หมายเหตุ- นักวิชาการจากภาคส่วนต่างๆ ได้เสนอการบ้านข้อแรกที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะนายกรัฐมนตรี จะต้องดำเนินการหลังจากเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ ดังนี้
1.สมภพ มานะรังสรรค์
คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
รัฐบาลต้องร่างแผนการแก้ไข การพัฒนาเศรษฐกิจเป็นพิมพ์เขียวออกมา เพราะนโยบายเศรษฐกิจ เวลาหาเสียงเป็นอีกเรื่องหนึ่ง เมื่อปฏิบัติจริง คงทำทันทีทุกเรื่องไม่ได้ รัฐบาลต้องดูว่าควรทำอะไร เมื่อไหร่ และควรทำสิ่งไหนก่อน-หลัง ต้องดูช่องทางความเป็นไปได้ ดูข้อสนับสนุนและข้อจำกัดที่สอดคล้องกับการพัฒนาประเทศ
ประการต่อมา คือ ต้องสร้างความสมดุลระหว่างนโยบายการเงินและการคลัง อย่าให้ขัดแย้งกัน และดูเรื่องเสถียรภาพทางเศรษฐกิจให้ดี เพราะขณะนี้สถานการณ์ทางเศรษฐกิจในต่างประเทศไม่ค่อยดี ปัญหาในยุโรปอาจบานปลายมาถึงประเทศไทยได้
อุปสรรคที่รอรัฐบาลอยู่ตอนนี้ คือ เรื่องภาวะเงินเฟ้อ และความขัดแย้งเรื่องเงินเดือนปริญญาตรี 15,000 บาท และค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ที่กลุ่มแรงงานสนับสนุน แต่กลุ่มผู้ประกอบการคัดค้าน รัฐบาลต้องจัดการเรื่องนี้ให้ลงตัว ประสานให้เกิดการรอมชอม หันหน้าเข้าหากัน และคิดหาทางว่าทำอย่างไรจะดำเนินนโยบายตามที่ประกาศไว้ได้จริง
ส่วนตัวคณะรัฐมนตรี และคณะทำงาน ต้องเลือกคนที่เป็นที่ยอมรับ ถ้ามีรัฐมนตรีเศรษฐกิจที่ดี มีคณะทำงานที่ชนะใจประชาชน และสามารถสร้างความเชื่อมั่นได้ รัฐบาลจะทำงานได้ง่ายขึ้นอีกมาก
2.นิพนธ์ พัวพงศกร
ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)
สิ่งแรกที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในฐานะนายกฯ ต้องทำคือ ต้องประกาศรายละเอียดและความชัดเจนของนโยบายต่างๆ ที่พรรคเพื่อไทยได้ประกาศไว้เมื่อตอนหาเสียง เพราะที่ผ่านมาประชาชนได้ยินเพียงว่า นโยบายของพรรคเพื่อไทยจะทำอะไรบ้าง แต่เมื่อถามลงไปในรายละเอียด ทั้งน.ส.ยิ่งลักษณ์ และพรรคเพื่อไทย ยังไม่มีการประกาศออกมา
พร้อมกันนี้ยังต้องมีรายละเอียดของผลกระทบจากนโยบายต่างๆ ว่ากระทบในส่วนใดบ้างของประเทศ
จุดสำคัญที่สุดคือ ประชาชนได้ประโยชน์มากที่สุด และระบบเศรษฐกิจของประเทศต้องได้รับผลกระทบน้อยที่สุด
สาเหตุที่ต้องประกาศรายละเอียดของนโยบาย เพราะทุกคนยังไม่เห็นภาพว่านโยบายไหนจะมีรายละเอียดอย่างไร เช่น นโยบายรับจำนำข้าว จะให้จำนำข้าวทุกเม็ดหรือไม่ หรือต้องมีระบบอื่น หรือค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท จะมีวิธีการอย่างไร ให้ทุกคนหรือไม่ หรือเงินเดือนวุฒิปริญญาตรี 15,000 บาท
รายละเอียดเหล่านี้ยังไม่มี ประชาชนหรือส่วนใดของประเทศยังไม่มีใครรู้ หรือแม้แต่คนของพรรคเพื่อไทยเองก็ยังบอกนโยบายไปคนละทิศคนละทาง
นี่คือสิ่งที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ จะต้องทำเป็นสิ่งแรก
เมื่อน.ส.ยิ่งลักษณ์ ประกาศความชัดเจนว่านโยบายต่างๆ มีรายละเอียดอย่างไรแล้ว ทุกคนมีความเข้าใจไปในทิศทางเดียวกันเรียบร้อยแล้ว จะต้องระดมความคิดเห็นของส่วนต่างๆ เพื่อนำมาหารือถึงผลกระทบของนโยบายต่างๆ ที่จะทำ โดยดูว่าจะกระทบต่อภาพรวมของประเทศมากน้อยแค่ไหน
3.นพพร ลีปรีชานนท์
ประธานสภาคณาจารย์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
เรื่องเร่งด่วนมีหลายเรื่อง แต่วันนี้ต้องเน้นที่ความปรองดอง ซึ่งจำเป็นต้องทำขนานไปกับเรื่องอื่นด้วย ไม่เช่นนั้นการพัฒนาประเทศจะไม่เกิดขึ้น ความขัดแย้งแก้ได้ง่าย ขอให้มีเป้าหมายหลักร่วมกัน
แต่สิ่งที่รัฐบาลทำได้เลยในฐานะมีกระทรวง กรม กอง ต่างๆ อยู่ในมือ คือการพัฒนาประเทศทั้งด้านการศึกษา พลังงาน และวิกฤตทางเศรษฐกิจ
เรื่องพลังงานมีปัญหาคาราคาซังเยอะมาก พรรคเพื่อไทยต้องเข้ามาดูในรายละเอียด เพราะต่างประเทศเมื่อจะมาลงทุนในไทย จะมองเรื่องแหล่งทรัพยากรเป็นอันดับแรก รัฐบาลใหม่ต้องดูว่าจะเอาทรัพยากรมาใช้กับนโยบายพลังงานอย่างไร ขณะนี้เรามีปัญหาเรื่องถ่านหินซึ่งถูกคนต่อต้าน ทั้งๆ ที่ยังมีความจำเป็นต้องใช้ไฟฟ้า รัฐบาลต้องดูว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร จะนำเรื่องเครือข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะที่หลายประเทศทั่วโลกใช้อยู่มาปรับใช้หรือไม่
นอกจากนี้ ยังมีเรื่องพลังงานหมุนเวียน พลังงานทดแทน ถ้าบริหารดีๆ ความสูญเสียจะลดลง และสิ่งแวดล้อมจะดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
ที่ผ่านมาพรรคเพื่อไทยไม่เคยพูดเรื่องนี้ พูดถึงแต่นโยบายเกี่ยวกับคนรากหญ้า แม้จะจำเป็นแต่ต้องดูนโยบายการพัฒนาควบคู่ไปด้วย ไม่ใช่มองข้ามไป พรรคเพื่อไทยมีคนเก่งหลายคน อยากให้หาคนดูเรื่องการพัฒนา และทำออกมาให้ดีที่สุด
ด้านการจัดการภายในรัฐบาล แม้การจัดสรรประโยชน์ให้กลุ่มคน ให้พรรคร่วมรัฐบาลจะสำคัญ แต่รัฐบาลต้องเอาพันธกิจเป็นตัวตั้ง ต้องตกลงกันให้ได้ว่า เป้าหมายสูงสุดคือการนำประเทศไปสู่ความเจริญ
การเลือกรัฐมนตรีต้องเลือกคนที่มีความรู้ ความสามารถ หรือถ้าจำเป็นต้องเลือกคนจากกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเพื่อตอบแทนทางการเมือง ก็ต้องดึงคนที่มีความรู้ มีผลงานน่าเชื่อถือ และเป็นที่ยอมรับของคนส่วนใหญ่ด้วย
ที่สำคัญ รัฐบาลต้องดูนโยบายระยะยาวด้วย ไม่ใช่ดูแลระยะสั้น เช่น เรื่องค่าแรง 300 บาท ซึ่งในระยะสั้นถือเป็นเรื่องดี แต่รัฐบาลต้องมีแผนระยะยาวรองรับด้วย
4.โคทม อารียา
อาจารย์สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล
การบ้านข้อแรกที่ผมอยากให้นายกฯยิ่งลักษณ์ ดำเนินการคือ 1.การจัดตั้งรัฐมนตรีให้ถูกฝาถูกคน ตั้งคนให้เหมาะสมกับงาน มีความรู้ความสามารถ ซื่อสัตย์สุจริต ที่สำคัญ ต้องมีความพร้อมเอานโยบายของรัฐบาลไปดำเนินการให้ได้ผลตามที่ประกาศไว้
2.จัดเตรียมนโยบายที่จะแถลงต่อสภา และ 3.ลงมือบริหารราชการแผ่นดิน โดยเดินตามลายแทงของนโยบายที่จะตกลงกันในพรรคเพื่อไทยกับพรรคร่วมรัฐบาล
ทั้งนี้ รัฐบาลต้องเดินอย่างมีสติและมีความรับผิดชอบ
ปัญหาความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ รัฐบาลควรให้ความสนใจเป็นพิเศษ ควรถูกจัดอยู่ในความสำคัญลำดับต้นๆ เพราะเกิดเหตุขึ้นทุกวัน ประชาชนเสียชีวิตทุกวัน จะปล่อยให้เป็นเรื่องปกติ ทำเหมือนอย่างเคยไม่ได้ เวลาผ่านไปวันหนึ่ง คนเสียชีวิตเพิ่มขึ้น รัฐบาลจะรอช้าไม่ได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะทำเสร็จทันที เพราะปัญหานี้เป็นความขัดแย้งที่ยืดเยื้อ รัฐบาลต้องหาวิธีการต่างๆ หลายวิธี จะต้องมีความยืดหยุ่น ทำอย่างสม่ำเสมอพอสมควร
ส่วนการปรองดองควรทำไปเรื่อยๆ ทำเป็นระบบ ต้องมีพื้นที่ มีเวทีให้พูดคุยกัน ซึ่งไม่ได้หมายความว่าปรองดองแล้วจะเลิกขัดแย้ง หรือเป็นเอกภาพ เดินเป็นหุ่นยนต์ อย่างนั้นไม่ใช่ แต่การปรองดองหมายถึงการหันหน้ามาพูดคุยกันมากขึ้น ทะเลาะกันแบบอารยวิวาท ซึ่งไม่ใช่การวิวาทเพื่อเอาชนะคะคานกัน ลงไม้ลงมือหรือชกใต้เข็มขัด ถ้าอย่างนั้นจะเรียกว่า อนารยวิวาท
ในการเดินหน้าทำงานเพื่อแก้ปัญหาให้ประชาชน อะไรทำได้ก็ทำ อะไรรอได้ก็รอไว้ก่อน อยู่ที่การสื่อสารให้เกิดความเข้าใจ มีการจัดแผนใช้เวลา 3 เดือน 6 เดือน หรือถ้ามีอะไรติดขัด ทำตามนโยบายที่ให้ไว้ไม่ได้จริง ต้องบอกกับประชาชนอย่างตรงไปตรงมา
อย่างไรก็ตาม สิ่งแรกที่นายกฯ ควรทำมากที่สุดคือ ยิ้มให้กำลังใจแก่ตัวเอง ต่อไปนี้คนที่เป็นนายกฯ จะยุ่งมาก ไม่มีเวลาให้แก่ตัวเอง ให้แก่ลูกชายเท่าที่ควร ฉะนั้นต้องมีกำลังใจ มีสติ ความมุ่งมั่น สูดลมหายใจลึกๆ ตั้งสติไว้ ส่งเสริมให้ตัวเองเข้มแข็ง