"ฐานิสร์ เทียนทอง" รมช.มหาดไทย หลานชาย เสนาะ เทียนทอง ได้เข้ามาทำงานการเมือง โดยเป็น ส.ส.สระแก้ว สังกัดพรรคความหวังใหม่ พรรคไทยรักไทย และพรรคประชาราช จนกระทั่งปี 2554 ได้ย้ายมาทำงานร่วมกับพรรคเพื่อไทย "ฐานิสร์" เคยได้รับตำแหน่งที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (เสนาะ เทียนทอง) ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (สุขวิช รังสิตพล) ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย (สรอรรถ กลิ่นประทุม) และที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี (สุวิทย์ คุณกิตติ)
"ฐานิสร์" สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีจากสถาบันราชภัฏรำไพพรรณี และปริญญาโท สาขาการบริหารการศึกษา จากมหาวิทยาลัยบูรพา
"พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ" รองนายกรัฐมนตรี เคยนั่งรองนายกรัฐมนตรี ควบ รมว.มหาดไทย สมัยรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช และนั่ง รมว.มหาดไทย สมัยรัฐบาลสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เมื่อปี 2547 "พล.ต.อ.โกวิท" ได้ขึ้นเป็น ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ สมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ทั้งที่ตั้งใจจะแต่งตั้ง "พล.ต.อ.ชิดชัย วรรณสถิตย์" แต่จำเป็นต้องแต่งตั้ง "พล.ต.อ.โกวิท" เนื่องจากมีอาวุโสสูงสุด และได้รับการยอมรับในหมู่ผู้ใต้บังคับบัญชามากกว่า เหตุการณ์รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 พล.ต.อ.โกวิท เป็นสมาชิกคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ท่ามกลางกระแส "ความไม่เต็มใจ" ต่อการทำรัฐประหาร
ต่อมา พล.ต.อ.โกวิท ได้รับคำสั่งไปช่วยราชการสำนักนายกรัฐมนตรีสมัยรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2550 หลังจากไม่มีความคืบหน้าเกี่ยวกับคดีเหตุระเบิดในกรุงเทพมหานคร โดยให้ไปนั่งเป็นปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายข้าราชการประจำ ระดับ 11 และแต่งตั้ง พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส รักษาราชการแทน ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
"ชูชาติ หาญสวัสดิ์" รมช.มหาดไทย ส.ส.ปทุมธานี พรรคเพื่อไทย เริ่มลงสมัคร ส.ส.ปทุมธานี ตั้งแต่ปี 2529 เคยเป็นกรรมาธิการหลายคณะ อาทิ กรรมาธิการการคมนาคม, กรรมาธิการงบประมาณแผ่นดิน, กรรมาธิการทบวงมหาวิทยาลัย กรรมาธิการการปกครอง และเคยเป็นผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข, ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย
"ชูชาติ" เป็นน้องชายของ "ชูชีพ หาญสวัสดิ์" อดีตรัฐมนตรีหลายกระทรวง อาทิ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, กระทรวงพาณิชย์,กระทรวงศึกษาธิการ แต่ "ชูชีพ" ถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี สมัยเป็นกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย ทำให้ครั้งนี้ "ชูชาติ" ได้นั่งตำแหน่งเสนาบดี
"กิตติรัตน์ ณ ระนอง" รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ อดีตผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ปัจจุบันเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยชินวัตร "กิตติรัตน์" มีความพร้อมทั้งด้านคุณสมบัติการผ่านงานการเป็นผู้จัดการตลาดทุน ในช่วง 2544-2549 ทำให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ พัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทัดเทียมตลาดหุ้นต่างประเทศ มีความรู้เรื่องตลาดทุนอย่างดี เคยทำงานใน บล.เอกธำรง, บลจ.วรรณ, บมจ.ยูนิเวนเจอร์ (UV) รอง ผอ.ฝ่ายวิชาการ สถาบันศศินทร์
ถือเป็นผู้มีชื่อเสียงและได้รับการยอมรับในตำแหน่ง คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการเงิน "กิตติรัตน์" ได้รับแต่งตั้งเป็น ผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยเข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2544 แทน "วิชรัตน์ วิจิตรวาทการ" ที่ยื่นใบลาออกตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2544
"ศิริวัฒน์ ขจรประศาสน์" รมช.พาณิชย์ ส.ส.พิจิตร เขต 2 พรรคชาติไทยพัฒนา ลูกชาย "เสธ.หนั่น" พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ ประธานที่ปรึกษาพรรคชาติไทยพัฒนา ถูกมองว่าได้นั่งตำแหน่งรัฐมนตรีครั้งนี้เพราะ "พ่อ" เนื่องจากการร่วมรัฐบาลของพรรคชาติไทยพัฒนาครั้งนี้ "เสธ.หนั่น" ไม่รับตำแหน่งใดๆ เพื่อหลีกทางให้ลูกชาย
"ศิริวัฒน์" จบมัธยมปลายจาก ออตั้น ไฮสคูล รัฐอิลินอยส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ปริญญาตรี วิทยาศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยแมรี่วิลล์ รัฐมิสซูรี่ ประเทศสหรัฐอเมริกา ปริญญาโท ศิลปศาสตรมหาบัณทิต(รัฐศาสตร์) มหาวิทยาลัยรามคำแหง พ.ศ. 2546 เริ่มเล่นการเมืองเมื่อปี 2544 ได้เป็น ส.ส.พิจิตร เขต 3 และตั้งแต่ปี 2551 ได้ลงแข่งในนามพรรคชาติไทย
"กฤษณา สีหลักษณ์" รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ส.ส.บัญชีรายชื่อลำดับที่ 44 พรรคเพื่อไทย ถือเป็น "ม้านอกสายตา" เพราะไม่มีใครรู้ว่ามาจากไหน ถือว่าเป็นรัฐมนตรีที่ได้รับตำแหน่งหลังจาก พ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย ประกาศไม่รับตำแหน่ง มีข่าวว่า "เยาวภา วงศ์สวัสดิ์" เป็นผู้ผลักดันให้ได้รับตำแหน่งก่อนนำรายชื่อส่งให้แก่เลขาธิการคณะรัฐมนตรี
ก่อนหน้าเล่นการเมือง "กฤษณา" ประกอบธุรกิจส่วนตัว เป็นกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอส ที รีเทลลิ่ง จำกัด เป็นบริษัทในกลุ่มสีหราช ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจที่มีชื่อเสียงของ จ.อุตรดิตถ์ ประกอบธุรกิจหลายอย่าง เช่น โรงแรมสีหราช โรงแรมฟรายเดย์ ห้างสรรพสินค้าฟรายเดย์ ร้านเซเว่นอีเลฟเว่น ฯลฯ จบการศึกษาปริญญาตรี สาขาการบัญชี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ รัฐศาสตรมหาบัณฑิต สาขาบริหารรัฐกิจ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
"นพ.สุรวิทย์ คนสมบูรณ์" รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ส.ส.ชัยภูมิ พรรคเพื่อไทย เคยสังกัดกลุ่มวังน้ำยม และลาออกจากพรรคไทยรักไทยหลังช่วงรัฐประหาร 19 กันยา แต่กลับเข้ามาสมัครสมาชิกพรรคใหม่ เคยนั่งในตำแหน่งเลขานุการรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง, เลขานุการรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์, เลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี, รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง, ประธานคณะกรรมาธิการพลังงาน สภาผู้แทนราษฎร
"พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา" รมว.กลาโหม โควตาคนนอก อดีตปลัดกระทรวงกลาโหม เคยนั่งตำแหน่ง รมช.กลาโหม ในสมัยครม.ชุดพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ก่อน "พล.อ.ยุทธศักดิ์" จะได้นั่งเก้าอี้ "กลาโหม" มีกระแสข่าวการต่อสายกันระหว่าง "พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" ผู้บัญชาการทหารบก และ พ.ต.ท.ทักษิณ เกี่ยวกับเก้าอี้ "รมว.กลาโหม" ก่อนมาเคาะที่ "พล.อ.ยุทธศักดิ์"
"ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล" รมว.คลัง อดีตเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.), กรรมการและเลขานุการคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์, ประธานกรรมการ คณะกรรมการกำกับตลาดทุน และเป็นประธานกลุ่ม ก.ล.ต. อาเซียน 2 สมัย ใน พ.ศ. 2551 จนถึงปัจจุบัน
ก่อนได้รับตำแหน่ง "รมว.คลัง" เคยตอบโต้กับ "กรณ์ จาติกวณิช" อดีตรมว.คลัง เกี่ยวกับกรณีนายกรณ์ระบุว่าเคยมีจดหมายถึง ก.ล.ต. คดีที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ถูกกล่าวหาว่าให้การเท็จ และให้ข้อมูลเท็จแก่ ก.ล.ต. กรณีการคดีถือครองหุ้นครอบครัวชินวัตร-เอสซีฯ และตอบโต้ "กรณ์" ที่เขียนเฟซบุ๊กกล่าวหาว่า อาจได้รับตำแหน่ง รมว.คลัง ในรัฐบาล "ยิ่งลักษณ์ 1" เพราะทำงานรับใช้การเมือง จนได้รับตำแหน่ง
"บุญทรง เตริยาภิรมย์" รมช.คลัง ถือว่าจบการศึกษาสถาบันเดียวกับ "ยิ่งลักษณ์" และ "ทักษิณ" คือ ปริญญาตรี บริหารธุรกิจ สาขาการเงิน จากมหาวิทยาลัยเคนตักกี ประเทศสหรัฐอเมริกา เคยเป็นกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย พ.ศ. 2547, 2548 สภาผู้แทนราษฎร, เลขานุการ รมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร พ.ศ.2548, ที่ปรึกษา รมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร พ.ศ.2549
"วิรุฬ เตชะไพบูลย์" รมช.คลัง เคยนั่งเก้าอี้รัฐมนตรีหลายตำแหน่ง "รมช.พาณิชย์" สมัยรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช และคณะทำงานด้านเศรษฐกิจของพรรคเพื่อไทย ตำแหน่งสำคัญทางการเมือง เคยดำรงตำแหน่งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และ ส.ว. จากนั้นเข้าร่วมงานการเมืองกับพรรคความหวังใหม่ ในตำแหน่งรองหัวหน้าพรรค จนกระทั่งได้รับตำแหน่งหน้าที่ทางการเมืองหลายตำแหน่ง อาทิ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี(กระแส ชนะวงศ์), ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง (วราเทพ รัตนากร) และกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการคลัง
"สุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล" รมว.ต่างประเทศ ถือเป็นตำแหน่งที่พลิกไปพลิกมา เพราะก่อนหน้านี้เป็นตำแหน่ง "คนนอก" แต่ท้ายที่สุดมาตกกับ "คนใน" ถือว่าเป็น "เก้าอี้ร้อน" เพราะมีเรื่องใหญ่ที่ต้องตัดสินใจโดยเฉพาะกรณีปัญหาเขตแดนไทย-กัมพูชา "สุรพงษ์" เป็นหนึ่งในบุคคล ที่ร่วมลงนามทูลเกล้าฯ ถวายฎีกา เพื่อขอพระราชทานอภัยโทษแก่ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ร่วมกับ นปช.แดงทั้งแผ่นดิน อีกด้วย
"สุรพงษ์" ที่ผ่านมาผลงานส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับปากท้องเรื่องเศรษฐกิจ เคยนั่งประธานกรรมาธิการการคลัง การธนาคาร และสถาบันการเงิน สภาผู้แทนราษฎร
"สันติ พร้อมพัฒน์" รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เคยนั่งตำแหน่ง รมว.คมนาคม สมัยรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช และรัฐบาลสมชาย วงศ์สวัสดิ์ "สันติ พร้อมพัฒน์" เป็นส.ส.เพชรบูรณ์หลายสมัย ถือเป็นนายทุนพรรคตัวจริง เคยประกอบธุรกิจ เป็นประธานกรรมการบริหาร บริษัท นวพัฒนาธานี จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ประกอบธุรกิจประเภท พัฒนาที่ดิน อสังหาริมทรัพย์และอุตสาหกรรม ผลิตชิ้นส่วนเครื่องจักร และชิ้นส่วนรถยนต์
ต่อมาได้เข้ามาทำงานการเมืองโดยการเป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (พล.อ.ชวลิต ยงใจยุธ) ในปี พ.ศ. 2537 และเป็นกรรมการบริหารพรรคความหวังใหม่ จากนั้นได้สมัครเข้ารับเลือกตั้งและเป็น ส.ส.เพชรบูรณ์ 2 สมัย คือ ในปี พ.ศ. 2538 และ พ.ศ. 2539 จากนั้นจึงได้ย้ายเข้ามาร่วมกิจกรรมกับพรรคไทยรักไทย ลงสมัครในระบบบัญชีรายชื่อ ในปี พ.ศ. 2548 และระบบสัดส่วนพรรคพลังประชาชน ในปี พ.ศ. 2550 จนกระทั่งได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในรัฐบาลสมัคร และรัฐบาลสมชาย
"พรศักดิ์ เจริญประเสริฐ" รมช.เกษตรและสหกรณ์ จบการศึกษาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เคยนั่งในตำแหน่งรองประธานคณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์,เลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และอนุกรรมาธิการงบประมาณ, กรรมาธิการยุติธรรม, ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย
"สุกำพล สุวรรณทัต" รมว.คมนาคม เป็นบุคคลที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ในขณะที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอยู่นั้น ได้วางตัวจะให้ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารอากาศ ด้วยเหตุว่าเป็นเพื่อนนักเรียนร่วมรุ่นโรงเรียนเตรียมทหารด้วยกันมา แต่ทว่าหลังเหตุการณ์รัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ.2549 แล้ว ได้มีการปรับเปลี่ยนสายการบังคับบัญชาในกองทัพใหม่ ทำให้ทางนายทหารรุ่นเตรียมทหาร 10 หลายคนต้องหลุดจากตำแหน่งคุมกำลังพล ในส่วนของ พล.อ.อ.สุกำพล ก็ได้รับการปรับเปลี่ยนให้เป็นผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษกองทัพอากาศ ในปี พ.ศ.2550 [2] และปรับเปลี่ยนเป็นจเรทหารทั่วไป ในปี พ.ศ.2551
"ชัจจ์ กุลดิลก" รมช.คมนาคม ส.ส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย อดีตรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี อดีตผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (บช.ก.) และที่ปรึกษาหนังสือพิมพ์มหาประชาชนฉบับความจริงวันนี้ จบการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจ สาขารัฐประศาสนศาสตรบัณฑิต (รป.บ.) เคยดำรงตำแหน่งสูงสุดในราชการตำรวจ คือ ผู้บัญชาการสอบสวนกลาง (บช.ก.) ต่อมาจึงได้เข้ามาทำงานการเมืองร่วมกับพรรคพลังประชาชน และพรรคเพื่อไทยในเวลาต่อมา
"กิตติศักดิ์ หัตถสงเคราะห์" รมช.คมนาคม ถือเป็นรัฐมนตรีที่มาจากโควตาภาคอีสาน เคยเป็นอดีต รมช.วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม เมื่อปี 2522-2526 เล่นการเมืองสมัคร ส.ส.อุดรธานี ตั้งแต่ปี 2517-2522 นั่งกรรมาธิการหลายตำแหน่ง อาทิ กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.จัดหางานและคุ้มครองคนหางาน, กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ, ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
"อนุดิษฐ์ นาครทรรพ" รมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย ถือว่าเป็นโควตา กทม.ของ "สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์"
เคยดำรงตำแหน่งทางการเมือง เป็นเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม, ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์, ประธานคณะกรรมการประสานงานและติดตามผล การดำเนินงานนโยบายลำไย ปี 2548 ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์, รองประธานคณะกรรมการปรับปรุงโครงสร้างการบริหารงาน สำนักฝนหลวงและการบินเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, รองประธานคณะกรรมการดำเนินงาน จัดหาอุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องใช้ เพื่อสนับสนุน การปฏิบัติงานฝนหลวง ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์, รองประธานคณะดำเนินการ จัดงานรณรงค์ต่อต้านยาเสพติด ในพื้นที่กรุงเทพมหานครตอนเหนือ เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ.2548 และคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาและติดตามงบประมาณของเหล่าทัพ และประสิทธิภาพของกองทัพไทย ในคณะกรรมาธิการทหาร สภาผู้แทนราษฎร
"พิชัย นริพทะพันธุ์" รมว.พลังงาน ถือเป็นกลุ่มทุนพรรค อดีต รมช.คลัง สมัยรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช และคณะทำงานทีมเศรษฐกิจของพรรคเพื่อไทย
"ประชา พรหมนอก" รมว.ยุติธรรม ถือว่าได้เก้าอี้เกรดเอไปครอง หลังจากช่วยหาเสียงในพื้นที่ภาคอีสาน เคยนั่ง รมว.แรงงาน สมัยรัฐบาลชวน หลีกภัย และ รมว.อุตสาหกรรม สมัยรัฐบาลสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตอธิบดีกรมตำรวจ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และเคยเป็นหัวหน้าพรรคเพื่อแผ่นดิน
"เผดิมชัย สะสมทรัพย์" รมว.แรงงาน เคยเป็นอดีต รมช.คมนาคม สมัยรัฐบาลชวน หลีกภัย เป็น ส.ส.นครปฐมหลายสมัย ยังมีอาชีพประกอบธุรกิจส่วนตัวด้วย ซึ่งช่วงปลายปี พ.ศ.2553 ถูกศาลสั่งให้เป็นบุคคลล้มละลายจากปัญหาหนี้สินทางธุรกิจดังกล่าว และการลงสมัครครั้งนี้หลุดพ้นคดีล้มละลายจนลงสมัคร ส.ส.ได้อย่างหวุดหวิด
"สุกุมล คุณปลื้ม" รมว.วัฒนธรรม ส.ส.ชลบุรี พรรคพลังชล ภรรยา "สนธยา คุณปลื้ม" ถือว่าได้เก้าอี้รัฐมนตรีสมัยแรก ในฐานะเป็นพรรคร่วมรัฐบาล
"วรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล" รมว.ศึกษาธิการ อดีตรมว.วัฒนธรรม สมัยรัฐบาลสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ส.ส.แพร่ พรรคเพื่อไทย "วรวัจน์" สมัยเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เคยมีแนวคิดที่จะนำความเชื่อ และพิธีกรรมทางไสยศาสตร์ เช่น พญานาค ควายธนู เสน่ห์ยาแฝด น้ำมนต์ ปลัดขิก มาทำเป็นสินค้าทางวัฒนธรรมเพื่อขายเป็นที่ระลึก จนได้รับเสียงฮือฮาจากประชาชนอย่างมาก
"สุรพงษ์ อึ้งอัมพรวิไล" รมช.ศึกษาธิการ ส.ส.ปทุมธานี พรรคเพื่อไทย ได้นั่งเก้าอี้รัฐมนตรีในโควตาภาคกลาง
"บุญรื่น ศรีธเรศ" รมช.ศึกษาธิการ ส.ส.กาฬสินธุ์ พรรคเพื่อไทย ภรรยานายสังข์ทอง ศรีธเรศ อดีต ส.ส.7 สมัย (เสียชีวิตแล้ว) ซึ่งเคยเป็นอดีตรมช.ศึกษาธิการ ในสมัยรัฐบาลพรรคความหวังใหม่มาก่อน บุญรื่น จบการศึกษาครุศาสตรบัณฑิต (คบ.) จากวิทยาลัยครูมหาสารคาม พ.ศ. 2525 เข้าร่วมรัฐบาลยิ่งลักษณ์ 1 ตามโควตาภาคอีสาน
"นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล" รมว.อุตสาหกรรม หัวหน้าพรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน ถือเป็นโควตาในฐานะพรรคร่วมรัฐบาล สมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นั่งเก้าอี้ รมว.พลังงาน เคยเป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ปี 2537 และที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม ปี 2537
"วิทยา บุรณศิริ" รมว.สาธารณสุข ส.ส.พระนครศรีอยุธยา พรรคเพื่อไทย อดีตประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน ในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้รับการตบรางวัลจากพรรคให้ดำรงตำแหน่ง รมว.สาธารณสุข หลังจากก่อนหน้านี้โผรายชื่อพลิกไปพลิกมาอยู่หลายรอบ
"ต่อพงษ์ ไชยสาส์น" รมช.สาธารณสุข ส.ส.อุดรธานี อดีตประธานกมธ.ต่างประเทศ พรรคเพื่อไทย บุตรชายนายประจวบ ไชยสาส์น อดีตรมว.ต่างประเทศ จบการศึกษาระดับปริญญาตรี จากสถาบันกอล์ฟซานดิเอโก ระดับปริญญาโท ด้านการบริหารธุรกิจ จากวิทยาลัยอเมริกัน และปริญญาโท สาขารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เดิมมีชื่อเป็น รมช.ต่างประเทศมาตั้งแต่ต้น แต่สุดท้ายไปลงตัวที่ รมช.สาธารณสุข
Love Attack เทศกาลความรักแบบนี้ บอกอ้อมๆให้เขารู้กัน
Chocolate Dreams สาวชั่งฝันและช็อคโกแลต กับหนุ่มหล่อ ไม่แน่คุณอาจจะได้เจอแบบนี้ก็ได้
Love You Like Crazy เพลงเพราะๆ ที่ถ้าส่งให้คนที่เรารัก โลกนี้ก็สีชมพูกันทีเดียว