ไอทีวี ลุ้นระทึก! ศาลนัดชี้ขาด 13 ธ.ค. ผวาคำสั่งยืน - ถึงขั้นยุบสถานีฯ

ไอทีวี ลุ้นระทึก! ศาลนัดชี้ขาด 13 ธ.ค. ผวาคำสั่งยืน - ถึงขั้นยุบสถานีฯ

โดย ผู้จัดการออนไลน์ 8 ธันวาคม 2549 13:36 น.

ไอทีวี ดิ้นแจงสัญญาต่อศาลปกครองสูงสุด ยันข้ออ้างอนุญาโตฯ นำมาเป็นหลักในการชี้ขาด ใช้บังคับไม่ได้ พร้อมโต้แย้งคำสั่ง ศป.กลางไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะไม่ผ่านมติ ครม. จนตุลาการฯ ต้องงัดบทลงโทษคดีหมิ่นศาลฯ มาขู่ พร้อมนัดฟังคำชี้ขาด 13 ธ.ค.นี้ ด้านผู้บริหารไอทีวีเสียวอาจถึงขั้นยุบสถานีฯ

วันนี้ (8 ธ.ค.) องค์คณะตุลาการศาลปกครองสูงสุด

นำโดยนายจรัญ หัตถกรรม ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองสูงสุด ได้ออกนั่งบัลลังก์พิจารณาคดีครั้งแรกในคดีที่ บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาศาลปกครองกลาง ที่สั่งเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ ที่กำหนดให้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) ชดใช้ค่าเสียหาย แก่บริษัท ไอทีวีฯ และปรับลดผลประโยชน์ตอบแทนที่บริษัท ไอทีวีฯ ต้องจ่ายให้แก่รัฐ และให้บริษัท ไอทีวีฯ สามารถปรับสัดส่วนการเสนอรายการข่าว สารคดี และสารประโยชน์จากเดิมไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 ของเวลาออกอากาศทั้งหมดเป็นไม่น้อยกว่าร้อยละ 50

ทนายประมาณ แถลงคำคัดค้านต่อศาล

โดยการพิจารณาคดีครั้งนี้ องค์คณะฯ ได้เปิดโอกาสให้นายประมาณ เรืองวัฒนวณิชย์ ทนายความผู้ได้รับมอบอำนาจแถลงคำคัดค้านต่อศาลเป็นลายลักษณ์อักษรและด้วยวาจา โดยนายประมาณได้พยายามที่จะชี้ให้ศาลเห็นว่าเนื้อหาที่เพิ่มเติมในข้อ 5 วรรค 4 ของสัญญาร่วมการงานระหว่างบริษัท ไอทีวีฯ กับ สปน. ที่อนุญาโตตุลาการนำมาเป็นหลักในการมีคำชี้ขาดให้ สปน.ชดเชยความเสียหายต่างๆ ให้แก่บริษัท ไอทีวีฯ นั้น บริษัท ไอทีวีฯ ไม่ได้เป็นผู้เสนอเพิ่มเติมเนื้อหาดังกล่าวในการยกร่างสัญญาแต่อย่างใด แต่เป็นการกำหนดขึ้นโดยคณะทำงานตรวจร่างสัญญาที่มีตัวแทนของรัฐเป็นผู้ดำเนินการ

ทั้งนี้ ข้อ 5 วรรค 4 ของสัญญาเข้าร่วมงาน

กำหนดว่าหาก สปน. หรือหน่วยงานของรัฐให้สัมปทานอนุญาตหรือทำสัญญาใดๆ กับบุคคลอื่นเข้าดำเนินกิจการให้บริการส่งวิทยุโทรทัศน์โดยมีการโฆษณา หรืออนุญาตให้โทรทัศน์ระบบบอกรับสมาชิกทำการโฆษณาได้ เป็นเหตุให้คู่สัญญาได้รับผลกระทบต่อฐานะทางการเงินของคู่สัญญาอย่างรุนแรง เมื่อคู่สัญญาร้องขอ สปน.จะต้องพิจารณาและเจรจากับคู่สัญญาโดยเร็วเพื่อหามาตรการชดเชยความเสียหาย ซึ่งมาตรการชดเชยความเสียหายหมายรวมถึงกรณีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงหรือเพิ่มเติมข้อตกลงในสัญญา

ส่วนที่ในคำพิพากษาศาลปกครองกลางระบุว่า สัญญาข้อ 5 วรรค 4 เมื่อมีการกำหนดเพิ่มเติมในภายหลัง และไม่ผ่านความเห็นชอบ ครม.จึงไม่อาจนำมาใช้บังคับได้นั้น ข้ออ้างดังกล่าวอาจไม่ชอบด้วยเหตุผล และกฎหมาย เพราะร่างสัญญาสัมปทานที่รัฐมีต่อเอกชนฉบับอื่นๆ เมื่อผ่านการตรวจทานของอัยการสูงสุดแล้วจะถูกส่งมายังผู้รับผิดชอบและส่งต่อให้คู่สัญญาลงนาม เพื่อให้มีผลใช้บังคับ

อ้อน ขอให้กลับคำพิพากษา เพื่อสถานีของประชาชน

อีกทั้งที่ผ่านมาเมื่อบริษัท ไอทีวีฯ พบว่า สถานีโทรทัศน์ช่องอื่นๆ รวมทั้งเคเบิลทีวีกระทำผิดสัญญา เช่นมีการโฆษณาก็จะมีหนังสือไปยัง สปน.ว่ามีกระทำที่ทำให้บริษัท ไอทีวีฯ เกิดความเสียหาย โดยอ้างสัญญาข้อ 5 วรรค 4 สปน.ก็ไม่เคยปฏิเสธว่าสัญญาข้อดังกล่าวใช้บังคับไม่ได้

สัญญาข้อ 5 วรรค 4 ไม่ได้สร้างภาระให้กับรัฐ แต่เป็นการระบุไว้เพื่อให้ความเป็นธรรมกับคู่สัญญาจึงไม่ขัดต่อกฎหมาย และความสงบเรียบร้อย ศีลธรรมอันดี เมื่อบริษัท ไอทีวีฯ เห็นว่าสปน.ทำผิดสัญญา และร้องต่อคณะอนุญาโตตุลาการ จนมีคำชี้ขาดให้มีการลดค่าสัมปทานที่ไอทีวีต้องจ่ายลงเหลือ 230 ล้าน ซึ่งถ้ามีการปฏิบัติตามคำชี้ขาด ดังกล่าวบริษัท ไอทีวีฯ ก็ยังพอแข่งขันกับสถานีโทรทัศน์ช่องอื่นๆ ได้ แต่วันนี้ไอทีวีก็ยังต้องรับภาระเสนอข่าวสารไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ตามสัญญาเดิมและถ้าศาลปกครองสูงสุดพิพากษายืนตามศาลปกครองกลาง บริษัท ไอทีวีฯ ต้องชำระสัมปทานปีละพันล้าน และถูกปรับอีกถึงแสนล้าน พนักงานไอทีวีทั้งหมดก็จะเดือดร้อน

แต่ถ้าศาลปกครองสูงสุดอยากให้โอกาสกับบริษัท ไอทีวี ที่จะเป็นสถานีโทรทัศน์ของประชาชน เพื่อประชาชนต่อไปโดยเมตตากลับคำพิพากษาศาลปกครองกลางก็จะเป็นพระคุณกับบริษัทไอทีวีฯ เป็นอย่างยิ่ง

จรัญเตือน อย่าละเมิดอำนาจศาล

อย่างไรก็ตาม หลังจากที่นายประมาณแถลงเสร็จ นายจรัญ ได้กล่าวเตือนว่า ศาลจะตัดสินอย่างไรก็เป็นเรื่องของศาล ทุกฝ่ายที่มาศาลต่างก็ต้องการความยุติธรรม ซึ่งไม่ต้องกังวล ศาลพร้อมให้ความเป็นธรรมอยู่แล้ว และอยากให้เข้าใจด้วยว่า ศาลปกครองมีกฎละเมิดอำนาจศาล การวิพากษ์วิจารณ์หรือการกระทำใดๆ ขอให้ระมัดระวัง จากนั้นนางเสริมดรุณี ตันติเวสส ตุลาการผู้แถลงคดี ได้แจ้งต่อองค์คณะว่าได้มีความเห็นส่วนตัวต่อคดีนี้ ซึ่งไม่ผูกพันองค์คณะโดยจะทำเป็นลายลักษณ์อักษรได้เสนอต่อองค์แล้วไม่ขอแถลงด้วยวาจา ศาลจึงได้ปิดการพิจารณาคดีและนัดคู่กรณีฟังคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดในวันที่ 13 ธ.ค.เวลา 14.00 น.

ด้าน นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล ประธานกรรมการบริษัท ไอทีวีฯ กล่าวว่า บริษัทฯ ได้อุทธรณ์ใน 3 ประเด็น คือ สัญญาข้อ 5 วรรค 4 ไม่ขัดต่อ พ.ร.บ.การให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ.2535 หรือขัดความสงบเรียบร้อย ศีลธรรมอันดี โดยสัญญาข้อ ไม่ใช่การดำเนินการแก้ไขของไอทีวี แต่เป็นการดำเนินการของคณะทำงานฝ่ายรัฐ สัญญาข้อนี้มีผลใช้บังคับมา 10 ปี โดยที่ สปน.ไม่เคยโต้แย้ง ซึ่งตั้งแต่ปี 42 บริษัท ไอทีวี มีหนังสือขอให้ สปน.พิจารณาการทำละเมิดสัญญา รวม 6 ครั้ง โดยที่ สปน.ยอมรับว่าผิดจริงก็คือกรณีช่อง 11 ที่ปล่อยให้มีโฆษณาได้

รวมทั้งที่ศาลปกครองกลางระบุว่าอนุญาโตตุลาการวินิจฉัยเกินคำขอของบริษัท

ไอทีวี ก็ยืนยันว่าบริษัท ไอทีวี ร้องไปชัดเจนว่าขอให้พิจารณาว่าบริษัท ไอทีวี เสียหายหรือไม่ และต้องได้รับการชดเชยอย่างไร ซึ่ง สปน.ก็ไม่ได้โต้แย้งใดๆ อย่างไรก็ตาม หวังว่าศาลปกครองสูงสุดจะพิจารณาให้ความเป็นธรรม แต่ถ้าหากมีคำพิพากษายืนตามศาลปกครองกลางผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับบริษัทต้องถือว่ารุนแรงมาก โดยเฉพาะด้านการเงิน ที่ต้องจ่ายค่าสัมปทาน 2-3 พันล้าน และค่าปรับอีกแสนล้าน รวมทั้งยังไม่รู้ว่าผู้ลงทุนกับไอทีวีจะคิดและดำเนินการอย่างไรต่อไป ซึ่งก็ยังไม่สามารถตอบล่วงได้ว่าผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจะถึงขั้นรักษาองค์กรไว้ได้หรือไม่ ต้องรอคำพิพากษาที่จะออกมาก่อน แต่ทางผู้บริหารพยายามทำหน้าที่ให้ดีที่สุด

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์