ทนายยื่นศาลออกหมายเรียกพยานไต่สวนเหตุส่ง “วิคเตอร์ บูท” เป็นผู้ร้ายข้ามแดน ยันไม่ชอบด้วยกฎหมาย
เมื่อวันนี้ (3 ส.ค.) ที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก นายลักษณ์ นิติวัฒนวิจารณ์ ทนายความนายวิคเตอร์ บูท พ่อค้าอาวุธสงครามข้ามชาติ และสายลับเคจีบี ชาวรัสเซีย ที่ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาให้ส่งตัวเป็นผู้ร้ายข้ามแดนกลับไปดำเนินคดีที่ประเทศสหรัฐฯ เปิดเผยความคืบหน้าคดีที่ได้ยื่นคำร้องต่อศาลอาญาได้ขอให้ออกหมายเรียกพนักงานอัยการที่รับผิดชอบว่าความคดีส่งตัวนายวิคเตอร์ บูท เพื่อนำตัวนายวิคเตอร์ บูท มาไต่สวนคดีส่งผู้ร้ายข้ามแดนในสำนวนเดิมที่ถูกกล่าวหาว่า สมคบกันค้าอาวุธให้กลุ่มกบฏประเทศโคลอมเบีย ทำร้ายและฆ่าเจ้าหน้าที่รัฐบาลสหรัฐฯว่า คดีนี้ศาลออกหมายเรียกพนักงานอัยการเข้าเบิกความในวันที่ 10 ส.ค.นี้ แต่ยังไม่มีความคืบหน้าในส่วนของพนักงานอัยการ โดยในวันนี้ตนได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลออกหมายเรียกพยานบุคคลเข้าเบิกความเพิ่มเติมในวันที่10 ส.ค.อีก 3 ปาก ประกอบด้วย กงสุลรัสเซียประจำประเทศไทย อธิบดีกรมสนธิสัญญา กระทรวงการต่างประเทศ และเลขาธิการคณะรัฐมนตรี
นายลักษณ์ กล่าวต่อว่า ก่อนหน้าที่จะมีการส่งตัวนายวิคเตอร์ บูท ไปสหรัฐอเมริกา ได้ไปยื่นหนังสือต่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี
ขอให้คุ้มครองนายวิคเตอร์ บูท เมื่อวันที่ 30 ส.ค.53 ซึ่งนายกรัฐมนตรีรับปากว่าจะรับผิดชอบตามกฎหมายทุกประการ และรับเรื่องลงสมุดบันทึกไว้แล้ว แต่กลับมีเครื่องบินมาจอดและนำตัวนายวิคเตอร์ บูท ออกนอกราชอาณาจักรไปเมื่อวันที่ 16 พ.ย.53 ซึ่งเป็นการหิ้วตัวไป เป็นการกระทำโดยมิชอบด้วยกฎหมาย พ.ร.บ.ส่งผู้ร้ายข้ามแดน พ.ศ.2472 ที่นายกรัฐมนตรีจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบไม่ใช่อัยการสูงสุด อีกทั้งศาลอุทธรณ์ไม่มีสิทธิโต้แย้งศาลชั้นต้น เพื่อมีคำสั่งให้ส่งตัวนายวิคเตอร์ บูท แต่มีอำนาจเพียงพิจารณาว่าศาลชั้นต้นมีพยานหลักฐานเพียงพอหรือไม่ ดังนั้น การส่งตัวนายวิคเตอร์ บูท จึงเป็นการละเมิดอำนาจศาลไทย อธิปไตยทางศาลถูกรบกวน จึงต้องให้ศาลออกหมายเรียกอธิบดีกรมสนธิสัญญา ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจตามกฎหมายมาสอบถามว่าทำไมนายวิคเตอร์ บูท จึงถูกส่งตัวไป
“คดีนี้ไม่ต้องฟ้องนายกฯ โดยตรง นายกฯก็ต้องรับผิดทางอาญาในฐานะหัวหน้ารัฐบาล เพราะตาม พ.ร.บ.ส่งผู้ร้ายข้ามแดน พ.ศ.2472 ผู้ที่รับผิดชอบการส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนคือนายกรัฐมนตรี แต่เป็นหน้าที่ของอัยการที่ต้องดูแลคดีในฐานะผู้รับคำร้องจากสถานทูตสหรัฐและรัฐบาลไทยและนายกฯ เคยแถลงที่สมาคมนักข่าวต่างประเทศว่า คดีนี้ท่านไม่ได้ทำแต่อัยการทำ หมายถึงอธิบดีกรมสนธิสัญญาและคณะรัฐมนตรีทำซึ่งตนได้ไปตรวจสอบเอกสารแล้วไม่มีแสดงว่าคดีนี้มีการดำเนินการไม่ชอบด้วยกฎหมาย”นายลักษณ์ กล่าว
ขณะเดียวกัน ผู้สื่อข่าวโทรศัพท์สอบถามนายศิริศักดิ์ ติยะพรรณ อธิบดีอัยการฝ่ายคดีต่างประเทศ ทราบว่าติดภารกิจประชุม จึงยังไม่สามารถให้ข้อมูลได้.