นายกรัฐมนตรีกล่าวกับพี่น้องประชาชนในรายการ "เชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯ อภิสิทธิ์" เป็นครั้งที่ 100 ออกอากาศทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย และสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย
วันนี้ (26 ธ.ค.) เวลา 09.00 น. ณ ทำเนียบรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวกับพี่น้องประชาชนในรายการ "เชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯ อภิสิทธิ์" เป็นครั้งที่ 100 ออกอากาศทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย และสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย ดังนี้
ช่วงที่ 1
สวัสดีครับ พี่น้องประชาชนที่เคารพรัก ผมได้มีโอกาสรายงานต่อพี่น้องประชาชนแถลงผลงานผ่านการถ่ายทอดทางโทรทัศน์ในการทำงาน 2 ปีที่ผ่านมานะครับ และได้มีการสรุปประเด็นต่างๆ รวมทั้งปัญหาอุปสรรคและความตั้งใจในการที่จะทำงานเพื่อพี่น้องประชาชนด้วยความมุ่งมั่นต่อไป
เมื่อวานนี้ก็เลยได้มีโอกาสเชิญพิธีกรรับเชิญทั้งหมด 5 ท่านมาสนทนาในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการทำงานในรอบ 2 ปีที่ผ่านมา รวมไปถึงในเรื่องของนโยบายและแนวทางต่าง ๆ ที่จะได้มีการดำเนินการกันต่อไป เพราะฉะนั้นเมื่อวานนี้ได้มีการบันทึกเทปเอาไว้ และในช่วงที่ 2 ของรายการก็จะได้ไปพบปะกับพิธีกรทั้ง 5 ท่าน ที่ได้สอบถามผมถึงทั้งการทำงานในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา และการทำงานที่จะมีขึ้นต่อไปในอนาคตครับ แต่ว่าในช่วงแรกช่วงสั้นๆ เช่นเคยนะครับ ก็จะขออนุญาตรายงานพี่น้องประชาชนถึงประเด็นต่างๆ ที่อยู่ในความสนใจและการทำงานในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมาครับ
แต่ว่าเริ่มต้นคงจะต้องบอกว่า ช่วงนี้ก็มีพี่น้องประชาชนจำนวนมาก เริ่มในเรื่องของการเฉลิมฉลองในเทศกาลปีใหม่ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ มีการเดินทางกันโดยเฉพาะกลับบ้านหรือไปต่างจังหวัดกันมากขึ้น ตั้งแต่ช่วงประมาณสัปดาห์ที่ผ่านมา สิ่งที่อยากจะเน้นย้ำคือ เรื่องของความปลอดภัยและความไม่ประมาท เพราะว่าเราต้องการให้เทศกาลปีใหม่เป็นเทศกาลที่มีการเฉลิมฉลองกันด้วยความสุข แต่ต้องยอมรับว่า ทุกปีที่ผ่านมาในช่วงของเทศกาล ในช่วงที่มีการเดินทางกันมาก ๆ เราก็ต้องมีการสูญเสียพี่น้องประชาชนคนไทยจำนวนไม่น้อยเลย อย่างปีที่แล้วในช่วงเทศกาลปีใหม่นั้นก็มีการสูญเสียถึงเกือบ 350 คน อย่างนี้เป็นต้น เพราะฉะนั้นผมอยากจะขอฝากพี่น้องประชาชนว่า การเดินทางก็ดี การเฉลิมฉลองก็ดี ขอให้ตั้งอยู่บนความไม่ประมาท และเน้นในเรื่องของความปลอดภัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสาเหตุของการที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุตามท้องถนนในช่วงเทศกาลก็หนีไม่พ้นเรื่องของการดื่มสุราและเรื่องของการที่หลับในหรือง่วง เพราะฉะนั้นขอให้ทุกคนได้ใช้ความระมัดระวังอย่างเต็มที่เมาไม่ขับนะครับ ถ้าง่วงก็ต้องหยุดพัก เพื่อที่เราจะได้สามารถที่จะฉลองปีใหม่กันได้อย่างมีความสุขอย่างแท้จริง
สัปดาห์ที่ผ่านมามีเรื่องที่มีความสำคัญในระดับของระหว่างประเทศก็ว่าได้ที่เป็นชื่อเสียงของประเทศไทย 2 เรื่องครับ เรื่องแรกเป็นเรื่องที่เป็นเรื่องสืบเนื่องมาจากโครงการในพระราชดำริของพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ในเรื่องของการที่เราไปผลักดันมาตรฐานเกี่ยวกับการคุมขังผู้หญิงที่อยู่ในเรือนจำหรือมาตรการอื่น ซึ่งเป็นเรื่องของการที่มีการควบคุมตัวของสตรี โดยเรื่องนี้ผมก็เคยเล่าให้พี่น้องประชาชนได้รับทราบในช่วงที่ผมเดินทางไปนิวยอร์กว่า เราได้มีการทำกระบวนการในการที่จะให้มีการปรับปรุงสิ่งที่เป็นกติกาหรือข้อกำหนดที่เกี่ยวข้องกับการดูแลผู้ถูกคุมขัง โดยเฉพาะคือ สำหรับผู้หญิงซึ่งอาจจะมีความต้องการเป็นการเฉพาะหรือมีความแตกต่างออกไปจากผู้ที่ถูกคุมขังทั่วไป วันที่ 21 ธันวาคมที่ผ่านมา สหประชาติในที่สุดแล้วได้มีการลงมติให้การรับรองข้อกำหนดที่เป็นมาตรฐานใหม่ในเรื่องของการดูแลสตรีที่ถูกคุมขัง และได้ให้ชื่อข้อกำหนดใหม่นี้ว่า "ข้อกำหนดกรุงเทพ" หรือ Bangkok Rules ซึ่งถือว่าเป็นการนำชื่อเสียงมาสู่ประเทศไทยในฐานะที่เราได้มีการริเริ่มแล้วก็ผลักดันเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งถือได้ว่าอาจจะเป็นครั้งแรกก็ได้ครับ สำหรับประเทศอย่างเราที่ได้มีการทำงานในทางเชิงรุกทางการทูต แล้วก็นำเอาเรื่องของความก้าวหน้าที่เกี่ยวข้องกับมาตรฐานทางด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับความยุติธรรมไปดำเนินการจนกระทั่งได้รับความเห็นชอบได้รับความสำเร็จจากการรับรองของสหประชาชาติในครั้งนี้
อีกเรื่องหนึ่งที่เป็นความภาคภูมิใจเช่นเดียวกันคือ ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาที่จังหวัดปัตตานี ที่มอ.ปัตตานี (มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี) ได้มีการจัดการประชุมนานาชาติว่าด้วยเรื่องของอิสลามศึกษา และได้มีการเชิญผู้แทนจากบรรดาประเทศต่างๆ โดยเฉพาะคือประเทศมุสลิมทั้งในภูมิภาคนี้ แล้วที่สำคัญคือตะวันออกกลางด้วย มีผู้แทนมาร่วมจำนวนมากแล้วก็ได้มีการประชุมสัมมนากันและมีการออกแถลงการณ์ในวันสุดท้ายที่ได้มีการประชุม สิ่งที่เป็นผลสำคัญจากการประชุมครั้งนี้คือ การที่โลกมุสลิมได้รับรู้ รับทราบถึงสิทธิเสรีภาพที่ประเทศไทยให้แก่พี่น้องที่นับถือทุกศาสนา รวมทั้งศาสนาอิสลาม แล้วก็ได้เห็นถึงความตั้งใจของประเทศไทยในการที่จะดูแลและตอบสนองต่อความต้องการของพี่น้องประชาชนที่มีความหลากหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ การพัฒนาในเรื่องของอิสลามศึกษาขึ้นมา และในส่วนของ มอ.ปัตตานีเองก็มีศูนย์ที่ทำในเรื่องนี้ แล้วได้มีโอกาสเป็นเจ้าภาพในการประชุมครั้งนี้ นอกจากนั้นยังเป็นโอกาสดีครับที่ให้ผู้แทนจากต่างประเทศ โดยเฉพาะในโลกมุสลิมนั้นได้สัมผัสโดยตรงกับสภาพความเป็นจริงของพื้นที่ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งผลที่ออกมานั้นก็ปรากฏว่าผู้แทนจากประเทศต่างๆ ที่ได้มาเข้าร่วมได้แสดงทัศนะในทางบวกอย่างยิ่งต่อสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศไทย โดยเฉพาะนโยบายของรัฐบาลที่จะมีการผลักดันเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง แล้วก็ได้มีการตกลงกันว่า การจัดประชุมวิชาการในลักษณะนี้ซึ่งประเทศไทยเองและนโยบายของรัฐบาลก็ต้องการให้ปัตตานีและพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น สามารถที่จะเป็นศูนย์ของเรื่องของอิสลามศึกษาได้ไม่ใช่เฉพาะในส่วนของพี่น้องประชาชนของเราใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ว่าในภูมิภาคด้วย ก็ได้รับการยอมรับได้รับการสนับสนุนและมีการพูดกันว่าจะต้องมีการจัดการประชุมในลักษณะเช่นนี้อีก อาจจะเป็นในอีก 2 ปีข้างหน้าที่พื้นที่ปัตตานีของเรา ซึ่งอันนี้ก็เป็นการส่งเสริมในเรื่องของความหลากหลายในเรื่องของวัฒนธรรมและการศึกษาไปในตัวด้วย
นอกจากงานที่เกิดขึ้นที่มีความสำคัญใน 2 เรื่องนี้แล้วยังมีประเด็นที่คณะรัฐมนตรีได้พิจารณาในภาพรวมที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงและความขัดแย้งต่างๆ ได้มีการยกเลิกการประกาศภาวะฉุกเฉิน ซึ่งคงเหลืออยู่ใน 4 จังหวัดสุดท้ายไปเรียบร้อยแล้ว แล้วได้มีการดำเนินการโดยการใช้กฎหมายปกติ ซึ่งหนึ่งในนั้นเป็นกฎหมายความมั่นคงที่เรามีการจัดทำแผนและมีการจัดตั้งศูนย์ติดตามสถานการณ์ และทางเจ้าหน้าที่ตำรวจก็จะเป็นหลักในการดูแลความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองของสถานการณ์ต่างๆ ซึ่งผมขอให้พี่น้องประชาชนนั้นได้ให้ความร่วมมือกับทางเจ้าหน้าที่และช่วยกันรักษาบรรยากาศของบ้านเมือง เพราะว่าการยกเลิกการประกาศภาวะฉุกเฉินนั้นก็ถือได้ว่าเป็นอีกขั้นหนึ่งที่เรากำลังนำความปกติสุขกลับมาคืนสู่สังคมของเรา ผมได้ย้ำหลายครั้งว่า พี่น้องประชาชนซึ่งยังมีความคิดเห็นที่แตกต่างอยากจะมีการเคลื่อนไหวชุมชนต่างๆ นั้นก็ขอให้เคารพกฎหมายนะครับ และขอให้คำนึงถึงการรักษาบรรยากาศของบ้านเมืองเพื่อประโยชน์ของทุกฝ่าย ไม่ใช่เพื่อประโยชน์ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ขณะเดียวกันก็ขอเรียนว่าในจังหวัดชายแดนภาคใต้เอง รัฐบาลอยู่ในช่วงที่กำลังจะมีการยกเลิกการประกาศภาวะฉุกเฉินเป็นครั้งแรก นับตั้งแต่ที่มีการประกาศกันมายาวนานเรียกว่า 5 ปีแล้ว โดยจะเริ่มต้นที่อำเภอแม่ลานจังหวัดปัตตานี และหลังจากนั้นก็จะดูความเหมาะสมในพื้นที่อื่นๆ ซึ่งขณะนี้มีการมองไว้ในจังหวัดนราธิวาสและจังหวัดยะลาอีกจังหวัดละหนึ่งอำเภอด้วยครับ แต่ว่าจะเริ่มต้นที่อ.แม่ลา จังหวัดปัตตานีก่อน ซึ่งการยกเลิกดังกล่าวในส่วนของภาคใต้นั้นจะมีการประกาศพื้นที่ความมั่นคงเข้ามาเป็นมาตรการในการที่จะมาทดแทนการประกาศภาวะฉุกเฉิน ซึ่งก็จะทำให้คล้าย ๆ กับ 4 อำเภอในจังหวัดสงขลาซึ่งก่อนหน้านี้รัฐบาลได้ประกาศยกเลิกกฎอัยการศึกและได้มีการนำเอากฎหมายความมั่นคงมาประกาศพื้นที่ความมั่นคงไว้สำหรับ 4 อำเภอดังกล่าว
ส่วนอีกเรื่องหนึ่งที่อยู่ในความสนใจมากและความจริงต้องถือว่ายังมีความสับสนอยู่จากเสียงสะท้อนต่าง ๆ ที่ออกมาคือ ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการประกันตัวของผู้ที่ถูกคุมขังสืบเนื่องมาจากเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมือง ขอเรียนอย่างนี้ว่า ผมได้ถือหลักสำคัญว่า การดำเนินการอะไรก็ตามทั้งหมดต้องอยู่ภายใต้หลักของกฎหมาย หลักของกฎหมายนั้นก็หมายความว่า เรื่องนี้เป็นสิทธิของเจ้าตัวคือ คนที่ถูกคุมขังอยู่ในขณะนี้ก็ย่อมมีสิทธิที่จะยื่นขอประกันตัว และการตัดสินใจดุลยพินิจว่า จะได้รับการประกันตัวหรือไม่ก็คืออยู่ที่ศาลไม่ได้อยู่ที่รัฐบาล ไม่ได้อยู่ที่ฝ่ายอื่น เพราะฉะนั้นตรงนี้เป็นสิทธิที่เราต้องเคารพและไม่ควรจะเข้าไปแทรกแซง เจ้าตัวมีสิทธิที่จะยื่นขอและศาลจะเป็นผู้วินิจฉัย โดยเรื่องของการที่จะได้รับการประกันตัวเพื่อไม่ให้เกิดความสับสน พี่น้องประชาชนบางส่วนอาจจะสับสน ไม่ได้หมายความว่าได้รับการประกันตัวแล้วจะไม่ถูกดำเนินคดีหรือไม่ได้หมายความว่าถ้าได้รับการประกันตัวแล้วแปลว่าที่ผ่านมามีการจับกุมคุมขังในลักษณะที่ผิดหรือไม่ชอบ ปัจจัยที่ศาลท่านจะพิจารณาเกี่ยวกับเรื่องการประกันตัวก็มีหลากหลาย เช่นว่า ถ้าได้รับการประกันตัวแล้วจะมีปัญหาพฤติกรรมอย่างเช่น ไปข่มขู่คุกคามพยานในคดีจะมีการหลบหนีหรือไม่ หรือจะออกมาก่อความวุ่นวายทำความผิดซ้ำหรืออะไรซึ่งในแต่ละคน แต่ละบุคคลที่ถูกคุมขัง ข้อมูลจะมีความหลากหลายแตกต่างกันไป
สิ่งที่รัฐบาลเข้ามาเกี่ยวข้องกับการดำเนินการในครั้งนี้ เบื้องต้นก่อนหน้านี้คือ รัฐบาลได้รับทราบข้อมูลจากบรรดาองค์กรต่างๆ ซึ่งทำงานทางด้านสิทธิมนุษยชนว่า มีผู้ถูกคุมขังจำนวนหนึ่งไม่ได้รับการช่วยเหลือในเรื่องของกฎหมายซึ่งเป็นสิทธิขั้นฐาน แล้วก็อาจจะขาดแคลนทุนทรัพย์ในการที่จะขอยื่นประกันตัว ซึ่งรัฐบาลมีกองทุนที่ดูแลในเรื่องนี้อยู่แล้ว และเป็นกองทุนซึ่งทำเรื่องนี้กับบรรดาผู้ถูกคุมขังในคดีอื่นๆ ไม่ได้มีการทำอะไรเป็นพิเศษ แต่เป็นหน้าที่ตามปกติของกรมคุมครองสิทธิแล้วก็ของกองทุน เพราะฉะนั้นก่อนหน้านี้ก็จะได้ไปดูแลคนเหล่านี้ ซึ่งเราเห็นว่า หลายคนไม่ได้ยื่นขอประกันตัวเพราะว่าขาดความรู้ ขาดทนายความ และหลายคนนั้นความผิดก็ค่อนข้างที่จะเบา ก็ได้มีการดำเนินการไปอย่างที่ผมเคยรายงานให้ทราบก่อนหน้านี้ว่า เราเคยยื่นไป 5 ราย คือ เจ้าตัวยื่นไป 5 ราย เราก็ไปให้ทางกรมคุมครองสิทธิดูแลศาลท่านก็ให้ประกันตัว 3 ราย
สิ่งที่คณะรัฐมนตรีรับทราบคือ สำหรับผู้ที่กระทำความผิดในฐานความผิดที่ค่อนข้างจะเบาบาง ยังมีอีกจำนวนพอสมควรอาจจะประมาณ 100 คน เพราะฉะนั้นในการดำเนินการในเรื่องนี้เราก็จะทำแบบเดียวกับที่ได้เคยทำให้กับหลายๆ คนมา ซึ่งเป็นการปฏิบัติตามปกติแล้วก็ผู้ที่ถูกคุมขังในข้อหาอื่นๆ เหตุการณ์อื่นๆ หรือความผิดอื่นๆ ก็จะได้รับการช่วยเหลือปฏิบัติเช่นนี้เช่นเดียวกัน
นอกจากนั้นจะมีความเห็นของคณะกรรมการอิสระที่ท่านอาจารย์คณิต ณ นคร เป็นประธาน ได้ให้ความเห็นมาในเรื่องของการที่จะคุมขังคนเหล่านี้ไว้เป็นเวลานาน ท่านก็ได้ตั้งข้อสังเกตว่าจะเป็นปมของความขัดแย้งต่อไปในอนาคตหรือไม่ แล้วก็เห็นว่าการที่รัฐบาลเป็นผู้ให้ข้อมูลกับทางศาลในการที่จะคัดค้านหรือไม่คัดค้านประการใด ย่อมมีน้ำหนักต่อการพิจารณา เพราะฉะนั้นท่านก็ขอให้เราดูแลให้ทุกคนได้รับความเป็นธรรมอย่างแท้จริง เพราะฉะนั้นขณะนี้การดำเนินการในส่วนของกรมคุมครองสิทธิจะมุ่งเน้นไปที่คนที่มีความผิดเบา และจะเป็นดุลยพินิจของศาล ขณะเดียวกันคนอื่นๆ รวมทั้งแกนนำเขามีสิทธิของเขาเองอยู่แล้วในการที่จะยื่นขอประกันตัว และจุดยืนของรัฐบาลว่า จะมีการคัดค้านการประกันตัวหรือไม่อย่างไรก็ต้องขอเรียนว่า ไม่ใช่เป็นมติคณะรัฐมนตรีที่ไปบอกว่าจะให้มีการประกันตัวหรือไม่ประกันตัวหรือจะคัดค้านหรือไม่คัดค้าน แต่ได้นำเอาประเด็นที่เกี่ยวข้องกับอำนาจหน้าที่ของกรมคุมครองสิทธิบวกับข้อสังเกตจของท่านคณิตประกอบการพิจารณาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเป็นกรมสอบสวนคดีพิเศษ จะเป็นอัยการ ซึ่งในสภาพความเป็นจริงคือ เขาจะต้องดูเป็นรายบุคคล เพราะฉะนั้นในการดำเนินการต่อไปก็อาจจะมีการยื่นขอประกันตัวบางกรณีก็จะมีการคัดค้าน บางกรณีก็จะไม่มีการคัดค้าน แต่ว่าจะได้คำนึงถึงปัจจัยต่างๆ ที่ผมได้เรียนมาให้ทราบทั้งหมด แม้กระทั่งแกนนำเองก็ต้องทำความเข้าใจว่าก่อนหน้านี้ก็มีบางรายซึ่งทางฝ่ายรัฐไม่ได้คัดค้านการประกันตัว แต่ศาลท่านก็ให้ดุลยพินิจใช้ดุลยพินิจแล้วก็เห็นว่าสมควรที่จะคุมขังไว้ แต่บางรายก็มีการคัดค้าน เพราะฉะนั้นทั้งหมดนี้เพื่อให้พี่น้องประชาชนได้มีความสบายใจ ไม่มีการไปแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมแต่ประการใด แต่เป็นเรื่องที่เป็นส่วนหนึ่งของการปรองดองที่เราจะต้องเอาใจใส่ในการดูแลว่าทุกคนได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นธรรมได้รับการคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญเท่านั้นเอง อันนี้ก็อยากจะเรียนให้พี่น้องประชาชนได้รับทราบ เพราะว่ายังคงมีความสับสนในเรื่องนี้ค่อนข้างมาก เอาล่ะครับเดี๋ยวไปดูการที่ 5 พิธีกรได้มาร่วมสนทนากับผมเมื่อวานนี้เพื่อซักถามในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการทำงานในรอบ 2 ปีที่ผ่านมา และนโยบายที่รัฐบาลจะดำเนินการในปีหน้า 2554 ครับ
ช่วงที่ 2
ผู้ดำเนินรายการ (สุทิน วรรณบวร บรรณาธิการข่าวภาคภาษาอังกฤษ...) สวัสดีครับพี่น้องชาวไทยที่เคารพ ขอต้อนรับเข้าสู่รายการเชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ วันนี้เป็นรายการพิเศษครบรอบ 100 ครั้ง ของรายการเชื่อมั่นประเทศไทยกับท่านนายกฯ อภิสิทธิ์ และเป็นรายการพิเศษที่ครบรอบ 2 ปีของรัฐบาลโดยการนำของท่านนายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ วันนี้ถือว่าเป็นโอกาสดีที่ท่านนายกฯ ได้ให้โอกาสพวกเราทั้ง 5 คนเข้ามาร่วมสนทนาในรายการประจำอาทิตย์ของท่านนายกฯ เมื่อวานนี้ท่านนายกฯ ได้แถลงข่าวประจำสัปดาห์และถือว่าเป็นครบรอบ 2 ปีของรัฐบาลไปแล้ว ท่านนายกฯ ได้มีหนังตัวอย่างออกมา ให้ท่านผู้ชมพี่น้องชาวไทยได้ทราบกันแล้ว วันนี้พวกเราทั้ง 5 คนจะเป็นตัวแทนของพี่น้องประชาชนมาซักถาม มาสนทนากับท่านนายกฯ ว่าในช่วง 2 ปีที่ผ่านมานี้รัฐบาลของท่านนายกฯ พัฒนาคืบหน้าไปได้ขนาดไหน และปีต่อไปจะทำอย่างไร อันดับแรกผมอยากจะขอเรียนถามท่านนายกฯ ก่อนว่า เคยคิดไหมครับนายกฯ ว่าจะมีโอกาสเป็นรัฐบาลมาได้ถึงวันนี้ เพราะว่าท่านนายกฯ ประสบปัญหาตั้งแต่วันแรกนาทีแรกที่ก้าวเข้าสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครับ
นายกรัฐมนตรี ก็ต้องบอกว่าถ้าถามผมตอนเริ่มต้นก็คงไม่คิดมั้งครับ และเชื่อว่าหลายคนก็ไม่คิดว่าจะอยู่ครบ 2 ปี ว่าจะมีรายการนี้เป็นรายการครั้งที่ 100 อะไรนี้นะครับ ก็ต้องยอมรับว่าสถานการณ์ไม่ปกติมาตั้งแต่ต้น แต่ว่าผมก็ไม่เคยได้มานั่งคิดนั่งนับนะครับว่ามันอยู่มาแล้วเท่าไร จะอยู่อีกเท่าไร ผมคิดแต่ว่าเรามีหน้าที่ทำงานระหว่างที่อยู่ เพราะฉะนั้นอะไรที่เราผลักดันได้ก็ผลักดัน เหมือนกับตอนนี้ผมก็พูดชัดว่าเราก็คิดว่าจะมีการยุบสภาฯ ในปีหน้า เพราะฉะนั้นก็ไม่ได้ตั้งใจที่จะอยู่ครบเทอม แต่ไม่ได้หมายความว่าพอเราพูดอย่างนี้แล้วก็ไม่คิดที่จะริเริ่มนโยบายหรือวางแนวทางอะไรสำหรับประเทศต่อไปในอนาคต ไม่ได้ทำอย่างนั้น เราคิดว่าอะไรที่เหมาะสมที่จะทำ ที่จะเริ่มต้น ที่จะผลักดันก็เดินหน้าไป ส่วนรัฐบาลหมดอายุเมื่อไรก็เป็นเรื่องของการเมือง ก็ค่อยไปว่ากันตรงนั้น
ผู้ดำเนินรายการ ท่านนายกฯ ประเมินว่าตัวเอง เรามีดีอะไรครับ ถึงผ่านวันเวลานั้นมาถึงขนาดนี้ และก็ประทานโทษนะครับ ท่านผ่านวิกฤตมาได้อย่างไรโดยที่ผมไม่หงอกเลยครับ
นายกรัฐมนตรี ผมไม่หงอกนี้คงไม่จริงนะครับ เริ่มเห็นสีขาวอยู่เหมือนกัน และก็ต่อว่าด้วยว่าอ้วนขึ้น แต่ว่าถามว่ามีอะไรดีหรือไม่อย่างไรนี้ คือการเมืองเราก็เป็นไปตามระบบ ผมได้รวบรวมเสียงข้างมากในสภาฯ เสียงข้างมากนั้นก็ได้สนับสนุนอย่างต่อเนื่อง นั่นก็ส่วนหนึ่ง แต่ส่วนที่ผมคิดว่าสำคัญกว่าก็คือว่า ถ้าหากว่าพี่น้องประชาชนไม่ยอมรับในการทำงานก็คงมีแรงกดดันต่อเสียงในสภาฯ นั้นเอง ผมคิดว่าสิ่งที่เราอย่างน้อยได้พยายามทำมาตลอดก็คือ การมุ่งมั่นในการทำงาน ตัวผมเองก็อย่างที่เมื่อวานนี้พูดไปก็คือว่า ทุ่มเทเต็มที่ รู้ว่าบ้านเมืองอยู่ในภาวะลำบาก ประชาชนเองก็ตั้งคำถามอะไรมากมายเกี่ยวกับเรื่องการเมือง เพราะฉะนั้นก็พยายามพิสูจน์ตัวเองด้วยการทำงานหนัก นั่นข้อแรก ข้อที่สองคือว่า เราก็มุ่งงานที่ทำให้เกิดประโยชน์กับประชาชน เพราะฉะนั้นเราก็คิดว่าถ้าเราสามารถทำอย่างนี้ได้ ประชาชนก็พร้อมที่จะให้โอกาสเราอย่างต่อเนื่อง ก็คิดว่าคงจะเป็นส่วนนั้นนะครับ ส่วนเรื่องยาก ๆ หรือปัญหาที่เกิดขึ้นแม้กระทั่งเหตุการณ์ร้ายแรง ความสูญเสีย ซึ่งนำมาซึ่งความเสียใจและทำให้หลายคนมีความรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องที่รุนแรงนี้ คำตอบตรงนั้นก็อยู่ที่ว่าแนวทางของเราตั้งแต่ต้น ว่าเราได้พยายามใช้ความอดทน อดกลั้น แล้วก็ยึดมั่นในเรื่องของหลักประชาธิปไตย หลักนิติรัฐ และก็โปร่งใส ก็คือว่ามีปัญหาอะไรก็ให้มีการตรวจสอบ มีการสอบสวน มีการทำงานอย่างอิสระของคนที่เขาจะค้นหาข้อเท็จจริง ฉะนั้นผมคิดว่าอันนี้ก็เป็นหลักสำคัญที่ถ้าถามว่าทำไมถึงอยู่มาได้นี้ ก็คิดว่าน่าจะเป็นตรงนี้ แต่ว่าทั้งหมดนี้ก็ไม่ได้หมายความว่าต่อไปเขาจะให้โอกาสอย่างนี้เราไปเรื่อย ๆ เราก็ต้องมีการทำงานปรับปรุง ถ้าเกิดปัญหาอะไรเราก็ต้องแก้ไขไปอย่างต่อเนื่อง
ผู้ดำเนินรายการ เอกชนเมื่อวานประเมินท่านสอบผ่านนิดหน่อยนะครับ ถ้าท่านประเมินของท่านเอง ท่านคิดว่าได้สักเท่าไรครับ
นายกรัฐมนตรี ผมไม่ค่อยอยากประเมินตัวเองนะครับ เพียงแต่ว่าเมื่อวานนี้ที่นำเสนอตัวเลขทางเศรษฐกิจนี้ ผมก็มองว่า คือแน่นอนนะครับ ถ้าเราอยากจะได้ทุกอย่างมันดีมาก ๆ ก็ต้องบอกตอนนี้ยังมีอีกหลายอย่างที่เราก็ต้องทำ แต่ว่าผมเองกลับมองว่าช่วงที่ผมเข้ามานี้ ถ้ามีใครบอกว่าปีนี้เศรษฐกิจไทยจะโต 8 เปอร์เซ็นต์ ผมว่าแทบไม่มีใครเชื่อนะครับ ว่าจะเป็นไปได้ และถ้าบอกว่าเศรษฐกิจไทยที่จะโตได้ขนาดนี้ แล้วก็ภาวการณ์คลังของรัฐ ปัญหาเรื่องหนี้อะไรต่าง ๆ จะรุนแรงไหม ผมก็ว่า 2 ปีที่แล้วทุกคนต้องประเมินว่าสถานการณ์จะแย่กว่านี้ เพราะฉะนั้นในแง่นั้นผมกลับมองว่าตัวเลขทางเศรษฐกิจมันดีกว่าที่ผมคิด หรือตั้งความหวังไว้ตั้งแต่ต้นด้วยซ้ำ แต่ถามว่ามันน่าพอใจไหม แน่นอนครับบ้านเมืองเรายังมีปัญหาอีกเยอะ และหลายเรื่องมันจะต้องเร่งแก้ไขต่อไป ก็ธรรมดา ก็ดีครับ การที่เขาบอกเราผ่านเล็กน้อยก็คือเขาอยากให้เราทำต่อ และเขาก็คอยกระตุ้นเราว่าเราต้องทำให้มันมากขึ้น ก็เป็นเรื่องที่ดี
ผู้ดำเนินรายการ 2 ปีที่ผ่านมาท่านนายกฯ ก็พอใจผลงานระดับหนึ่งนะครับ ผมว่าประชาชนก็พอใจอยู่ ทีนี้เงื่อนไขที่นายกฯ เคยประกาศว่าจะยุบสภาฯ นี้คำถามก็คือว่า ผมว่าตอนนี้สถานการณ์เดินหน้าต่อไปภายใต้การยอมรับของประชาชน ยุบสภาฯ นี้ผมว่านายกฯ ประกาศตอนที่มีการขัดแย้งทางการเมือง ในเมื่อทุกฝ่ายก็ยอมรับและมีภารกิจต้องสานต่อ ทำไมจะต้องยืนยันว่ายุบสภาฯ ครับ
นายกรัฐมนตรี คือคงต้องแยกนะครับว่าการประกาศในอดีตมันเป็นความพยายามในการแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะเมื่อมันมีปัญหาในเรื่องของการชุมนุม การเรียกร้อง หรือความจริงตอนนั้นก็มีการถกเถียงเรื่องรัฐธรรมนูญเรื่องต่าง ๆ ผมก็เสนอเพื่อหาทางออกให้กับสังคม ขณะเดียวกันก็ต้องยอมรับว่าแม้ว่าขณะนี้เราถือว่าเหตุการณ์ในแง่ของความมีเสถียรภาพมันดีขึ้น หรือว่าอาจจะใช้คำว่ามีการยอมรับที่จะให้ทำงานต่อก็ตาม แต่ก็ยังเป็นปมประเด็นของการเรียกร้อง อย่างน้อยที่สุดผมคิดว่าการที่เราไปยืนยันว่าจะต้องอยู่ครบเทอมหรืออะไร มันจะเป็นปมเงื่อนของความขัดแย้งในความตึงเครียด และก็โดยที่การยุบสภาฯ เองมันก็เป็นกระบวนการตามวิถีทางประชาธิปไตย เพราะต้องยอมรับว่าเราผ่านพ้นเหตุการณ์ 2 - 3 เหตุการณ์มานี้มันก็เหมือนกับไม่ปกติ มันไม่ใช่ว่าเลือกตั้งเสร็จแล้วมีรัฐบาล แล้วมันก็อยู่กันมาตลอด เปลี่ยนรัฐบาลกันมา 1 ครั้ง 2 ครั้ง โดยคำพิพากษาศาล โดยมติของสภาฯ และยังมีเหตุการณ์ความขัดแย้งอยู่ เพราะฉะนั้นในมุมหนึ่งนี้หลายคนก็ยังมองว่าการที่จะให้ทุกอย่างกลับเข้าสู่ภาวะปกติจริง ๆ นี้ก็คือผ่านกระบวนการเลือกตั้งกันอีกครั้งหนึ่ง ผมก็บอกว่าไม่ขัดข้องตรงนั้น เพียงแต่ว่าการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น มันก็ไม่ควร 1. ไม่ควรมากระทบการแก้ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ ซึ่งวันนี้เราถือว่าเราผ่านพ้นแล้ว มันไม่ควรจะไปเลือกตั้งโดยที่เรายังมาถกเถียงกันว่ากติกาเลือกตั้งมันดีพอหรือยัง ตอนนี้เราก็กำลังให้สภาฯ หาข้อยุติเรื่องนี้ ซึ่งก็คงจะยุติโดยเร็ว และก็ไม่ควรเลือกตั้งแล้วมีแต่ความรุนแรง ความขัดแย้ง ไปหาเสียงไม่ได้ เพราะฉะนั้นถ้า 3 เงื่อนไขนี้มันครบผมก็ถือว่ามันก็เป็นโอกาสที่เหมาะสม ที่เราจะกลับสู่การเลือกตั้ง และเราก็ต้องเชื่ออย่างนี้ครับว่าสิ่งที่เราอยากจะทำมันมีเยอะนะครับ มันไม่มีวันจบหรอกครับ สมมติผมจะอยู่ไปถึงครบเทอม สมมติว่าสภาฯ หมดอายุเดือนธันวาคมปีหน้า ผมก็เชื่อว่าถึงพฤศจิกายนก็ต้องมีงานบางอย่างที่เราริเริ่มและไม่มีทางเสร็จ ถ้าเราจะอ้างว่าต้องรองานนั้นงานนี้เสร็จ ไม่มีจบหรอกครับ มันเป็นไปไม่ได้ แต่ผมกลับมองว่าถ้าเราสามารถที่กลับไปสู่การเลือกตั้ง ถ้าเรามั่นใจว่าสิ่งที่เราทำ สิ่งที่ประชาชนสนับสนุน เมื่อเลือกตั้ง ประชาชนก็จะสนับสนุนให้เรากลับเข้ามาทำหน้าที่ อันนี้ก็เป็น จะเรียกว่าความเสี่ยงก็ได้ หรือว่าเป็นเรื่องปกติของระบอบประชาธิปไตย
ผู้ดำเนินรายการ (สมโภชน์ โตรักษา ผู้ช่วยหัวหน้ากองบรรณาธิการข่าว ช่อง 7) แต่ว่าดูเหมือนพรรคร่วมรัฐบาลเองก็เห็นว่าช่วงจังหวะเวลานี้เป็นช่วงที่ต้องเร่งสร้างผลงาน บางกระแสก็วิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นช่วงที่จะต้องกอบโกย ไม่ว่าจะกอบโกยในลักษณะอะไรก็แล้วแต่ ท่านนายกฯ ได้ถามพรรคร่วมรัฐบาลบ้างหรือเปล่าครับ ว่าเขาพร้อมใจกันที่จะยุบสภาฯ ในปีหน้าตามความคิดของท่านนายกฯ ไหม
นายกรัฐมนตรี คือพูดตามตรงนะครับถ้าถามคนที่เป็นรัฐบาลโดยทั่ว ๆ ไปนี้ มันไม่มีใครอยากจะออกไปหรอก เขาก็ถือว่าเขาอยู่ในตำแหน่งที่มีงาน มีอำนาจ มีความรับผิดชอบ เขาก็ต้องการที่จะทำต่อไป เพราะฉะนั้นถ้าไปถามใจบอกว่าอยากไม่อยากนี้ ไม่มีใครอยาก แต่ว่าผมได้ทำความเข้าใจมาตั้งแต่ต้นว่า เรามาอยู่ในสถานการณ์อย่างนี้ อย่าลืมนะครับ อย่างตอนช่วงชุมนุม ผมก็ต้องตัดสินใจเลย บอก 14 พฤศจิกายนนะ ผมตัดสินใจอย่างนี้ ผมเชื่อว่านักการเมืองทุกคนเข้าใจ แต่ว่าเข้าใจแล้วพอใจหรือเปล่านั่นอีกเรื่องหนึ่ง ว่าเขาอาจจะเห็นแตกต่างนะครับ แล้วก็มีคนเยอะครับที่ยังเจอผมแล้วก็บ่นว่าไปบอกทำไมจะยุบสภาฯ ทำไมไม่อยู่ให้มันครบไปเลย ผมก็พยายามอธิบายว่า การเข้าสู่การเลือกตั้งเร็วนี้มันเป็นการลดความตึงเครียดทางสังคมอย่างหนึ่ง
ผู้ดำเนินรายการ พูดอย่างนี้ก็แสดงว่าโอกาสที่จะจัดทำงบประมาณในปีหน้า หรือแต่งตั้งโยกย้ายปลายปีก็จะไม่เกิดขึ้นในรัฐบาลชุดนี้
นายกรัฐมนตรี ผมยังมอง คือถ้าผมพูดเดี๋ยวก็จะหาว่าไปกำหนดตายตัวหรือไม่นะครับ ผมยังเชื่อว่ามันน่าจะเกิดขึ้นเร็วกว่านั้น การยุบสภาฯ น่าจะเกิดขึ้นกว่านั้น แต่อย่างที่บอกคืออยู่ที่สถานการณ์นะครับ เพราะว่าถ้ามันมีความวุ่นวายอะไรต่าง ๆ ผมก็บอกแล้วว่าผมไม่อยากให้สังคมไปเลือกตั้งในภาวะที่มันมีความวุ่นวาย เพราะฉะนั้นถ้ามันไม่มีความวุ่นวายมันก็น่าจะเร็วกว่านั้น แต่ผมไม่ได้กังวลเท่าไรเพราะว่าแนวทางในเรื่องของงบประมาณ เราก็เริ่มทำตั้งแต่เดี๋ยวนี้ และนโยบายหลายอย่างซึ่งผมรู้ว่าจะอยู่ครบหรือไม่ครบก็ทำไม่เสร็จนี้ ผมถือว่าเมื่อวางลงไปแล้ว มันเหมือนกับเป็นประเด็นที่เปิดเอาไว้ว่า ท้าทายพรรคการเมือง ความหมายก็คือว่าสมมติผมบอกว่าจะทำนโยบายเกี่ยวกับเรื่องของมอเตอร์ไซค์รับจ้างอย่างนี้แล้วมันไม่เสร็จ มันท้าทายพรรคการเมือง ก็คือว่าเลือกตั้งปั๊บ ทุกพรรคต้องมาตอบจะทำหรือไม่ทำต่อ อย่างน้อยผมก็อยากจะเป็นผู้กำหนดประเด็นนโยบายเหมือนกัน ที่เป็นตัวท้าทายในเรื่องของการเลือกตั้ง
ผู้ดำเนินรายการ เรื่องของพรรคร่วมรัฐบาลท่านนายกฯ ครับ เมื่อวานนี้ครบรอบ 2 ปี ท่านนายกฯ ได้ประเมินผลงานความเป็นทีมเวิร์คของพรรคร่วมรัฐบาลไหม แล้วในฐานะที่เป็นอาจารย์เก่านะครับ มีคิดในใจตัดเกรดให้กับพรรครัฐบาลว่าพรรคไหนได้เกรดอย่างไร
นายกรัฐมนตรี คิดในใจแล้วก็เก็บไว้ในใจนะครับ ส่วนการทำงานกับพรรคร่วมรัฐบาลนี้ คือผมอยู่การเมืองมานานนะครับ แล้วก็ทุกคนที่ติดตามการเมืองไทยก็จะทราบ ยกเว้นช่วงสั้น ๆ ที่เรามีรัฐบาลพรรคเดียว ยังไงการเป็นรัฐบาลผสมนี้มันไม่ราบรื่น 100 เปอร์เซ็นต์หรอกครับ เพราะมันก็จะต้องมี คือพูดง่าย ๆ มันลักษณะของคนทำงานด้วยกัน แต่ว่ามันยังมีความเป็นคู่แข่งขันกันอยู่ในตัวบ้าง หรือแนวทางมันต้องไม่ตรงกันบ้าง เพราะถ้าแนวทางมันตรงกันก็คงจะอยู่พรรคเดียวกันตั้งแต่ต้น เพราะฉะนั้นเราต้องเข้าใจตรงนี้ เข้าใจตรงนี้เราก็ต้องขีดเส้นนะครับว่า อะไรซึ่งมันเป็นดุลพินิจของเขา ในฐานะที่เขาดูแลบริหารหน่วยงาน เราก็ไม่ควรที่จะไปก้าวล่วง ยกเว้นเสียแต่ว่ามันไม่ทำแล้วเราคิดว่ามันจะเกิดความเสียหายต่อส่วนรวม อะไรที่มันเป็นเรื่องในเชิงนโยบายที่รับผิดชอบร่วมกัน เราก็ต้องมีส่วนร่วม และผมเชื่อว่าทุกพรรคร่วมก็เข้าใจกติกานี้ เพราะฉะนั้นที่ผ่านมา 2 ปีจะเห็นว่าหลายช่วงก็ไม่ได้มีปัญหา แต่อย่าลืมว่าเวลามันไม่มีปัญหานี้มันไม่มีใครไปพาดหัวข่าวนะครับว่ารัฐบาลทำงานไม่มีปัญหา มันจะมีข่าวก็ต่อเมื่อมันเกิดปัญหา ซึ่งมันก็เกิดขึ้นอยู่เป็นระยะ ๆ มองไม่ตรงกัน หรือบางครั้งไม่ต้องพรรคร่วมหรอกครับ พรรคเดียวกันแต่คนละกระทรวงอย่างนี้เห็นไม่ตรงกัน มันก็มีความจำเป็นที่จะต้องตัดสิน ผมเป็นหัวหน้ารัฐบาลผมก็ต้องมีบทบาทหน่อย ในการที่จะมาคลี่คลายตัดสินในข้อขัดแย้งหรือว่าความเห็นที่มันไม่ตรงกัน แต่โดยรวมนี้ผมถือว่า 2 ปีที่ผ่านมาก็ค่อนข้างที่จะไปได้ แล้วก็ที่เห็นจะมีกรณีช่วงที่พรรคเพื่อแผ่นดินถูกปรับออกไป เพราะว่าการลงมติในเรื่องการไม่ไว้วางใจเท่านั้นเองที่มันปรากฏชัดออกมาในลักษณะของการลงคะแนนที่สวนทางกัน
ผู้ดำเนินรายการ แปลว่าหลังเลือกตั้งนี้ทิศทางในการที่จะจับขั้วก็ยังลักษณะแบบนี้ เพราะว่ามองในแง่ของการทำงานร่วมกัน
นายกรัฐมนตรี ไม่มีใครตอบได้หรอกครับ เพราะว่าต้องไปสู่การเลือกตั้งก่อน พอเข้าสู่การเลือกตั้งแล้วมันจะเกิดประเด็นของมันขึ้นมาเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงเลือกตั้งก็จะต้องมีท่านทั้งหลายนี่แหละมาคอยซักถามหัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรค ว่า ตกลงอยู่ขั้วไหนอย่างไร และหลายพรรคเขาก็จะไม่ตอบ เขาก็จะบอกว่าขอดูตัวเลขหลังการเลือกตั้งก่อน เขาก็อาจจะดูว่าประชาชนให้คะแนนพรรคไหนอย่างไร เพราะฉะนั้นผมคิดว่ามันตอบยากนะครับ ถามว่าเมื่อเราทำงานร่วมกันมานี้โดยธรรมชาติก็คิดว่าน่าจะสามารถร่วมงานต่อไปได้ แต่เราบังคับไม่ได้ ประชาธิปัตย์ก็จะเป็นพรรคใหญ่ และในอดีตเราก็เคยเป็นรัฐบาลผสม ยุบสภาฯ เสร็จเราแพ้เลือกตั้ง พรรคที่เคยร่วมกับเราเขาก็ตัดสินใจไปร่วมกับอีกพรรคหนึ่ง ก็เป็นเ