นายนพดล ปัทมะ ที่ปรึกษากฎหมาย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี แถลงที่พรรคเพื่อไทยเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม
ถึงความเคลื่อนไหวของ พ.ต.ท.ทักษิณ ที่จะดำเนินการยื่นขอวีซ่าเข้าประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อชี้แจงกับคณะกรรมาธิการด้านความมั่นคงและความร่วมมือในยุโรป หรือซีเอสซีอี ของสหรัฐ ถึงกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย กรณีความวุ่นวายทางการเมืองช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 และเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ภาคใต้ว่า จากการที่ตนได้สื่อสารกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ล่าสุดในช่วงเช้าวันที่ 8 ธันวาคม ทราบมาว่าขณะนี้รัฐบาลไทย ทั้งนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และนายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศต่างตื่นเต้นและตื่นตูมกันมาก โดยมีความพยายามล็อบบี้ฝ่ายบริหารระดับสูงของสหรัฐไม่ให้ พ.ต.ท.ทักษิณเดินทางเข้าสหรัฐอย่างเข้มข้น จนวงการทูตและนักการเมืองในวอชิงตัน ดี.ซี. หัวเราะกันไปทั้งบางว่าเพราะอะไร เรื่องพ.ต.ท.ทักษิณจะไปชี้แจงกับคณะกรรมาธิการถึงเป็นเรื่องใหญ่โตมากนัก จึงทำให้เราคิดว่ารัฐบาลไทยพยายามไม่ให้ พ.ต.ท.ทักษิณเข้าไปชี้แจงเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยเพราะมีอะไรปกปิดอยู่
"คำถามก็คือรัฐบาลปกปิดความจริงอะไรไว้ในการทำให้ประชาชนต้องเสียชีวิตและบาดเจ็บ 2,000 คน จึงไม่อยากให้ พ.ต.ท.ทักษิณไปเปิดเผยความจริงกับคณะกรรมาธิการ ซึ่งเรื่องนี้แม้ในประเทศไทย รัฐบาลจะควบคุมสื่อแม้จะไม่ครบทุกสื่อ แต่ในต่างประเทศไม่สามารถควบคุมหรือปกปิดอะไรได้เลย ซึ่งก็ต้องรอดูอีกครั้งว่าในวันที่ 16 ธันวาคม พ.ต.ท.ทักษิณจะได้รับวีซ่าเข้าสหรัฐได้หรือไม่" นายนพดลกล่าว
นายนพดลกล่าวว่า ขณะนี้ พ.ต.ท.ทักษิณได้ยื่นขอวีซ่าเข้าสหรัฐไปแล้วจากประเทศที่ได้พำนักอยู่
แต่ตนไม่แน่ใจว่า พ.ต.ท.ทักษิณยื่นโดยใช้พาสปอร์ตของสัญชาติอะไร ซึ่งถ้าสหรัฐอนุญาตให้ พ.ต.ท.ทักษิณเข้าประเทศได้ ก็ถือว่าเป็นสัญญาณอันดีต่อการเดินทางไปประเทศอื่นๆ ในโลก แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเรื่องนี้เป็นการพิจารณาของแต่ละประเทศว่าจะอนุญาตให้ พ.ต.ท.ทักษิณเดินทางไปหรือไม่ และในทางกลับกันหาก พ.ต.ท.ทักษิณไม่ได้วีซ่าเข้าสหรัฐก็ไม่ได้หมายความว่าหลังจากนี้จะไม่สามารถเดินทางไปประเทศไหนไม่ได้
เมื่อถามว่า สถานะของนักโทษหนีคดี จะกระทบกับการพิจารณาของสหรัฐหรือไม่
นายนพดลกล่าวว่า เรื่องนี้เป็นดุลพินิจของสหรัฐ ซึ่งเราก็คาดหวังว่าจะเข้าใจ แต่ทั่วโลกเข้าใจแล้วว่า คดีที่ดินรัชดาภิเษกนั้นเกิดขึ้นหลังการยึดอำนาจ 19 กันยายน 2549 และกึ่งๆ จะเป็นคดีการเมือง เมื่อถามว่า หากไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าสหรัฐ จะวิดีโอลิงก์ไปเลยหรือไม่ นายนพดลกล่าวว่า เราคงต้องหาวิธีการที่จะชี้แจงที่ดีที่สุดต่อไป และเราก็จะไม่ปิดทุกช่องทางที่จะทำให้สามารถสื่อสารกับคณะกรรมาธิการชุดนี้ได้
"ขณะนี้ พ.ต.ท.ทักษิณยังตั้งใจที่จะไปชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการไม่เปลี่ยนแปลง ซึ่งเราก็คาดหวังว่าคณะกรรมาธิการที่เชิญ พ.ต.ท.ทักษิณจะมีการประสานงานกับฝ่ายบริหาร เพื่อรับรองความปลอดภัย เพื่อไม่ให้มีปัญหากับหน่วยงานอื่นๆ หรือแม้แต่กฎหมายโฮมแลนด์ซีเคียวริตี้ แม้ในข้อเท็จจริงคณะกรรมาธิการจะแยกการตัดสินใจออกจากฝ่ายบริหารค่อนข้างจะชัดเจน ดังนั้นเราจึงมีการแนบจดหมายที่คณะกรรมาธิการเชิญ พ.ต.ท.ทักษิณไปชี้แจงไปเป็นหลักฐานร่วมในการยื่นขอวีซ่าเข้าสหรัฐด้วย" นายนพดลกล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างการแถลงข่าวนายนพดลได้แจกจ่ายเอกสารจดหมายที่คณะกรรมาธิการส่งถึง พ.ต.ท.ทักษิณ
เพื่อเชิญเข้าชี้แจงข้อมูลต่อคณะกรรมาธิการ จากนั้นนายนพดลกล่าวว่า จดหมายจากคณะกรรมาธิการลงวันที่ 23 พฤศจิกายน โดยจะมีการไต่สวนในเวลา 13.00 น. วันที่ 16 ธันวาคม ตามเวลาของวอชิงตัน ดี.ซี. ซึ่งเนื้อหาในจดหมายระบุว่า ต้องการไต่สวนเหตุการณ์สลายการชุมนุมและเหตุการณ์ในภาคใต้ ซึ่งก็หวังว่าซีเอสซีอีและประชาคมระหว่างประเทศจะช่วยคลี่คลายปัญหาในประเทศไทย และหวังว่าประเทศไทยจะมีการเลือกตั้งที่เสรีในไม่ช้า ซึ่งในจดหมายเปิดโอกาสให้ พ.ต.ท.ทักษิณชี้แจงเป็นเอกสารและสามารถชี้แจงด้วยวาจาได้เป็นเวลา 7-10 นาที แต่มีแนวโน้มว่า พ.ต.ท.ทักษิณน่าจะขอเพิ่มเวลาในการชี้แจงด้วยวาจาอีกครึ่งชั่วโมงเพื่อความเหมาะสม
นายนพดลกล่าวว่า ในการเชิญครั้งนี้คณะกรรมาธิการได้เชิญตัวแทนรัฐบาลไทยเข้าชี้แจงด้วย
ซึ่งถ้านายกษิตที่มีหน้าที่หลักในการไล่ล่าตัว พ.ต.ท.ทักษิณก็ควรใช้โอกาสนี้เดินทางไปสหรัฐ เพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงและเปิดโอกาสให้คณะกรรมาธิการได้รับข้อมูลจากทั้ง 2 ฝ่าย เมื่อถามว่ามีข่าวว่าการดำเนินการของคณะกรรมาธิการนั้นมาจากการล็อบบี้ของสำนักงานกฎหมายอัมเตอร์ดัม นายนพดลกล่าวว่า มีการพูดกันจากหลายภาคส่วนว่าเป็นอย่างนั้น แต่ถ้าดูหัวจดหมายที่ถูกส่งถึง พ.ต.ท.ทักษิณ ก็จะเห็นว่าแต่ละคนที่ร่วมเป็นคณะกรรมาธิการล้วนแต่เป็นสมาชิกรัฐสภาและบุคคลที่มีชื่อเสียง ซึ่งสำนักงานกฎหมายอัมเตอร์ดัมไม่น่าจะล็อบบี้ได้ แต่สำหรับจดหมายของคณะกรรมาธิการที่ส่งผ่านสำนักงานกฎหมายอัมเตอร์ดัมนั้นเพราะสำนักงานกฎหมายอัมเตอร์ดัมเป็นที่ปรึกษากฎหมายของ พ.ต.ทักษิณจึงมีการส่งจดหมายไปที่สำนักงานทนายความเพื่อส่งให้ลูกความเท่านั้น