อ๊ากก..! อภิสิทธิ์ สมาชิก ส่ายหน้า

ใครกันแน่ที่พร้อมกับ "อำนาจทางการเมือง"

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ


บทความพิเศษจาก
(มติชนสุดสัปดาห์)


แม้สถานการณ์การเมืองไทยในวันนี้พรรคไทยรักไทยจะตกอยู่ในภาวะหนีญ่ายพ่ายจะแจ ถ้าเป็น "นักมวย" ก็ต้องบอกว่าไม่ต้องคิดว่าจะเอาชนะคู่ต่อสู้ได้อย่างไร

วันนี้แค่คิดว่าจะเอาตัวรอดให้พ้นจากการถูกน็อคในยกนี้ได้ก็เก่งแล้ว

แต่ถึงแม้ "ไทยรักไทย" จะอยู่ในภาวะย่ำแย่อย่างหนัก กลับเป็นเรื่องที่น่าแปลกอย่างยิ่งที่พรรคประชาธิปัตย์ไม่สามารถช่วงชิงความโดดเด่นจากสถานการณ์นี้ได้เลย

ก่อนหน้านี้การเมืองไทยแบ่งเป็น 2 ขั้วชัดเจน คือ พรรคไทยรักไทยและพรรคประชาธิปัตย์ เมื่อขั้วหนึ่งย่ำแย่ อีกขั้วหนึ่งน่าจะโดดเด่น

แต่ดูเหมือนว่าความเป็นจริงในวันนี้กลับไม่เป็นเช่นนั้น

"บรรหาร ศิลปอาชา" และพรรคชาติไทยกลับจะดูโดดเด่นกว่า แม้จะเป็นความโดดเด่นในเส้นทางสายเดิมแบบนักการเมือง " มืออาชีพ" หรือ "รุ่นเก๋า" ทางการเมือง

พรรคประชาธิปัตย์กลับไม่โดดเด่นอย่างที่ใครคาดคิด

อาจเป็นเพราะมี "ชนัก" เรื่องคดียุบพรรคติดหลังอยู่ ทำให้พรรคประชาธิปัตย์ไม่กล้าออกมาวิพากษ์วิจารณ์กลุ่ม "อำนาจใหม่" อย่างเต็มปากเต็มคำ

ส่วนใหญ่มักจะเป็นการ "เสี้ยม" ให้ "อำนาจใหม่" เล่นงาน "ทักษิณ" และพรรคไทยรักไทยมากกว่า

ไม่ได้แสดง "จุดยืน" การต่อต้านเผด็จการทหารเหมือนในอดีต

ที่สำคัญ "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ที่ควรจะโดดเด่น กลับไม่โดดเด่นอย่างที่คิด "จุดยืน" ต้านการรัฐประหารก็ไม่เด่นเท่า "จาตุรนต์ ฉายแสง"

ความเก๋าก็สู้ "บรรหาร" ไม่ได้

หรือเรื่องฝีมือการบริหาร "สมคิด จาตุศรีพิทักษ์" ที่งำประกายอยู่ในถ้ำก็โดดเด่นกว่า

ภาวการณ์เช่นนี้ทำให้เกิดบรรยากาศความอึดอัดในพรรคประชาธิปัตย์ "รอยแยก" ที่เคยมีอยู่ก็เริ่มปริร้าวขึ้นอีกครั้ง

ย้อนอดีตกลับไปเมื่อครั้งที่ "ชวน หลีกภัย" พ้นจากตำแหน่งหัวหน้าพรรค

นายชวน หลีกภัย


"ประชาธิปัตย์" ก็แตกร้าวออกเป็น 2 เสี่ยงจากการแย่งชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรค

"ชวน" นั้นหนุน "อภิสิทธิ์" ในขณะที่ พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ อดีตเลขาธิการพรรค หนุน "บัญญัติ บรรทัดฐาน"

ในที่สุด "บัญญัติ" ก็ได้รับเลือกเป็นหัวหน้าพรรค และ "ประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์" เป็นเลขาธิการพรรค

ก่อนที่ "บัญญัติ" กับ "เสธ.หนั่น" จะแตกคอกัน จน พล.ต.สนั่นออกไปตั้งพรรคมหาชน

แต่หลังจาก "ประชาธิปัตย์" พ่ายแพ้พรรคไทยรักไทยอย่างยับเยินในการเลือกตั้งเมื่อปี 2548

"บัญญัติ" ก็ลาออกจากหัวหน้าพรรค และ "อภิสิทธิ์" ก้าวขึ้นมาเป็นหัวหน้าพรรค

พร้อมกับ "สุเทพ เทือกสุบรรณ" เป็นเลขาธิการพรรค

แม้ภาพที่ออกมาจะดูเหมือนว่าพรรคประชาธิปัตย์เป็นหนึ่งเดียว แต่แท้จริงแล้ว "รอยร้าว" ภายในพรรคก็ยังดำรงอยู่

ยิ่ง "สุเทพ" เจอชนักเรื่องคดียุบพรรค เพราะมีบทบาทสำคัญในเรื่องนี้ และกระแสของ "อภิสิทธิ์" ไม่โดดเด่นอย่างที่คิด

ปฏิกิริยาเคลื่อนไหวเรื่องเปลี่ยนตัวหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์จึงเริ่มต้นขึ้น

มีคนพูดถึงชื่อ "ชวน หลีกภัย" ที่ช่วงหลังมีบทบาทมากขึ้น

เช่นเดียวกับการชักชวนให้ "เสธ.หนั่น" กลับพรรคประชาธิปัตย์

แม้จะเป็นการหมุนเข็มนาฬิกาย้อนอดีตกลับไปสู่วันยิ่งใหญ่ของพรรคประชาธิปัตย์ในปี 2535 หรือ 14 ปีก่อน

แต่นี่คือ ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในวันนี้...ปี 2549

อภิสิทธิ์ พร้อมแค่ไหน กับตำแหน่ง หัวหน้าพรรค

พรรคประชาธิปัตย์


"อภิสิทธิ์" เป็นคนหนุ่มที่ได้รับการจับตามองนานเป็น 10 ปีว่าเป็น "เลือดใหม่" ของพรรคประชาธิปัตย์ และเป็น "ว่าที่" หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ในอนาคต

ความโดดเด่นของ "อภิสิทธิ์" มาจากพื้นเพครอบครัวที่ดี และการศึกษาที่สูง หน้าตาดี วาทศิลป์เยี่ยม ไม่มีรอยแปดเปื้อนหรือข้อครหาใดๆ เลยตลอดเวลาที่ทำงานการเมือง

สถานะครอบครัวก็อบอุ่น

แต่ความสมบูรณ์พร้อมที่เป็น "จุดเด่น" ของ "หนุ่มมาร์ค" กลับกลายเป็น "จุดอ่อน" เมื่อเขาก้าวสู่ตำแหน่งสูงสุดของพรรค

ถึงวันนี้เขาก็ยังไม่สามารถทำตัวกลมกลืนกับ ส.ส.ต่างจังหวัดได้

ภาพของเขาถูกนำมาเทียบกับ "ชวน หลีกภัย" ที่มีเสน่ห์อย่างยิ่งเมื่ออยู่กับชาวบ้านและ ส.ส.ต่างจังหวัด หรือเรื่องการให้เวลา "เต็มที่" และ "เต็มรูปแบบ" กับ ส.ส.ต่างจังหวัด เขาก็เป็นรอง "ชวน"

ไปช่วยปราศรัยต่างจังหวัด แต่ต้องกลับบ้านในคืนนั้น เป็นเรื่องที่ยังถูกวิพากษ์วิจารณ์ในพรรคจนถึงทุกวันนี้

ที่สำคัญ "อภิสิทธิ์" ไม่มีฐานเสียงในพรรค ในการเลือกหัวหน้าพรรคครั้งที่ผ่านมาก็ต้องอาศัยบารมีของ "สุเทพ"

เมื่อความโดดเด่นในฐานะ "คลื่นลูกใหม่" ของ "อภิสิทธิ์" ไม่เด่นชัด ในขณะที่กระแส "ขิงแก่" กำลังมาแรง

ไม่แปลกที่เก้าอี้ของ "อภิสิทธิ์" จะถูกเขย่าอย่างแรงในวันนี้

ยิ่ง "อภิสิทธิ์" เล่นบทหลับตาข้างหนึ่งไม่เป็น แต่ยืนหยัดในหลักการการคัดเลือกคนเข้าพรรค

ใครที่เคยถูกพรรคประชาธิปัตย์อภิปรายไม่ไว้วางใจ คนนั้นเข้าพรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้

แกนนำพรรคหลายคนที่คิดฝันจะอาศัยจังหวะที่พรรคไทยรักไทยกำลังแตกกระจาย ใช้ความเป็น "แม่เหล็ก" ของประชาธิปัตย์ดูดเข้าพรรค

เจอหลักการของ "อภิสิทธิ์" เข้าไป ก็ออกอาการฟาดหัวฟาดหางทันที

แต่ทุกคนรอจังหวะที่เหมาะสมสำหรับการเคลื่อนไหว นั่นคือ หลังการตัดสินคดียุบพรรคพรรคประชาธิปัตย์ของศาลรัฐธรรมนูญ

ที่คาดกันว่าเดือนมกราคม 2550 คงจะชัดเจนขึ้น

และแน่นอนย่อมมีการเอ่ยถึงชื่อ ,b>"ชวน" และ "เสธ.หนั่น" มาแทนชื่อ "อภิสิทธิ์" และ "สุเทพ"

ตัองยอมรับว่าบารมีของ "ชวน" ในพรรคประชาธิปัตย์นั้นคล้ายกับ "ทักษิณ" ในพรรคไทยรักไทย


จนถึงวันนี้ยากที่ใครจะทาบได้

นายบัญญัติ บรรทัดฐาน


เช่นเดียวกับบารมีของ "เสธ.หนั่น" แม้จะแยกไปตั้งพรรคใหม่ แต่เส้นสายในพรรคประชาธิปัตย์ก็ไม่ได้ลดน้อยลงเลย และยิ่งสายสัมพันธ์ทางการเมืองกับ "นักเลือกตั้ง" ต่างพรรคแล้ว

ไม่ว่าจะเป็น "บรรหาร ศิลปอาชา-สมศักดิ์ เทพสุทิน-พินิจ จารุสมบัติ-เสนาะ เทียนทอง" หรือ "สุวัจน์ ลิปตพัลลภ" "เสธ.หนั่น" แน่นปึ้ก

แตกต่างจาก "สุเทพ เทือกสุบรรณ" ที่มีบุคลิกของ "นักรบ" มากกว่านักประสานประโยชน์

ไม่แปลกที่วันนี้จะมีคนในพรรคประชาธิปัตย์ชักชวนให้ "เสธ.หนั่น" กลับมา

และเสียงชักชวนนี้เร้าใจไม่น้อย เพราะ พล.ต.สนั่นอยู่ในภาวะที่ค่อนข้างอับจน การพลิกฟื้นพรรคมหาชนให้กลับมาเป็นเรื่องที่ยากเกินกำลังของ "เสธ.หนั่น"

หากมีโอกาสได้กลับมาเป็นเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์อีกครั้ง ย่อมเป็น "โอกาสทอง" ที่ "เสธ.หนั่น"ไม่ปล่อยมืออย่างแน่นอน

คนทุกคนย่อมมีวันวานที่หวานอยู่ฝังแน่นอยู่ในความทรงจำ

อดีตที่หอมหวานเมื่อปี 2535 และ ปี 2541 ยังเป็นที่โหยหาของพลพรรคประชาธิปัตย์

แม้วันนี้ "ชวน" จะอายุ 68 ปี และ พล.ต.สนั่น จะเพิ่งผ่านตัวเลข 71 ปีไปเมื่อเดือนกันยายน 2549 แล้วก็ตาม


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์