สั่งไอทีวีจ่ายใน45วันรวมปรับกว่าแสนล.อัดซ้ำผิดตั้งแต่ต้นจี้ยึดทำทีวีสาธารณะ

คม-ชัด-ลึก

สั่ง"ไอทีวี"จ่ายใน45วันรวมปรับกว่าแสนล.อัดซ้ำผิดตั้งแต่ต้นจี้ยึดทำทีวีสาธารณะ
สปน.ขีดเส้นตาย 45 วัน ไอทีวีต้องจ่ายค่าปรับรวม 100,434 ล้านบาท ยันไม่โหด อนุญาโตฯ อัดซ้ำ ผิดตั้งแต่ต้น เคยเตือนแล้วไม่ฟัง อสส.ชี้เรื่องฟ้องไอทีวีล้มละลายยังไกลตัว นักวิชาการแนะยึดคืนรัฐทำเป็นทีวีสาธารณะ พร้อมปลดผู้บริหารออก พนักงานไอทีวีออกแถลงการณ์ ให้คำนึงถึงเจตนารมณ์ของการก่อตั้งสถานี

ภายหลังศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษายืนตามศาลปกครองกลาง ให้บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) หรือ ไอทีวี ต้องจ่ายค่าสัมปทานย้อนหลังและค่าปรับกรณีปรับผังรายการที่เปลี่ยนแปลงไปจากสัญญาเดิม ที่มากถึง 9.7 หมื่นล้านบาท ให้แก่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม ที่ผ่านมานั้น

เมื่อเวลา 15.30 น.วันที่ 14 ธันวาคม นายจุลยุทธ หิรัณยะวสิต ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) แถลงถึงกรณีที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการที่มีผลให้ไอทีวีต้องปฏิบัติตามสัญญาสัมปทานเดิมว่า คำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดหมายความว่า คำสั่งของอนุญาโตตุลาการไม่มีตั้งแต่ต้น เมื่อเป็นเช่นนี้ สปน.ในฐานะคู่สัญญาจำเป็นต้องดำเนินการตามคำพิพากษา และจะแจ้งไปยังไอทีวี ให้ปรับผังรายการตามคำพิพากษา และจะดำเนินการเรียกค่าสัมปทานค้างจ่าย 2,210 ล้านบาท โดยตัวเลขดังกล่าวยังไม่รวมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี ซึ่งดอกเบี้ยทั้งหมดเป็นเงินกว่า 464 ล้านบาท นั่นหมายความว่า ไอทีวียังมีค่าสัมปทานค้างจ่าย 2,674 ล้านบาท ที่เป็นไปตามสัญญาข้อ 5 วรรคสอง โดยไอทีวีจะต้องชำระภายใน 45 วัน

นายจุลยุทธ กล่าวว่า นอกจากนี้ สปน.ยังจะดำเนินการเรียกค่าปรับกรณีผิดสัญญาสัมปทานผังรายการไม่เป็นไปตามสัญญา โดยตามสัญญาข้อ 11 วรรคสอง จะต้องจ่ายค่าปรับในอัตราร้อยละ 10 ของค่าตอบแทน คิดเป็นรายวัน ซึ่ง สปน.ได้ทำหนังสือไปยังไอทีวี เพื่อให้จ่ายค่าปรับเป็นเงินกว่า 97,760 ล้านบาท โดยคิดตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2547 ซึ่งเป็นวันแรกที่ไอทีวีปรับผังรายการ ถึงวันที่ 13 ธันวาคม 2549 ซึ่งจะต้องชำระภายใน 45 วัน ทั้งนี้ นับตั้งแต่วันที่ สปน.มีหนังสือไปถึงไอทีวี

หากครบกำหนดแล้วไอทีวียังไม่ชำระตามกำหนด สปน.จะทำหนังสือเตือนเป็นครั้งที่ 2 ถ้าหากยังไม่ชำระภายในเวลาที่กำหนดถือว่าผิดสัญญา ขณะเดียวกันในเมื่อศาลปกครองมีคำชี้ขาดเป็นที่สิ้นสุด สปน.ในฐานะคู่สัญญาจะทำรายงานตัวเลขต่างๆ ทั้งหมดไปยังที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 19 ธันวาคมนี้ ส่วน ครม.จะยกเลิกสัมปทาน หรือจะตัดสินใจอย่างไร ก็เป็นอำนาจของ ครม. นายจุลยุทธ กล่าว

นายจุลยุทธ กล่าวอีกว่า ตัวเลขค่าปรับนั้น ขณะนี้ยังอยู่ในการพิจารณาของอัยการสูงสุด (อสส.) หลังจากที่ สปน.ส่งเรื่องนี้ไปตั้งแต่วันที่ 20 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา เพราะอัยการสูงสุดเป็นผู้ดำเนินคดีแทนรัฐบาลทั้งหมด ซึ่งหากพิจารณาแล้วเสร็จ อสส.จะแจ้งกลับมา และ สปน.จะยืนยันกลับไป เพื่อให้ฟ้องทางแพ่งทันที

"สิ่งที่น่ากังวลคือ เหลืออายุความเพียง 6 เดือน เราจำเป็นต้องรีบดำเนินการเพราะหากไม่รีบดำเนินการ ทุกอย่างที่ดำเนินมาจะถือว่าเป็นโมฆะ และ สปน.จะไม่สามารถส่งฟ้องศาลได้อีก มีทางเดียวคือ ต้องเอาผิดกับเจ้าหน้าที่พนักงานที่ทำให้คดีขาดอายุความ" นายจุลยุทธ กล่าว

ไอทีวีไม่จ่าย ให้ ครม.ตัดสิน

ผู้สื่อข่าวถามว่า จะมีการทบทวนค่าปรับหรือไม่ นายจุลยุทธ กล่าวว่า ทุกอย่างได้คำนวณตามข้อสัญญาที่กำหนดไว้ เป็นอย่างไรก็ดำเนินไปอย่างนั้น ทั้งนี้ ตามกระบวนการของกฎหมายอัยการจะเป็นผู้ดำเนินคดี ส่วนที่ไอทีวีโต้แย้งว่าค่าปรับกว่าแสนล้านเป็นตัวเลขที่สูงเกินไป และอาจจะเป็นข้อพิพาทนั้น ให้ฝ่ายกฎหมายเป็นผู้ดูแลแล้ว เห็นว่าเรื่องค่าปรับจากการผิดสัญญาไม่ใช่ข้อพิพาท จึงไม่จำเป็นต้องส่งอนุญาโตตุลาการอีก

เรื่องค่าปรับอัยการสามารถใช้สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากการที่ไอทีวี ผิดสัญญาได้ทันที ทั้งเรื่องค่าตอบแทนที่จ่ายไม่ครบ และการผิดสัญญาจากการปรับผังรายการ เราฟ้องไปตามสัญญาที่กำหนดไว้ ส่วนจะเป็นเท่าไรเป็นอำนาจของศาล ไอทีวีอาจจะไปสู้ตรงจุดนั้นได้ เพราะในที่สุดศาลจะเป็นผู้ตัดสิน นายจุลยุทธ กล่าว

นายจุลยุทธ กล่าวว่า ถ้าไอทีวี ไม่จ่ายตามที่กำหนดถือว่าผิดสัญญา ส่วนถ้าผิดแล้วจะดำเนินการอย่างไรเป็นเรื่องนโยบายที่ ครม.จะพิจารณานอกเหนืออำนาจของ สปน. ส่วนจะมีการเปิดเจรจากับเทมาเซคเพื่อไกล่เกลี่ยเรื่องค่าปรับ ก็ ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของรัฐบาล

ปรับ 1 แสนล้านเหมาะสม

นายจุลยุทธ กล่าวอีกว่า ที่หลายฝ่ายมองว่า สปน.คำนวนค่าปรับสูงเกินไป อยากเรียนว่า ไอทีวีชนะการประมูลด้วยวงเงินสูงกว่าที่ประกาศเชิญชวน และสูงกว่าคู่แข่งถึง 2 เท่า รวมทั้งค่าโฆษณาในไอทีวีนาทีละ 4-5 แสนบาท โดยเฉพาะในช่วงไพรม์ไทม์ 2 ชั่วโมง ในหนึ่งวันสูงถึง 8 ล้านบาท และถ้า 24 ชั่วโมง ค่าโฆษณาหลายสิบล้าน

ถ้าปรับวันละ 2 ล้านตามที่ไอทีวีเสนอ ทุกบริษัทจะยอมให้ปรับ เพราะว่าคุ้มเสียแค่วันละ 2 ล้านแล้วผิดสัญญา นั่นไม่ใช่วัตถุประสงค์ของการที่รัฐให้คลื่นไปบริหาร และถือว่าไม่ให้ความเป็นธรรมกับผู้ที่ประมูลแข่งกับไอทีวีในขณะนั้น นายจุลยุทธ กล่าว

จากนั้นนายจุลยุทธ ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่า จะยกเลิกสัญญาไอทีวีหรือไม่ เป็นอำนาจของ ครม.ที่จะตัดสินใ จเพราะถือว่ามีอำนาจสูงสุด ซึ่งคาดว่ารัฐบาลจะเห็นใจพนักงานและมีทางออกที่ดี แต่ สปน.จะต้องยื่นฟ้องแพ่งไปก่อน เพราะอายุความจะขาด ถ้าทำไม่ทันเจ้าหน้าที่ที่ทำให้ขาดอายุความต้องรับผิดชอบ ทั้งนี้ อายุความมีกำหนด 1 ปี เริ่มนับตั้งแต่วันที่ 9 พฤศจิกายน 2549 จะหมดอายุวันที่ 8 พฤศจิกายน 2550

สปน.อาจจะไม่เสนอแนวทางที่เป็นลายลักษณ์อักษร แต่อาจจะเป็นการประสานงานภายในว่า ควรจะมีแนวทางอย่างไร ปลัด สปน.กล่าว ส่วนกรณีที่สปน.แก้สัญญาข้อ 5 วรรคสี่โดยไม่ยื่นต่อ ครม.นั้น นายจุลยุทธ กล่าวว่า แต่เดิมพล.ต.ต.พีรพันธุ์ เปรมภูติ ได้ตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ แต่โดยหลักแล้วถ้ามีการเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรี คำสั่งที่แต่งตั้งก็ต้องยกเลิกตามไปด้วย ดังนั้นกรรมการชุดนี้ยังมีอยู่หรือไม่ สปน.จะหารือไปยังสำนักงานกฤษฎีกาอีกครั้งหนึ่ง

แหล่งข่าวระดับสูงใน สปน.เปิดเผยว่า ที่ผ่านมา สปน.เคยเตือนไอทีวีไปแล้วว่ากำลังทำผิดสัญญาจากการปรับผังรายการ และระบุไปว่า สปน.มีสิทธิยกเลิกสัญญาตามสัญญาข้อ 13 วรรคหนึ่ง ไปแล้วถึง 8 ครั้ง จากจำนวน 4 ปี ปีละ 2 ครั้ง แต่ไอทีวียังอ้างคำตัดสินของอนุญาโตตุลาการปรับผังรายการ 50:50 หรือ 67:34 ที่เป็นสาระบันเทิงและสาระข่าว

ถ้าไอทีวีไม่สามารถชำระค่าปรับจากการผิดสัญญาที่ปรับผังรายการได้ทันใน 45 วัน และหลังจากที่เตือนแล้วอีก 45 วัน ทางออกที่ดีที่สุดคือยกเลิกสัญญาแล้วให้ไอทีวีกลับมาเป็นของรัฐ เพราะถ้าปล่อยให้ไอทีวีล้มละลาย ก็จะสามารถจะนำบริษัทเข้าสู่แผนฟื้นฟูและดำเนินการได้ต่อ ประชาชนจะไม่ได้ประโยชน์ แหล่งข่าว กล่าว

รัฐบาลสั่ง สปน.เดินหน้าเรียกค่าปรับไอทีวี

คุณหญิงทิพาวดี เมฆสวรรค์ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ได้มอบหมายให้ สปน.และทีมกฎหมาย อ่านคำพิพากษาอย่างละเอียด จากนั้นให้ สปน.แถลงจุดยืนของตัวเองในฐานะข้าราชการที่ต้องปฏิบัติหน้าที่ตามคำพิพากษา

คุณหญิงทิพาวดี กล่าวว่า ไม่เคยพูดเรื่องลดค่าปรับลงเลย พูดแต่เพียงว่า ค่าปรับที่ สปน.คำนวณไปนั้น คำนวณไปตามข้อสัญญาทุกประการ ดังนั้น ค่าปรับทั้งหลายที่ สปน.แจ้งไป ก็เป็นการคำนวณตามข้อสัญญา และเรื่องนี้ได้ส่งไปที่สำนักงานอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินการต่อไป

จุดยืนของสำนักนายกรัฐมนตรีคือ ปฏิบัติตามข้อสัญญา เมื่อมีคำพิพากษาชัดเจนแล้วก็เป็นหน้าที่ของ สปน.ที่จะดำเนินการให้เป็นไปตามคำพิพากษา ถือเป็นการปฏิบัติตามขั้นตอนกฎหมาย เรื่องการปรับลดไม่ใช่บทบาทของเรา แต่ขึ้นอยู่กับสำนักงานอัยการสูงสุดที่จะเป็นผู้พิจารณา ขั้นตอนของราชการในฐานะที่เป็นหน่วยงานเจ้าของเรื่องก็ต้องปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมายที่ตนเองรับผิดชอบ คุณหญิงทิพาวดี กล่าว

อัดซ้ำไอทีวี ผิดตั้งแต่ต้น

นายชัยเกษม นิติสิริ อนุญาโตตุลาการฝ่าย สปน. กล่าวว่า ศาลปกครองสูงสุดได้พิพากษาให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของอนุญาโตตุลาการ ก็เท่ากับว่าไม่มีคำวินิจฉัยของอนุญาโตตุลาการมาก่อน ไอทีวีต้องเดินตามสัญญาที่ทำไว้กับ สปน. ถ้าไม่ทำก็ถือว่าผิดสัญญา แม้ว่าในสัญญาจะระบุว่า ให้ยึดเอาตามคำวินิจฉัยของอนุญาโตตุลาการสูงสุด แต่ก็มีข้อยกเว้นที่สามารถเพิกถอนได้ ซึ่งหลังจากคำวินิจฉัยไอทีวีไม่ได้เปลี่ยนแปลง รอให้ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยความเสียหายก็จะไม่เกิดมากขนาดนี้

ผมเป็นเพียงเสียงเดียวที่คัดค้านว่า อนุญาโตตุลาการไม่มีสิทธิจะให้ไอทีวีปรับผังหรือลดค่าสัมปทาน เพราะไม่ใช่อำนาจหน้าที่ แต่ในเมื่ออนุญาโตฯ อีกสองท่าน ยืนยันว่าทำได้ ผมก็เห็นมาตั้งแต่ตอนนั้นว่าสุดท้ายอาจจะถูกเพิกถอนคำวินิจฉัยชี้ขาดได้ แต่เรื่องนี้ไม่ถือว่าเป็นความผิด เพราะเป็นความเห็นทางกฎหมาย สามารถเห็นแตกต่างกันได้ และหลายเรื่องคำวินิจฉัยของอนุญาโตตุลาการ ก็เคยถูกเพิกถอน เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องแรก นายชัยเกษม กล่าว

นายอรรถพล ใหญ่สว่าง โฆษก อสส. กล่าวว่า โดยกระบวนการแล้วถ้า สปน.ส่งเรื่องมาให้ อสส. ก็จำเป็นจะต้องพิจารณาส่งฟ้องใน 2 เรื่องคือ ยอดค่าสัมปทานค้างชำระที่ไอทีวียังไม่ได้จ่ายเป็นจำนวนเงินกว่า 2,210 ล้านบาท โดยนับยอดค้างจ่ายนี้มาตั้งแต่วันที่มีการปรับผังรายการและได้จ่ายเงินค่าสัมปทานเพียงปีละ 230 ล้าน จากเดิมที่เคยจ่ายเกือบพันล้าน และจ่ายค่าปรับที่ขณะนี้ยังไม่มีข้อสรุปว่าหลักเกณฑ์การเรียกค่าปรับเป็น 10 เปอร์เซ็นต์ ของค่าตอบแทนใดกันแน่

นายอรรถพล กล่าวถึงหลักการพิจารณาของอนุญาโตตุลาการที่เกิดปัญหาว่า โดยหลักแล้วการพิจารณาของอนุญาโตตุลาการยึดตามหลักสากล แต่เมื่อนำมาปฏิบัติใช้ในเมืองไทยกลับเกิดปัญหาเกือบทุกครั้ง เพราะอนุญาโตตุลาการฝ่ายเอกชน ก็ต้องพิจารณาเอนเอียงเข้าข้างตัวเอง ขณะที่อนุญาโตตุลาการฝ่ายรัฐ ต้องพิจารณาตามหลักกฎหมายและความเป็นจริง หลายครั้งอนุญาโตตุลาการ ทำให้ล่าช้าเพราะภายหลังที่อนุญาโตตุลาการมีคำชี้ขาด รัฐมักจะเสียเปรียบ ซึ่งเคยเกิดมาแล้ว เช่น ค่าโง่ทางด่วน ที่รัฐเสียหาย 6.2 พันล้าน

ผมเห็นว่าควรมีการทบทวนเรื่องที่เกี่ยวกับข้อพิพาทในสัญญาสัมปทานระหว่างรัฐกับเอกชน ควรเขียนให้ชัดไปในสัญญาเลยว่าไม่ควรผ่านระบบอนุญาโตตุลาการ แต่ควรส่งฟ้องศาลไปเลย เพราะเมื่อตั้งอนุญาโตฯ เข้าไกล่เกลี่ยรัฐมักจะเสียหายและต้องส่งฟ้องดำเนินคดีหลายครั้ง แต่ยังคิดว่ายังควรมีระบบอนุญาโตตุลาการในสัญญาระหว่างเอกชนกับเอกชนอยู่ต่อไป นายอรรถพล กล่าว

ฟ้องล้มละลายไอทีวียังไกลตัว

นายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม รองโฆษก อสส. กล่าวกรณีที่ สปน.ส่งเรื่องให้ อสส.ดำเนินการตามกระบวนการอนุญาโตตุลาการ เพื่อเรียกค่าเสียหายและค่าปรับกรณีที่ไอทีวี กระทำผิดสัญญาสัมปทานว่า ก่อนที่ศาลปกครองสูงสุดจะมีคำพิพากษายืนตามศาลปกครองชั้นต้นให้เพิกถอนคำวินิจฉัยคณะอนุญาโตตุลาการ อสส.ได้รับหนังสือจาก สปน.แล้วเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ให้อัยการพิจารณาดำเนินการทางกฎหมายในการเรียกค่าเสียหายและค่าปรับจากไอทีวี ซึ่ง สปน.ได้สรุปตัวเลขค่าสัมปทานที่ บมจ.ไอทีวี ต้องจ่ายตามสัญญาสัมปทานข้อ 5 มูลค่าประมาณกว่า 2,000 ล้านบาท รวมทั้งตัวเลขค่าปรับที่ บมจ.ไอทีวี ทำผิดไม่ปฏิบัติตามข้อสัญญาสัมปทานเดิมปี 2538 อย่างไรก็ดี เรื่องดังกล่าว นายทรงชัย ประสาธน์วนิช อธิบดีอัยการฝ่ายยุติการดำเนินคดีแพ่งและอนุญาโตตุลาการกำลังพิจารณาหนังสือ เอกสารจาก สปน.เพื่อดำเนินการต่อไป

นายปรเมศวร์ กล่าวถึงขั้นตอนที่ สปน.จะเรียกค่าเสียหายและค่าปรับจากไอทีวี ว่า อธิบดีอัยการฝ่ายยุติการดำเนินคดีแพ่งฯ จะเรียบเรียงเอกสารข้อมูลจาก สปน.ในการสรุปตัวเลขค่าเสียหายและค่าปรับ พิจารณาว่าเป็นไปตามหลักกฎหมาย และถูกต้องตามข้อสัญญาที่ สปน.และไอทีวี ลงนามไว้เพียงใด หากตัวเลขที่ สปน.สรุปมาแล้วถูกต้อง อัยการจะได้ยื่นคำร้องต่อสำนักระงับข้อพิพาท เพื่อเข้าสู่กระบวนการทางคณะอนุญาโตตุลาการอีกครั้ง ในการพิจารณาคิดคำนวณค่าเสียหายจากการผิดสัญญาสัมปทานและค่าปรับดอกเบี้ย ซึ่งการนำข้อพิพาทเรื่องค่าปรับดอกเบี้ยเข้าสู่การวินิจฉัยของคณะอนุญาโตฯ ก็เป็นไปตามข้อตกลงที่คู่สัญญา สปน.และไอทีวี กำหนดตกลงกันไว้ในสัญญาว่า หากมีข้อพิพาทและยุติไม่ได้ต้องให้อนุญาโตฯ วินิจฉัยชี้ขาด ทั้งนี้ หากจะต้องนำเรื่องสู่กระบวนการอนุญาโตฯ สปน.และไอทีวีจะต้องคัดเลือกคณะอนุญาโตฯ ชุดใหม่ขึ้นมาวินิจฉัยเรื่องนี้ จะไม่ใช่คณะอนุญาโตฯ ชุดเดิมที่เคยวินิจฉัยเรื่องนี้ในครั้งแรก ซึ่งคณะอนุญาโตฯ สปน.และไอทีวี ต้องเลือกมาฝ่ายละ 1 คน รวม 2 คน และเลือกประธานที่สองฝ่ายยอมรับร่วมกันอีก 1 คน ส่วนความคืบหน้าเรื่องนี้ คณะโฆษก อสส. โดยนายอรรถพล ใหญ่สว่าง ผู้ตรวจราชการอัยการ ในฐานะโฆษก อสส. จะได้นำเสนอข้อมูลรายละเอียดการดำเนินการต่อสื่อมวลชนอีกครั้งในสัปดาห์หน้า

ปัญหาอยู่ที่ค่าปรับดอกเบี้ย

นายปรเมศวร์ กล่าวด้วยว่า เมื่อศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาให้เพิกถอนคำวินิจฉัยอนุญาโตฯ สปน.และไอทีวี ต้องกลับไปปฏิบัติตามข้อสัญญาสัมปทานเดิม โดยปัญหาไม่ได้อยู่ที่การจ่ายค่าสัมปทาน แต่เป็นเรื่องการคำนวณค่าปรับดอกเบี้ย ซึ่งเรื่องนี้ สปน.และไอทีวี ยังสามารถเจรจาพูดคุยกันได้ทั้งระดับ สปน.คู่สัญญา หรือรัฐบาลซึ่งบังคับบัญชา โดยรัฐบาลชุดนี้ยึดถือแนวทางสมานฉันท์อยู่แล้ว ซึ่งหากไอทีวีเห็นว่าเรื่องนี้เกี่ยวกับผลประโยชน์ที่รัฐจะได้รับ และผลประโยชน์ไม่ได้ตกอยู่กับคนหนึ่งคนใด ถ้า สปน.ยอมรับได้กับการเจรจาและไอทีวียอมถอยได้ก็น่าจะถอย

นายปรเมศวร์ บอกว่า ส่วนเรื่องที่มีการพูดถึงความสามารถในการชำระหนี้ของไอทีวี ว่าอาจจะต้องถูกฟ้องล้มละลายนั้น ยังเป็นเรื่องไกลตัวที่จะพูดถึง แต่ทั้งนี้ถ้าสุดท้ายมีข้อยุติที่สิ้นสุดตามกระบวนการของกฎหมายเรื่องค่าปรับและดอกเบี้ยแล้ว หากพบว่า บมจ.ไอทีวี ขาดความสามารถในการชำระหนี้ในอนาคต สปน.ก็ยื่นฟ้องต่อศาลล้มละลายกลางเพื่อให้ฟื้นฟูกิจการไอทีวี เพื่อให้มีการบังคับคดีชำระหนี้ตามกฎหมาย

นายทรงชัย ประสาธน์วนิช กล่าวว่า ตนได้รับหนังสือจาก สปน.เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่มีเนื้อหาให้อัยการพิจารณาเพื่อดำเนินการทางกฎหมายยื่นคำร้องเรียกค่าเสียหายและค่าปรับดอกเบี้ย ซึ่ง สปน.ได้สรุปตัวเลขมาแล้ว อย่างไรก็ดี ขณะนี้อัยการต้องรอฟังคำตอบที่ชัดเจนจาก สปน.อีกครั้งว่าจะยืนยันตามตัวเลขที่ส่งหนังสือมา หรือจะมีการเปลี่ยนแปลง ทั้งนี้ถ้า สปน.ยืนยันตัวเลขที่ชัดเจนแล้ว อัยการจะได้นำตัวเลขมาพิจารณาประกอบข้อตกลงในสัญญาว่าถูกต้องตามจำนวนและหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในสัญญาหรือไม่ หากพบว่าในสัญญาไม่ได้กำหนดหลักเกณฑ์ อัยการจะต้องพิจารณาการคิดคำนวณค่าปรับดอกเบี้ยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งเป็นกฎหมายทั่วไป อย่างไรก็ตาม การพิจารณาคิดคำนวณดอกเบี้ยต้องเป็นไปด้วยความรอบคอบและถูกต้องตามข้อสัญญาและกฎหมาย

แนะยึดไอทีวี ทำทีวีสาธารณะ

นายสุรพล ศรีวิทยา อาจารย์ประจำวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า สปน.ต้องหาทางออกพลิกวิกฤติไอทีวี ให้เป็นโอกาสของสื่อเสรีทีวีสาธารณะแก่ชาวบ้านทันที โดนทำหนังสือแจ้งเตือนให้ไอทีวีนำเงินค่าสัมปทานย้อนหลังและค่าปรับกรณีปรับผังรายการมาจ่าย สปน. และส่งหนังสือยืนยันให้ อสส.ดำเนินคดีค่าปรับอีกครั้งหนึ่งเพื่อไม่ให้คดีขาดอายุความ

นายสุรพล กล่าวอีกว่า หากไอทีวีไม่สามารถจ่ายให้รัฐได้ สปน.จะต้องฟ้องให้ไอทีวีเป็นบริษัทล้มละลาย และยึดสัมปทานไอทีวีคืนรัฐ แล้วออกพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งไอทีวี ให้มีนิติบุคคลเป็นบรรษัทมหาชนแห่งชาติ ไอทีวี โดย สปน.นำเงินค่าปรับทั้งหมดมาจัดตั้งกองทุนบรรษัทมหาชนแห่งชาติ ไอทีวี เพื่อใช้เป็นทุนดำเนินการบริหารฟื้นฟูกิจการของไอทีวีให้เป็นสถานีโทรทัศน์สาธารณะ ที่เป็นอิสระอย่างแท้จริง และระดมทุนโดยขายหุ้นในรูปพันธบัตรไอทีวี ให้แก่พนักงานไอทีวีและชาวบ้านทั่วไป เป็นผู้ถือหุ้นไอทีวีทั้งหมด เพื่อให้ชาวบ้านได้เป็นเจ้าของ โดยไม่จำเป็นต้องกลับไปจดทะเบียนบริษัทมหาชน เพื่อระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์

นายสุรพล บอกว่า พร้อมปลดประธานกรรมการบริหารและทีมผู้บริหารระดับสูงของไอทีวี ที่แต่งตั้งมาจากบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ออกทั้งหมด แต่ให้โอนทีมผู้บริหารระดับกลางรวมทั้งพนักงานของไอทีวี ให้เป็นพนักงานบรรษัทมหาชนแห่งชาติ ไอทีวี เพื่อช่วยให้ผู้บริหารและพนักงานที่ไม่ได้มีส่วนได้เสียในการขายไอทีวี ให้แก่กองทุนเทมาเซคของสิงคโปร์ต้องตกงาน

"นี่คือการพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาส เพื่อปลดปล่อยไอทีวีจากระบบสัมปทานของรัฐและการผูกขาดครอบงำบริษัทเอกชนไทยและกองทุนเทมาเซคสิงคโปร์อย่างถูกต้อง ชอบธรรมตามกฎหมาย ให้เป็นไอทีวีสื่อเสรีสาธารณะ ที่คนไทยเป็นเจ้าของอย่างแท้จริง" นายสุรพล กล่าว

สุริยะใส แนะ ดึงไอทีวี กลับมาเป็นของรัฐ

นายสุริยะใส กตะศิลา เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) กล่าวว่า ทางออกเรื่องนี้รัฐบาลและ สปน.ต้องหนักแน่น เปลี่ยนวิกฤติเป็นโอกาส กำหนดเป้าให้ชัด เพื่อเอาไอทีวีกลับมาเป็นของชาวบ้าน ซึ่งพนักงานไอทีวีก็ไม่มีใครค้าน ถ้าไอทีวี จะเปลี่ยนสถานะเป็นทีวีของสาธารณะที่ไม่แสวงหากำไร

นายสุริยะใส กล่าวว่า ส่วนรูปแบบของไอทีวีในอนาคตต้องกลับไปหาเจตนารมณ์และปรัชญาเดิมที่ต้องเป็นทีวีเสรีและยึดโยงกับประชาชนและปลอดจากการแทรกแซงของอำนาจรัฐและทุน ซึ่งอาจมีสถานะคล้ายกับสถานีโทรทัศน์บีบีซีของอังกฤษ โดยให้เป็นช่องสาระข่าวสาร 100 เปอร์เซ็นต์ และให้เอกชนมืออาชีพเข้ามาผลิตรายการข่าวสารสารคดี เรื่องอนาคตและสถานภาพไอทีวีรัฐบาลต้องตั้งธงหรือมีนโยบายที่ชัดเจนกว่านี้ จะปล่อยไปแบบเลยตามเลย หรือโยนกันไปมาแบบนี้ไม่ได้ เพราะไอทีวีจะตกอยู่ในวังวนของธุรกิจและผลประโยชน์

ร้องให้คำนึงถึงเจตนารมณ์ตั้งสถานี

พนักงานไอทีวีออกแถลงการณ์ฉบับที่ 2 มีเนื้อหาระบุว่า ถึงแม้ว่าคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด ที่ยืนตามคำพิพากษาของศาลปกครองกลาง จะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของบริษัท แต่พนักงานไอทีวีทุกคนยังยืนยันว่าจะทุ่มเททำหน้าที่ของการเป็นสื่อมวลชนที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมต่อไป ภายใต้กรอบและเจตนารมณ์ของการก่อตั้งสถานีโทรทัศน์แห่งนี้ บนพื้นฐานของจริยธรรมแห่งวิชาชีพ

พนักงานทุกคนยืนยันในจุดยืนเดิม คือ ปฏิบัติหน้าที่ด้วยเจตนาบริสุทธิ์ตามกรอบวิชาชีพสื่อมวลชน โดยเสนอข่าวสารตามความเป็นจริง เป็นกลาง เป็นธรรม เพื่อประโยชน์ต่อสังคม และขอเป็นสื่อกลางในการสะท้อนปัญหาที่จะต้องได้รับการแก้ไขของสังคม ไม่ว่าไอทีวีจะถูกแปรสภาพไปในรูปใดก็ตาม

พนักงานไอทีวีขอเรียกร้องให้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีกับผู้บริหารสถานีโทรทัศน์ไอทีวี คำนึงถึงเจตนารมณ์ของการก่อตั้งสถานีโทรทัศน์ไอทีวี รวมทั้งเงื่อนไขและสภาพของการทำหน้าที่สื่อเพื่อสังคมในการเจรจาเพื่อหาทางออกร่วมกัน

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์