หวั่นรธน.ให้นายกฯไม่ต้องเลือกตั้ง-"จรัญ"ชี้ไม่ใช่ฉบับสุดท้าย
นายชัยอนันต์ สมุทวณิชโดย ผู้จัดการออนไลน์ 16 ธันวาคม 2549 22:04 น.
เวทีสัมมนา ไกรศักดิ์ ระบุคดีฆ่าตัดตอนหลายคดีไม่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด แต่เป็นการกำจัดศัตรูทางการเมือง ขณะที่ ชัยอนันต์ กลัวเขียน รธน.เลี่ยงให้นายกรัฐมนตรีไม่มาจากการเลือกตั้ง วอน คมช.เป็นกลาง พร้อมตอบคำถามที่มาของสมาชิกสภาร่าง จรัญ เสนอปฏิรูปกฎหมายยุติธรรม รธน.ฉบับใหม่ไม่ใช่ฉบับสุดท้าย
วันนี้(16 ธ.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการสัมมนาเรื่อง ก้าวใหม่ประเทศ ใครต้องปฏิรูป โดยมีนายนรนิติ เศรษฐบุตร ประธานคณะกรรมการพัฒนาการเมือง นายจรัญ ภักดีธนากุล ปลัดกระทรวงยุติธรรม นายชัยอนันต์ สมุทวณิช ผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัย นายดำรง พุฒตาล นายไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ อดีต ส.ว. ซึ่งมีผู้เข้าร่วมรับฟังเต็มห้องมัฆวานรังสรรค์ สโมสรทหารบก รวมทั้ง พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบก และประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ซึ่งนั่งฟังการสัมมนาจนจบ และร่วมรับประทานอาหารกลางวันกับ นายพงษ์ศักดิ์ พยัฆวิเชียร รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน)
นายไกรศักดิ์ กล่าวว่า เราจะปกป้องประชาชนอย่างไรจากอำนาจเงิน เพราะดูได้จากเมื่ออำนาจดังกล่าวเข้าไปครอบครองสภา และกระบวนการยุติธรรม ทำให้เกิดปัญหาฆ่าตัดตอน ส่งผลให้เกิดความหวาดกลัว เพราะหลายคดีไม่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด แต่เป็นการกำจัดศัตรูทางการเมือง โดยนำชื่อไปใส่ไว้ในบัญชีดำของผู้ค้ายาเสพติด ซึ่งปัญหาฆ่าตัดตอนมีเพียง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เท่านั้นที่ประชาชนไม่ยอมจำนนในเรื่องนี้ จึงทำให้ปัญหาภาคใต้ยังไม่จบ ซึ่งเรื่องสิทธิมนุษยชนควรดำเนินการควบคู่ไปกับการดำเนินปฏิรูปประชาธิปไตยในประเทศ
นายดำรง กล่าวว่า คมช.ต้องตอบคำถามประชาชนให้ได้ว่าผู้ที่เข้ามาร่างรัฐธรรมนูญมีศักยภาพและเข้ามาด้วยเหตุผลใด ซึ่งส่วนตัวเห็นว่าควรปฏิรูปการศึกษาและวิธีคิดของคนไทยใหม่ เพราะที่ผ่านมามีการขยายหลักสูตรการศึกษามากเกินไป ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นหลักสูตรสายสังคมที่มีคนไปเรียนกันเป็นจำนวนมาก ขณะที่หลักสูตรวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีซึ่งเป็นหลักสูตรที่มีความจำเป็นในการพัฒนาประเทศกลับมีคนเรียนน้อย เพราะเรียนยากและจบยาก ทำให้ขณะนี้ประเทศไทยแม้จะมีบัณฑิตมาก แต่เป็นบัณฑิตที่ไม่มีความรู้และคุณภาพ เพราะบัณฑิตส่วนใหญ่ขาดความเฉลียวฉลาด ความคิดริเริ่ม
นายชัยอนันต์ กล่าวว่า การปกครองระบอบประชาธิปไตยดีที่สุด แต่ยากที่สุด เพราะจะต้องทำให้ประชาชนเข้าใจ โดยที่ผ่านมามีการทำให้ประชาธิปไตยผิดเพี้ยนไป ซึ่งเราจะต้องแก้ไข อดีตนายกรัฐมนตรีที่ผ่านมาฉลาดที่จะบิดเบนเรื่องควรเป็นหลักการไปสู่ผลประโยชน์ของตัวเอง ดังนั้นการศึกษาต้องมีบทบาท ขณะที่นอกโรงเรียน สื่อก็ต้องมีบทบาทในสังคม
โชคดีที่การปฏิวัติครั้งนี้เกิดจากรุ่นของทหารที่ไม่ได้มีบทบาททางการเมือง และไม่ได้ถูกชักจูงจากกลุ่มผลประโยชน์ธุรกิจ เพราะฉะนั้นข้อดีก็น่าจะมี คือ 1 ปีนี้หากรักษาเกียรติภูมิความดีไว้ ก็จะเป็นพลังให้นักการเมืองในอนาคตใช้เป็นพลังเหนี่ยวรั้งได้ เพราะเราไม่อาจคาดหวังว่ารัฐธรรมนูญจะเป็นตัวเปลี่ยนนักการเมือง แต่ทั้งนี้ก็อย่าหวังพึ่งนักการเมือง เพราะเชื่อว่าแม้จะมีการเลือกตั้งใหม่ แต่ก็ยังเป็นนักการเมืองหน้าเดิม นายชัยอนันต์ กล่าว และแสดงความยินดีที่ได้มีการยกเลิกกฎอัยการศึก