เมื่อวันที่ 3 ม.ค. นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กระทรวงยุติธรรม
กล่าวถึงการปรับโครงสร้างใหม่ของดีเอสไอ ภายหลังครม.อนุมัติเพิ่มอัตรากำลัง 300 ตำแหน่ง ว่าโครงสร้างใหม่จะส่งผลให้ดีเอสไอมีฐานะเป็นหน่วยงานความมั่นคง มีภารกิจสืบสวนสอบสวนคดีที่มีกระทบกับความมั่นคงภายในประเทศไทย โดยเฉพาะการเพิ่มสำนักคดีอาญาพิเศษอีก 2 สำนัก ซึ่งสำนักคดีอาญาพิเศษมีด้วยกัน 3 สำนัก คือ สำนักคดีอาญา 1 เน้นงานคดีเกี่ยวกับการฮั้วประมูล การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน หรือแชร์ลูกโซ่ และความผิดที่มีพฤติการณ์ฟอกเงินมาเกี่ยวข้อง สำนักคดีอาญาพิเศษ 2 ดูแลความผิดเกี่ยวกับกฎหมายว่าด้วยการประกันชีวิต กฎหมายว่าด้วยการประกันวินาศภัย และคดีพิเศษตามที่ได้รับมอบหมายจากอธิบดีหรือรองอธิบดี และสำนักคดีอาญาพิเศษ 3 มีภารกิจสืบสวนผู้กระทำความผิด คดีค้ามนุษย์และคดียาเสพติด
อธิบดีดีเอสไอ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ ส่วนสำนักคดีความมั่นคง จะดำเนินคดีความผิดที่มีผลกระทบร้ายแรงต่อความสงบเรียบร้อย และความมั่นคงของประเทศ
รวมถึงการก่อความไม่สงบ การก่อการร้ายทั้งในและนอกประเทศ ส่วนสำนักปฏิบัติการคดีพิเศษ ระดับภูมิภาค มีภารกิจสืบสวนสอบสวนคดีพิเศษในเขตพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และจังหวัดชายแดนภาคใต้
นายธาริต กล่าวอีกว่า สำหรับตำแหน่ง 300 อัตรา ในส่วน 240 อัตรา จะรับโอนจากหน่วยราชการต่างๆ ทั้งทหาร ตำรวจและพลเรือน 60 อัตรา
จะเปิดสอบเพื่อรับบุคลากรที่เป็นเลือดใหม่เข้ามาเสริมศักยภาพการดำเนินคดี อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าสังคมไทยอยู่ในระบบอุปถัมภ์ จึงเลี่ยงความจริงเรื่องเด็กฝากไปไม่ได้ แต่การพิจารณาคุณสมบัติจะอยู่ในเกณฑ์เดียวกัน คือต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถและเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เบื้องต้นเท่าที่พิจารณาจากประวัติการทำงานจากผู้ที่มีความประสงค์จะโอนย้ายมาดีเอสไอกว่า 1,000 คน พบว่าหลายคนมีประวัติการทำงานที่มีคุณภาพ ส่วนเด็กฝากถือว่ามีจำนวนน้อยมาก แม้กระทั่งรมว.ยุติธรรม เอง ก็ไม่เคยฝากเด็กเข้ามา