รัฐบาลไม่สนเสียงด่าขึ้นเงินเดือนให้นักการเมืองและข้าราชการ "เทพเทือก" ยกแม่น้ำแก้ตัวทำงานไม่คุ้มค่าเงินเดือน ไม่เชื่อหว่านเงินถี่ยิบจะทำประเทศพัง
เมื่อวันที่ 15 ธ.ค. ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่รัฐวิสาหกิจเตรียมเรียกร้องขอขึ้นเงินเดือนภายหลังที่ ครม. ขึ้นเงินเดือนให้ข้าราชการว่า การขึ้นเงินเดือนข้าราชการเป็นไปตามค่าครอง ชีพ ที่เราพิจารณาตามกำลังของงบประมาณที่มี แต่ในส่วนอื่นต้องไปดูว่าเขาได้ขึ้นไปเมื่อไร และจะมีผลกระทบอย่างไรบ้าง ส่วนการขึ้นเงินเดือนในส่วนนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีนั้น ตนได้ให้คณะกรรมการกฤษฎีกาไปดูช่องทางของกฎหมายว่าจะทำอย่างไรได้บ้าง ที่จะให้ส่วนของการเมืองแยกออกมาได้หรือไม่
เมื่อถามว่า หลังจาก ครม. มีมติ ขึ้นเงินเดือนทำให้ราคาสินค้าเพิ่มขึ้น นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ตนจะคุยกับกระทรวงพาณิชย์ ว่าผลกระทบเป็นอย่างไร เมื่อปรับขึ้นก็เป็นการเพิ่มต้นทุนมันเป็นวงจร ก็ต้องดูความเหมาะสม ขณะเดียวกันเวลาเราคำนวณว่าค่าแรงขึ้น ต้นทุนสินค้าขึ้นเท่าไร และคงไม่ปล่อยให้ค่าครองชีพมันขึ้นสูงหรือมากไปกว่าค่าแรง และได้มอบนโยบายให้กระทรวงพาณิชย์ให้บริการน้ำดื่มฟรีในศูนย์อาหาร เพื่อเป็นทางเลือกให้ประชาชน
สินค้าตรึงราคาอีก 3 เดือน
วันเดียวกัน ที่กระทรวงพาณิชย์ นางพรทิวา นาคาศัย รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า ขณะนี้ผู้ประกอบการและผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภครายการสำคัญกว่า 90% ยินดีให้ความร่วมมือกับกระทรวง ขยายเวลาตรึงราคาสินค้าออกไปอีก 3 เดือน จนถึงสิ้นเดือน มี.ค. 54 ทั้งกลุ่มสินค้าอุปโภค ยาสระผม สบู่ ผงซักฟอก ยาสีฟัน อาหารกระป๋อง วัสดุก่อสร้าง เวชภัณฑ์ ยาปราบศัตรูพืช เครื่องแบบชุดนักเรียน รวมถึงเนื้อหมู เนื้อไก่ โดยผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยืนยันว่ายังสามารถบริหารต้นทุนได้ แม้จะมีการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำวันละ 8-17 บาทก็ตาม
นางพรทิวา กล่าวอีกว่า ส่วนสินค้ากลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากต้นทุนค่าแรงรวมถึงต้นทุนวัตถุดิบโลก และสินค้าเกษตรที่ปรับตัวสูงขึ้น มีอยู่ประมาณ 10% อาทิเหล็ก น้ำมันปาล์มขวด ปุ๋ยยูเรีย ตอนนี้ จะเร่งเจรจาให้ได้ข้อสรุปภายในสัปดาห์นี้ ก่อนเรียกประชุมผู้ประกอบการสินค้าครั้งใหญ่กว่า 200 รายการในสัปดาห์หน้า ข้อสรุปนโยบายการดูแลสินค้าให้ได้ชัดเจน และเสนอนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีต่อไป
“เทพเทือก”ยกแม่น้ำแก้ตัว
นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง ให้สัมภาษณ์ถึงการวิจารณ์ที่ ครม. อนุมัติปรับขึ้นค่าตอบแทนให้ ส.ส. ส.ว. รวมทั้งข้าราชการการเมืองว่า สิ่งที่สื่อด่านั้นผิดขอให้แก้ข่าวด้วย ตั้งแต่ปี 2548-2550 ข้าราชการประจำฝ่ายบริหารได้ปรับขึ้นครั้งละ 4-5% แต่ฝ่ายนิติบัญญัติไม่ได้ปรับขึ้นตาม ดังนั้นเมื่ออนุมัติให้ขึ้นเงินเดือน ส.ส. และ ส.ว. ครั้งนี้ จึงดูว่าเป็นจำนวนมาก แต่โดยข้อเท็จจริงแล้วเป็นการปรับเพื่อให้เท่ากันตามหลักการ คือผู้นำสูงสุดของฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายตุลาการ ต้องมีเงินเดือนเท่ากัน ส่วนตำแหน่งอื่นก็ลดหลั่นกันตามลำดับ โดยให้มีผลหลังการเลือกตั้งทั่วไป
เมื่อถามว่า รัฐบาลจะดูแลการทำงานของ ส.ส. และ ส.ว. อย่างไร เพราะเกิดปัญหาสภาล่มบ่อยครั้ง นายสุเทพกล่าวว่า เรื่องสภาล่มมีหลายสาเหตุ หลายครั้งเป็นความจงใจที่จะให้ล่ม เพราะ ส.ส. หรือ ส.ว. บางคนอยู่ในที่ประชุมแต่ไม่แสดงตนหรือประท้วง ไม่ยอมให้นับองค์ประชุม ที่พูดไม่ได้แก้ตัวเพราะฝ่ายรัฐบาลก็มีหน้าที่ต้องให้คนของตัวเองมาประชุมให้ครบ และเมื่อสังคมวิจารณ์ให้ได้ยินชัดเจน ทั้ง ส.ส. และ ส.ว. ก็ต้องตระหนัก เพราะกระทบต่อความรู้สึกของประชาชนว่าไม่ทำงาน
ไม่เชื่อหว่านเงินประเทศพัง
เมื่อถามว่า ควรมีข้อกำหนดหรือไม่ว่า หาก ส.ส. ไม่เข้าประชุมให้ตัดเงินเดือน นายสุเทพกล่าวว่า ต้องให้ ส.ส. เขาไปว่ากันเอง เพราะมีข้อกำหนดอยู่แล้วว่าหากขาดประชุมเกินจำนวนต้องมีบทลงโทษ ประชาชนก็ต้องช่วยกันเลือกคนที่จะเข้ามาเป็น ส.ส. ส.ว. ให้ดี เพราะอีกไม่นานก็จะมีการเลือกตั้งแล้ว อย่าเลือก ส.ส. ที่ขาดประชุมเข้าไปทำหน้าที่
ต่อข้อถามว่า มองอย่างไรที่มีข้อสังเกตว่าที่รัฐบาลแจกเงินให้ทั้งข้าราชการ ส.ส. ส.ว. และลูกจ้าง เพราะหวังผลในการหาเสียงเลือกตั้งทั่วไป นายสุเทพกล่าวว่า คนที่ตั้งข้อสังเกตมองในแง่ร้ายเกินไป หลักในการปรับขึ้นเงินเดือน หากประชาชนมีรายได้ดีก็จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ดี เมื่อถามว่ากังวลหรือไม่ว่าหากใช้นโยบายประชานิยมมากเกินไป ระบบของประเทศจะพัง เหมือนกับสหรัฐอเมริกาหรือประเทศในยุโรป นายสุเทพกล่าวว่า คงไม่ เราทำอย่างมีเหตุผล
ข้ออ้างเพียบสกัดขึ้นเงิน อบต.
นายสุเทพยังกล่าวถึงปัญหาความไม่พอใจของแกนนำพรรคภูมิใจไทย ที่นายกฯไม่ยอมอนุมัติให้เพิ่มค่าตอบแทนให้ผู้บริหารองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ว่า ฐานเงินเดือนของ อบจ. เทศบาล และ อบต. ไม่ได้อยู่ในมาตรฐานเดียวกัน อบต. มีค่าตอบแทนน้อยกว่าคนอื่น 200-300% จึงได้เสนอขอปรับ แต่เมื่อมาถึง ครม. นายกฯ กังวลว่า อบต. เป็นท้องถิ่นที่เล็กที่สุดและรายได้น้อย ถ้าเอาส่วนที่เป็นรายได้ของ อบต. มาจ่ายเป็นเงินเดือนจำนวนมาก ก็จะไม่เหลือเงินที่จะไปพัฒนาให้กับประชาชน
“นายกฯจึงให้กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการคลัง และสำนักงบประมาณ ไปทบทวนดูว่าการที่จะขึ้นเงินเดือนให้ต้องมีลำดับขั้นตอนและมีอัตราขนาดไหน สมควรที่จะเหลือเงินสำหรับการพัฒนายกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในตำบลต่าง ๆ ได้ในสัดส่วนกี่เปอร์เซ็นต์ โดยให้ทำให้เสร็จภายในเดือนนี้” นายสุเทพ กล่าว
โต้ไม่ได้ล้วงลูกภูมิใจไทย
เมื่อถามว่า จะกลายเป็นว่านักการเมืองระดับชาติขึ้นเงินเดือนได้ ขณะที่ท้องถิ่นถูกปิดกั้นเพดานไว้ นายสุเทพกล่าวว่า เป็นอีกมุมมองที่เห็นต่าง แต่ละส่วนก็มีเหตุผลที่จะแก้ไขปรับปรุงกัน ซึ่งมีคนจำนวน มากที่รู้สึกว่าเงินเดือนของข้าราชการในประเทศไทยน้อยไป และเห็นว่าค่าแรงในประเทศถูกเกินไป รัฐบาลก็ต้องฟัง
เมื่อถามต่อว่า มีการตั้งข้อสังเกตว่าทำไมพรรคประชาธิปัตย์ถึงไม่ปล่อยให้พรรคภูมิใจไทยได้หาเสียงเรื่องนี้บ้าง นายสุเทพ กล่าวว่า วิธีการคิดอย่างนี้ทำให้ยุ่งยาก ตนเชื่อว่าประเด็นนี้จะไม่ทำให้เกิดรอยร้าวในพรรคร่วมรัฐบาล เมื่อถามว่าทางพรรคภูมิใจไทยกล่าวหาว่านายกฯล้วงลูกตลอด นายสุเทพ กล่าวว่า ไม่ได้ล้วงลูกแต่ลูกมันวิ่งมาเอง
ขู่กลับ พท.เลือกตั้งเจอกัน
ส่วนกรณีที่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ประธาน ส.ส.พรรคเพื่อไทย ออกมาแฉที่แพ้เลือกตั้งซ่อม เพราะรัฐบาลระดมอำนาจรัฐและทุ่มเงินจำนวนมากนั้น นายสุเทพ กล่าวว่า ถือเป็นการกล่าวหาที่เลื่อนลอย เราไม่ได้ใช้อำนาจรัฐไปรุกรานหรือบีบบังคับให้ประชาชนลงคะแนนให้ เราเดินไปเคาะประตูบ้านพูดคุยกับประชาชน อธิบายถึงผลงานของรัฐบาล ซึ่งเราก็พอใจกับคะแนนที่ได้รับ
เมื่อถามว่า พรรคเพื่อไทยท้าทายว่าเมื่อพรรคประชาธิปัตย์มั่นใจเสียงจากการเลือกตั้งซ่อม ทำไมไม่ยุบสภาเพื่อเลือกตั้งจริงไปเลย นายสุเทพกล่าวว่า ไม่ต้องทำปากกล้าขาสั่นไป เลือกตั้งทั่วไปเมื่อไหร่เดี๋ยวก็ทราบ อย่างไรก็ต้องยุบสภาอยู่แล้วไม่ต้องเรียกร้องมาก
“จิ้น”โต้ไม่กระทบงบฯพัฒนา
นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รมว.มหาด ไทย กล่าวถึงกรณีนายกฯให้ทบทวนเรื่องการขึ้นค่าตอบแทน อบต. ว่า นายกฯเกรงว่าการเพิ่มเงินเดือนเฉพาะ อบต. จะทำให้เกิดแรงกระเพื่อมในหน่วยงานปกครองระดับท้องถิ่น ทั้ง ส.ก. ส.ข. และเทศบาล จึงต้องดูให้เกิดความพอใจว่าการเพิ่มไม่ทำให้เกิดปัญหา โดยขอเวลา 1 สัปดาห์ เมื่อถามว่า การพิจารณาจะมีการเปลี่ยนอัตราการขึ้นเงินเดือน อบต. หรือไม่ นายชวรัตน์กล่าวว่า ไม่เปลี่ยน ถ้าเปรียบกับหน่วยงานอื่นทางท้องถิ่นแล้ว อบต. ยังขอขึ้นน้อยไปด้วยซ้ำ
“การขึ้นเงินเดือน อบต. ไม่ส่งผลกระทบกับงบพัฒนาท้องถิ่น การขึ้นเงินเดือน อบต. ใช้งบฯ 1,050 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 2 ของงบฯรายจ่ายประจำปี การมองว่าการเพิ่มค่าตอบแทนหน่วยงานต่าง ๆ เป็นการปูทางเพื่อหาเสียงเลือกตั้งนั้น ใคร จะคิดอะไรก็คิดได้ แต่ถ้ามัวพะวงคิดด้วยก็ไม่ต้องทำอะไรกัน” รมว.มหาดไทย กล่าว เมื่อถามต่อว่า หากในสัปดาห์หน้า ครม. ตีกลับเรื่องการขึ้นค่าตอบแทน อบต. อีกจะทำอย่างไร นายชวรัตน์กล่าวว่า ให้ตีกลับมาก่อนแล้วค่อยพูด ตอนนี้ก็ยังทนได้อยู่ ยืนยันว่าการทำงานด้วยกันไม่มีอึดอัดขัดใจ ผู้บริหารประเทศแต่ละคนก็ต้องมีเหตุผลของตัวเอง จะมีแต่มิสเตอร์เยสไม่ได้ อย่างไรก็ตามตนมีความอดทนพอสมควรถ้าไม่เกินลิมิต
ส.ก.-สข.ขอเพิ่มด้วยคน
วันเดียวกันที่กระทรวงมหาดไทย ตัวแทน ส.ก. และ ส.ข. ได้เข้าพบนายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รมว.มหาดไทย โดยนายสุทธิชัย วีรกุลสุนทร ประธาน ส.ก. กล่าวว่า ได้มา ขอเสนอปรับเพิ่มเงินเดือน ส.ก. ส.ข. เพราะ ไม่มีการพูดถึงการปรับเงินเดือนมานานถึง 17 ปีแล้ว การขึ้นเงินเดือนทุกครั้ง ส.ก. ส.ข. ถูกมองข้าม ปัจจุบันค่าครองชีพก็สูงขึ้นแต่ค่าแรงของ ส.ข. เทียบได้กับค่าแรงขั้นต่ำของพนักงานหน่วยงานต่าง ๆ จึงมาขอให้กระทรวงมหาดไทยช่วย ซึ่งนายชวรัตน์ รับไปเจรจากับนายกฯ
นายสุทธิชัยกล่าวต่อว่า เบื้องต้นของการปรับนั้น ประธานสภา กทม. ขอขึ้นเป็น 78,620 บาท รองประธานสภา กทม. ขอขึ้นเป็น 64,970 บาท ส.ก. จาก 41,000 บาท เป็น 54,120 บาท ส.ข. จาก 10,500 บาท เป็น 15,250 บาท ประธานสภาเขตจาก 12,000 บาท เป็น 19,050 บาท เรื่องนี้ได้คุยกับ ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ กทม. แล้ว และท่านก็ไม่ขัดข้องแต่อำนาจอยู่ที่มหาดไทย
โพลชี้“มาร์ค”แก้ปัญหาเป็นเต่า
สวนดุสิตโพลได้สำรวจความเห็น ของประชาชนทั่วประเทศจำนวน 1,854 คน เรื่อง “ประชาชนคิดอย่างไรกับการขึ้นเงินเดือนผู้ใช้แรงงาน ข้าราชการ และนักการเมือง” พบว่า ในส่วนของผู้ใช้แรงงาน 98.67% เห็นควรให้ขึ้น 1.33% บอกว่าไม่สมควร ส่วนข้าราชการ 77.81% ก็เห็นสมควรให้ขึ้น มีเพียง 22.19% บอกว่าไม่สมควร ขณะที่นักการเมือง 86.40% บอก ว่าไม่สมควร ขณะที่ 13.60% บอกว่าสมควร ส่วนสิ่งที่ประชาชนอยากบอกหลังปรับเงินเดือนแล้ว อันดับ 1 อยากให้ดำเนินการอย่างบริสุทธิ์ตรงไปตรงมา 40.18% รองลงมา เกรงว่าจะเป็นการแก้ปัญหาระยะสั้น 36.23%
ด้านเอแบคโพลได้สำรวจความเห็นของประชาชนใน 18 จังหวัดจำนวน 2,381 คน เรื่อง “เปรียบเทียบภาวะความเป็นผู้นำของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ระหว่างปี 2552 กับปี 2553” พบว่า 74.9% มีจุดแข็งด้านความซื่อสัตย์ 74.1% ควบคุมอารมณ์ได้ดี 72.0% เคร่งครัดต่อหลักศีลธรรม 71.7% เห็นแก่ประโยชนส่วนรวมมากกว่าพวกพ้อง อย่างไรก็ตามมีตัวชี้วัด 2 ด้านที่ต่ำกว่าครึ่งคือ ความรวดเร็วฉับไวในการแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนที่ได้ 48.7% และด้านความเป็นผู้ทรงอิทธิพลต่อกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านอยู่ที่ 40.6%
กดดัน กกต.เล่นงาน“บุญจง”
ส่วนการเมืองอื่นนายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย และนายอภิชา เลิศพชรกมล ผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. เขต 6 นครราชสีมา ได้เดินทางมาที่สำนักงาน กกต. เพื่อยื่นหนังสือเรียกร้องให้ตรวจสอบผลการเลือกตั้งซ่อมเขต 6 นครราชสีมา พร้อมทั้งได้ยื่นหลักฐานเป็นคลิปวิดีโอ จากนั้นนายพร้อมพงศ์พร้อมด้วยนายอภิชาและ ทนายได้เดินทางไปยังกองปราบปรามเพื่อแจ้งความในเรื่องดังกล่าวด้วย
ภายหลังนายพร้อมพงศ์เปิดเผยว่า นายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ จากพรรคภูมิใจไทย ผู้ได้รับคะแนนสูงสุดในการเลือกตั้งซ่อม ได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับการจัดเลี้ยงเมื่อวันที่ 19 พ.ย. 53 ซึ่งเป็นช่วงที่อยู่ในพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้ง โดยนำเจ้าหน้าที่ของรัฐและผู้มีสิทธิใน อ.จักราช เดินทางไปสัมมนาดูงานที่ จ.ระยอง ถือเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ.เลือกตั้ง และนายบุญจงยังมีตำแหน่งเป็นกรรมการบริหารพรรคภูมิใจไทย จึงเรียกร้องให้ กกต. ตรวจสอบและเสนอความเห็นต่ออัยการสูงสุดเพื่อให้ยุบพรรคภูมิใจไทย
เกษตรตั้งฉายาคั่นเวลาของจริง
วันเดียวกันที่คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สมาคมรัฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แถลงข่าวตั้งฉายาองค์กรทางการเมือง ประกอบด้วย รัฐบาลได้รับฉายาว่า เส้นใหญ่ผัดซีอิ๊ว ส่วนตุลาการได้ฉายาว่า ไม้บรรทัดคู่สู้สิบทิศ รัฐสภาได้ฉายาว่า สภามวยโลก ในส่วนของ พรรคการเมือง พรรคประชาธิปัตย์ได้ฉายาว่า อิเหนาหุ้มเกราะ พรรคภูมิใจไทยได้ฉายาว่า ห้อยเนวิน พรรคเพื่อไทยได้ฉายา พรรค เพื่อใคร ส่วนองค์กรอิสระได้รับฉายาว่า สาก กะเบือดิน สำหรับกองทัพได้รับฉายาว่า ทัพไทยหมื่นล้านประสานงานปราบม็อบ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับฉายาของรัฐบาลและรัฐสภาที่มีการตั้งกันทุกปีนั้น จะเป็นการตั้งโดยสื่อมวลชนที่ทำงานคลุกคลีกับรัฐบาลและนักการเมือง เพราะจะทราบดีว่ารัฐมนตรีแต่ละคนทำงานอย่างไร หรือรัฐบาลบริหารประเทศเป็นอย่างไรบ้าง ซึ่งฉายาของปีนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของสื่อมวลชนที่เกี่ยวข้อง คาดว่าจะได้ข้อสรุปและประกาศได้ก่อนสิ้นปีหรือต้นปีหน้า