น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ในรายการสรยุทธ เจาะข่าวเด่น
ออกอากาศทางสถานี โทรทัศน์ ช่อง 3 เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม โดย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ตอบคำถามประเด็นที่สังคมถามถึง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร พี่ชาย ว่า เมื่อสังคมถามถึงก็ต้องอดทนมีหน้าที่ชี้แจง คนที่ฟังก็มีวิจารณญาณในการตัดสิน ซึ่งเมื่อถามว่าจะวางบทบาทอย่างไร เมื่อต้องเป็นน้องสาวของ พ.ต.ท.ทักษิณ และเป็นนายกฯด้วย น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า ทำหน้าที่ของส่วนรวมไม่ทำเพื่อบุคคลใดคนหนึ่ง การบริหารประเทศก็ต้องคำนึงถึงประชาชนทุกคน เรื่องคุณทักษิณก็ต้องเป็นไปตามกระบวนการโดยตนไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยว ผู้ทำงานก็ทำงานอย่างเต็มที่ บนหลักนิติธรรม และให้ความยุติธรรมเท่าเทียมกัน
เมื่อพิธีกรถามว่า หากรัฐมนตรีคนอื่นเข้าไปยุ่งก็ต้องย้อนกลับมาหานายกฯอยู่ดี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ตอบว่า ต้องอยู่ในดุลพินิจของแต่ละส่วน
ตนไม่มีนโยบายต้องบอกว่าทำเพื่อพ.ต.ท.ทักษิณคนเดียว ครม.ต้องทำเพื่อประโยชน์ของประชาชน ปัญหาเรื่องปากท้องต้องแก้ไขเร่งด่วน ขณะที่เรื่องวีซ่าที่ประเทศญี่ปุ่นนั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า เอกชนได้เรียนเชิญคุณทักษิณไปบรรยายก่อนที่ตัวพรรคเพื่อไทยจะเข้าเป็นรัฐบาลอีก ก็เป็นเรื่องทางญี่ปุ่นเอง การให้อนุญาตทางการทูตก็เป็นเรื่องของญี่ปุ่นเอง รมว.ต่างประเทศที่บอกว่า อนุเคราะห์ให้นั้น ท่านเองบอกว่าก็ว่ากันไปตามกระบวนการเป็นดุลยพินิจของประเทศญี่ปุ่นเองว่าจะพิจารณาอย่างไร
รมว.ต่างประเทศ "ขี้เหร่"?
สำหรับประเด็นเรื่อง นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศนั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า อย่าดูที่หน้าตา หรือประวัติแต่ให้ดูที่คุณสมบัติ ที่สำคัญคือ นายสุรพงษ์ เคยผ่านงานระดับนานาประเทศ สามารถเข้าใจการติดต่อเป็นอย่างดี ที่ผ่านมานายสุรพงษ์มุ่งมั่น และมีตำแหน่งเป็นดร. ด้วย เชื่อว่าเรื่องคุณสมบัติ จะสามารถทำให้รมว.ต่างประเทศคนใหม่ทำงานได้อย่างดี เช่น เรื่องการค้า นอกจากจะสร้างความสัมพันธ์อันดีกับต่างประเทศอย่างเดียว อยากให้โอกาสแต่ละท่าน ขอเวลาสักช่วงหนึ่งในการทำงาน
เมื่อพิธีกรถามว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์เลือกรัฐมนตรีเองกี่คน นายกฯ ตอบว่า ตนเลือกเองทั้งหมด มีการแนะนำมาบ้างแต่ก็รับรายละเอียดมาแต่สุดท้ายต้องตัดสินใจเองเพราะต้องทำงานด้วยกัน คิดว่าในส่วนที่พอใจคิดว่า 70 เปอร์เซ็นต์แต่ 30 เปอร์เซ็นต์ คิดว่าอาจเป็นหน้าใหม่ เรื่องประสบการณ์ แต่จากที่สัมผัสก็มีความเชื่อมั่นเชื่อว่า มีความสามารถ ความรู้ ความสามารถเฉพาะตัว ไม่เป็นรองใคร
เสื้อแดงชวดเก้าอี้ ครม.
กรณีคนเสื้อแดงไม่ได้ตำแหน่ง น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า ไม่ได้หมายความว่าคนที่ไม่ได้เลือกนั้นไม่มีความสามารถ แต่คนที่มาดูแลประชาชนนั้นก็ไม่จำเป็นต้องมาอยู่ในภาคบริหาร คิดว่าไม่ได้เป็นเรื่องที่กระทบของการปรองดอง ซึ่งวัตถุประสงค์ คือแสดงความปรองดอง บทบาทการทำงานก็ทำในสภา ดูแลพี่น้องอย่างใกล้ชิด โดยแกนนำเสื้อแเดงแต่ละคนก็มีความสามารถ ซึ่งเรามองหลายด้านได้สำหรับคนที่ต้องเข้ามาทำงาน
สำหรับเรื่องนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ที่ไม่มีชื่อนั้น นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า มองว่านายณัฐวุฒิ เป็นคนมีความสามารถวันนี้ก็ต้องช่วยเรื่องสภา และทำงานในพื้นที่ในเรื่องส.ส. ด้วย ไม่ติดค้างกัน เขาเป็นคนเก่ง กล่าวได้ว่า การเลือกครม.ยากมากทุกคนก็มีความสามารถ การเลือกให้เหลือ 30 คนนั้นบางครั้งก็ถูกใจบ้าง ไม่ถูกใจบ้าง แต่ก็คือให้โอกาสให้คนได้มาทำงาน
"ด้านเรื่องนโยบายค่าจ้าง 300 บาทนั้นเรียนว่า เราทำ แต่ในภาคปฎิบัติก็ต้องคุยไตรภาคี ดังนั้น เป็นนโยบายเร่งด่วน แต่ต้องมาคุยเรื่องความพร้อมว่าจะมาทำงานอย่างไร ซึ่งเป็นแผนเรื่องปฏิบัติ และงบ รวมถึงเรื่องเวลา ต้องมาหารือกัน ซึ่งตัวภาพงบประมาณที่ใช้ได้จริงคิดว่าใช้ได้จริงประมาณเดือนกุมภาพันธ์ เรื่องลดภาษีก็อยากลดในปีภาษีหน้า ซึ่งดูความพร้อมมีแนวทำได้ ส่วนเงินเดือน 15,000 บาทนั้นคิดว่า ภาคราชการทำได้ แต่ภาคเอกชนก็ต้องดูความพร้อมด้วย"
"เรื่องที่แถลงสภาชัดเจนก็น่าจะเห็นลดราคาน้ำมัน เรื่องค่าครองชีพ ซึ่งน้ำมันเป็นส่วนเริ่มต้นทุกอย่าง สองคือ เรื่องสินค้าอุปโภค บริโภคให้เป็นไปตามกลไก และการดูแลค่าใช้จ่าย พักหนี้ รวมถึงเรื่องรายได้ 300 บาทหรือ 15,000 บาทก็ต้องหารือให้เกิดกลไก สุดท้ายที่สำคัญคือ สร้างบรรยากาศการลงทุน โดยเฉพาะต่างชาติจะทำให้ระบบหมุนเวียนดีขึ้น"
ปรองดอง
สำหรับเรื่องปรองดอง นั้น พิธีกรถามว่าจะมีเข้าพบพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ หรือไม่ ยิ่งลักษณ์ตอบว่า ยังไม่ได้ขอพบ แต่ถ้าท่านตั้งใจจะให้โอกาสก็ไป คิดว่า จะขอคำแนะนำ หารือ แลกเปลี่ยนกันว่ามีท่านจะแนะนำอะไรบ้าง ตนก็ยินดีจะรับฟังทุกความคิดเห็น
"มีความมั่นใจว่า จะทำงานให้ดีที่สุด แต่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาค โอกาสต่างๆเริ่มหันมา สหรัฐฯมาที่เอเชียแล้วก็ไม่ควรพลาดโอกาส จุดอ่อน ณ ขณะนี้คือเรื่องความเข้าใจ จะขอโอกาส และทำหน้าที่ด้วยความอดทน ไม่เบื่อกับการชี้แจงให้หลายฝ่ายเข้าใจ คิดว่าขอโอกาสที่จะทำผลงานให้เห็นเป็นเนื้อเป็นหนังก็คงขอเวลา 1 ปี แต่เชื่อว่า 3-6 เดือนก็จะต้องทำให้เห็นว่าพยายามผลักดันแม้มักมีเงื่อนไขต่างๆก็ตาม" ยิ่งลักษณ์กล่าว