จันทร์ส่องหล้าส่งคนแจ้งเอาผิด เทพพนมหาหนุนม็อบ10ธค.
"แจ้งความเอาผิด เทพพนม กล่าวหาส่งเงินอัดฉีดผู้ชุมนุม"
ตัวแทนบ้านจันทร์ส่องหล้าส่งตัวแทนแจ้งความสน.บางพลัด เพื่อเอาผิด"เทพพนม"ฐานกล่าวหาส่งเงินอัดฉีดผู้ชุมนุมที่ท้องสนามหลวง วันที่ 10 ธันวาคมนี้ ด้าน"สุรยุทธ์" ระบุ มั่นใจคมช.รับมือการชุมนุมใหญ่ดังกล่าวได้แน่
(8ธค.) นายพินิจ ทวีสุข อายุ 61 ปี อยู่เลขที่ 67 ซอยอารีสัมพันธ์ แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กทม.ตัวแทนบ้านจันทร์ส่องหล้า และเป็นอดีตที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม (นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา) เดินทางเข้าพบ พ.ต.ท.อมร เจริญเกษ สารวัตรเวร สน.บางพลัด เพื่อเข้าแจ้งความเอาผิดนายเทพพนม ศิริวิทยารักษ์ ประธานเครือข่ายประชาชนภาคอีสานพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ในคดีหมิ่นประมาท หลังจากนายเทพพนม ได้ให้ข้อมูลสื่อมวลชนกล่าวหาตนเป็นผู้บงการส่งเงินอัดฉีดม็อบที่จะมาชุมนุมที่ท้องสนามหลวง ในวันที่ 10 ธ.ค.ที่จะถึงนี้
"เทพพนมให้สัมภาษณ์พาดพิงทำให้เสียชื่อเสียง"
นายพินิจ กล่าวว่า นายเทพพนมซึ่งเคยเป็นกลุ่มสนับสนุน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์สื่อต่างๆ ที่ จ.ขอนแก่น เมื่อวันที่ 1 ธ.ค.ว่าตนเป็นผู้บงการส่งเงินอัดฉีดม็อบ โดยหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ฉบับวันที่ 2 ธ.ค.49 ได้คำสัมภาษณ์นายพินิจ ในตอนหนึ่งกล่าวเกี่ยวกับว่าจะมีม็อบไปป่วนรัฐบาล โดยนายพินิจ พ่อบ้านจันทร์ส่องหล้าคอยสั่งการเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาล ขณะที่หนังสือพิมพ์แนวหน้า ลงเป็นชื่อย่อคือนาย พ ในบ้านจันทร์ส่องหล้า ซึ่งใครๆ ก็รู้ว่าเป็นตน โดยเฉพาะคนในแวดวง พ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งทำให้ตนได้รับความเสียหาย และเกิดความเข้าใจผิด อีกทั้งไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด ตนจึงมาแจ้งความเพื่อให้ดำเนินคดีนายเทพพนม ซึ่งตนนำหนังสือพิมพ์ 2 ฉบับดังกล่าวมาเป็นหลักฐานแกพนักงานสอบสวนแล้ว
นายพินิจ กล่าวต่อว่า ตอนแรกที่ตนไม่ได้รีบมาแจ้งความในทันทีนั้น เนื่องจากคิดว่าไม่น่ามีปัญหาอะไร แต่หลายวันต่อมาได้มีญาติ บุคคลที่รู้จักหรือแม้แต่บุคคลที่นับถือได้โทรมาสอบถามและต่อว่าตนจึงตัดสินใจแจ้งความ ประกอบกับดูสถานการณ์ตอนนี้สื่อต่างๆ แล้ว คมช.ก็ดูกังวลเกี่ยวกับปัญหาคลื่นใต้น้ำต่างๆ อีกทั้งตนไม่สามารถจะรู้ได้ว่าม็อบที่จะมาในวันที่ 10 ธ.ค. จะมีเหตุการณ์อะไรหรือไม่ เกรงว่าจะถูกโยงว่ามีส่วนเกี่ยวข้อง ส.ส.ในพื้นที่บางคนก็กลัวว่าจะถูกโยง ต้องมาอยู่กรุงเทพ ตนเองก็กลัวเช่นกัน
"เตรียมรับมือการชุมนุม"
สำหรับนายเทพพนมเคยเดินทางมาเพื่อพบคุณหญิงพจมาน ชินวัตร เพื่อมายื่นหนังสือขอเงินเพื่อเคลื่อนไหวในส่วนที่เขาเป็นแกนนำ และเคยเป็นกลุ่มสนับสนุน พ.ต.ท.ทักษิณ นั้นจริง แต่เป็นช่วงประมาณเดือนกรกฎาคม ก่อนที่จะมีการปฏิรูปฯ เดือนกว่าๆ นายพินิจ กล่าว นายพินิจ กล่าวต่อด้วยว่า ทั้งนี้ตนแจ้งความดำเนินคดีนายเทพพนม แต่เพียงผู้เดียว แต่สำหรับหนังสือพิมพ์นั้นตนไม่แจ้งความดำเนินคดีเนื่องจากเพียงแต่นำข้อมูลจากการสัมภาษณ์นายเทพพนมมาลงเท่านั้น
ด้านพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์การเตรียมการรับมือของรัฐบาลในการชุมนุม 10 ธ.ค. ว่า ในส่วนรัฐบาลไม่ได้เข้าไปดูแล เป็นเรื่องของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ที่รับผิดชอบรัฐบาลคิดว่าในส่วนของกระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ประสานงานกันอย่างใกล้ชิดอยู่แล้ว
"เป็นเรื่องของ กองทัพภาค 1"
ผู้สื่อข่าวถามว่าขณะนี้มีข่าวว่ามีการจัดส่งกำลังทหาร 3-4 กองพล ลงในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล จำนวน 1,800 ชุมชน ทำให้มองว่ากำลังเกิดภาวะฉุกเฉินอะไรหรือ ไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตนไม่ได้ลงไปในรายละเอียดเป็นเรื่องของทางกองทัพภาค 1 ที่ได้มีการหารือร่วมกันกับ ผบช.น.และกรุงเทพมหานคร แต่ตนคิดว่าไม่ได้เป็นเรื่องถือปืน
หรือ ถืออาวุธต่างๆลงไป แต่เป็นลักษณะของการทำความเข้าใจกันมากกว่า ทหารทำงานได้ 2 อย่าง คือการใช้กำลัง และการพัฒนา ซึ่งหมายถึงการสร้างความเข้าใจกับประชาชน บทบาทของทหารมีเพียง 2 ด้าน
"ดูแลการเคลื่อนไหวอย่างใกล้ชิด"
เมื่อถามว่ามีรายงานว่ามีนักการเมืองอยู่เบื้องหลังการชุมนุมครั้งนี้หรือไม่ พล.อ.สุรยุทธ์ กล่าวว่า ยังไม่ได้รับรายงานในรายละเอียด ก็คงติดตามเช่นเดียวกับที่สื่อมวลชนติดตาม แต่ก็เป็นธรรมดาว่าความเคลื่อนไหวต่างๆ เราก็ต้องดูว่ามีปัจจัยอะไรบ้างที่เกี่ยวข้อง
ส่วนพล.ต.ณรงค์ศักดิ์ ภู่อารีย์ ผู้บัญชาการจังหวัดทหารบกอุตรดิตถ์ กล่าวว่า เฝ้าติดตามสถานการณ์ความเคลื่อนไหวของกลุ่มต่างๆภายในจังหวัดอย่างใกล้ชิด หลังจากจะมีการชุมชนใหญ่ในวันที่ 10 ธันวาคมนี้ ที่กรุงเทพฯ
แต่ไม่มีการเรียกอดีตนักการเมืองระดับชาติหรือนักการเมืองท้องถิ่นมารับคำชี้แจ้ง เชื่อว่าในสถานการณ์บ้านเมืองขณะนี้ทุกคนต้องการความสงบ และได้เคยขอความร่วมมือไปแล้วครั้งหนึ่ง เมื่อช่วง คมช.ทำการรับประหารใหม่ๆ
"ยังไม่พบความเคลื่อนไหวใดๆ"
แม้ว่าจังหวัดอุตรดิตถ์จะเคยส.ส.ที่มาจากพรรคไทยรักไทย ทั้ง 3 เขต หรือทั้งจังหวัด แต่อดีต ส.ส.ได้ลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคหมดแล้ว มาถึงขณะนี้ยังไม่พบความเคลื่อนไหวใดๆ ส่วนการรวมคนและเดินทางเข้าสู่กรุงเทพฯนั้น จะมีการตั้งจุดตรวจถนนสายเอเชีย หรือถนนหมายเลข 11 ไม่ได้เป็นการหวงห้ามไม่ให้เข้าร่วมชุมนุม เป็นการตรวจสอบว่าไม่มีการสนับสนุนหรือมีท่อน้ำเลี้ยงจากกลุ่มใด
ทางด้านนายเมธา มาสขาว คณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน(ครส.) และผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรสิทธิมนุษยชน แถลงข่าวชี้แจงการเคลื่อนไหว 10 ธันวาคม ว่า วันที่ 10 ธันวาคมนี้ ซึ่งเป็นวันรัฐธรรมนูญและวันสิทธิมนุษยชนสากล นอกจากจะเคลื่อนไหวของเครือข่าย 19 กันยาต้านรัฐประหาร และกลุ่มประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่นัดชุมนุมพร้อมกัน 2 กลุ่ม เวลา 16.00 น. ที่สนามหลวงแล้ว เครือข่ายองค์กรสิทธิมนุษยชนไทยมีความเคลื่อนไหวและกิจกรรมในวันดังกล่าว ดังนี้
"เรียกร้องให้ คมช.คำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชน"
ในวันที่ 10 ธันวาคม เครือข่ายองค์กรสิทธิมนุษยชนไทย ประกอบไปด้วย คณะกรรมการรณรงคืเพื่อสิทธิมนุษยชน(ครส.), องค์การเอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย, สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน(สสส.), คณะกรรมการคาทอลิกเพื่อความยุติธรรมและสันติ(ยส.), คณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพ, คณะทำงานปกป้องนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน, คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตยในพม่า(กรพ.), สถาบันข่าวอิศรา, คระกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย(ครป.), คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน สภาทนายความและมูลนิธิ 14 ตุลา จะจัดกิจกรรมเวทีอภิปรายสาธารณะเนื่องในวันสิทธิมนุษยชนสากล ในช่วงเช้าที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา สี่แยกคอกวัว โดยมีการรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนด้านต่างๆ ประจำปี 2549 และการแถลงข่าวข้อเสนอต่อรัฐบาลและ คมช. โดยจะมีการเดินขบวนไปยื่นหนังสือถึงประธาน คมช. ที่ หน้ากองทัพบก ในเวลา 13.30 น. เพื่อให้คณะ คมช.และรัฐบาลคำนึงถึงหลักปฏิบัติตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนสากล
เนื่องจากเห็นว่า การรัฐประหาร 19 กันยา เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนสูงสุดประจำปี ดังนั้น การได้อำนาจมาด้วยการละเมิดสิทธิมนุษยชนของบุคคล คมช.และรัฐบาลจะต้องตระหนักและหยุดลิดรอนสิทธิเสรีภาพนี้ โดยเฉพาะการประกาศกฏอัยการศึกโดยละเมิดข้อตกลงกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง คมช.และรัฐบาลจะต้องรีบคืนสิทธิเสรีภาพนี้โดยปราศจากเงื่อนไข โดยคำนึงถึงภารกิจชั่วคราว ดังนี้
"ให้คำนึงถึงภารกิจชั่วคราวดังนี้"
1.การยึดอำนาจมาโดยการละเมิดสิทธิมนุษยชนด้วยการอ้างเหตุผล 4 ข้อนั้น คมช.และรัฐบาลจะต้องเร่งพิสูจน์ความจริงให้ปรากฏโดยเร็วที่สุด และเร่งประกาศจัดให้มีการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยโดยเร็วเพื่อให้เกิดความชัดเจน หากคลุมเคลือและมีการสืบทอดอำนาจผ่านกลไกที่จัดตั้งขึ้นใหม่ เราเชื่อว่าจะเกิดจราจลและการชุมนุมขับไล่ครั้งใหญ่ของประชาชนเหมือนในเหตุการณ์พฤษภา 2535 อย่างแน่นอน
2.การชุมนุมโดยสงบของประชาชนเป็นสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานที่รัฐจะละเมิดหรือปิดกั้นมิได้ เราขอเสนอให้ คมช.และรัฐบาลยุติการคุกคามหรือปิดกั้นสิทธิเสรีภาพใดๆ ของประชาชน ในการแสดงออกเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย รัฐบาลจะต้องคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ (Human Dignity) ตามหลักสิทธิมนุษยชนสากล โดยเฉพาะ สิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ซึ่งไม่สามารถแบ่งแยกว่าสิทธิใดมีความสำคัญกว่าสิทธิใดได้ รวมถึงสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม ซึ่งต่างมีความสำคัญเท่าเทียมกัน ดังนั้น รัฐบาลจะอ้างว่าต้องพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าเพื่อความสมานฉันท์และประชาชนมีความเป็นอยู่ทางเศรษฐกิจที่ดีก่อน แล้วจึงค่อยให้สิทธิประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมืองที่หลังย่อมไม่ได้ และขัดต่อหลักการนี้
สุดท้ายเราหวังว่า รัฐบาลจะไม่มีมาตรการใช้ความรุนแรงหรืออาวุธปราบปรามประชาชนเพื่อรักษาอำนาจที่ไม่ชอบธรรมนี้ไว้ ดังเช่นเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 หรือ พฤษภาคม 2535 และเราเห็นว่าแทนที่คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติจะออกมาโวยวาย ตรวจสอบ สอบสวน ข่มขู่ประชาชนที่จะออกมาชุมนุม รัฐควรมีหน้าที่อำนวยความสะดวก รักษาความสงบให้ประชาชนเพื่อชุมนุมโดยสงบอย่างเต็มที่ในวิถีประชาธิปไตย