นางถวิลวดี บุรีกุล ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาพระปกเกล้า
แถลงว่า สถาบันโดยความร่วมมือของสำนักงานสถิติแห่งชาติได้สำรวจความพึงพอใจต่อนโยบายของรัฐบาลและความเชื่อมั่นต่อสถาบันต่างๆ ทั้งของรัฐและเอกชน ระยะเวลา 8 ปี ตั้งแต่ พ.ศ.2546-2553 พบว่า นโยบายการสร้างหลักประกันรายได้แก่ผู้สูงอายุ ของรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มีผู้พึงพอใจสูงสุด เกือบร้อยละ 90 ในปี 2553 แต่นายกฯที่ยังครองใจประชาชนสูงสุดปี 2547 หรือกว่าร้อยละ 90 คือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร แต่ก็ลดลงอย่างมากในปี 2549 ที่เริ่มมีการต่อต้าน พ.ต.ท.ทักษิณ และจากนั้นความพึงพอใจต่อนายกรัฐมนตรีลดลงเรื่อยๆ จนถึงต่ำมาก (37.6) ช่วงนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เป็นนายกฯ และค่อยๆ เพิ่มขึ้นในสมัยนายอภิสิทธิ์ (ร้อยละ 60) ส่วนคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้รับคะแนนความเชื่อมั่นน้อยกว่าตัวนายกฯในทุกสมัย
นางถวิลวดีกล่าวว่า สถาบันทหารและตำรวจ ที่เคยได้รับความเชื่อมั่นสูงสุดในปี 2548 คือ ร้อยละ 84.8 ก็ลดต่ำลงเรื่อยๆ จนเหลือร้อยละ 76.3 และ 67.8 ในปี 2552 และ 2553 ตามลำดับ
นอกจากนี้กลุ่มองค์กรอิสระได้รับความเชื่อมั่นลดลง โดยตลอด 8 ปี องค์กรอิสระที่ประชาชนลดความเชื่อมั่นลงมาก คือ สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน รวมทั้งรัฐสภา ที่เป็นสถาบันทรงเกียรติ ลดจากอดีตร้อยละ 60 มาเหลือไม่ถึงครึ่ง ส่วนสื่อมวลชนที่ได้รับความเชื่อมั่นสูงสุดคือ ทีวี รองลงมาคือหนังสือพิมพ์