แม้ว แจงถึงลูกถึงคนไม่ชัด - ปชช.อยากเห็นเวทีเจรจา 3 ฝ่าย

แม้ว แจงถึงลูกถึงคนไม่ชัด - ปชช.อยากเห็นเวทีเจรจา 3 ฝ่าย

โดย ผู้จัดการออนไลน์ 12 มีนาคม 2549 17:54 น.

เอแบคโพลล์ สำรวจความคิดเห็นประชาชน พบคน กทม.ส่วนใหญ่ติดตามการชี้แจงของ ทักษิณ ในรายการ ถึงลูกถึงคน พบชี้แจงหลายประเด็นไม่ชัดเจน ทั้งการแทรกแซงสื่อ การประกาศภาวะฉุกเฉิน การยึดทรัพย์ถ้าลาออก รวมไปถึงการซื้อขายหุ้น การหันหน้าเจรจากับทุกฝ่ายด้วยสันติวิธี ขณะเดียวกันชาว กทม.ต้องการให้เกิดเวทีเจรจา 3 ฝ่าย

สำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ สำรวจความคิดเห็นประชาชน เรื่อง ประชาชนคิดอย่างไรต่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่รายการถึงลูกถึงคน และการร่วมมือร่วมใจแก้วิกฤตการเมืองไทยขณะนี้ ในเขตกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล จำนวนทั้งสิ้น 1,618 ตัวอย่าง ในวันที่ 11 มีนาคม 2549 โดยพบว่า กลุ่มตัวอย่างติดตามข่าวสารสถานการณ์การเมืองลดลงจากวันที่ 6 มีนาคม 2549 ที่ผ่านมา คือจากร้อยละ 76.1 ลดลงเหลือ ร้อยละ 58.1

และเมื่อถามถึงการติดตามการชี้แจงตอบข้อซักถามของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ในรายการถึงลูกถึงคน พบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่หรือร้อยละ 62.1 ติดตามการชี้แจง และร้อยละ 37.9 ไม่ได้ติดตาม ซึ่งกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 45.8 ระบุ พ.ต.ท.ทักษิณ ตอบข้อซักถามและชี้แจงในเรื่องการขายหุ้นได้อย่างชัดเจน ขณะที่ร้อยละ 41.8 ระบุไม่ชัดเจน และร้อยละ 12.4 ไม่มีความเห็น

สำหรับความคิดเห็นของกลุ่มตัวอย่างต่อการชี้แจงของ พ.ต.ท.ทักษิณ ในเรื่องการลาออกนั้น พบว่า ร้อยละ 45 ระบุชัดเจน ขณะที่ร้อยละ 39.4 ระบุไม่ชัดเจน และร้อยละ 15.6 ไม่มีความเห็น และเมื่อสอบถามความคิดเห็นต่อคำชี้แจงเกี่ยวกับการยึดทรัพย์หลังการลาออกนั้น พบว่า ร้อยละ 28.7 ระบุชี้แจงได้ชัดเจน ขณะที่ร้อยละ 32.3 ระบุไม่ชัดเจน และร้อยละ 39 ไม่มีความเห็น

นอกจากนี้ ผลการสำรวจยังพบว่า กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 44.4 ระบุ พ.ต.ท.ทักษิณ ชี้แจงเรื่องการตั้งคนกลางเพื่อตรวจสอบตนเองได้ชัดเจน ขณะที่ร้อยละ 32.8 ระบุไม่ชัดเจน และร้อยละ 22.8 ไม่มีความเห็น

นอกจากนี้ ผลการสำรวจความคิดเห็นกรณีการชี้แจงในเรื่องการแทรกแซงสื่อนั้น พบว่า ร้อยละ 37.4 ระบุชี้แจงได้ชัดเจน ขณะที่ร้อยละ 37.9 ระบุไม่ชัดเจน และร้อยละ 24.7 ไม่มีความคิดเห็น อย่างไรก็ตาม เมื่อสอบถามถึงการชี้แจงเรื่องการกำหนดวันเลือกตั้งในวันที่ 2 เมษายนนั้น พบว่าร้อยละ 68.1 ระบุชี้แจงได้ชัดเจน ขณะที่ร้อยละ 21.6 ระบุไม่ชัดเจน และร้อยละ 10.3 ไม่มีความเห็น

เมื่อสอบถามถึงความชัดเจนของคำชี้แจงของ พ.ต.ท.ทักษิณ เรื่องการประกาศรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหลังการเลือกตั้งหากได้รับคะแนนเสียงเกินกว่าครึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิ พบว่าร้อยละ 63.2 ระบุชัดเจน ขณะที่ร้อยละ 21.8 ระบุไม่ชัดเจน และร้อยละ 15 ไม่มีความเห็น ส่วนความเห็นเกี่ยวกับความชัดเจนเรื่องการประกาศภาวะฉุกเฉินนั้น พบว่า ร้อยละ 31.1 ระบุชัดเจน ขณะที่ร้อยละ 36.1 ระบุไม่ชัดเจน และร้อยละ 32.8 ไม่มีความเห็น

ส่วนประเด็นสำคัญที่พบจากการสำรวจและกำลังเป็นที่จับตามองของทุกฝ่าย คือ การตอบข้อซักถามของ พ.ต.ท.ทักษิณ เกี่ยวกับแนวทางการเจรจากับฝ่ายต่างๆ เพื่อยุติปัญหาการเมืองที่กำลังร้อนแรงอยู่ขณะนี้ พบว่า ร้อยละ 43.1 ระบุตอบข้อซักถามมีความชัดเจน ขณะที่ร้อยละ 41 ระบุไม่ชัดเจน และร้อยละ 15.9 ไม่มีความเห็น

สำหรับความคิดเห็นต่อความเหมาะสมของการดำเนินรายการถึงลูกถึงคน โดยนายสรยุทธ สุทัศนะจินดา ผลสำรวจพบว่าตัวอย่างร้อยละ 76.6 ระบุทำหน้าที่ได้เหมาะสม ขณะที่ร้อยละ 10.5 ระบุไม่เหมาะสม และร้อยละ 12.9 ไม่มีความเห็น

ทั้งนี้ คะแนนเฉลี่ยที่ประชาชนโหวตให้ พ.ต.ท.ทักษิณ และนายสรยุทธ สุทัศนะจินดานั้น พบว่า ในส่วนของการดำเนินรายการและการตั้งคำถามของนายสรยุทธ ได้คะแนนเฉลี่ย 8.04 จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน ขณะที่การชี้แจงและตอบคำถามของ พ.ต.ท.ทักษิณ ได้คะแนนเฉลี่ย 7.18 จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน

เมื่อสอบถามถึงสิ่งที่พรรคร่วมฝ่ายค้านควรทำเพื่อแก้ไขวิกฤตการเมืองไทย 3 อันดับแรก ได้แก่ ควรหันหน้าเจรจากันกับทุกฝ่ายอย่างสันติวิธี (ร้อยละ 41.9) ควรส่งผู้สมัครลงเลือกตั้ง (ร้อยละ 24.1) และหยุดการโจมตีรัฐบาล (ร้อยละ 24.1) ตามลำดับ

สำหรับสิ่งที่อยากให้กลุ่มสนับสนุนนายกรัฐมนตรีและไม่สนับสนุนนายกรัฐมนตรีควรทำเพื่อแก้ไขวิกฤติการเมืองไทย 3 อันดับแรก ได้แก่ ยุติการประท้วง/ยุติการชุมนุม (ร้อยละ 50.6) ควรหันหน้าเจรจากันกับทุกฝ่ายอย่างสันติวิธี (ร้อยละ 31.7) และทำตามระบอบประชาธิปไตย (ร้อยละ 14.6) ตามลำดับ

สิ่งที่กลุ่มตัวอย่างอยากให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ทำเพื่อแก้ไขวิกฤติการเมืองไทย 3 อันดับแรก ได้แก่ ควรหันหน้าเจรจากันกับทุกฝ่ายอย่างสันติวิธี (ร้อยละ 30.6) ทำหน้าที่รักษาการนายกรัฐมนตรีต่อไป (ร้อยละ 28.6) และลาออก (ร้อยละ 16.9) ตามลำดับ

สำหรับเจ้าหน้าที่ที่ดูแลความมั่นคงควรทำสิ่งต่อไปนี้เพื่อแก้ไขวิกฤติการเมืองไทย 3 อันดับแรก ได้แก่ วางตัวเป็นกลาง (ร้อยละ 43.8) ดูแลความสงบเรียบร้อย/รักษาความปลอดภัยของประชาชน (ร้อยละ 30.5) และเป็นคนกลางเชื่อมโยงทุกฝ่ายให้หันหน้าเจรจากันด้วยสันติวิธี (ร้อยละ 11.9) ตามลำดับ

สิ่งที่สื่อมวลชนควรทำเพื่อแก้ไขวิกฤติการเมืองไทย 3 อันดับแรก ได้แก่ รายงานข่าวอย่างตรงไปตรงมา/ไม่บิดเบือนข่าว/ไม่เสนอข่าวเกินจริง (ร้อยละ 62.5) นำเสนอข่าวอย่างเป็นกลางและยุติธรรม (ร้อยละ 36.9) และไม่ใส่ร้ายบุคคลอื่น (ร้อยละ 10.2) ตามลำดับ

ส่วนสิ่งที่ประชาชนควรทำสิ่งต่อไปนี้เพื่อแก้ไขวิกฤตการเมืองไทย พบว่า 3 อันดับแรก ได้แก่ ไปใช้สิทธิเลือกตั้งในวันที่ 2 เมษายน 2549 (ร้อยละ 32.1) เลิกสนับสนุนกลุ่มผู้ชุมนุมประท้วง/ไม่เข้าร่วมการชุมนุม (ร้อยละ 15.4) และใช้สติในการตัดสินใจและรับฟังข้อมูลข่าวสารต่างๆ อย่างมีสติ/รอบคอบ (ร้อยละ 15.4) ตามลำดับ

เมื่อสอบถามเกี่ยวกับการลาออกของ พ.ต.ท.ทักษิณ ภายหลังการเลือกตั้งในวันที่ 2 เมษายนนี้ พบว่า ประชาชนจำนวนมากแต่ยังไม่ใช่คนส่วนใหญ่ของกลุ่มที่ถูกศึกษาหรือร้อยละ 44.5 มีความเห็นว่าไม่ควรลาออกทันที ร้อยละ 24.4 เห็นว่าควรลาออกทันที และร้อยละ 31.1 ไม่มีความเห็น

เป็นที่น่าสังเกตว่า มีประชาชนเกือบ 1 ใน 3 ที่ยังต้องการข้อมูลและความชัดเจนของสถานการณ์ทางการเมืองก่อนตัดสินใจแสดงความคิดเห็นในประเด็นการลาออกทันทีของนายกรัฐมนตรีหลังการเลือกตั้ง และอีกส่วนหนึ่งเป็นกลุ่มประชาชนที่ไม่ต้องการยุ่งเกี่ยวกับการเมือง

นายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ กล่าวว่า ผลวิจัยครั้งนี้ชี้ให้เห็นชัดเจนว่า ความเข้มข้นในพฤติกรรมการติดตามข่าวการเมืองของประชาชนเริ่มลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ จากร้อยละ 76.1 เหลือร้อยละ 58.1 ลดลงประมาณร้อยละ 18

แต่เมื่อสอบถามเฉพาะกลุ่มคนที่ติดตามการชี้แจงและตอบข้อซักถามของ พ.ต.ท.ทักษิณ ในรายการถึงลูกถึงคน พบว่า ประชาชนจำนวนมากระบุนายกรัฐมนตรีชี้แจงหลายประเด็นยังไม่ชัดเจน เช่น การแทรกแซงสื่อมวลชน การประกาศสภาวะฉุกเฉิน การยึดทรัพย์ถ้าลาออก รวมไปถึงการซื้อขายหุ้นและการหันหน้าเจรจากับทุกฝ่ายด้วยสันติวิธี

สุรนันทน์ เย้ยดีเบตเลอะเทอะ แม้ว หนีจุกตูด!

โดย ผู้จัดการออนไลน์ 12 มีนาคม 2549 12:49 น.

กลับกลอกไม่มีวันหยุด ทรท.ปัดร่วมเวทีประชันแนวคิด สุรนันทน์ อ้างเลอะเทอะ กลัวเป็นการสร้างราคาให้กับฝ่ายค้าน - กลุ่มพันธมิตรฯ ซ้ำไม่แก้ปัญหาก่อให้เกิดการเผชิญหน้า ด้าน แม้ว หลบนักข่าวหนีออกด้านหลังที่ทำการพรรค

ที่พรรคไทยรักไทย วันนี้ (12 มี.ค.) นายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ กรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย ให้สัมภาษณ์กรณีองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย (พีเน็ต) ขอเป็นตัวกลางเชิญตัวแทนฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน และกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย มาพูดคุยกันในวันที่ 24 มี.ค.เพื่อหาทางออกปัญหาความขัดแย้งของบ้านเมืองว่า พรรคไทยรักไทยคงไม่เข้าร่วม เพราะเป็นการสร้างราคาว่าเป็นการดีเบต แต่จริงๆ แล้วเป็นการเผชิญหน้า

ถ้าใช้การดีเบตโต้กันไปมาจะทำให้เกิดการเผชิญหน้า รัฐบาลไม่ต้องการ แต่ต้องการหาทางออกอย่างแท้จริง ถ้ากลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และฝ่ายค้านยังมีข้อกังขาก็ควรมานั่งหารือกัน ซึ่งการปิดห้องคุยกันไม่ได้หมายความว่าจะไม่โปร่งใส ทุกคนจะได้พูดเปิดใจคุยกันอย่างเต็มที่เพื่อหารือถึงทางออก ไม่ต้องพูดเชิงหาเสียง หรือหาเรื่อง การที่พีเนตมาเสนอเวทีดีเบตคิดว่า เลอะเทอะใหญ่ วันนี้สถานการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ใช่มานั่งโต้วาทีกัน แต่ต้องปรองดองกัน ที่สำคัญ ผลลัพธ์ที่ออกมาต้องยืนบนหลักประชาธิปไตย นายสุรนันทน์ กล่าว

นายสุรนันทน์ กล่าวต่อว่า ส่วนเวทีของที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ที่ขอเป็นตัวกลางเชิญฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน และกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย มาหารือกันนั้นถือเป็นเวทีที่น่าสนใจ พรรคพร้อมที่จะหารือ พรรคจะพิจารณาดูว่ามีเวทีใดที่เหมาะสมบ้าง

ผู้สื่อข่าวถามว่า กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ยืนยันว่า ถ้าไม่มีการหารือระหว่าง 3 ฝ่าย ผ่านสื่อมวลชนก็จะไม่เข้าร่วมหารือเช่นกัน นายสุรนันทน์ ตอบว่า กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยต้องการทำเพื่อบ้านเมืองจริงหรือไม่ หรือแค่สร้างละครไปวันๆ เชื่อว่า มีหลายคนในกลุ่มแกนนำพันธมิตรมีจิตใจรักประชาธิปไตย จึงอยากให้ไปช่วยคุยกับคนที่มีวาระซ่อนเร้นให้มานั่งคุยกันเพื่อแก้ปัญหาให้ประเทศดีกว่า

ทั้งนี้ การจัดเวทีดีเบตของพีเน็ตดังกล่าวส่อแววว่าจะเป็นจริงเมื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ตอบคำถาม นายสุรยุทธ สุทัศนะจินดา ในรายการ ถึงลูกถึงคน เมื่อคืนวันศุกร์ที่ 10 มี.ค.ที่ผ่านมา ว่า พร้อมที่จะร่วมเวทีดีเบตกับแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และแกนนำพรรคฝ่ายค้านแบบ 1 ต่อ 1 โดยฝ่ายพันธมิตรได้เสนอชื่อ นายสนธิ ลิ้มทองกุล เป็นตัวแทนเข้าร่วมรายการ และพีเน็ตได้เตรียมออกหนังสือเชิญทั้ง 3 ฝ่าย ขึ้นเวทีที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในวันศุกร์ที่ 24 มีนาคม นี้

ผู้สื่อข่าวรายงานความเคลื่อนไหวของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร รักษานายกรัฐมนตรี วันนี้ ได้เดินทางออกจากบ้านพักจรัญสนิทวงศ์ ตั้งแต่เวลา 09.00 น. โดยตรงมาที่ทำการพรรคไทยรักไทยเพื่อบันทึกเทปโทรทัศน์หาเสียงเลือกตั้งของพรรคเป็นเวลา 30 นาที ซึ่งหลังจากที่บันทึกเทปเสร็จ พ.ต.ท.ทักษิณ ก็ปฏิเสธที่จะให้สัมภาษณ์ บอกแต่ว่าวันนี้เป็นวันหยุดขอเป็นส่วนตัว จากนั้นได้ขึ้นไปข้างบนที่ทำการพรรค จนกระทั่งเวลา 11.00 น.ผู้สื่อข่าวได้สังเกตว่า รถของนายกรัฐมนตรีได้ออกไปจากพรรค ซึ่งทราบจากเจ้าหน้าที่ว่าได้นำรถไปเติมน้ำมัน แต่ปรากฏว่า มีรถมอเตอร์ไซค์ออกไปด้วย และต่อมาเวลา 12.00 น.ได้มีเจ้าหน้าที่ของพรรคลงมาแจ้งให้ผู้สื่อข่าวทราบว่าไม่ต้องรอนายกรัฐมนตรีแล้ว เพราะท่านไม่ได้อยู่ที่พรรคแล้ว

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์