สุเทพ เบี้ยวแจงเหตุ สลายชุมนุมเสื้อแดง หนที่สอง

ที่อาคารรัฐสภา2 เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม นายจิตติพจน์ วิริยะโรจน์ ส.ว.ศรีสะเกษ เป็นประธานในการประชุมคณะกรรมาการเพื่อติดตามสถานการณ์บ้านเมือง
 
กรณีเหตุการณ์การสลายการชุมนุมในช่วง วันที่ 10 เมษายน โดยเชิญตัวแทนผู้ที่เกี่ยวข้องในเหตุการณ์ ได้แก่ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ในฐานะรองนายกรัฐมนตรี และ ผอ.ศอฉ.ขณะนั้น นายพินิจ จันทรสมบูรณ์ อดีต ส.ส.กาญจนบุรี พรรคเพื่อไทย และนายกฤตภาส เพ็งสุข ช่างภาพอิสระ มาร่วมชี้แจงข้อเท็จจริง อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงเวลานัดหมาย ปรากฏว่า นายสุเทพ ไม่ได้เดินทางมาร่วมประชุม โดยให้เหตุผลผ่านทางเลขาฯส่วนตัวว่าติดภารกิจ โดยถือว่าเป็นครั้งที่ 2 ที่นายสุเทพอ้างว่าติดภารกิจและไม่เข้าชี้แจงคณะกรรมการ ซึ่งนายจิตติพจน์ ได้แจ้งต่อที่ประชะมุว่า จะเชิญนายสุเทพ มาร่วมชี้แจงอีกครั้งในการประชุมวันที่ 25 สิงหาคม เวลา 13.30 น. ในขณะที่ได้ทำหนังสือเชิญนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี มาชี้แจงในวันจันทร์ที่ 22 สิงหาคม ซึ่งได้รับการยืนยันจากนายอภิสิทธิ์ หากไม่ติดภารกิจการประชุมสภาจะมาชี้แจงคณะกรรมการแน่นอน
 

ด้านนายกฤตภาส ชี้แจงเหตุการณ์โดยได้แสดงภาพถ่ายหลักฐานชายชุดดำ

โดยระบุว่าเป็นผู้ที่ถ่ายภาพดังกล่าวเองในช่วงที่เกิดเหตุการณ์ ซึ่งเป็นภาพกลุ่มบุคคลใส่ชุดอำพรางที่ภายนอกใส่ชุดทหาร แต่ภายในใส่ไอ้โม่งชุดดำ โดยส่วนตัวไม่ทราบแน่ชัดว่าชายชุดดำเป็นคนกลุ่มใด รู้แต่ว่าถ่ายภาพดังกล่าวในช่วงเวลาประมาณ 14.00-15.00 น.ของวันเกิดเหตุ ขณะที่กลุ่มเจ้าหน้าที่ทหารที่ดูแลสถานการณ์เดินทางจากบริเวณสะพานพระปิ่นเกล้ามารวมตัวกันที่บริเวณกองสลาก ถนนราชดำเนิน และตั้งข้อสังเกตว่าในจุดดังกล่าวมีกลุ่มทหาร 3 ชุด คือ ชุดปราบจลาจล ชุดสั่งการบังคับบัญชา และชุดหน่วยระมัดระวังป้องกันการต่อสู้ซึ่งมีอาวุธประจำกายโล่ กระบอง ปืนลูกซอง รวมถึงอาวุธปืน เอ็ม16


ด้านพล.ต.ท.ยุทธนา ไทยภักดี ส.ว.สรรหา ในฐานะกรรมการฯ กล่าวว่า จากการชี้แจงภาพหลักฐานทำให้ต้องตั้งข้อสังเกตเช่นกันว่า
 
ในทางปฏิบัติระบบการจัดการปราบจลาจลของทหารเป็นอย่างไร การมีทีมเจ้าหน้าที่ทหารทั้ง 3 ชุด อาจแสดงให้เห็นว่า มีการเตรียมความพร้อมทั้งกำลังอาวุธต่อการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ก็คงคาดว่าฝ่ายตรงข้ามคือฝ่ายกลุ่มคนเสื้อแดงก็คงมีการใช้อาวุธที่รุนแรงเช่นกัน แต่ก็ไม่น่าจะต้องใช้อาวุธปืนขนาด เอ็ม16 ทั้งที่เป็นปืนสำหรับกรณีเฉพาะที่ใช้ในการปฏิบัติรบเท่านั้น ทำให้ตนเห็นว่าในอีกมุมหนึ่งก็เป็นการใช้วิธีการสลายการชุมนุมที่รุนแรงเกินความจำเป็น
 

ขณะที่นายพินิจ เปิดเผยทั้งน้ำตาว่า การที่รัฐบาลเข้ามาช่วยเยียวยาแก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมเป็นจำนวนมาก
 
อาจจะไม่ใช่วิธีที่ดีที่สุด หรือทำให้หายแค้นได้ เพราะความแค้นก็ยังอยู่ในใจคน แต่อย่างน้อยก็จะสามารถช่วยชโลมจิตใจได้ส่วนหนึ่ง หากเพียงรัฐบาลชุดก่อนกล้าที่จะออกมายอมรับ พูดคำว่าผมขอโทษแก่ผู้ที่สูญเสียครอบครัว ญาติพี่น้อง และผมขอขมาดวงวิญญาณที่ได้รับผลกระทบให้อโหสิกรรม เท่านั้น ญาติผู้เสียชีวิตก็คงจะรู้สึกดีบ้างแล้ว


เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์