กรมควบคุมมลพิษเผยคุณภาพน้ำมาบตาพุดพบการปนเปื้อนสารมลพิษอื้อ
วันนี้ (9 ธ.ค.) นายสุพัฒน์ หวังวงศ์วัฒนา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ เปิดเผยว่า กรมควบคุมมลพิษ ติดตามตรวจสอบคุณภาพน้ำในพื้นที่มาบตาพุด จ.ระยอง ซึ่งสารมลพิษที่ตรวจสอบเพื่อทำการเฝ้าระวัง ประกอบด้วย โลหะหนัก 10 ชนิด และสารอินทรีย์ระเหยง่าย (วีโอซี) 16 ชนิด ผลการตรวจสอบคุณภาพน้ำใต้ดินจากบ่อน้ำบาดาล ตั้งแต่เดือน มี.ค.53-ก.ย.53 ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม มาบตาพุด และนิคมอุตสาหกรรมใกล้เคียง รวมถึงบ่อน้ำบาดาลที่อยู่นอกพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม จำนวน 39 บ่อ พบการปนเปื้อนสารมลพิษมีค่าสูงเกินมาตรฐานฯ ในบางจุด ได้แก่ สารหนู 19 บ่อ เหล็ก 30 บ่อ แมงกานีส 15 บ่อ ตะกั่ว 3 บ่อ สังกะสี 2 บ่อ 1,2-ไดคลอโรอีเทน 3 บ่อและไวนิลคลอไรด์ 1 บ่อ ขณะที่คุณภาพน้ำใต้ดินจากบ่อน้ำตื้น ตั้งแต่เดือน ก.พ.53-มิ.ย.53 ในพื้นที่ชุมชนโดยรอบนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดและชุมชนใกล้เคียงจำนวน 47 บ่อ พบการปนเปื้อนสารมลพิษมีค่าสูงเกินมาตรฐานฯ ในบางจุด ได้แก่ สารหนู 7 บ่อ เหล็ก 8 บ่อ แมงกานีส 11 บ่อ ตะกั่ว 2 บ่อ นิกเกิล 1 บ่อ ซีลีเนียม 4 บ่อ ไดคลอโรมีเทน 1 บ่อ 1,2-ไดคลอโรอีเทน 1 บ่อ คาร์บอนเตตระคลอไรด์ 1 บ่อ และ ไวนิลคลอไรด์ 1 บ่อ
นายสุพัฒน์ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้สำหรับผลการตรวจสอบคุณภาพน้ำคลองสาธารณะตั้งแต่เดิอน ธ.ค.52-ก.ค. 53 จากสถานีตรวจวัดคุณภาพน้ำ จำนวน 39 สถานี ครอบคลุมพื้นที่คลองสาธารณะ 16 สาย ได้แก่ คลองชากหมาก คลองน้ำหู คลองห้วยใหญ่ คลองตากวน คลองหลอด คลองบางเบิด คลองบางกะพรุน คลองน้ำตก คลองก้นปึก คลองคา คลองพยูน คลองน้ำดำ คลองทับมา คลองหนองคล้า คลองหนองผักหนาม และคลองกระเฉด พบว่า คุณภาพน้ำคลองสาธารณะโดยรวมอยู่ในระดับเสื่อมโทรม เทียบได้กับมาตรฐานคุณภาพแหล่งน้ำผิวดินประเภทที่ 5 ใช้ประโยชน์เพื่อการคมนาคม โดยพารามิเตอร์ที่พบว่าเป็นปัญหาในพื้นที่มาอย่างต่อเนื่อง คือ ปริมาณออกซิเจนละลาย ไนเตรท-ไนโตรเจน แอมโมเนีย-ไนโตรเจน แบคทีเรียกลุ่ม โคลิฟอร์มทั้งหมด และแบคทีเรียกลุ่มฟีคัลโคลีฟอร์ม ทั้งนี้เนื่องจากการรองรับน้ำเสียในพื้นที่ชุมชนใกล้เคียง และระบบบำบัดน้ำเสียชุมชน ยังไม่ครอบคลุมบางพื้นที่ นอกจากนี้ก็ยังพบการปนเปื้อนโลหะหนัก ได้แก่ สารหนู แมงกานีส และ ตะกั่ว
นายสุพัฒน์ กล่าวต่ออีกว่า ส่วนคุณภาพน้ำทะเล เก็บตัวอย่าง 22 สถานี ตั้งแต่เดือน ม.ค.53-ส.ค.53 มีพารามิเตอร์ที่มีค่าสูงเกิน มาตรฐานฯ ได้แก่ แบคทีเรียกลุ่มโคลิฟอร์มทั้งหมด แบคทีเรียกลุ่มฟีคอลโคลิฟอร์ม สังกะสี แมงกานีส ปรอท สารหนูและปิโตรเลียมไฮโดรคาร์บอน คุณภาพตะกอนดินผิวหน้า เก็บตัวอย่าง 10 สถานีม.ค.53-ส.ค.53 พบปัญหาบริเวณปากคลองชากหมากมีลักษณะเป็นดินตะกอนสีดำ มีกลิ่นไฮโดรเจนซัลไฟด์ (ก๊าซไข่เน่า) มีปริมาณสารอินทรีย์สูงเช่นเดียวกับบริเวณหาดทรายทอง (กระชังเลี้ยงหอย) บริเวณปากคลองตากวนมีลักษณะเป็นดินตะกอนสีดำเช่นกัน แต่ไม่มีกลิ่นไฮโดรเจนซัลไฟด์และผลการตรวจสอบคุณภาพเนื้อเยื่อ หอยและสัตว์น้ำในบริเวณใกล้เคียง เช่น หอยแมลงภู่ ปูม้าและปลากระบอก ครอบคลุมพื้นที่ตั้งแต่บริเวณปากคลองบางกะพรุน ปากคลองบางเบิด จุดระบายน้ำโรงไฟฟ้าโกลว์ภายในท่าเทียบเรือ จุดสูบน้ำเข้าและออกของระบบระบายความร้อนโรงไฟฟ้าบีแอลซีพี ปากคลองชากหมาก หาดทรายทองบริเวณกระชังเลี้ยงหอย และปากคลองตากวน ส.ค.53 พบว่าไม่เกินเกณฑ์มาตรฐานอาหารที่มีสารปนเปื้อนตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข.