นายกฯฉุนหลายกระทรวงไม่ยอมปรับงบช่วยน้ำท่วม ห่วงราคาน้ำมัน-ข้าวราดแกง-น้ำดื่ม
วันนี้ 14 ธ.ค.ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมคณะหัวหน้าส่วนราชการระดับปลัดกระทรวง ครั้งที่ 9/2553 ณ ห้องประชุม ดร. ป๋วย อึ้งภาภรณ์ ชั้น 1 อาคารสำนักงบประมาณ กระทรวงการคลัง ที่มีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมนั้นนายกรัฐมนตรีได้แสดงความเป็นห่วงต่อเศรษฐกิจที่ปัจจุบันค่าครองชีพของประชาชนสูงขึ้น อีกทั้งตัวเลขเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 4 ลดลง เพราะมีเหตุการณ์น้ำท่วม จึงมีความกังวลว่าในไตรมาสแรกของปีหน้าจะลดลงอีก นอกจากนี้ในที่ประชุมยังได้วิเคราะห์ถึงสถานการณ์เศรษฐกิจโลกในส่วนของประเทศจีนที่อาจจะขึ้นดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ ขณะที่ตัวเลขการว่างงานของสหรัฐอเมริกาก็ยังไม่ดีขึ้น และสิ่งที่ต้องจับตาและระวังคือเรื่องของราคาน้ำมัน
ซึ่งนายกรัฐมนตรี ได้สั่งให้กระทรวงพลังงานช่วยตรึงราคาน้ำมันเอาไว้ก่อน
ในขณะที่กระทรวงพลังงานเองกลับรายงานว่ากำลังขาดทุนเดือนละ 500 ล้านบาท จากการอุ้มราคาน้ำมันเอาไว้ อีกทั้งขณะนี้ราคาน้ำมันดีเซลยังอยู่ที่ราคา 29.99 บาทต่อลิตร ซึ่งในเรื่องนี้นายกรัฐมนตรีได้ค้านกระทรวงพลังงานว่าบางปั๊มเกิน 30 บาทต่อลิตรไปแล้ว
นอกจากนี้นายกรัฐมนตรียังได้สั่งให้กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงแรงงานและกระทรวงท่องเทียวและกีฬา ช่วยรายงานสถานการณ์เศรษฐกิจของตัวเองเข้ามาให้ทราบล่วงหน้าหากพบว่าแนวโน้มเศรษฐกิจของกระทรวงตัวเองไม่ดี เพื่อจะได้หามาตรการตั้งรับได้ทัน
สำหรับเรื่องปากท้องของประชาชนนั้นนายกรัฐมนตรี ได้แสดงความเป็นห่วงในเรื่องค่าครองชีพ โดยเฉพาะราคาข้าวราดแกงที่แพงขึ้นและราคาน้ำดื่มที่ยังพบว่าตามศูนย์อาหารยังมีการขายในราคาขวดละ 10 บาท ไม่ได้ลดราคามาอยู่ที่ 6-7 บาท “นายกรัฐมนตรีจึงได้สั่งให้กระทรวงที่เกี่ยวข้องอย่างกระทรวงพาณิชย์ไปออกกฎหมายที่ช่วยให้สามารถติดตั้งตู้กดน้ำดื่มที่สะอาดไว้ตามศูนย์อาหารต่างๆเพื่อช่วยให้ประชาชนเขาประหยัดค่าน้ำ ส่วนผู้ที่จะขายน้ำก็ขายไป แต่เราต้องช่วยเพิ่มทางเลือกในการลดค่าใช้จ่ายให้ประชาชน”
นายอภิสิทธิ์ ได้สอบถามในส่วนของการปรับงบประมาณเหลื่อมปีในโครงการต่างของแต่ละกระทรวง
ปรากฏว่านายกรัฐมนตรียังไม่พอใจการดำเนินการของหลายกระทรวง เพราะยังมีแค่เพียงกระทรวงคมนาคมและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เท่านั้นที่มีการปรับโครงการ โดยในส่วนของกระทรวงคมนาคมจะปรับงบฯของกรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบท โดยจะปรับจากงบสร้างถนนมาเป็นงบในการซ่อมแซมถนนแทน ซึ่ง 2 กระทรวงรวมกันจะได้งบประมาณ 1.5 หมื่นล้านบาท แต่อย่างไรก็ตามนายกฯได้สอบถามทุกกระทรวงและกังวลในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการที่ต้องใช้เงินจำนวนมาก ทั้งนี้จะมีการนำงบประมาณไทยเข้มแข็งจากโครงการที่ยังไม่เซ็นสัญญาประมาณ 2-3 พันล้านมาช่วยในการฟื้นฟูภายหลังเกิดเหตุอุทกภัยในหลายจังหวัดด้วย