ปชป.ปฏิเสธลอกการบ้านประชานิยม“ทักษิณ”


นายกฯมอบ 9 ของขวัญ เอาใจรากหญ้า โวควักแค่ 2 พันล.จิ๊บๆ ได้ผลงานมากกว่า 2 หมื่นล้านบาท พุ่งกว่าสิบเท่า กระจายช่วยเหลือทุกกลุ่มครอบคลุมถึงในครัว โอ่ล้างท่อระบบมาเฟียสินค้าเกษตร หวังสร้างมาตรฐานใหม่ ลดต้นทุนการผลิตตั้งแต่ในฟาร์ม โวช่วย 9 ล้านครอบครัวประหยัดค่าไฟฟ้า

ปชป.ยืนยันไม่ใช่หาเสียงล่วงหน้าแน่นอน ปฏิเสธข้อกล่าวหาลอกการบ้านประชานิยม “กอร์ปศักดิ์”เขียนบทความ “กบผู้ฆ่ายักษ์”และ “กบพลังงาน”ชำแหละวงการเกษตรและพลังงาน หวังตัดตอนระบบอำนาจเหนือตลาด “เพื่อไทย”สับเพิ่งมาเข็นผลงานก่อนเลือกตั้ง ยันไม่ต่างจากผลงานนายใหญ่ “การเมืองใหม่”ชำแหละแค่โปรยยาหอม หวังกลับมาเป็นรัฐบาลอีกครั้ง นักวิชาการห่วงขยายระบบประกันสังคม แก้ไม่ตรงจุด ส่วนแก้รธน. “อดีตส.ส.ร.”ชี้จะยุ่งเพราะไปลดจำนวนส.ส. ขณะที่ส.ว.สรรหาใหม่ เม.ย.น่าจะจบ โพลเชียร์ใช้ระบบส.ส.400+100 แบบเดิม

“ซานต้ามาร์ค”โชว์แจก
เมื่อวันที่ 9 ม.ค. เวลา 09.00 น. นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ “เชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯอภิสิทธิ์” โดยนายกฯได้ใช้เวลาพูดถึงการทำงานในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมาประมาณ 20 นาที จากนั้นในช่วงที่ 2 ของรายการ เป็นการประกาศนโยบาย “ปฏิบัติการร่วมเดินหน้าปฏิรูปประเทศไทย” ในส่วนของกระบวนการประชาวิวัฒน์ ซึ่งถ่ายทอดสดมาจากตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล

โดยนายกฯ กล่าวว่า ที่ต้องแยกส่วนของวาระเร่งด่วน 3 เรื่อง คือ เศรษฐกิจนอกระบบ ค่าครองชีพ และความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินมาประกาศในวันนี้ เพราะเราได้ใช้กระบวนการพิเศษที่ก้าวข้ามข้อจำกัด อุปสรรคของระบบราชการ เพื่อให้ได้นโยบายและมาตรการต่าง ๆที่จะหยิบยื่นให้เป็นของขวัญกับประชาชน โดยได้เชิญทุกหน่วยงาน รวมทั้งภาคเอกชนเข้ามาทำงานร่วมกันแบบเต็มเวลาถึง 5 สัปดาห์ และได้เข้าไปพบปะกับประชาชนที่ได้รับผลกระทบโดยตรงกว่า 1 พันคน

ควักแค่2พันล.จิ๊บจ๊อย
นายกฯ กล่าวอีกว่า แนวคิดในการแก้ไขปัญหาทั้ง 3 เรื่องนี้ ไม่ใช่เป็นการทุ่มเงินงบประมาณไปลดแลกแจกแถมให้ประชาชน แต่เป็นการปรับในเชิงโครงสร้างอย่างแท้จริง รวมแล้วใช้งบประมาณทั้งหมดประมาณ 2 พันกว่าล้านบาทเท่านั้น ขณะที่ประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนนั้น เป็นเงินกว่า 2 หมื่นล้านบาท เรียกได้ว่าเงินที่ใช้กับประโยชน์ที่ได้ต่างกันถึง 10 เท่า ที่สำคัญ เงินที่ใช้ไม่ได้เป็นการไปแจกให้ประชาชน แต่ตรงกันข้าม ก้อนเงินที่ใหญ่ที่สุดเป็นเงินสมทบในระบบสวัสดิการที่เรามีอยู่แล้ว

นายกฯ กล่าวอีกว่า ข้อสรุปที่เราได้ 9 มาตรการนี้ เปรียบเหมือนของขวัญ 9 ชิ้นที่จะมอบให้แก่ประชาชนคนไทย ได้แก่ 1.เป็นของขวัญสำหรับประชาชนแรงงานนอกระบบที่ไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม 10 กว่าล้านคน โดยเราจะปรับกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถสมทบเงินไม่เกิน 100 บาทต่อเดือน เพื่อเข้ามาอยู่ในระบบประกันสังคมได้ โดยให้มีผลตั้งแต่เดือน ก.ค.นี้เป็นต้นไป ซึ่งไม่ตัดสิทธิสำหรับคนที่สนใจเข้าไปอยู่ในกองทุนเงินออมแห่งชาติด้วย

เอาใจรากหญ้าถึงในครัว
นายอภิสิทธิ์ กล่าวอีกว่า 2.การเข้าถึงสินเชื่อ โดยจะเริ่มต้นที่กลุ่มแท็กซี่มืออาชีพที่มีประสบการณ์มากกว่า 3 ปี สามารถเป็นเจ้าของรถแท็กซี่ใหม่ โดยให้ผ่อนเงินดาวน์ต่ำสุด 5% ถ้ามีประสบการณ์มากกว่า 9 ปี ซึ่งมีวงเงินสินเชื่อให้ถึง 1,600 ล้านบาท และจะนำร่องให้สินเชื่อผ่อนปรนสำหรับผู้ค้าหาบเร่แผงลอยในจุดผ่อนผันในกทม.ด้วย ยืนยันว่าการดำเนินการตรงนี้จะไม่มีภาระงบประมาณ เพราะใช้สถาบันการเงินของรัฐ 3.การขึ้นทะเบียนมอเตอร์ไซด์รับจ้าง ซึ่งจะทำได้ตั้งแต่เดือน มี.ค.เป็นต้นไป เริ่มต้นที่กทม.ก่อน จะใช้เงินเพียง 10 กว่าล้านบาทเพื่อใช้ในการบริหารจัดการต่างๆ 4.การเพิ่มจุดผ่อนผันให้หาบเร่แผงลอย ซึ่งจะทำให้ 2 หมื่นราย ค้าขายได้ถูกต้องตามกฎหมาย สามารถเห็นผลได้ตั้งแต่เดือน เม.ย.เป็นต้นไป 5.การลดค่าครองชีพ โดยเลิกการอุดหนุนก๊าซแอลพีจีสำหรับภาคอุตสาหกรรม ส่วนภาคครัวเรือนและขนส่งเราจะตรึงราคาไว้เหมือนเดิม เริ่มดำเนินการได้ตั้งแต่เดือนก.ค.เป็นต้นไป ซึ่งจะประหยัดการส่งเงินเข้ากองทุนน้ำมันได้ถึง 7,300 ล้านบาท และทำให้ฐานะของกองทุนน้ำมันดีขึ้น

โอ่ล้างท่อมาเฟียเกษตร
นายกฯ กล่าวอีกว่า 6.ให้ประชาชนยากจนที่ใช้ไฟน้อย ต่ำกว่า 90 หน่วยใช้ไฟฟรีอย่างถาวร โดยจะไม่ใช้เงินภาษีของประชาชนมาดำเนินการ แต่จะไปปรับโครงสร้างค่าธรรมเนียมแทน 7.การลดต้นทุนภาคการเกษตร โดยเฉพาะอาหารสัตว์ และพ่อพันธุ์ แม่พันธุ์ สามารถทำได้เดือนก.ค.เป็นต้นไป จะทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น และนำมาสู่การลดต้นทุนราคาสินค้าเกษตรที่ประชาชนส่วนใหญ่บริโภค 8.ราคาอาหารเป็นธรรม โปร่งใส เช่น ไขไก่ จะทดลองให้ขายเป็นกิโลกรัมเพื่อประหยัดต้นทุนในการคัดแยกได้ถึง 5-10 สตางค์ โดยจะทดลองนำร่องมีนบุรี และรังสิต และ 9.ปัญหาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน และอาชญากรรม เราจะประกาศเป็นเป้าหมายที่ชัดเจนว่า ภายใน 6 เดือน คดีอาชญากรรมในกทม.จะต้องลดลง 20 %  เริ่มต้นตั้งแต่เดือน ม.ค.นี้ แนวทางที่ทำคือกำหนดจุดเสี่ยง 200 กว่าจุด โดยจะเข้าไปบูรณการระบบกล้องวงจรปิด จากทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน รวมทั้งเพิ่มบุคลากรเข้าไปตรวจ ซึ่งจะใช้งบประมาณปรับปรุงอุปกรณ์เพียง 200-300 ล้านบาทเท่านั้น

9ของขวัญให้ประชาชน
“9 เรื่องนี้เป็นของขวัญ 9 ชิ้นที่จะมอบให้แก่พี่น้องประชาชนภายใต้กระบวนการปฏิรูปประเทศไทย ซึ่งเป็นวาระเร่งด่วน โดยแผนทั้งหมดจะเสนอครม.ในวันที่ 11 ม.ค.นี้ ซึ่งผมจะตั้งคณะทำงานคอยติดตามเพื่อให้มั่นใจว่าของขวัญ 9 ชิ้นที่เป็นคำมั่นสัญญานี้ ถึงมือประชาชนอย่างแน่นอน เพื่อความเท่าเทียมและความเข้มแข็งของคนไทยและประเทศไทย” นายอภิสิทธิ์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าจากนั้น นายกฯ ได้ร่วมเวทีเสวนากับรัฐมนตรี และคณะทำงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รมว.พลังงาน นางพรทิวา นาคาศัย รมว.พาณิชย์ นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ นักวิชาการ โดยนายกฯ ได้ย้ำถึงความแตกต่างระหว่างที่ประกาศไปกับนโยบายประชานิยมว่า เรื่องที่เราทำทั้งหมดส่วนใหญ่เป็นเรื่องโครงสร้างและความเป็นธรรม ไม่ใช่เอาเงินภาษีอากรมาแจกให้ประชาชน จึงเป็นคนละเรื่องกับนโยบายประชานิยม แต่เราจะปรับปรุงกฎระเบียบและวิธีการทำงาน เพื่อเปิดโอกาสให้คนที่ถูกเอารัดเอาเปรียบ ได้รับความเป็นธรรมมากขึ้น

เชื่อโปร่งใสสกัดทุจริต
ขณะที่นายสังศิต กล่าวว่า นโยบายนี้เน้นการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่ม จึงเป็นหลักประกันว่านโยบายนี้จะมีความโปร่งใส ป้องกันไม่ให้นักการเมืองสามารถเข้ามาทุจริตได้ ด้านพล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ผบ.ตร. กล่าวถึงการลดปัญหาอาชญากรรมในกทม. 20 % ว่า ในกทม.มีจุดที่มีอาชญากรรสูงอยู่ 42 สถานี จากจำนวน 88 สถานี ซึ่งเราจะเข้าไปดำเนินการแก้ปัญหา โดยการบูรณาการกำลัง เพิ่มสายตรวจ ติดตั้งซีซีทีวีอีก 250 จุดที่ยังไม่ครอบคลุม และแสวงหาความร่วมมือจากประชาชน ให้มีตำรวจอาสาเข้ามาช่วยตรวจตรา เชื่อว่าใน 6 เดือนสามารถควบคุมและลดอาชญากรรมได้ 20 % แน่นอน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากนั้นนายกฯ ได้ร่วมลงนามในสัตยาบรรณในมาตรการร่วมเดินหน้าการปฏิรูปประเทศไทย ในส่วนกระบวนการประชาวิวัฒน์ กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ปชป.ยันไม่เอื้อหาเสียง
ที่พรรคประชาธิปัตย์ นพ.บุรณัชย์ สมุทรักษ์ โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการดำเนินนโยบายแก้ไขปัญหาประชาชน ในโครงการเร่งรัฐปฏิบัติการด่วนเพื่อคนไทย หรือประชาวิวัฒน์ว่า กรณีดังกล่าวเป็นนโยบายพรรคเร่งด่วนที่พรรคดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง และไม่ใช่นโยบายประชานิยม หรือลอกเลียนแบบใครมา ถ้าหากเป็นการลอกเลียนแบบจริงทำไมโครงการประชานิยมที่ผ่านมาถึงไม่สามารถช่วยเหลือประชาชนได้ ทั้งนี้ประชาวิวัฒน์ คือ วิธีคิดแบบใหม่ ไม่ใช่นโยบายประชานิยม ซึ่งรัฐบาลจะดำเนินการในปี 2554 ไปจนกว่าจะสิ้นสุดการทำงานและมีการเลือกตั้ง

นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวเสริมถึงมาตรการดังกล่าวว่า เป็นโครงการประชาวิวัฒน์ ซึ่งเน้นการปรับโครงการบริหารราชการ ซึ่งลงทุนไปแค่ 2 พันล้านบาท แต่ได้คืนมา 2.6 หมื่นล้านบาท เมื่อเรื่องผ่านการประชุมครม.เรียบร้อยแล้วจะได้ผลต่อไปเรื่อยๆไปจนถึงเดือน ก.ค. เช่น การใช้ไฟต่ำกว่า 90 หน่วยจะยกเว้นค้าไฟอย่างถาวร โดยการสำรวจจะมี 9 ล้านครอบครัวที่ได้รับผลประโยชน์ในเรื่องนี้ โดยชั้นกลางจะไม่ได้รับผลกระทบกับเรื่องนี้ นอกจากนี้วาระการปฏิบัติงานทั้งหมด หน่วยงานที่ได้รับผิดชอบจะรายงานความคืบหน้าให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯทุกสัปดาห์

“กอร์ปศักดิ์”ชงแก้ถึงต้นตอ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ อดีตเลขาธิการนายกฯ และอดีตหัวหน้าคณะทำงานโครงการเร่งรัฐปฎิบัติการด่วนเพื่อคนไทย ได้เขียนบทความเรื่อง “กบผู้ฆ่ายักษ์”และ “กบพลังงาน” ในเว็บไซต์ www.korbsak.com หลังจากที่นายกฯได้ประกาศมอบของขวัญ 9 ข้อตามโครงการเร่งรัฐฯ โดยเนื้อหาส่วนหนึ่งของบทความได้ระบุถึงต้นตอสำคัญที่สินค้าราคาแพง โดยเฉพาะเนื้อหมู, เนื้อไก่และไข่ไก่ เนื่องจากมีระบบการจัดการแบบผูกขาดโดยยักษ์ใหญ่ในวงการสินค้าเกษตร ที่สามารถกำหนดราคาได้เกือบทุกขั้นตอนของระบบ โดยมีเป้าหมายเพื่อให้มีอำนาจเหนือตลาด ซึ่งเป็นที่รู้กันดีในแวดวงธุรกิจแต่ไม่ได้พูดกันในที่สาธารณะ

ทั้งนี้นายกอร์ปศักดิ์ ระบุว่า คณะทำงานได้เสนอให้แก้ไขปัญหาการผูกขาดและมีอำนาจเหนือตลาด ทั้งการปรับปรุงกฎหมายการแข่งขันทางการค้า ที่ปัจจุบันเป็นเพียงเสือกระดาษ รวมทั้งจะทบทวนเกณฑ์ผู้มีอำนาจเหนือตลาดใหม่ และจัดรูปแบบองค์กรการกำกับดูแลการแข่งขันให้ทำงานในเชิงรุก มีความคล่องตัว มีคณะทำงานติดตามข้อมูล-พฤติกรรม เช่น กำหนดมาตรการแจ้งปริมาณ สถานที่เก็บข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ซึ่งเป็นต้นทุนอาหารสัตว์ โดยมีกระทรวงพาณิชย์เป็นผู้ดำเนินการ รวมทั้งปรับปรุงโครงสร้างของคณะกรรมการนโยบายทั้งคณะกรรมการนโยบายไข่ไก่ (เอ้กบอร์ด) และคณะกรรมการนโยบายสุกร (พิคบอร์ด) เพื่ออุดช่องโหว่

ชูระบบสหการณ์เกษตร
นอกจากนี้ รัฐบาลจะเดินหน้าสร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกร ด้วยการส่งเสริมระบบสหกรณ์อย่างเต็มที่โดยเฉพาะให้เข้าถึงแหล่งทุนให้ง่าย อีกทั้งจะเข้าไปดูแลเกษตรกรที่มีพันธสัญญาในระบบคอนแทรคฟาร์มมิ่งเพื่อไม่ให้มีการเอาเปรียบทางสัญญา ขณะเดียวกันจะเร่งเพิ่มความสามารถในการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และกำหนดยุทธศาสตร์ในการวางแผนผลิตมันสำปะหลังให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่และการใช้ประโยชน์ เพื่อลดต้นทุนในเรื่องของอาหารสัตว์ รวมทั้งกำหนดให้คณะกรรมการนโยบายอาหารสัตว์มีมาตรการโปร่งใส โดยต้องกำหนดมาตรการอนุญาตให้นำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ได้ตรงตามเวลาที่กำหนดของทุกปี

ส่วนเรื่องค่าไฟฟ้าที่รัฐบาลกำหนดให้ประชาชนใช้ไฟฟ้าฟรีหากไม่เกิน 90 หน่วย หลังจากนั้นผู้ใช้ไฟฟ้ามากต้องถูกคิดค่าไฟฟ้าแพงโดยจะมีการปรับค่าไฟให้มากขึ้นในช่วง 400-450 kwh (กิโลวัตต์ต่อชั่วโมง) เล็กน้อย โดยใช้ระบบค่าเอฟทีเป็นตัวแปรในการคิดค่าไฟฟ้าใหม่ ซึ่งจะเริ่มในเดือนพ.ค. 54  หากทำสำเร็จจะเป็นมาตรการถาวรและไม่ต้องนำเงินภาษีปีละ 15,000 ล้านบาทมาอุดหนุนค่าไฟฟ้าฟรีอีกต่อไป สำหรับก๊าซหุงต้มหรือแอลพีจีที่จะแยกเป็น 2 ราคาระหว่างครัวเรือนและขนส่งกับภาคอุตสาหกรรมนั้น กำหนดให้เวลาเตรียมตัว 6 เดือน เมื่อยกเลิกการอุดหนุนแอลพีจีแล้วเท่ากับว่าน้ำมันขายปลีกหน้าปั๊มน้ำมันจะลดลงทันทีลิตรละ 1-2บาท ในรายละเอียดจะมีการเปิดเผยบนเว็ปไซต์ของกระทรวงที่รับผิดชอบเพื่อสร้างความเข้าใจให้ชัดเจนต่อไป

กลุ่มอุตฯควักเพิ่มค่าไฟ
นายเมตตา บันเทิงสุข รองปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า นโยบายให้คนไทยกว่า 9.1 ล้านครัวเรือนที่ใช้ไฟฟ้าต่ำกว่า 90 หน่วยต่อเดือนสามารถใช้ไฟฟ้าฟรี โดยคิดเป็นเงินที่ต้องชดเชย 1,200-1,600 ล้านบาทต่อปีนั้น กระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างราคาใหม่ในลักษณะที่จะเก็บค่าไฟฟ้าในอัตราก้าวหน้ากับผู้ที่ใช้ไฟฟ้าสูงกว่า 90 หน่วยต่อเดือนเข้ามาชดเชย ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมคาดว่าจะรับภาระเพิ่มเฉลี่ยไม่เกิน 1% ต่อราย เพราะผู้ที่ใช้ไฟฟ้าฟรีคิดเป็นมูลค่าเพียง 4% ของมูลค่าการใช้ไฟฟ้าทั้งประเทศ

นายวรรณรัตน์ ชาญนุกูล รมว.พลังงาน กล่าวว่า กลุ่มที่ใช้ไฟฟ้าเยอะจะเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมมีสัดส่วนสูงกว่า 50% ของมูลค่าใช้ไฟฟ้าทั้งหมด ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีส่วนเข้ามารับผิดชอบตรงนี้เช่นกัน เพราะการลงทุนด้านพลังงานในปัจจุบันส่วนใหญ่เพื่อตอบสนองการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม ส่วนนโบบายการลอยตัวก๊าซแอลพีจีในภาคอุตสาหกรรมนั้นจะช่วยลดภาระแก่กองทุนน้ำมันเชื่อเพลิงได้อย่างมากโดยเฉพาะแอลพีจีหลังจากลอยตัวในเดือน ก.ค. เชื่อว่าผู้ประกอบการไม่ปรับขึ้นราคาสินค้าแน่นอน

เอกชนกังวลแอลพีจีพุ่ง
นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) กล่าวว่า ภาคเอกชนเห็นด้วยกับนโยบายประชาวิวัฒน์ของนายกฯโดยเฉพาะการทำประกันสังคมแรงงานนอกระบบจำนวน 24 ล้านคนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แต่อยากให้รัฐบาลทำให้ได้ตามที่ประกาศไว้ ทั้งควรเพิ่มมาตรการช่วยเหลือในกลุ่มธุรกิจและการดูแลสิ่งแวดล้อมด้วย เพราะ 9 ข้อที่ประกาศจะเน้นประชาสังคมและเศรษฐกิจนอกระบบเป็นหลัก สำหรับนโยบายการตรึงค่าไฟฟ้าเป็นมาตรการถาวรนั้นภาคเอกชนเห็นว่าน่าจะใช้ลักษณะแบบต่ออายุจะดีกว่า

นายสมมาต ขุนเศษฐ รองเลขาธิการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) กล่าวว่า สอท.เตรียมที่จะหารือแนวทางการรับมือและช่วยเหลือผู้ประกอบการที่จะได้รับผลกระทบจากมาตรการลอยตัวราคาแอลพีจีและการขึ้นค่าไฟฟ้าในกลุ่มของโรงงานเพราะจะเป็นการเพิ่มภาระแก่ผู้ประกอบการอย่างมากโดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอี เพื่อเสนอแนวทางให้รัฐบาลพิจารณาช่วยเหลือในการลดภาระต้นทุนต่อไป

พท.สับหาเสียงล่วงหน้า
นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีที่นายอภิสิทธิ์ แถลงข่าวเกี่ยวกับของขวัญ 9 ชิ้น ให้กับประชาชนตามโครงการประชาวิวัฒน์นั้นว่า พรรคเพื่อไทยเห็นว่าไม่ได้มีอะไรใหม่ๆให้กับประชาชนเลย เพราะสิ่งที่รัฐบาลทำออกมานั้นไม่ได้แตกต่างจากโครงการเอื้ออาทรของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อีกทั้งยังเป็นโครงการที่ทำเพื่อการซื้อเสียงอย่างชัดเจนเหมือนเป็นการซื้อเสียงล่วงหน้าเท่านั้น

นายพร้อมพงศ์ กล่าวต่อว่า โครงการที่รัฐบาลพยายามทำนั้น เป็นสิ่งที่รัฐบาลควรที่จะทำมาตั้งแต่ 2 ปีก่อนหน้านี้แล้ว แต่เพิ่งจะมาคิดที่จะทำ ตนจึงอยากถามว่า 2 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลเอาเวลาไปทำอะไร เพิ่งจะมาคิดว่า ประชาชนและนักท่องเที่ยวใน กทม.รวมกว่า 10 ล้านคนจะได้รับความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินมากขึ้น ทั้งนี้พรรคเพื่อไทยได้ทำการตรวจสอบความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ภาคใต้นั้นกำลังประสบกับภาวะทุกข์ร้อน จากกรณีที่มีน้ำท่วมสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยที่ไม่ได้รับการช่วยเหลือจากรัฐบาล ทั้งๆที่รัฐบาลก็มีบทเรียนจากเหตุการณ์น้ำท่วมเมื่อปี 2553 มาแล้ว แต่ขณะนี้รัฐบาลทำนิ่งเฉย เพราะมัวแต่พยายามหาเสียง

ใช้อ้อนกลับมาเสวยสุข
นายสุริยะใส กตะศิลา เลขาธิการพรรคการเมืองใหม่ เปิดเผยถึงการประกาศ 9 มาตรการของรัฐบาลตามนโยบายประวิวัฒน์นั้น ว่าถึงจะมีหลายมาตรการจะเป็นประโยชน์กับประชาชนโดยตรงโดยเฉพาะคนยากจนด้อยโอกาส แต่ก็ยังเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ซึ่งรัฐบาลหวังคะแนนเสียงทางการเมือง เพราะมาตรการเหล่านี้ประกาศออกมาพร้อมๆ กับการกำหนดช่วงวันเลือกตั้ง ซึ่งอยู่ในกรอบ 6 เดือนพอดี ถ้าพรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้กลับมาเป็นรัฐบาลมาตรการเหล่านี้ก็ไม่มีหลักประกันว่ารัฐบาลชุดหน้าจะรับช่วงต่อ ฉะนั้นพรรคประชาธิปัตย์ก็จะใช้นโยบายประชาวิวัฒน์ไปขอโอกาสจากคนจนให้เลือกกลับเข้ามาเป็นรัฐบาลอีกครั้ง

“ทั้ง 9 มาตรการจริงๆแล้ว เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนที่ควรได้รับตามรัฐธรรมนูญ และถือเป็นหน้าที่ของทุกรัฐบาลที่ต้องดำเนินการอยู่แล้ว ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่สิ่งที่ยังไม่เห็นเป็นรูปธรรมจากรัฐบาลชุดนี้ที่บริหารแผ่นดินมากว่า 2 ปีเข้าสู่ ปีที่ 3 คือการริเริ่มหรือวางมาตรการในการแก้ไขปัญหาในระยะยาว จึงใช้วิธีผลิตนโยบายง่ายๆ เพื่อเล่นกับปัญหาเฉพาะหน้าของคนจน ด้วยการซื้อใจคนจน และให้คนจนรอพึ่งพิงรัฐบาลอย่างเดียวพึ่งพาตัวเองไม่ได้  ซึ่งเข้าข่ายติดสินบนในระดับนโยบาย” นายสุริยะใส กล่าว

กังวัลปกส.แก้ไม่ตรงจุด
นางวรวรรณ ชาญด้วยวิทย์ นักวิจัยประจำสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวถึงนโยบายประชาวิวัฒน์ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับแรงงานนอกระบบว่า โดยภาพรวมยังไม่มีความชัดเจนมากนัก ต้องดูรูปแบบการประกันความเสี่ยงที่รัฐบาลจะเสนอออกมา ซึ่งโดยส่วนตัวคิดว่าการนำมาตรา 40 ของ พ.ร.บ.ประกันสังคม มาใช้เพื่อเป็นสวัสดิการนั้นไม่เหมาะสมทั้งตัวเงินสมทบที่ต้องจ่าย และสิทธิที่ได้รับ อย่างไรก็ตาม คงต้องดูรายละเอียดว่าจำนวนเงินที่จะให้แรงงานเลือกจ่ายไม่ว่าจะเป็น 100,150 หรือ 280 บาทนั้น มีรายละเอียดอย่างไงบ้าง

ขณะที่นายณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า เห็นด้วยในหลักการของรัฐบาลที่จะทำประชาวิวัฒน์ แต่วิธีการนั้นต้องแก้ไข เพราะที่ผ่านมาแก้ไม่ตรงเหตุ ไม่ได้แก้ถึงรากเหง้าของการเกิดปัญหา รากเหง้าคือความสำคัญในอำนาจที่ต่างกัน ต้องสร้างคนต่ำให้มีความรู้ สร้างให้รู้โดยเท่าเทียมเสมอภาคกัน ส่วนการที่จะดึงแรงงานนอกระบบเข้าสู่ระบบนั้นยังไม่เป็นหลักประกันที่ชัดเจนและแน่นอน เพราะแรงงงานนอกระบบไม่ใช่มีเพียงประเภทเดียวหรือ 3 ประเภทที่กำหนดคือมอเตอร์ไซด์ แม่ค้า และแท็กซี่เท่านั้น ยังมีแรงงานที่ใหญ่และมีความสำคัญของประเทศอย่างเกษตรกรที่ถูกมองข้ามไปอีก

คาดเม.ย.ได้ส.ว.สรรหา
นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในฐานะประธานกรรมการเตรียมการสรรหาส.ว. กล่าวถึงความคืบหน้าในการสรรหา ส.ว.จำนวน 74 คนที่จะหมดวาระ 3 ปีในวันที่ 18 ก.พ.นี้ว่า คณะกรรมการเตรียมการในการสรรหาส.ว.ได้ปรับปรุงกำหนดกรอบเวลาในการสรรหาส.ว. รวมทั้งปรับปรุงประกาศหลักเกณฑ์การลงทะเบียนขององค์กรที่จะเสนอชื่อบุคคลเข้ารับการสรรหาส.ว.ให้มีความเหมาะสมขึ้นกว่าเดิม เพื่อเสนอที่ประชุมกกต.ให้ความเห็นชอบภายในสัปดาห์นี้ต่อไป

นายสุทธิพล กล่าวว่า คณะกรรมการได้ปรับปรุงกรอบเวลาการสรรหาส.ว.ให้เร็วขึ้น โดยกำหนดให้วันที่ 21 ก.พ.นี้ เป็นวันที่มีเหตุให้ต้องมีการสรรหาส.ว. และให้วันที่ 25 ก.พ.-11 มี.ค.เป็นวันเปิดรับสมัครการลงทะเบียนโดยให้องค์กรที่มีสิทธิเสนอชื่อบุคคลเข้ารับการสรรหาส.ว. จากนั้นระหว่างวันที่ 12-16 มี.ค. กกต.จะต้องรวบรวมรายชื่อบุคคลซึ่งได้รับการเสนอชื่อเสนอต่อคณะกรรมการสรรหาเพื่อพิจารณาสรรหาบุคคลเป็นส.ว. และส่งให้กกต.ภายใน 30 วัน ในระหว่างวันที่ 17 มี.ค.-15 เม.ย. โดยคาดว่าไม่เกินวันที่ 19 เม.ย.นี้ กกต.จะสามารถประกาศรับรองผลการสรรหาส.ว.ได้ หากที่ประชุมกกต. มีมติเห็นชอบตามกรอบเวลาดังกล่าวก็จะสามารถดำเนิน การสรรหา ส.ว.ตามเวลาที่กำหนดไว้ได้ต่อไป

ไม่เห็นเรื่องถามสถานะ
ส่วนกรณีส.ว.สรรหาจะลาออกก่อนหมดวาระ เพื่อไม่ให้เป็นปัญหาทางกฎหมายในการเข้ารับการสรรหาส.ว.หรือไม่นั้น นายสุทธิพล กล่าวว่า เรื่องนี้จะต้องดูกฎหมายให้ชัดเจนก่อน อย่างไรก็ตามกรณีดังกล่าวตนยังไม่เห็นหนังสือจากส.ว.สรรหาที่จะสอบถามใน ปัญหาข้อกฎหมายมายังกกต.แต่อย่างใด แต่ตนจะมอบหมายให้ทีมงานตรวจสอบปัญหาข้อกฎหมายไว้เลยเพราะเมื่อมีเหตุข้อสงสัยแล้วตนก็สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้

เลขากกต. ระบุอีกว่า ยังไม่แน่ใจว่าปัญหาดังกล่าวจะต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความได้หรือไม่ เพราะไม่แน่ใจว่าจะส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตามช่องทางไหน รวมทั้งกฎหมายก็ยังไม่ชัด เพราะขณะนี้มีส.ว.สรรหาบางรายก็ระบุว่าอาจต้องลาออกเพื่อเข้ารับการสรรหาส.ว. ซึ่งเรื่องนี้ตนจะมอบให้ด้านบริหารงานเลือกตั้งและสำนักกฎหมายและคดีดูข้อกฎหมายต่อไป

ชี้ลดส.ส.แก้รธน.วุ่น
นายเสรี สุวรรณภานนท์ อดีตรองประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ(ส.ส.ร.) กล่าวถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 93-98 ว่า การกำหนดเขตเลือกตั้งควรทำให้เกิดปัญหาข้อขัดแย้งน้อยที่สุด คิดว่าสูตรของคณะกรรมการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญตามข้อเสนอคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อปฏิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ให้มีส.ส.เขต 375 และส.ส.บัญชีรายชื่อ 125 คนนั้น อาจเกิดปัญหาแน่แม้แต่ในพรรคเดียวกันก็ต้องทะเลาะกัน เพราะไปลดเก้าอี้ทำให้เกิดการทับซ้อนกัน ดีที่สุดควรคงไว้ที่ 400 ที่ ส่วนจะไปเพิ่มบัญชีรายชื่อก็ว่าไปไม่มีปัญหา

นายเสรี ระบุว่า คนมักบอกว่ารัฐธรรมนูญ 50 มีปัญหา แต่ตนคิดว่าไม่ใช่ ที่จะทำให้เกิดความแตกแยกของจริงคือการตัดส.ส.เขตลง ส่วนการปรับระบบเลือกจากเขตใหญ่เรียงเบอร์ มาเป็นเขตเดียวเบอร์เดียวนั้น ได้ผ่านการพิสูจน์มาแล้วว่าหากให้เป็นเขตเดียวเบอร์เดียว จะเกิดการทุจริตง่ายกว่าแบบเขตใหญ่ อย่างไรก็ตามตนไม่เห็นด้วยว่าหากจะมีการแก้ไขแล้วจะมีพรรคใดพรรคหนึ่งได้ประโยชน์จากตรงนี้

ปชป.ท่องขึ้นใจ375+125
ที่พรรคประชาธิปัตย์ นพ.บุรณัชย์ สมุทรักษ์ ส.ส.สัดส่วน โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ แถลงว่า กรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องระบบเลือกตั้งส.ส.ที่มีความเห็นต่างกันในหมู่สมาชิกรัฐสภาระหว่างสูตรตามร่างที่ผ่านวาระ 1 คือ 375 + 125  กับความต้องการของพรรคร่วมรัฐบาลคือ 400+100 คนนั้น พรรคยืนยันว่าร่างที่คณะกรรมการศึกษาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มีนายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์(นิด้า)เป็นประธานส่งมาคือ เขตเดียวเบอร์เดียว 375 คน รวมกับบัญชีรายชื่อ 125 คน ดีที่สุด

นพ.บุรณัชย์ กล่าวว่า ในวันที่ 11 ม.ค.ช่วงเช้า พรรคจะเชิญกรรมาธิการพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในสัดส่วนของพรรค มาชี้แจง และขอให้ทุกพรรคพิจารณาอย่างรอบคอบก่อนเปิดประชุมสภาสมัยสามัญทั่วไป ยืนยันว่า ไม่มีปัญหาระหว่างพรรคประชาธิปัตย์และพรรคร่วมรัฐบาล เพราะมีการหารือกันต่อเนื่อง

พท.นัด14 ม.ค.ถกมติคว่ำ
นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 93-98 เรื่องระบบเขตเลือกตั้ง ให้มีส.ส.เขต 400 คน และส.ส.สัดส่วน 100 คน แทน ส.ส.เขต 375 และส.ส.สัดส่วน 125 ว่า ตามมติของพรรคที่ได้พูดคุยกันนั้น สมาชิกของพรรคเพื่อไทยเห็นว่าน่าจะมีการสนับสนุนให้มีส.ส.เขต 400 คน และส.ส.สัดส่วน 100 คน เพราะว่ามีความเหมือนกับรัฐธรรมนูญปี 40 อย่างไรก็ตามในวันที่ 14 ม.ค. นี้ พรรคเพื่อไทยจะมีการประชุมเพื่อหามติของพรรคที่ชัดเจนอีกครั้งหนึ่ง

โพลเชียร์ใช้ส.ส.400+100
สวนดุสิตโพลล์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นประชาชนในกรุงเทพฯ และปริมณฑล เรื่อง ประชาชนคิดอย่างไรต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ กรณีจำนวน ส.ส.เขต และ ส.ส.สัดส่วน จำนวน 1,108 คน พบว่า เมื่อสอบถามว่าประชาชนเห็นด้วยกับแนวทางใด ผลสำรวจพบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 45.37 เห็นด้วยกับการกำหนดจำนวน ส.ส. เขต 400 คน และ ส.ส. สัดส่วน 100 คน ร้อยละ 32.98 เห็นด้วยกับส.ส.เขต 400 คน ส.ส.สัดส่วน 80 คน และร้อยละ 21.65 เห็นด้วยกับส.ส.เขต 375 คน และส.ส.สัดส่วน 125 คน

เมื่อถามว่า ประชาชนคิดอย่างไรว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ครั้งนี้จะช่วยลดปัญหาการซื้อสิทธิ-ขายเสียงได้หรือไม่? ร้อยละ74.27 บอกว่าช่วยไม่ได้ ร้อยละ 20.52 บอกว่าไม่แน่ใจ และร้อยละ 5.15 เห็นว่าช่วยได้ นอกจากนี้ ประโยชน์ที่ประชาชนจะได้ ร้อยละ 36.05 ระบุว่าไม่ได้อะไรเลย ร้อยละ 32.20 อาจได้บ้าง ร้อยละ 24.53 ไม่ค่อยได้ประโยชน์ และร้อยละ 7.22 เชื่อว่าได้รับประโยชน์

“ภท.”ดัน“บุญจง”มท.2
 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รมว.มหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีการดำเนินการสรรหาบุคคลมาตำแหน่ง รมช.มหาดไทย ที่ในขณะนี้ยังว่างอยู่นั้นว่า ทางพรรคภูมิใจไทยจะมีการประชุมกรรมการบริหารพรรคในวันที่ 11 ม.ค. นี้ เพื่อสรรหาคนมาเป็นรมช.มหาดไทย แต่ขณะนี้ยังไม่มีใครเสนอตัวเข้ารับตำแหน่ง เมื่อผลของการประชุมออกมาอย่างไร ตนจะแจ้งนายอภิสิทธิ์ทันที อย่างไรก็ตามส่วนตัวมองว่าคนที่เหมาะสมกับตำแหน่งดังกล่าวก็ยังคงเป็น นายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ รองหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย

นายศุภชัย ใจสมุทร โฆษกพรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า นายบุญจง เป็นรัฐมนตรีที่ทำงานหนัก มีผลงานมากมาย และยังถือได้ว่าเป็นกำลังสำคัญของพรรค โดยการทำงานที่ผ่านมาผลงานก็เป็นที่น่าพอใจ ดังนั้นการที่จะเสนอชื่อให้กลับมาดำรง รมช.มหาดไทย นั้นก็ถือว่าเหมาะสมที่สุด โดยคาดว่าในที่ประชุม กรรมการบริหารพรรคก็คงไม่มีใครคัดค้าน



เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์