นายกฯยันจำเป็นกฎหมายลงโทษชายทำท้องแล้วทิ้ง

นายกฯ ระบุกฎหมายลงโทษผู้ชายทำท้องแล้วทิ้งจำเป็น ยันให้ความสำคัญปัญหาท้องไม่พร้อมตั้งแต่ก่อนมีการพบซากทารก 2,002 ศพ แถมเป็นคนปลดล็อก พ.ร.บ.อนามัยเจริญพันธุ์ที่ค้างมานาน เครือข่ายองค์กรสตรีท้องไม่พร้อมเข้าพบนายกฯ เดินหน้าสู่วิธีแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ-บูรณาการ
   
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 15.00 น. วันที่ 20 ธ.ค. องค์กรสตรีเครือข่ายท้องไม่พร้อม

นำโดย นางเมทินี พงษ์เวช ผู้อำนวย การสมาคมเสริมสร้างสถานภาพสตรี ในพระอุปถัมภ์พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ (บ้านพักฉุกเฉิน) นางทัศนัย ขันตยาภรณ์ ตัวแทนจากองค์การแพธ นางสาวจินตนา นนทะเปารยะ ตัวแทนจากสหทัยมูลนิธิ นางผุสดี ตามไท รองประธานคณะกรรมาธิการกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ และผู้พิการ สภาผู้แทนราษฎร ฯลฯ ได้เข้าพบนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อนำเสนอประเด็นปัญหาท้องไม่พร้อม รวมทั้งขอคำปรึกษาเพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาที่เป็นระบบและบูรณาการ
   
สำหรับประเด็นที่ทางเครือข่ายนำเสนอต่อนายกฯ มีอาทิ ทางเลือกใดที่จะทำให้ยุติการตั้งครรภ์อย่างปลอดภัย ไม่ไปใช้บริการหมอเถื่อน หรือทำร้ายตัวเอง

ลดจำนวนการตั้งครรภ์ไม่พร้อม เช่น ส่งเสริมการเรียนเพศศึกษารอบด้าน ส่งเสริมสุขภาวะทางเพศ และอนามัยเจริญพันธุ์ มาตรการทางเลือกในการที่จะเข้าถึงบริการ ในกรณี ที่ท้องไม่พร้อมจากเหตุใด ๆ ก็ตาม เรื่องระบบให้คำปรึกษาอย่างสายด่วนสุขภาพจิต ซึ่งมักจะโน้มน้าวให้ตั้งครรภ์ต่อ แต่การดูแลหลังจากนี้ต่อไปจะทำอย่างไร การมีศูนย์เด็กเล็กในโรงงาน การปรับทัศนคติในสังคม 


นางสาวจินตนา นนทะเปารยะ ผู้อำนวยการบริหารสหทัยมูลนิธิ กล่าวว่า 

สหทัยมูลนิธิทำงานร่วมกับบ้านพักฉุกเฉินในกรณีรับดูแลเด็กที่มีปัญหาท้องไม่พร้อม โดยสายโทรศัพท์ที่เข้ามาปรึกษาตั้งแต่กลางเดือน พ.ย. ไม่ได้เพิ่มขึ้นซึ่งห่วงว่าเด็กเลือกที่จะทำร้ายตนเอง เช่น ด้วยการกลิ้งตกบันได หรืออาจพบเด็กอ่อนถูกทิ้งมากขึ้น เพราะไม่สามารถเข้าถึงบริการที่มีอยู่ อาทิ บ้านพักฉุกเฉิน ซึ่งเป็นทางเลือกแรก ๆ ของผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อม
   
นางสาวอุษาสินี ริ้วทอง หัวหน้างานรณรงค์ทางสังคม องค์การแพธ กล่าวว่า กรณีที่กำลังจะมีการทำประชาพิจารณ์เอาผิดหรือลงโทษกับผู้ชายที่ไม่รับผิดชอบ ทางเครือข่ายไม่เห็นด้วย เพราะเชื่อว่าการมีบทลงโทษไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ แต่ต้องสร้างการเรียนรู้
   
ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว ก่อนที่จะเกิดกรณีพบซากทารกที่วัดไผ่เงินฯ


ได้พยายามเร่งรัดปัญหานี้ด้วยการทำให้เป็นระบบ ซึ่ง พม.ก็มีโครงการแม่วัยใสอยู่แล้ว ซึ่งก็ได้บอกไปว่าให้คิดให้ครบทั้งหมด มิฉะนั้นปัญหาจะลุกลามใหญ่โต ทั้งในเรื่องการดูแลในกรณีท้องไม่พร้อม และดูแลหลังการคลอด ซึ่ง พม. ก็ทำได้ในระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตาม การทำงานในระดับรณรงค์ที่ไปไม่ถึงกลุ่มเสี่ยง ก็ต้องนำไปวิเคราะห์เพื่อปรับมาตรการกันใหม่ แต่ก็มาเกิดในกรณี 2,002 ศพ เสียก่อน
   
กรณีการตั้งศูนย์เด็กเล็กในโรงงาน คงบังคับเอกชนได้ยาก แต่สามารถสร้างแรงจูงใจในเรื่องมาตรการภาษีได้ ซึ่งก็ได้กำชับกระทรวงการคลังไป

ส่วนศูนย์เด็กเล็กของรัฐนั้น อยู่ในโครงการไทยเข้มแข็ง ซึ่งจะทำให้ครบทุกตำบล ตอนนี้ขาดอยู่ 471 ตำบล ด้านกระทรวงศึกษาธิการก็ยอมรับเรื่องนี้ดีขึ้น และล่าสุด ครม.เพิ่งผ่านร่างพระราชบัญญัติอนามัยเจริญพันธุ์ไปเมื่อวันอังคารที่ผ่านมาเอง ซึ่งตนเป็นคนปลดล็อกเอง เพราะค้างมาหลายปี
   
สำหรับมาตรการเอาผิดหรือบทลงโทษผู้ชายที่ไม่รับผิดชอบนั้น แม้ว่าอาจไม่ใช่วิธีการที่ดี แต่จำเป็นต้องมีเพื่อให้คนกลัวและเคารพกฎหมาย คล้ายกับกรณีการพนัน ซึ่งปัญหานี้คิดว่าเรื่องบทลงโทษจำเป็น
   
นายกฯ ยังกล่าวถึงกรณีที่จำเป็นต้องยุติการตั้งครรภ์ว่า ยังไม่ได้ตกผลึกในเรื่องนี้ อยู่ในระหว่างหารือกับหลายหน่วยงาน เชื่อว่ายังมีกลไกและระบบที่ยังเอื้อกันอยู่ได้ และ พอจะไปได้ เช่น กลไกแพทยสภา ก็ยืด หยุ่น ผ่อนปรน และก้าวหน้า ซึ่งหากแก้กฎหมายอาจจะเกิดความขัดแย้งมาก ทั้งนี้ นายกฯได้ให้ความสนใจอยากทราบผลจากหลักสูตรเพศศึกษาที่องค์การแพธร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการว่าเป็นอย่างไร พร้อมทั้งแสดงความกังวลถึงระบบให้คำปรึกษาปัญหา แต่จะย้ำเรื่องนี้กับกระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ต่อไป.

เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์