รมว.สธ.วอนมั่นใจยกเลิกเก็บ 30 บาทยังรักษาดีเหมือนเดิม

แม้จะมีการเลิกเก็บบริการ 30 บาท แต่โครงการหลักยังคงอยู่


นพ.มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวในรายการ "สายตรงทำเนียบ" วันนี้ (9 ธ.ค.) ถึงโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ว่า แม้จะมีการยกเลิกเก็บค่าธรรมเนียมบริการ 30 บาท แต่โครงการหลักประกันสุขภาพยังคงอยู่ เพราะการเก็บเงินดังกล่าวทำให้เกิดการแบ่งแยกว่าคนไหนจนหรือไม่จน

โดยดูจากบัตรทองที่มีตัว ท. หากใครมี ท. คือ คนจน ทำให้ผู้มี ท.เกิดความรู้สึกถูกดูถูกดูแคลน เสียศักดิ์ศรี อีกทั้งเงิน 30 บาทที่เก็บได้เป็นเพียงเงินร้อยละ 1 ของยอดใช้จ่ายทั้งหมด คงไม่กระทบต่อการจัดสรรงบประมาณให้สถานพยาบาล ทั้งนี้ เชื่อว่าการเลิกเก็บ 30 บาททุกคนจะเกิดความเสมอภาค ส่วนคนที่มีบัตรทองยังใช้ได้ต่อไป แต่ก็มีแผนเปลี่ยนบัตรใหม่ทั้งหมดให้เหมือนกัน ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการ

อย่าคิดว่าการรักษาดีไม่ดีอยู่ที่ยา!!


ส่วนที่หลายคนเป็นห่วงว่าคุณภาพยาจะด้อยลงนั้น รมว.สาธารณสุข กล่าวว่า ตนอยากบอกว่าอย่าคิดว่าการรักษาพยาบาลดีไม่ดีอยู่ที่ยา แต่ขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยโรคที่ถูกต้อง ยาเป็นส่วนหนึ่งเท่านั้น

ซึ่งสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) มีคณะกรรมการควบคุมมาตรฐานสถานพยาบาล บัญชียาตามหลักการควบคุมมาตรฐานอยู่แล้ว การบริการจะอยู่ในขั้นพื้นฐานที่เหมาะสม ขอให้ประชาชนสบายใจได้ว่าคุณภาพยาเหมือนเดิม

กระทรวงการคลังรับปากแล้วจะจัดสรรงบประมาณให้ตามจำนวนจริง


นพ.มงคล กล่าวอีกว่า สำหรับขวัญกำลังใจของแพทย์ พยาบาล และบุคลากร คิดว่าถ้าหากงบรายหัวของประชาชนที่รัฐบาลจัดสรรให้เพียงพอแล้ว โดยปีนี้เพิ่มจาก 1,569 บาท เป็น 1,899.96 บาท ก็คงไม่มีปัญหา

ซึ่ง ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รับปากแล้วว่าจะจัดสรรงบให้ตามจำนวนผู้รับบริการจริง นอกจากนี้ กำลังคิดว่าที่มาของเงินในโครงการฯ ไม่ควรมาจากงบประมาณตลอดไป อาจมาจากการเก็บภาษีอื่น ๆ เช่น ภาษีบุหรี่ ก็จะช่วยลดภาระสำนักงานประมาณน้อยลง คาดว่าภายในรัฐบาลชุดนี้น่าจะเรียบร้อย


พยายามแก้ไขให้ครอบคลุมทั่วถึง


รมว.สาธารณสุข กล่าวด้วยว่า ในส่วนของการให้บริการจะพยายามทำความเข้าใจเจ้าหน้าที่ให้มีใจด้านบริการที่ดี เข้าใจว่าทุกวันนี้บุคลากรทางการแพทย์ทำงานหนักขึ้น เนื่องจากทางราชการพยายามลดจำนวนบุคลากรให้น้อยลง ขณะที่ผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้น

ซึ่งทุกปีจะมีผู้มารับบริการเพิ่มร้อยละ 60 ทำให้งานของผู้ให้บริการไม่ครอบคลุมทั่วถึง ส่งผลให้ผู้มารับบริการต้องคอยนาน ก็จะพยายามแก้ปัญหาตรงนี้ ด้วยการความเข้าใจประชาชนให้ใช้บริการหน่วยพยาบาลใกล้บ้าน เช่น สถานีอนามัย หน่วยบริการสุขภาพชุมชน เป็นต้น เพราะอาการป่วยเล็กน้อยก็ไม่จำเป็นต้องเดินทางไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาล

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์