เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม นายเมธา ธรรมวิหาร ทนายความนายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ อดีตประธานกรรมการบริหารบริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
กล่าวถึงการนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีเลี่ยงภาษีหุ้นชินฯ มูลค่า 546 ล้านบาทเศษ ว่า ตนได้ประสานกับนายบรรณพจน์ จำเลยที่ 1 และคุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร์ อดีตภรรยา พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ จำเลยที่ 2 แล้วในการเดินทางไปฟังคำพิพากษาในวันที่ 24 สิงหาคมที่ศาลอาญา อย่างไรก็ตาม หากมีเหตุจำเป็นจริงๆ ที่ทำให้คู่ความเดินทางไปฟังคำพิพากษาไม่ได้ ก็ต้องแจ้งขออนุญาตต่อศาลในวันดังกล่าว แต่ขณะนี้คู่ความยังไม่ได้แจ้งเปลี่ยนแปลงการเดินทางมาศาล
เมื่อถามว่า หากศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายืนตามชั้นต้น ให้จำคุกคนละ 3 ปี จะยื่นฎีกาหรือไม่
นายเมธากล่าวว่า หากศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้นจริง เราก็ยังสามารถยื่นฎีกาได้ทั้งในการโต้แย้งประเด็นข้อเท็จจริง และประเด็นข้อกฎหมาย เพียงแต่หากจะโต้แย้งในประเด็นข้อเท็จจริงจะต้องให้ผู้พิพากษาหรืออัยการลงชื่อรับรอง ซึ่งเราจะต้องยื่นฎีกาแน่นอนหากศาลอุทธรณ์จะมีคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น เพราะเรายืนยันในความบริสุทธิ์ใจว่าไม่ได้เจตนากระทำผิด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับคดีนี้ อัยการสูงสุดเป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายบรรณพจน์ คุณหญิงพจมาน และนางกาญจนาภา หงษ์เหิน เลขานุการส่วนตัวคุณหญิงพจมาน
เป็นจำเลยที่ 1-3 ต่อศาลอาญา ในคดีหมายเลขดำที่ อ.1149/2550 ในความผิดฐานร่วมกันแจ้งข้อความเท็จ หรือให้ถ้อยคำเท็จ หรือตอบคำถามด้วยถ้อยคำอันเป็นเท็จ หรือนำพยานหลักฐานเท็จมาแสดง เพื่อหลีกเลี่ยงการชำระภาษีอากรหุ้นบริษัท ชินวัตรคอมพิวเตอร์ แอนด์ คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) มูลค่าหุ้น 738 ล้านบาท และภาษีที่หลีกเลี่ยงจำนวน 546 ล้านบาท อันเป็นความผิดตามประมวลรัษฎากร มาตรา 37 (1) (2) และประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83 และ 91
ทั้งนี้ ศาลอาญา มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2551 ให้จำคุกจำเลยที่ 1-2 ตามประมวลรัษฎากร มาตรา37 (1)(2) คนละ 3 ปี และให้จำคุกจำเลยที่ 3 เป็นเวลา 2 ปี ขณะที่จำเลยทั้งสาม ได้ประกันตัวระหว่างอุทธรณ์คดีโดยยื่นหลักทรัพย์เป็นสมุดบัญชีเงินฝาก ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สำนักรัชโยธิน คนละ 8 ล้านบาท ขอประกันตัว ศาลพิเคราะห์แล้วอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยทั้งสาม ระหว่างอุทธรณ์ โดยตีราคาประกันคนละ 5 ล้านบาท