณ์คุมอยู่ แต่ประมาทไม่ได้
กำลังหาช่องเจรจาหาทางออก
เมื่อถามว่า หากการชุมนุมยืดเยื้อหน้าทำเนียบฯ จะส่งผลอย่างไร พล.ต.อ.ชิดชัยกล่าวว่า ยืดเยื้อไม่ว่า แต่การใช้คำว่าปิดเกมหรือปิดบัญชี ตนห่วงตรงนั้น เพราะมีคนแจ้งมาเป็นระลอกว่า จะมีการก่อเหตุระหว่างการชุมนุม ยืนยันว่าสถานการณ์ตอนนี้ยังห่างไกลมากๆ กับการประกาศภาวะฉุกเฉิน อย่างไรก็ตาม ในฝ่ายการเมืองก็กำลังเปิดช่องทางเจรจากับกลุ่มพันธมิตร และอดีต 3 พรรคฝ่ายค้าน เพื่อหาทางลงร่วมกัน ส่วนกลุ่มผู้ชุมนุมอีแต๋นซึ่งเป็นกลุ่มที่สนับสนุน พ.ต.ท.ทักษิณได้ส่งคนไปเจรจาให้อยู่รอบนอกเพื่อป้องกันการปะทะกัน
ไร้ปัญหาถ้าคุยกันเปิดอกทุกฝ่าย
เมื่อถามถึงข้อเรียกร้องของกลุ่มพันธมิตรและอดีตพรรคฝ่ายค้านพุ่งเป้าไปที่ พ.ต.ท.ทักษิณให้ลาออกจากตำแหน่ง รัฐบาลจะหาทางลงร่วมกันอย่างไร พล.ต.อ. ชิดชัยกล่าวว่า ไม่มีอะไร คุยกันได้ หากพูดอย่างเปิดอก ดังนั้น ฝ่ายความมั่นคงก็จะทำให้เกิดสันติ ส่วนฝ่ายการเมืองก็จะไปเจรจาร่วมกันเพื่อหาทางออก เมื่อถามว่า จะมีการเลือกตั้งในวันที่ 2 เมษายนหรือไม่ พล.ต.อ.ชิดชัย กล่าวว่า ได้มีการประเมินว่า กระแสขณะนี้เป็นไปในทางที่เคารพกติกาโดยเฉพาะกลุ่มอธิการบดี กลุ่มนักวิชาการนักการศึกษา และนักธุรกิจ และเสียงเรียกร้องให้เกิดการปรองดองที่เพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ ทาง กกต.ที่ดูแลการเลือกตั้งในพื้นที่ภาคใต้ได้ประสานไปยังแม่ทัพภาค 4 และผู้บัญชาการภาค 9 เพื่อดูแลความเรียบร้อยในการเลือกตั้ง
เยี่ยมชมการถ่ายทอดสดทางทีวี
หลังจากนั้นในเวลา 17.30 น. พล.ต.อ.ชิดชัย วรรณสถิตย์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.ยุติธรรม ได้มาที่ทำเนียบฯ เดินทักทายดูการทำงานของทีมถ่ายทอดสดของสถานีโทรทัศน์ช่องต่างๆ ที่บริเวณริมคลองผดุงกรุงเกษม ข้างทำเนียบฯ จากนั้นได้ไปตรวจแถวและมอบนโยบายแก่ ตำรวจกองร้อยควบคุมฝูงชน 150 นาย จากจังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดย พล.ต.อ.ชิดชัยได้ย้ำให้ตำรวจอดทน อดกลั้น ใจเย็น ไม่ให้ใช้อาวุธ ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ฝากมาให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ตำรวจทุกคนที่มาทำหน้าที่สำคัญ ในการดูแลความปลอดภัยในชีวิต ทรัพย์สินของประชาชน ตลอดจนทรัพย์สินของสาธารณะ ถือเป็นบทบาทสำคัญของตำรวจในยุคประชาธิปไตย ที่ผ่านมาตำรวจได้รับคำชมอย่างมาก ขอให้ทุกคนถือเป็นประสบการณ์สำคัญในการปฏิบัติหน้าที่
กลุ่มผู้ชุมนุมอีแต๋นจ่อเข้ากรุง
ในส่วนกลุ่มผู้ชุมนุมอีแต๋นที่เดินทางมาสนับสนุนนายกรัฐมนตรี ตอนสายวันเดียวกัน กลุ่มกลุ่มผู้ชุมนุมรถอีแต๋นประมาณ 200 คัน จากภาคเหนือ ได้เดินทางมาถึงเขตจังหวัดสิงห์บุรี ระหว่างทางมีการแจกแถลงการณ์โจมตีฝ่ายค้านที่ไม่ส่งผู้สมัคร ส.ส. และโจมตีนายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำกลุ่มผู้ชุมนุมกู้ชาติ จากนั้นขบวนกลุ่มผู้ชุมนุมอีแต๋นภาคเหนือ ได้แวะกินข้าวเที่ยงบริเวณวัดปราสาท ต.พระงาม อ.พรหมบุรี จ.สิงห์บุรี โดยมี อบต.พระงาม ดูแลเรื่องน้ำและอาหาร พร้อมนำแพทย์ มาตรวจดูกลุ่มผู้ชุมนุมที่ล้มป่วย แล้วเดินทางไปพักนอนค้างคืนที่โรงเรียนบ้านน้ำผึ้ง อ.เมืองอ่างทอง ก่อนไปสมทบกับกลุ่มผู้ชุมนุมอีแต๋นจากภาคอีสาน ที่เดินทางออกจาก จ.สระบุรี แวะค้างคืนบริเวณที่ว่าการอำเภอหนองแค จ.สระบุรี ก่อนมาถึงนวนคร อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี ในตอนเช้าวันที่ 15 มี.ค.
สนธิคุยผู้ชุมนุมมีถึง 4 แสนคน
เวลา 21.50 น. การปราศรัยบนเวทียังดำเนินไปเรื่อยๆ โดย 5 แกนนำพันธมิตรฯได้ขึ้นเวที พล.ต.จำลองกล่าวว่า เราเคลื่อนย้ายคนเป็นแสนสำเร็จได้ด้วยอหิงสาและสงบ สถานการณ์อย่างนี้ รัฐบาลจะไม่สามารถใช้พระราชกำหนดได้ นอกจากจะมีการสร้างสถานการณ์ความวุ่นวายเพิ่มเติมมาอีก เรื่องนี้ใครจะทำก็เป็นที่รู้ดี กลุ่มผู้ชุมนุมคงทำเองไม่ได้ ขณะที่นายสนธิอ้างว่า ผู้มาชุมนุมที่เคลื่อนขบวนมีถึง 4 แสนคน ทำให้คน 2 กลุ่มตกใจ กลุ่มแรกคือคนที่ไม่สนใจอะไร เมื่อได้เห็นภาพประชาชนล้นหลามก็มีความแปลกใจว่าเกิดอะไรขึ้น อีกกลุ่มคือคนพรรคไทยรักไทยเห็นคนมากมหาศาลก็ช็อกไปหลายคน โดยเฉพาะคุณหญิงพจมานและลูกๆเห็นภาพในทีวีแล้วถึงกับถอดใจทุกอย่าง แต่คนที่จะยังดึงดันคือคนใกล้ตัวนายกฯ ที่ชอบคิดว่ากลุ่มผู้ชุมนุมกลุ่มนี้จะอยู่ได้ไม่นาน
ทาบขรรค์ชัยเจรจาแกนนำ
นายสนธิกล่าวอีกว่า ทราบมาว่ามีคำสั่งให้หาใครก็ได้มาเจรจากับกลุ่มพันธมิตรฯ ล่าสุดจะส่งคนไปพบนายขรรค์ชัย บุนปาน ให้มาช่วยเจรจา แต่นายขรรค์ชัยไม่ให้พบ ขอให้ผู้ชุมนุมอดทนต่ออากาศร้อน ถ้าไม่ทน บ้านเมืองจะยิ่งร้อนกว่านี้ เข้าใจว่าส่วนหนึ่งจะต้องกลับไปทำงานกลางวัน ก็ขอให้ไปทำงานปกติ ถ้าว่างก็มาสมทบช่วงเย็น ที่ผ่านมารัฐบาลกล่าวว่า ผู้ชุมนุมจะกลายเป็นคนจร นายกฯต่างหากจะเป็นคนจรจัด ย้ายหนีกลุ่มผู้ชุมนุมไปที่อื่น เวลาของ พ.ต.ท.ทักษิณใกล้หมดแล้ว
กลุ่มผู้ชุมนุมนั่งๆนอนๆฟังปราศรัย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จนถึงเวลา 22.20 น. ผู้มาร่วมชุมนุมที่ตรากตรำตั้งแต่เช้าวันที่ 14 มี.ค. ได้แยกย้ายกลับบ้านไป ส่วนที่เหลือประมาณ 3 หมื่นคน ยังปักหลักอยู่หน้าทำเนียบรัฐบาล โดยได้กระจายตัวประปราย นั่งๆ นอนๆอยู่เป็นกลุ่มๆ ส่วนบรรดาญาติธรรมได้เข้านอนตั้งแต่เวลา 20.00 น. โดยนอนเรียงรายกันเป็นแถวในเต็นท์ที่กางไว้